"ขอทวงคืนอนาคตของพวกเรา": เสียงของเด็กต้องถูกรับฟัง

12 เมษายน 2566

Amnesty International

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิก จัดงานเปิดตัวรายงาน “We are Reclaiming Our Future” (ขอทวงคืนอนาคตของพวกเรา) รวมถึงชี้แจงข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องอเนกประสงค์ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

งานชิ้นนี้อิงจากวิจัยเชิงคุณภาพที่สำนักงานเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิก จัดทำระหว่างเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน 2565 โดยเนื้อหาภายในมาจากการวิจัยขั้นทุติยภูมิและการสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้างในเชิงลึกกับกลุ่มผู้ประท้วงและนักเคลื่อนไหวที่เป็นเด็กจำนวน 30 คนจากทั่วประเทศไทย เจ้าหน้าที่ระดับบริหารจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง 4 แห่ง และทนายความด้านสิทธิมนุษยชน 1 ท่านที่ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ผู้ชุมนุมประท้วงที่เป็นเด็กในคดีอาญา

 

 

เม็ก เดอ รอนเด ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิก กล่าวเปิดงานว่า การชุมนุมโดยสงบเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ถูกระบุอยู่ในกฎหมายระหว่างประเทศและรัฐธรรมนูญของหลายๆ ประเทศ ซึ่งหมายรวมถึงประเทศไทยด้วย แต่สิทธิดังกล่าวกำลังถูกคุกคามอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

จนถึงปัจจุบันเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีเกือบ 300 คนถูกดำเนินคดีอาญา บางคนเสี่ยงถูกจำคุกหลายปี เนื่องจากถูกกล่าวหาด้วยข้อหายุยงปลุกปั่นหรือหมื่นประมาทกษัตริย์ นับเป็นครั้งแรกที่ปรากฎข้อมูลว่า มีการหมิ่นประมาทกษัตริย์กับเด็กไทย ทั้งนี้ เด็กกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดคำสั่งเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะที่มีการประกาศใช้ตามอำนาจของพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ในช่วงที่เกิดโรคระบาด ซึ่งปัจจุบันมีการยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินแล้ว

การชุมนุมโดยสงบ เป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการสร้างการเปลี่ยนแปลงและปกป้องสิทธิมนุษยชน ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา เราได้เห็นการชุมนุมที่จูงใจให้คนนับล้านออกมาปกป้องประเด็นต่างๆ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม การตีแผ่ความอยุติธรรม และการละเมิดสิทธิต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นขบวนการอย่างแบล็คไลฟ์แม็ทเทอร์ (Black Lives Matter) มีทู! (Me Too!) หรือการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ เป็นต้น ซึ่งชี้ให้เห็นถึงพลังของประชาชน เพื่อโลกที่เป็นธรรมและเท่าเทียม”

ทั้งนี้ นอกจากการบังคับใช้กฎระเบียบต่างๆ แล้ว ทางการไทยยังได้มีการจับกุม สอดแนมข้อมูล และข่มขู่เด็กที่มาร่วมชุมนุมประท้วง ทั้งที่พวกเขาเพียงต้องการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการศึกษา การเมืิอง เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่มีลักษณะพ่อปกครองลูกและอนุรักษ์นิยมอย่างเคร่งครัด

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จึงได้มีการเปิดตัวแคมเปญ ‘Protect the Protest’ (ปกป้องสิทธิในการชุมนุมประท้วง) เพื่อยืนหยัดเพื่อคนที่ตกเป็นเป้าหมาย และสนับสนุนเจตจำนงในการต่อสู้ของขบวนการเพื่อสังคม ให้พวกเขาเปล่งเสียงเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิมนุษยชนได้อย่างปลอดภัย โดยไม่ต้องกลัวการตอบโต้” เม็ก เดอ รอนเด เสริม

 

 

