13 องค์กรระหว่างประเทศแสดงความกังวลเกี่ยวกับสิทธิในการชุมนุมโดยสงบในประเทศไทย

1 กันยายน 2564

Amnesty International Thailand

 องค์กรระหว่างประเทศส่งจดหมายถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและพลตำรวจเอกสุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แสดงความกังวลเกี่ยวกับมาตรการควบคุมฝูงชนและมาตรการอื่นๆ ที่ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายที่มักละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ชุมนุม อีกทั้งละเมิดมาตรฐานสากลเกี่ยวกับการควบคุมฝูงชน ทั้งที่มีการใช้ความรุนแรงและการใช้กำลังที่เกินสัดส่วน จึงเรียกร้องทางการไทยปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งไม่เพียงแต่ยุติการปราบปรามผู้ชุมนุม แต่ยังต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเอื้ออำนวยให้ประชาชนได้ใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและการแสดงออกในบริบทการระบาดของโควิด-19 ด้วย 

13 องค์กรระหว่างประเทศอันประกอบไปด้วย Amnesty International, ARTICPE 19,  ASEAN Parliamentarians for Human Rights Asia Democracy Network, Asian Forum for Human Rights and Development (FORUM-ASIA),  Asian Network for Free Elections (ANFREL), CIVICUS: World Alliance for Citizen Participation, Civil Rights Defenders, FIDH – International Federation for Human Rights Fortify Rights, Human Rights Watch, International Commission of Jurists, Manushya Foundation ได้เขียนจดหมายเพื่อแสดงความกังวลเกี่ยวกับความรุนแรงและการใช้กำลังเกินสัดส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการประท้วงที่เกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ ระบุรู้สึกเป็นกังวลกับการตอบโต้ที่ไม่ได้สัดส่วนของตำรวจควบคุมฝูงชนต่อการยั่วยุของผู้ชุมนุม และเรายังกังวลกับการคุมขังผู้นำประท้วงตามอำเภอใจ โดยผู้นำการชุมนุมเหล่านี้เพิ่งถูกตั้งข้อหาอาญาเพิ่มเติม ถูกปฏิเสธการให้ประกันตัว และถูกคุมขัง ประเทศไทยจำเป็นจะต้องดำเนินการมากกว่านี้เพื่อปกป้องผู้ประท้วงจากความรุนแรง และทำให้แน่ใจว่าประชาชนสามารถใช้สิทธิการชุมนุมโดยสงบได้อย่างปลอดภัยในช่วงการระบาดของ COVID-19 

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งตำรวจควบคุมฝูงชนและผู้ชุมนุมมีส่วนทำให้เกิดความรุนแรงในการชุมนุมทางการเมือง ในเดือนสิงหาคมเพียงเดือนเดียว ตำรวจได้ใช้กำลังสลายการประท้วงโดยใช้กระสุนยาง ปืนฉีดน้ำ และแก๊สน้ำตาอย่างน้อยสิบครั้ง โดยที่ผู้ชุมนุมได้ขว้างก้อนหินและระเบิดขวด ยิงพลุ และใช้ไม้ง่ามหนังสติ๊กยิงหัวน็อตใส่ตำรวจควบคุมฝูงชน การปะทะหลายครั้งเกิดขึ้นบริเวณสี่แยกดินแดงใกล้กับกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ การชุมนุมเหล่านี้มีเยาวชนเป็นผู้เข้าร่วมหลัก โดยผู้ชุมนุมจำนวนมากมีอายุต่ำกว่า 18 ปี 

องค์ระหว่างประเทศทั้ง 13 องค์กรมองว่า มาตรการควบคุมฝูงชนและมาตรการอื่นๆ ที่ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายมักละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ชุมนุม อีกทั้งละเมิดมาตรฐานสากลเกี่ยวกับการควบคุมฝูงชน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยิงกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุมแบบไม่เลือกหน้าซ้ำแล้วซ้ำเล่า จากฟุตเทจวิดีโอจากการชุมุนมเมื่อไม่นานมานี้ แสดงให้เห็นว่าตำรวจควบคุมฝูงชนขึ้นไปยิงกระสุนยางบนทางด่วน ซึ่งเป็นระยะที่ไกลเกินกว่าจะยืนยันได้ว่าบุคคลที่ใช้ความรุนแรงนั้นเป็นเป้าหมายของการควบคุมฝูงชนตามมาตรฐานสากล อีกทั้งยังปรากฏในวิดีโออื่นๆ ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยิงกระสุนยางใส่บุคคลที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ผ่านในระยะกระชั้นชิด อีกทั้งยังมีรายงานว่านักข่าวที่แสดงตัวชัดเจนว่าเป็นสื่อมวลชนถูกยิงด้วยกระสุนยางในการรายงานข่าวชุมนุมด้วย 

