"ฉันอยากกลับไปตายที่บ้านเกิด" : ครอบครัวแอมเนสตี้ชวนร่วมส่งแรงใจให้ปู่คออี้ได้กลับบ้าน

11 มิถุนายน 2561

 

 

สมาชิกแอมเนสตี้ ประเทศไทยร่วมกันส่งกำลังใจให้ปู่คออี้ก่อนที่จะร่วมรับฟังคำตัดสินศาลปกครองสูงสุดพร้อมในวันที่ 12 มิถุนายนนี้ ในคดีที่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเผาบ้าน ยุ้งข้าวและทำลายทรัพย์สินของชาวบ้าน 6 คน

 

ที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย สมาชิกกว่า 50 คน ร่วมกันถือหน้ากากปู่คออี้ เพื่อเป็นการแสดงพลังเพื่อให้กำลังใจปู่คออี้ มิมิ ชาวกะเหรี่ยงวัย 106 ปี และชาวบ้านบางกลอยบน อ. แก่งกระจาน จ. เพชรบุรี เป็นผู้ได้รับผลกระทบจาก "ยุทธการตะนาวศรี" หรือ ปฏิบัติการผลักดันและจับกุมชนชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แนวชายแดนไทย-พม่าในปี 2554 โดยใช้วิธีเผาไล่ที่ บุกรุกรื้อทำลายบ้านเรือนและยุ้งฉางตามแนวคิดของภาครัฐที่ยืนยันว่าคนไม่สามารถอยู่ร่วมกับป่าได้ และการอาศัยทำกินในป่าคือตัวการสำคัญที่ทำลายทรัพยากรป่าไม้

 

ในปี 2555 ปู่คออี้และชาวบ้านบางกลอยบนร่วมกับสภาทนายความได้ดำเนินการฟ้องร้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยงานที่สั่งการเผาไล่รื้อบ้านเรือนของตน โดยสภาทนายความมีความเห็นว่า กรณีที่เกิดขึ้นเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง จึงได้แจ้งดำเนินคดีทางแพ่งและปกครองให้หน่วยงานข้างต้นชดใช้ค่าเสียหายและรับผิดฐานการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฏหมาย โดยมีนายบิลลี่ หรือ พอละจี รักจงเจริญ แกนนำชุมชนซึ่งหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยในปี 2557 เป็นพยานคนสำคัญ 

 

อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองกลางกลับมีคำพิพากษาในปี 2559 ว่าเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ใช้อำนาจโดยชอบแล้วในการรื้อถอนบ้านเรือนและสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายต่อผู้ฟ้องคดีเพียง10,000 บาทต่อคน ปู่คออี้และชาวบ้านบางกลอยบนเห็นว่าคำพิพากษาดังกล่าวยังมีความคลาดเคลื่อน และวินิจฉัยไม่ครบประเด็นตามคำฟ้อง จึงได้อุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุด โดยโต้แย้งด้วยหลักฐานการตั้งชุมชนดั้งเดิมและอ้างอิงมติครม. วันที่ 3 ส.ค. 2553 ซึ่งรับรองว่าวิถีการผลิตแบบไร่หมุนเวียนไม่ทำลายธรรมชาติรวมถึงโต้แย้งในรายละเอียดว่าแนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในการรื้อถอนบ้านเรือนของชุมชนเป็นไปโดยมิชอบ


ในวันที่ 12 มิถุนายน 2561 ที่จะถึงนี้ศาลปกครองสูงสุดจะอ่านคำพิพากษาคดีพิพาทดังกล่าวตามการอุทธรณ์ของปู่คออี้และชาวบ้านบางกลอยบน หากศาลรับรองการตั้งถิ่นฐานของชุมชน ปู่คออี้และชาวบ้านคนอื่นๆ ก็จะสามารถกลับไปอยู่ในบ้านบางกลอยบน หรือ "ใจแผ่นดิน" อีกครั้ง

AGM-177.jpg

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จึงขอเชิญชวนสมาชิกและผู้สนับสนุน ร่วมทำกิจกรรมส่งกำลังใจให้ปู่คออี้ได้กลับบ้านโดยการสวมหน้ากากปู่คออี้ และถ่ายรูปพร้อมป้ายสัญลักษณ์แสดงพลังให้คุณปู่ได้กลับบ้าน โดยรีทวีตภาพดังกล่าวระหว่างวันที่ 11-12 มิถุนายน ก่อนการอ่านคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ในวันที่ 12 มิถุนายน 2561 เวลา 10.00 น.