ด้านเคลมองต์ วูเล ผู้รายงานพิเศษขององค์การสหประชาชาติ ด้านสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมและการรวมกลุ่มโดยสงบ เน้นย้ำว่า “เด็กต้องได้รับสิทธิเท่าเทียมกับผู้ใหญ่ ดังนั้นเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบจึงเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับสังคมประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มคนชายขอบหรือกลุ่มเปราะบางที่จะได้มีโอกาสในการแสดงความคิดเห็น มีส่วนร่วมในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ การเมือง และมิติต่างๆ ทางสังคม รวมถึงเรียกร้องสิทธิประโยชน์ของตนเอง ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้” ฉะนั้นการโจมตีสิทธิและขัดขวางเสรีภาพต่างๆ ในรูปแบบต่างๆ เช่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 116 เพื่อจำกัดการชุมนุมก็จะทำให้พื้นที่ของพลเมืองและพื้นที่ในการเจรจาหารือในสังคมแคบลงไป

ภายในงานยังได้รับเกียรติจาก ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิก ธนกร ภิระบัน และแซนด์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนเยาวชน และ สรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ตัวแทนจากเครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย (CRC Coalition Thailand) มาร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะในประเด็นดังกล่าวบนเวทีเสวนา ซึ่งดำเนินรายการโดย อาจารย์ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ประธานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

 

“We are Reclaiming Our Future” (ขอทวงคืนอนาคตของพวกเรา)

 

 

การมีพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนพูดคุยความคิดเห็นเป็นรากฐานที่สำคัญ ซึ่งถึงแม้จะไม่เห็นพ้องต้องกันไปเสียทั้งหมดในประเด็นของสิทธิเด็กในการร่วมชุมนุม แต่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลก็อยากสนับสนุนให้พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่มีความหมายสำหรับทุกฝ่าย” อาจารย์ฐิติรัตน์กล่าวเปิดเวที ก่อนจะเข้าสู่การเปิดตัวรายงาน “We are Reclaiming Our Future” (ขอทวงคืนอนาคตของพวกเรา) โดย ชนาธิปกล่าวถึงที่มาที่ไป ระเบียบวิธีวิจัย ข้อค้นพบ และข้อเสนอแนะของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลต่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสริมสร้างการปฏิบัติตามพันธกรณีของรัฐบาลไทยภายใต้กฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน อันหมายรวมถึงการปกป้อง เคารพ เติมเต็ม และรับประกันว่าเด็กจะได้รับสิทธิเต็มที่ในการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ

ในปี 2563-2565 มีการชุมนุมในไทยเยอะมาก การประท้วงระลอกนี้มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากที่เป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปี เกณฑ์อายุต่ำกว่าทุกครั้ง ซึ่งหลายคนอาจมองว่าเด็กไม่มีประสบการณ์มากพอที่ในการกำหนดนโยบายสาธารณะ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วพวกเขา คือ กลุ่มพลังหลักในการออกแบบโครงสร้างสังคม ทว่าปัจจุบันกลับต้องเผชิญกับราคาที่ต้องจ่ายมากมายจากการออกมาเปล่งเสียง อันหมายรวมไปถึงความเสี่ยงที่จะถูกจำคุกเป็นเวลาหลายสิบปี”

 

 

เสียงของเด็กและเยาวชนในวันที่ไม่อาจรอให้เป็นผู้ใหญ่ก่อน

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับยุทธวิธีต่างๆ ที่ถูกนำมาใช้ปราบปรามสิทธิในการชุมนุมประท้วง ซึ่งทางการมักติดตามหรือสอดแนมข้อมูลเด็กที่ออกมาชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย มีการข่มขู่โดยตรงต่อเด็กที่มาจากกลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้าร่วมชุมนุมสาธารณะ และในระหว่างการตรวจสอบก็มีการถามข้อมูลที่ไม่จำเป็น ซึ่งก้าวก่ายและละเมิดความเป็นส่วนตัวของพวกเขา