ดังนั้นเพื่อบรรลุพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ทั้ง 13 องค์กรจึงเรียกร้องให้รัฐบาลไทยไม่เพียงแต่ยุติการปราบปรามผู้ชุมนุม แต่ยังต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเอื้ออำนวยให้ประชาชนได้ใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและเสรีภาพในการแสดงออกในบริบทการระบาดของโควิด-19 

นอกจากนั้นยังเรียกร้องรัฐบาลไทยให้รับรองว่า เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายที่ใช้กำลังต่อผู้ชุมนุมต้องปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัดเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจ้าหน้าที่รัฐต้องไม่ใช้กำลังเกินสัดส่วนและต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมาย และต้องไม่ก่อให้เกิดอันตรายมากไปกว่าอันตรายที่พวกเขาพยายามป้องกัน การใช้กำลังใดๆ จะต้องเป็นไปตามสัดส่วนของวัตถุประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น การปฏิบัติการตามระดับของภัยคุกคาม และยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้การประกันว่าเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายทุกคนที่มีหน้าที่ควบคุมฝูงชนต้องได้รับการฝึกอบรมอย่างเหมาะสมในด้านกลยุทธ์และยุทธวิธีที่สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ทางการไทยควรตรวจสอบการละเมิดกฎหมายทั้งภายในประเทศและการละเมิดมาตรฐานสากลอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นกลาง และเป็นอิสระโดยทันที และรับรองว่าผู้กระทำผิดต้องถูกนำตัวมาลงโทษ 

ทั้งนี้ยังขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการคุกคามผู้นำการชุมนุมและผู้เข้าร่วมชุมนุมโดยทันที บุคคลที่ถูกคุมขังเพียงเพราะใช้สิทธิในการชุมนุมโดยสงบ รวมถึงผู้นำการชุมนุมถูกปฏิเสธการให้ประกันตัวเมื่อเร็วๆ นี้ ควรได้รับการปล่อยตัวทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่ควรมีบุคคลใดถูกกักขังเพียงเพราะใช้สิทธิของตนเอง เช่น สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบหรือการแสดงออกและเรียกร้องให้รัฐบาลไทยริเริ่มการทบทวนกฎหมายและนโยบายทั้งหมดที่มีผลกระทบต่อสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบในประเทศไทย กฎหมายและนโยบายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออกอย่างไม่ชอบธรรมควรได้รับการแก้ไขให้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ 

ท้ายสุด ทั้ง 13 องค์กรระบุว่า ขอขอบคุณที่รัฐบาลไทยให้ความสนใจต่อประเด็นและข้อเสนอแนะในจดหมายฉบับนี้ และยินดีเป็นอย่างยิ่งหากมีโอกาสที่จะได้ช่วยเหลือและสนับสนุนรัฐบาลไทยในการปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย

 

รายละเอียดจดหมายฉบับเต็มด้านล่าง 

///

1 กันยายน 2564

 

นายกรัฐมนตรี  ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ทำเนียบรัฐบาล
1 ถนนพิษณุโลก
ดุสิต กรุงเทพมหานคร
ประเทศไทย

 

หัวข้อ: ความกังวลเกี่ยวกับสิทธิการชุมนุมอย่างสงบในประเทศไทย

 

เรียน นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เรา, 13 องค์กรที่ลงชื่อด้านล่าง, ได้เขียนจดหมายฉบับนี้เพื่อแสดงความกังวลเกี่ยวกับความรุนแรงและการใช้กำลังเกินสัดส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการประท้วงที่เกิดขึ้นที่กรุงเทพฯ เรารู้สึกเป็นกังวลกับการตอบโต้ที่ไม่ได้สัดส่วนของตำรวจควบคุมฝูงชนต่อการยั่วยุของผู้ประท้วง และเรายังกังวลกับการคุมขังผู้นำประท้วงตามอำเภอใจ โดยผู้นำการประท้วงเหล่านี้เพิ่งถูกตั้งข้อหาอาญาเพิ่มเติม ถูกปฏิเสธการให้ประกันตัว และถูกคุมขัง ประเทศไทยจำเป็นจะต้องดำเนินการมากกว่านี้เพื่อปกป้องผู้ประท้วงจากความรุนแรง และทำให้แน่ใจว่าประชาชนสามารถใช้สิทธิการชุมนุมโดยสงบได้อย่างปลอดภัยในช่วงการระบาดของ COVID-19