ลำดับเหตุการณ์

 

2448    ปู่คออี้เกิด และอยู่อาศัยในพื้นที่แก่งกระจาน

 

2524    ประกาศพื้นที่แก่งกระจานเป็น “อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน”

 

2539    เจ้าหน้าที่ให้กะเหรี่ยงซึ่งอาศัยอยู่บางกลอยบน หรือ "ใจแผ่นดิน" อพยพลงมาจากบ้านที่เขาอ้างว่าอยู่ตั้งแต่เกิด มาอยู่ที่บ้านโป่งลึก-บางกลอย แต่ปู่คออี้ ไม่ชินกลับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างออกไป จึงกลับขึ้นไปอยู่บ้านเกิดของตน ณ บางกลอยบนตามเดิม

 

2554    เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นำโดยนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในขณะนั้น ได้ดำเนินการไล่รื้อ เผาบ้าน และยุ้งฉางข้าว รวมทั้งยึดเครื่องมือ เครื่องใช้อุปกรณ์ในการทำไร่ของชาวกะเหรี่ยงโป่งลึก-บางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี รวมจำนวน 6 ครั้ง และปู่คออี้ยังถูกนำตัวขึ้นเฮลิคอปเตอร์ลงสู่พื้นที่ด้านล่าง

 

2555    ปู่คออี้ต่อสู่คดีในชั้นศาล หมายเลขคดีดำที่ ส.58/2555 กับพวกรวม 6 คนเป็นผู้ฟ้องคดีเพื่อเรียกค่าเสียหายกรณีที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและขอสิทธิกลับไปอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าแก่งกระจานที่เป็นพื้นที่ดั้งเดิมที่ชาวกะเหรี่ยงได้ตั้งรกรากอาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณลำห้วยเหนือแม่น้ำบ้านบางกลอยบน มาแต่ครั้งบรรพบุรุษเป็นเวลาร่วมกว่าร้อยปี

 

2557    นายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ อายุ 30 ปีแกนนำกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย หนึ่งในพยานของคดีการรื้อถอนและเผาบ้านกะเหรี่ยง อีกทั้งยังเป็นหลานของปู่คออี้หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย

 

2559    ศาลปกครองตัดสินกรณีเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานขึ้นไปเผาบ้านเรือน ยุ้งข้าว และรื้อทำลายทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 คน โดยผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 6 ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติและมีการล่าสัตว์ ถือว่ากระทำความผิดตามมาตรา 16 (1)(ครอบครองที่ดินและแผ้วถางป่า)16(2)(เก็บหาหรือทำให้ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมสภาพ) และ 16(3) (นำสัตว์ออกไปหรือทำอันตรายแก่สัตว์) แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ส่วนการรื้อถอนด้วยวิธีเผาทำลายเพิงพักและยุ้งฉาง ศาลตัดสินว่าเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องเหมาะสมตามหลักความได้สัดส่วนและตามควรแก่กรณีสภาพการณ์ เพราะหากรื้อถอนไปแล้วคงเหลือวัสดุก่อสร้างไว้ที่เดิม ย่อมจะทำให้ผู้กระทำความผิดนำไปใช้ในการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างขึ้นใหม่ได้ ถือได้ว่าเป็นการใช้อำนาจโดยชอบของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 โดยศาลให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งหมดคนละ 10,000 บาท ภายใน 30 วัน 
แต่ปู่คออี้ ชาวบ้าน และทนายความเห็นว่าคำตัดสินดังกล่าวยังมีความบกพร่อง คลาดเคลื่อน และยังวินิจฉัยไม่ครบประเด็นตามคำฟ้องจึงยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าว

 

2561    ศาลปกครองสูงสุดนัดพิจารณาคดีครั้งแรก  ฝ่ายปู่คออี้โต้แย้งในประเด็นหลัก คือ ความมีอยู่จริงของการตั้งถิ่นฐานดั้งเดิมของตนและชาวบ้านกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ซึ่งมติครม. เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2553 เคยรับรองการมีอยู่ของชุมชนดั้งเดิมชาวกะเหรี่ยง รวมถึงวิถีทางวัฒนธรรมและการผลิตแบบไร่หมุนเวียนว่าไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังโต้แย้งการอ้างอิงแนวปฏิบัติตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ว่าไม่ได้อนุญาตให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจเผาบ้านชาวบ้าน และตามขั้นตอนแล้ว ต้องติดประกาศเตือนอย่างชัดเจนก่อน หากชาวบ้านไม่ทำตามจึงใช้อำนาจศาลสั่งให้โยกย้ายชาวบ้านออกจากพื้นที่