 

 

ในระหว่างกระบวนการพิจารณาคดีจะมีแบบสอบถามเกี่ยวกับอัตลักษณ์และเรื่องส่วนตัวที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ เช่น เคยมีความสัมพันธ์กับเพศเดียวกันหรือไม่” ธนกรกล่าว พร้อมอธิบายถึงข้อเสียของกระบวนยุติธรรมที่ใช้เวลายาวนาน ทั้งยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของตนเองและครอบครัว รวมถึงภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการไปขึ้นศาลแต่ละครั้ง

ภาครัฐควรแบ่งเวลาไปแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ลดความเหลื่อมล้ำ และเปิดให้มีพื้นที่ของการแสดงออก รวมถึงทำความเข้าใจว่าเด็กทุกคนมีความต้องการที่ต่างกัน จะเป็นประโยชน์กว่าไหม”

 

 

ด้านแซนด์เผยว่า “ครั้งแรกที่ถูกดำเนินคดีมาจากการเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐออกมาขอโทษที่เข้ามาคุกคามผู้เข้าร่วมค่ายสิทธิมนุษยชน ขณะที่โรงเรียนก็ได้เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของผู้เข้าร่วมทั้งหมดโดยไม่ได้รับการยินยอม ซึ่งในบางรายได้ส่งผลให้เกิดแรงกดดันและความตึงเครียดภายในครอบครัว ขณะที่ผลกระทบจากการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิต่างๆ ในกรุงเทพนั้นมีมากยิ่งกว่า โดยเฉพาะพ.ร.ก. ฉุกเฉิน ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ซึ่งปัญหาไม่ใช่ที่ตัวบท แต่เป็นวิธีการใช้งานที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน”

 

ผู้ปกครองรัฐ ต้นตอของปัญหา

 

 

ในฐานะนักเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิทธิเด็กมาอย่างยาวนาน สรรพสิทธิ์ มองว่า “เสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการแสดงออกเป็นประเด็นที่มีความสัมพันธ์กัน ถ้ามีข้อเรียกร้องต้องมีการตอบสนอง หน่วยงานรัฐต้องเข้ามารับฟังและดำเนินการ การมีพื้นที่ให้พูดคุยแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่เหมือนว่ากลไกเหล่านี้ยังทำงานไม่เต็มที่ ซึ่งในด้านหนึ่งเด็กและเยาวชนจะได้ตรวจสอบตัวเองด้วยว่า สิ่งที่เขาเสนอไปนั้นเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมอย่างไร และมีโอกาสที่จะปรับเปลี่ยนได้ไหม”

ด้าน ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ปิดท้ายด้วยการตั้งคำถามว่า รัฐเคยถามเด็กๆ บ้างไหมว่า สิ่งที่พวกเขาต้องการคืออะไร เพราะในเมื่อการจัดเวทีเสวนาแต่ละครั้ง ตัวแทนภาครัฐแทบจะไม่เข้าร่วมเลย” พร้อมเรียกร้องให้มีการยกเลิกข้อกล่าวหาและการดำเนินคดีอาญาต่อนักกิจกรรมที่ออกมาใช้สิทธิของตนโดยสงบ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรการระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน

 

 

ดาวน์โหลดรายงานฉบับเต็ม

“ขอทวงคืนอนาคตของพวกเรา” สิทธิเด็กที่จะชุมนุมประท้วงโดยสงบในประเทศไทย

“WE ARE RECLAIMING OUR FUTURE” CHILDREN’S RIGHT TO PEACEFUL ASSEMBLY IN THAILAND

 

ร่วมลงชื่อใน ปฏิบัติการด่วน: สามเด็กผู้ชุมนุมประท้วงกำลังถูกคุกคามและดำเนินคดี: "เพชร" ธนกร ภิระบัน "จัน" ต้นน้ำเพชร และ'แซนด์'