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ทั้งตำรวจควบคุมฝูงชนและผู้ประท้วงมีส่วนทำให้เกิดความรุนแรงในการประท้วงทางการเมืองในกรุงเทพฯ ในเดือนสิงหาคมเพียงเดือนเดียว ตำรวจได้ใช้กำลังสลายการประท้วงโดยใช้กระสุนยาง ปืนฉีดน้ำ และแก๊สน้ำตาอย่างน้อยสิบครั้ง โดยที่ผู้ประท้วงได้ขว้างก้อนหินและระเบิดขวด ยิงพลุ และใช้ไม้ง่ามหนังสติ๊กยิงหัวน็อตใส่ตำรวจควบคุมฝูงชน การปะทะหลายครั้งเกิดขึ้นบริเวณสี่แยกดินแดงใกล้กับกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ การประท้วงเหล่านี้มีเยาวชนเป็นผู้เข้าร่วมหลัก โดยผู้ประท้วงจำนวนมากมีอายุต่ำกว่า 18 ปี

มาตรการควบคุมฝูงชนและมาตรการอื่นๆ ที่ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายมักละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ประท้วง อีกทั้งละเมิดมาตรฐานสากลเกี่ยวกับการควบคุมการประท้วง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยิงกระสุนยางใส่ผู้ประท้วงแบบไม่เลือกหน้าซ้ำแล้วซ้ำเล่า ฟุตเตจจากการประท้วงเมื่อไม่นานมานี้แสดงให้เห็นว่าตำรวจควบคุมฝูงชนขึ้นไปยิงกระสุนยางบนทางด่วน ซึ่งเป็นระยะที่ไกลเกินกว่าจะยืนยันได้ว่าบุคคลที่ใช้ความรุนแรงนั้นเป็นเป้าหมายของการควบคุมฝูงชนตามมาตรฐานสากล อีกทั้งยังปรากฏในวิดีโออื่นๆ ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยิงกระสุนยางใส่บุคคลที่ขับขี่รถจัรกยานยนต์ผ่านในระยะกระชั้นชิด อีกทั้งยังมีรายงานว่านักข่าวที่แสดงตัวชัดเจนว่าเป็นสื่อมวลชนถูกยิงด้วยกระสุนยางในการรายงานข่าวประท้วง

มีรายงานว่าตำรวจยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ประท้วงโดยตรง เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 นายธนัตถ์ ธนากิจอำนวย ถูกวัตถุที่เชื่อว่าเป็นกระป๋องแก๊สน้ำตายิงเข้าที่ใบหน้าบริเวณแยกดินแดง และมีรายงานต่อมาว่านายธนัตถ์สูญเสียการมองเห็นที่ดวงตาข้างขวา

การใช้อาวุธปืนครั้งล่าสุดโดยมือปืนนิรนามในการประท้วงครั้งหนึ่งยิ่งทำให้เราเกิดความกังวลเป็นอย่างมาก ในวันที่ 18 สิงหาคม 2564 ผู้ประท้วงวัยรุ่นสามคนถูกยิงด้วยกระสุนจริงหน้าสถานีตำรวจดินแดง เหยื่อรายหนึ่งเป็นเด็กชายอายุ 15 ปี ถูกกระสุนที่คอและยังคงรักษาตัวอยู่ในห้องผู้ป่วยหนัก อาการล่าสุดจากรายงานของโรงพยาบาลคือเด็กชายมีอาการอัมพาตทั้งแขนและขา และไม่ตอบสนองต่อสิ่งเร้า ผู้ประท้วงที่ได้รับบาดเจ็บอีก 2 คนอายุ 14 และ 16 ปี ตำรวจปฏิเสธการใช้กระสุนจริงระหว่างการประท้วง และกล่าวว่าตำรวจกำลังสืบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

นอกจากการปราบปรามการประท้วงบนท้องถนนแล้ว ทางการไทยยังคงคุกคามผู้นำการประท้วงและผู้เข้าร่วมประท้วงอย่างต่อเนื่องผ่านกระบวนการทางกฎหมาย ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 มีการตั้งข้อหาผู้ประท้วงมากกว่า 700 คน รวมถึงเยาวชนอย่างน้อย 130 คน[1] ระหว่างวันที่ 7 ถึง 9 สิงหาคม 2564 ผู้นำการประท้วงและผู้เข้าร่วมประท้วงอย่างน้อย 32 คนถูกจับกุมและถูกตั้งข้อหา ผู้นำการประท้วงและผู้เข้าร่วมประท้วงสิบคนถูกปฏิเสธการให้ประกันและถูกควบคุมตัวก่อนการพิจารณาคดี

อานนท์ นำภา และ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา สองในสิบผู้ที่ถูกจับกุมเป็นผู้ได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน อานนท์ถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์และข้อหาอื่นๆ จากการปราศรัยเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ในการประท้วงเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 จตุภัทร์ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินในสถานการณ์โควิดและข้อหาอื่นๆ  หลังจากที่เขาจัดการประท้วงหน้าสถานีตำรวจทุ่งสองห้องในวันเดียวกัน ผู้นำการประท้วงอีก 7 คน ได้แก่ พริษฐ์ ชิวารักษ์, ณัฐชนน ไพโรจน์,  ศิริชัย นาถึง, พรหมศร วีระธรรมจารี, ภาณุพงศ์ จาดนอก, ธัชพงษ์ แกดำ และปนัดดา ศิริมาศกุล ทั้งหมดถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินในสถานการณ์โควิดและข้อหาอื่นๆ อันเป็นผลมาจากการเข้าร่วมการประท้วงหน้ากองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564 แซม สาแมท อายุ 19 ปี ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม และถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินในสถานการณ์โควิดรวมถึงข้อหาอื่นๆ จากการประท้วงหน้าประท้วงหน้ากองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564

นักเคลื่อนไหวเหล่านี้หลายคนเคยถูกคุมขัง ดำเนินคดี และจำคุกจากการมีส่วนร่วมในการประท้วง ในปี 2559 จตุภัทร์ถูกจำคุกสองปีครึ่งหลังจากที่เขาถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ เมื่อต้นปีนี้ พริษฐ์ถูกควบคุมตัวเป็นเวลา 91 วันในข้อหาคล้ายคลึงกัน อานนท์ ภาณุพงศ์ และพรหมศร ก็ถูกคุมขังเมื่อต้นปีนี้เช่นกัน และต่างได้รับการปล่อยตัวจากการฝากขังก่อนการพิจารณาคดีในเดือนมิถุนายน

ศาลมีความเห็นว่าการจัดการประท้วงของแกนนำคนสำคัญ ได้แก่ อานนท์ พริษฐ์ และจตุภัทร์ นั้นละเมิดเงื่อนไขการประกันตัวคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ครั้งก่อน โดยเงื่อนไขนั้นห้ามไม่ให้พวกเขาเข้าร่วมการประท้วงทางการเมืองหรือทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เสื่อมเสีย พวกเขาอาจจะเผชิญกับการฝากขังก่อนการพิจารณาคดีเป็นเวลาหลายปี

มีรายงานว่าผู้ประท้วงอย่างน้อยแปดคนที่ถูกควบคุมตัวมีผลตรวจโควิดเป็นบวกขณะที่อยู่ในเรือนจำ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2564 ศาลอุทธรณ์ได้ให้ประกันตัว ศิริชัย นาถึง, ปนัดดา ศิริมาศกุล และ แซม สาแมท ทั้งสามคนได้รับการปล่อยตัว แม้ว่าเรือนจำจะเต็มไปด้วยผู้ติดเชื้อโควิด แต่ผู้นำการประท้วงอีกเจ็ดคนยังคงถูกควบคุมตัวก่อนการพิจารณาคดี โดยแต่ละคนถูกปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวอย่างน้อยสองครั้ง

 

พันธกรณีของประเทศไทยภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศและมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง

ข้อ 21 ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งประเทศไทยให้สัตยาบันเมื่อปี 2539 รับรองสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ แม้ว่าข้อจำกัดสิทธิในการชุมนุมบางประการจะได้รับอนุญาตภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ แต่การจำกัดสิทธิการชุมนุมใดๆ ต้อง ‘กำหนดโดยสอดคล้องกับกฎหมายและ … มีความจำเป็นในสังคมประชาธิปไตย’[2] ข้อ 21 ในกติการะหว่างประเทศฯ ระบุการให้เหตุผลที่อนุญาตสำหรับการจำกัดสิทธิในการชุมนุมดังนี้: เพื่อปกป้องความมั่นคงของชาติ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยของประชาชน การสาธารณสุข ศีลธรรมสาธารณะ หรือสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น[3] ไม่มีข้ออ้างอื่นใดของรัฐนอกเหนือจากนี้ที่จะเป็นความชอบธรรมในการจำกัดสิทธิในการชุมนุมโดยสงบได้

อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กซึ่งประเทศไทยให้สัตยาบันเมื่อปี 2535 คุ้มครองสิทธิเด็กในการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ[4]

ในข้อคิดเห็นทั่วไปฉบับที่ 37 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ:

“โดยร่วมกับสิทธิอื่นที่เกี่ยวข้อง [สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ] ถือเป็นรากฐานของการปกครองแบบมีส่วนร่วมตามระบอบประชาธิปไตย ตามหลักสิทธิมนุษยชน นิติธรรม และพหุนิยม การชุมนุมโดยสงบสามารถมีบทบาทสำคัญในการทำให้ผู้เข้าร่วมพัฒนาความคิดและเป้าหมายที่ใฝ่ฝันในพื้นที่สาธารณะ และกำหนดขอบเขตของการสนับสนุนหรือคัดค้านแนวคิดและเป้าหมายเหล่านั้น แม้ว่าการชุมนุมจะเป็นพื้นที่ในการปลดปล่อยความโกรธแค้น แต่การชุมนุมโดยสงบอาจสร้างโอกาสสำหรับสำหรับการแก้ไขความแตกต่างอย่างครอบคลุม มีส่วนร่วม และโดยสันติ[5]

สิทธิในการชุมนุมโดยสงบเป็นรากฐานของสิทธิอื่นๆ มากมาย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นการช่วยประกันว่าสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมจะได้รับการคุ้มครอง นอกจากนี้ บ่อยครั้งที่การประท้วงเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดสำหรับบุคคลและกลุ่มคนชายขอบในการรณรงค์เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง[6]

ด้วยเหตุผลเหล่านี้ กฎหมายระหว่างประเทศจึงปกป้องการประท้วงที่มีลักษณะทางการเมืองเป็นพิเศษ ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า ‘การชุมนุมที่ต้องการส่งสารทางการเมืองควรได้รับการยอมรับและการคุ้มครองมากกว่าปกติ’[7] ดังนั้นการกำหนดเขตห้ามการชุมนุมโดยเด็ดขาดตามสถานที่ต่างๆ เช่น ศาล รัฐสภา สถานที่ที่มีความสำคัญทาง ประวัติศาสตร์ หรือสถานที่ราชการอื่นๆ โดยทั่วไปแล้วเป็นเรื่องที่ควรหลีกเลี่ยง เพราะสถานที่ดังกล่าวถือว่าเป็นพื้นที่สาธารณะ หากมีการห้ามการชุมนุมในหรือรอบพื้นที่ดังกล่าว ข้อจำกัดนี้จะต้องได้รับการอธิบายความชอบธรรมเป็นการเฉพาะและใช้ภายใต้สถานการณ์แวดล้อมที่จำกัดเท่านั้น[8]

ภัยคุกคามต่อการสาธารณสุขที่เกิดจากการระบาดของโควิดอาจแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นอย่างแคบที่สุดในการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ แต่ข้อจำกัดดังกล่าวต้องชอบด้วยกฎหมาย มีความจำเป็น และได้สัดส่วนภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ[9] การประเมินว่ามาตรการเหล่านั้นมีความจำเป็น ได้สัดส่วน และมีเป้าหมายที่ชอบธรรมหรือไม่นั้น ควรพิจารณาว่ามาตรการที่เป็นปัญหานั้นเป็นวิธีที่ก้าวร้าวน้อยที่สุดในการบรรลุเป้าหมายนั้นหรือไม่ สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้ออกคู่มือเกี่ยวกับประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ของพลเมืองในบริบทของการระบาดของโรคโควิด โดยเสนอว่า:

“รัฐควรประกันว่าสิทธิในการจัดการชุมนุมและการประท้วงสามารถเกิดขึ้นได้ และรัฐได้จำกัดการใช้สิทธินั้นตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัดเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนเท่านั้น ดังนั้น รัฐควรพิจารณาว่าการประท้วงจะสอดคล้องกับความจำเป็นด้านสาธารณสุขได้อย่างไร ยกตัวอย่างเช่น การประท้วงโดยการเว้นระยะห่างทางกายภาพ”[10]

ในเดือนเมษายน 2563 ผู้รายงานพิเศษและคณะทำงานของสหประชาชาติได้เตือนว่ารัฐต้องไม่ใช้กำลังแบบไม่ได้สัดส่วนในการบังคับใช้ข้อจำกัดที่เกี่ยวกับสถานการณ์โควิดกับผู้ประท้วง โดยระบุว่า ‘มาตรการฉุกเฉินอาจเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อชีวิต ความเป็นอยู่ และศักดิ์ศรีของผู้ประท้วงได้มากกว่าไวรัส’[11]นอกจากนี้ การกระทำของตำรวจที่ก้าวร้าวต่อผู้ประท้วงอาจขัดต่อจุดประสงค์ของมาตรการฉุกเฉิน การจับกุม การคุมขัง การใช้กำลัง และการสลายชุมนุมอาจเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไวรัสสำหรับผู้ประท้วงและเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายได้[12]

รัฐมีหน้าที่ในการปกป้องนักข่าว ผู้สังเกตการณ์ และประชาชน—ตลอดจนทรัพย์สินของภาครัฐและเอกชน—จากภยันตราย[13] ด้วยเหตุนี้ เจ้าหน้าที่รัฐจึงต้องดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ประท้วงสามารถใช้สิทธิของตนได้อย่างปลอดภัย ขณะที่มีการใช้ ‘กำลังขั้นต่ำเท่าที่จำเป็น’ เพื่อลดโอกาสที่ผู้ประท้วงจะได้รับบาดเจ็บและเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน[14]

ในแถลงการณ์ร่วมฉบับหนึ่ง ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการแสดงออกได้ประกาศว่า “ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าการประท้วงที่รุนแรงอยู่ในกฎหมาย”[15] มีเพียงผู้ประท้วงที่มีความรุนแรงที่ควรได้รับการจัดการเป็นรายบุคคล ตามที่ผู้รายงานพิเศษและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติกล่าว สิทธิในการชุมนุมโดยสงบเป็นสิทธิส่วนบุคคล ไม่ใช่สิทธิส่วนรวม และต้องได้รับการปฏิบัติเช่นนั้น[16] การกระทำรุนแรงของผู้เข้าร่วมบางคนจะต้องไม่นำมานับรวมกับผู้เข้าร่วมคนอื่นในการชุมนุม และตราบใดที่ผู้จัดการชุมนุมใช้ความพยายามตามสมควรเพื่อส่งเสริมการชุมนุมโดยสงบ พวกเขาจะไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำที่รุนแรงของผู้เข้าร่วมคนอื่น”[17]

เจ้าหน้าที่รัฐอาจสลายการชุมนุมได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ “หลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างเคร่งครัด” เช่น เมื่อมีหลักฐานชัดเจนว่ามีภัยคุกคามอย่างชัดแจ้งว่าจะเกิดความรุนแรงซึ่งไม่สามารถรับมือได้ด้วยการจับกุมเฉพาะเป้าหมายหรือการกระทำที่รุนแรงน้อยกว่า[18]ก่อนสลายการชุมนุม เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องใช้มาตรการที่เหมาะสมทั้งหมดเพื่อมีการจัดการชุมนุมภายใต้สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย แม้ว่าผู้ประท้วงบางคนจะใช้ความรุนแรง แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดยังคงมีสิทธิทั้งหมดของตนภายใต้กติการะหว่างประเทศฯ รวมถึงสิทธิในชีวิตและสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองจากการคุมขังตามอำเภอใจ[19]

เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายควรใช้กำลังในสถานการณ์ “ยกเว้น” เท่านั้น[20] การใช้กำลังใดๆ ต้องเป็นการใช้กำลังขั้นต่ำเท่าที่จำเป็น ต้องกำหนดเป้าหมายไปที่บุคคลเฉพาะ และได้สัดส่วนกับภัยคุกคามที่เกิดขึ้น[21] ข้อจำกัดในการใช้กำลังในที่ชุมนุมจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเมื่อตำรวจใช้อาวุธที่ทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ เช่นการใช้อาวุธปืน ในการควบคุมการชุมนุม อาวุธปืนอาจถูกใช้เมื่อมีความจำเป็นอย่างเคร่งครัดเพื่อตอบโต้ภัยคุกคามที่อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตหรือการบาดเจ็บสาหัสเท่านั้น[22]

กระสุนยางก็อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ ตามคู่มือของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธอันไม่ถึงแก่ชีวิตในการบังคับใช้กฎหมายระบุว่า ‘การยิงวิถีโค้งโดยทั่วไปควรใช้โดยมีจุดประสงค์เพื่อโจมตีส่วนล่างหรือขาของบุคคลที่ใช้ความรุนแรงเท่านั้น และเพื่อจัดการกับภัยคุกคามที่ชัดแจ้งว่าจะทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายหรือประชาชน’[23] ระสุนยางไม่ควรถูกใช้เป็นเครื่องมือทั่วไปในการสลายการชุมนุมและไม่ควรยิงใส่ฝูงชนแบบไม่เลือกหน้า[24]

แก๊สน้ำตาและ ‘อาวุธควบคุมพื้นที่’ อื่นๆ ยังก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้ประท้วง และควรใช้เพื่อตอบสนองต่อความรุนแรงในวงกว้าง โดยมีวัตถุประสงค์เพียงประการเดียวคือการสลายการชุมนุม และควรเป็นวิธีสุดท้ายหลังจากให้เสียงเตือนและให้เวลาที่เหมาะสมแก่ผู้ประท้วงและผู้ผ่านทางได้ออกจากพื้นที่[25] ตลับและกระป๋องบรรจุแก๊สน้ำตาต้องไม่มุ่งเป้าไปที่บุคคลหรือใช้ในพื้นที่จำกัด[26] การใช้แก๊สน้ำตากับบุคคลที่อยู่ภายใต้การควบคุมแล้วถือเป็นการละเมิดข้อห้ามต่อการทรมานหรือการประติบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ

ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนกล่าว รัฐควร ‘ส่งเสริมวัฒนธรรมของความรับผิดต่อเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายในระหว่างการชุมนุมอย่างมีมาตรฐานสม่ำเสมอ’[27]ดังนั้น ตำรวจจึงจำเป็นต้องได้รับการฝึกอบรมที่เพียงพอเพื่ออำนวยความสะดวกในการชุมนุม เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องเข้าใจกรอบกฎหมายที่ควบคุมการชุมนุม เข้าใจหน้าที่ของรัฐในการจัดให้มีการชุมนุมโดยสงบ และความสำคัญของการชุมนุมทางการเมืองในสังคมที่เคารพสิทธิมนุษยชน พวกเขาควรได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับเทคนิคที่เหมาะสมในการจัดการฝูงชนและวิธีหลีกเลี่ยงการยกระดับความรุนแรงในขณะที่ตอบสนองต่อความรุนแรงของผู้ประท้วง[28] การใช้กำลังใดๆ ต้องมีการตรวจสอบเพื่อพิจารณาว่าการใช้กำลังนั้นจำเป็นและได้สัดส่วนหรือไม่[29] รัฐมี ‘หน้าที่ในการตรวจสอบอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นกลาง และในเวลาที่เหมาะสม ต่อข้อกล่าวหาหรือข้อสงสัยอันสมเหตุสมผลของใช้กำลังอย่างผิดกฎหมายหรือการละเมิดอื่นๆ ที่เกิดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย … ในบริบทของการชุมนุม’[30]

ในเดือนมีนาคม 2563 ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้เรียกร้องให้ทุกรัฐปล่อยตัว “บุคคลทุกคนที่ถูกควบคุมตัวโดยไม่มีเงื่อนไขตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเพียงพอ รวมทั้งนักโทษการเมือง และผู้ที่ถูกควบคุมตัวเพราะการวิพากษ์วิจารณ์และมีมุมมองไม่ตรงกับรัฐ” เพื่อรับมือกับโรคระบาดโควิด[31] การคุมขังแกนนำผู้ประท้วงอย่างต่อเนื่องแม้จะมีอัตราการติดเชื้อในเรือนจำสูงเนื่องจากความแออัดเท่ากับเป็นการทำให้ชีวิตของพวกเขาตกอยู่ในอันตรายร้ายแรง

 

บทสรุป

เพื่อบรรลุพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน รัฐบาลไทยไม่ควรเพียงแค่ละเว้นการปราบปรามการประท้วง แต่ยังต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเอื้ออำนวยให้ประชาชนได้ใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบและเสรีภาพในการแสดงออกในบริบทการระบาดของโควิด

เราเรียกร้องรัฐบาลไทยให้รับรองว่าเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายใช้กำลังกับผู้ประท้วงโดยปฏิบัติตามกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัดเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจ้าหน้าที่รัฐต้องไม่ใช้กำลังเกินสัดส่วนและต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมาย และต้องไม่ก่อให้เกิดอันตรายมากไปกว่าอันตรายที่พวกเขาพยายามป้องกัน การใช้กำลังใดๆ จะต้องเป็นไปตามสัดส่วนของวัตถุประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น การปฏิบัติการตามระดับของภัยคุกคาม เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการให้มั่นใจว่าเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายทุกคนที่มีหน้าที่ควบคุมฝูงชนได้รับการฝึกอบรมอย่างเหมาะสมในด้านกลยุทธ์และยุทธวิธีที่สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รัฐไทยควรตรวจสอบการละเมิดกฎหมายทั้งภายในประเทศและการละเมิดมาตรฐานสากลอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นกลาง และเป็นอิสระโดยทันที และรับรองว่าผู้กระทำผิดต้องถูกนำมาลงโทษ

เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการคุกคามผู้นำการประท้วงและผู้เข้าร่วมประท้วงโดยทันที บุคคลที่คุมขังเพียงเพราะใช้สิทธิในการชุมนุมโดยสงบ รวมถึงผู้นำการประท้วงที่ถูกปฏิเสธการให้ประกันตัวเมื่อเร็วๆ นี้ ควรได้รับการปล่อยตัวทันทีและไม่มีเงื่อนไข ไม่ควรมีบุคคลใดถูกกักขังเพียงเพราะใช้สิทธิของตนเอง เช่น สิทธิในการชุมนุมโดยสงบหรือเสรีภาพในการแสดงออก

เราเรียกร้องให้รัฐบาลไทยริเริ่มการทบทวนกฎหมายและนโยบายทั้งหมดที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบในประเทศไทย กฎหมายและนโยบายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออกอย่างไม่ชอบธรรมควรได้รับการแก้ไขให้สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ

เราขอขอบคุณที่รัฐบาลไทยให้ความสนใจต่อประเด็นและข้อเสนอแนะในจดหมายฉบับนี้ เรายินดีเป็นอย่างยิ่งหากมีโอกาสที่เราจะได้ช่วยเหลือและสนับสนุนรัฐบาลไทยในการปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย

 

ขอแสดงความนับถือ

 

Amnesty International
ARTICPE 19
ASEAN Parliamentarians for Human Rights
Asia Democracy Network
Asian Forum for Human Rights and Development (FORUM-ASIA)
Asian Network for Free Elections (ANFREL)
CIVICUS: World Alliance for Citizen Participation
Civil Rights Defenders
FIDH – International Federation for Human Rights
Fortify Rights
Human Rights Watch
International Commission of Jurists
Manushya Foundation

 

สำเนา:

พลตำรวจเอก สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข
ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ถนนพระราม 1 แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน
กรุงเทพมหานคร 10330

 

[1] Thai Lawyers for Human Rights, ‘สถิติคดี 1 ปี หลังเยาวชนเริ่มปลดแอก: ยุติการใช้ “กฎหมาย เป็นเครื่องมือปราบปรามทางการเมือง’, 18 July 2021, available at: https://tlhr2014.com/archives/32258.

[2] International Covenant on Civil and Political Rights, Article 21.

[3] Ibid.

[4] Convention on the Rights of the Child, Article 15.

[5] Human Rights Committee General Comment No. 37, UN Doc. CCPR/C/GC/37, para. 1, (23 July 2020) [hereinafter General Comment No. 37]. Unofficial Thai language translation is available at: https://www.icj.org/wp-content/uploads/2021/08/1.-ไทย_GC-37.pdf

[6] Id. at para. 2.

[7] Id. at para. 32.

[8] Id. at para. 56.

[9] See Human Rights Committee General Comment No. 37, UN Doc. CCPR/C/GC/37, para. 45, (23 July 2020) [hereinafter General Comment No. 37].

[10] Office of the High Commissioner for Human Rights, ‘Civic Space and COVID-19: Guidance’, 4 May 2020, available at: https://www.ohchr.org/Documents/Issues/CivicSpace/CivicSpaceandCovid.pdf.

[11] UN OHCHR, ‘COVID-19 security measures no excuse for excessive use of force, say UN Special Rapporteurs’, 17 April 2020, available at: https://www.ohchr.org/EN/NewsEvents/Pages/DisplayNews.aspx?NewsID=25802&LangID=E.

[12] Amnesty International, ‘COVID-19 Crackdowns: Police abuse and the global pandemic’, 2020, p. 25, available at: https://policehumanrightsresources.org/content/uploads/2020/12/ACT3034432020ENGLISH.pdf?x96812.

[13] Id. at paras. 74, 76.

[14] Id. at paras. 76, 79.

[15] UN OHCHR, ‘UN rights experts urge lawmakers to stop “alarming” trend to curb freedom of assembly in the US’, 30 March 2017, available at: https://www.ohchr.org/EN/NewsEvents/Pages/DisplayNews.aspx?NewsID=21464&LangID=E.

[16] Id. See also: General Comment No. 37 at para. 4.

[17] Joint report of the Special Rapporteur on the rights to freedom of peaceful assembly and of association and the Special Rapporteur on extrajudicial, summary or arbitrary executions on the proper management of assemblies, U.N. Doc A/HRC/31/66, 4 February 2016, at para. 26 [hereinafter HRC 31/66].

[18] HRC 31/66 at para 61; General Comment No. 37 at para. 85.

[19] General Comment No. 37 at para. 9.

[20] HRC 31/66 at para. 57.

[21] Id. at paras. 57–58.

[22] General Comment No. 37 at para 88; HRC 31/66 at para. 59. See also: Basic Principles on the Use of Force and Firearms by Law Enforcement Officials, principles 9 and 14; Amnesty International, Dutch Section, ‘Use of Force: Guidelines for the implementation of the UN Basic Principles on the Use of Force and Firearms by Law Enforcement Officials’, August 2015, section 2, available at: https://www.amnesty.org.uk/files/use_of_force.pdf, [hereinafter Amnesty International, ‘Use of Force’].

[23] United Nations Human Rights Guidance on Less Lethal Weapons in Law Enforcement, para. 7.5.8, available at: https://www.ohchr.org/Documents/HRBodies/CCPR/LLW_Guidance.pdf [hereinafter Guidance on Less Lethal Weapons].

[24] Amnesty International, ‘Use of Force’, section 7.4.2.

[25] Id. at para. 87.

[26] Guidance on Less Lethal Weapons, paras. 7.3.6-8.

[27] General Comment No. 37 at para. 89.

[28] HRC 31/66 at para. 42.

[29] General Comment No. 37 at para. 91.

[30] Id. at para. 90.

[31] UN High Commissioner for Human Rights Michelle Bachelet, ‘Urgent action needed to prevent COVID-19 “rampaging through places of detention”’, 25 March 2020, available at: https://www.ohchr.org/EN/NewsEvents/Pages/DisplayNews.aspx?NewsID=25745&LangID=E.