สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 27 มกราคม-2 กุมภาพันธ์ 2567

2 กุมภาพันธ์ 2567

Amnesty International Thailand

 

ไทย/รัสเซีย: แอมเนสตี้แถลงหากไทยเนรเทศวงร็อก Bi-2 กลับไปรัสเซียเสี่ยงเผชิญอันตราย

31 มกราคม  2567

 

สืบเนื่องจากรายงานข่าวว่า ทางการไทยอยู่ระหว่างพิจารณาเนรเทศสมาชิกวง Bi-2 กลับไปรัสเซีย หลังจากควบคุมตัวพวกเขาในประเทศไทย ซึ่งตามรายงานข่าวระบุว่าเป็นผลมาจากแรงกดดันของนักการทูตของรัสเซีย

เดนิส ครีโวชีฟ รองผู้อำนวยการภูมิภาคยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยว่า ทางการไทยจะต้องปฏิบัติตามหลักการไม่ส่งกลับ (Non-refoulement) โดยประกันว่านักดนตรีจากวงร็อค Bi-2 จะไม่ถูกบังคับส่งกลับไปรัสเซีย ซึ่งอาจมีความเสี่ยงร้ายแรงว่า พวกเขาจะต้องเผชิญกับการประหัตประหาร เนื่องจากมีจุดยืนที่ต่อต้านสงคราม

“สมาชิกวง Bi-2 ซึ่งได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนในการต่อต้านการรุกรานยูเครนของรัสเซีย และที่ผ่านมาได้ตกเป็นเป้าหมายการโจมตีเพื่อทำลายชื่อเสียงที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ มีการสั่งยกเลิกคอนเสิร์ตของพวกเขา และหนึ่งในสมาชิกของวงถูกทางการรัสเซียขึ้นบัญชีว่าเป็น ‘เจ้าหน้าที่ต่างชาติ‘ หากพวกเขาถูกเนรเทศกลับไปรัสเซีย อาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงอย่างแท้จริงของการควบคุมตัวโดยพลการ ซึ่งเป็นไปตามระเบียบบังคับของฝ่ายบริหาร และต้องถูกดำเนินคดีอาญาที่ปราศจากมูลความจริง และอาจส่งผลให้ได้รับโทษจำคุกเป็นเวลานาน ทางการไทยต้องยึดมั่นตามพันธกรณีระหว่างประเทศของตน และอนุญาตให้สมาชิกวง Bi-2 เดินทางออกไปยังประเทศอื่นๆ ที่ปลอดภัยได้”

 

อ่านต่อ: https://www.amnesty.or.th/latest/news/1219/

 

-----

 

 

ประเทศไทย: KICK OFF ด้วยรักและยุติธรรม สู่นิรโทษกรรมประชาชน

1 กุมภาพันธ์  2567

 

ตัวแทนเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน เดินทางมายื่นเอกสารเพื่อริเริ่มการเข้าชื่อร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชน ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร

หลังจากยื่นเอกสารริเริ่มเข้าชื่อแล้ว ตัวแทนเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จาก iLaw ระบุว่า "เราจัดกิจกรรมเพื่ออยากให้ทุกคนร่วมกันส่งเสียงเรื่องนี้ในเทศกาลแห่งความรักนี้ 1-14 กุมภาพันธ์ 2567 โดยจะมีกิจกรรมต่อเนื่องทั้ง 14 วัน ทั้งงานเสวนาวิชาการ งานศิลปะ งานสร้างสรรค์ ใครชอบแบบไหนและเห็นความสำคัญของการนิรโทษกรรมประชาชนด้วยกันก็ขอให้เลือกไปร่วมงานกันเอง นอกจากนี้เรายังรับอาสาจุดรับลงรายชื่อรับอาสาจัดกิจกรรมเพิ่มเติม งานนี้จะสำเร็จได้ไม่ใช่เพราะองค์กรที่จัดงานเท่านั้นแต่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของผู้คนจำนวนมากอย่างที่เคยเป็นมา เพื่อส่งร่างนี้เข้าสภาและไปให้ไกลที่สุดเพื่อคนที่อยู่ในเรือนจำและอาจจะต้องเข้าเรือนจำในไม่กี่วันข้างหน้า โดยพวกเราเชื่อว่ากิจกรรมนี้จะเป็นอีกครั้งที่เราจะได้เห็นการการรวมพลังของประชาชนที่มีความหมายอีกครั้งหนึ่ง"

ด้านประกายดาว พฤกษาเกษมสุข จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) กล่าวว่า "ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของแคมเปญนี้ เราจะจัดงานส่งรายชื่อให้ถึงสภา โดยขออนุญาตใช้พื้นที่ที่ลานประชาชน และจะขอเชิญหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรคมารับข้อเสนอของประชาชนด้วย บ่ายวันนี้จะไปยื่นหนังสือเชิญให้กับพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล และวันต่อๆ ไปก็จะไปยื่นหนังสือเชิญหัวหน้าพรรคการเมืองอื่นๆ เราอยากเจอทุกคนโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอยู่ตอนนี้ เป็นพรรคที่ล้มลุกคลุกคลานกับเส้นทางต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาสองทศวรรษ สส. ของพรรค และประชาชนที่สนับสนุนพรรคต่างถูกจับกุมคุมขังด้วยคดีทางการเมืองเป็นร้อยเป็นพันคน รวมทั้งยังไม่ได้กลับบ้าน ก็หวังว่าจะได้พบคุณแพทองธาร ชินวัตร ที่หน้าสภาวันที่ 14 เพื่อมารับร่างนี้จากประชาชน"

 

อ่านต่อ: https://www.amnesty.or.th/latest/news/1220/

 

-----

 

 

เมียนมา: ข้อมูลใหม่ชี้ว่า กองทัพยังคงนำเข้าเชื้อเพลิงเพื่อการโจมตีทางอากาศที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต แม้จะมีมาตรการคว่ำบาตรก็ตาม

31 มกราคม  2567

 

หลักฐานใหม่ชี้ว่า กองทัพเมียนมายังใช้ยุทธวิธีใหม่ในการนำเข้าเชื้อเพลิงอากาศยาน หลังมีการประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรเพื่อตอบโต้กับการโจมตีทางอากาศ ซึ่งเป็นเหตุให้พลเรือนถูกสังหารและได้รับบาดเจ็บอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวในวันนี้ ก่อนครบรอบสามปีของการทำรัฐประหารในปี 2564

จากการวิเคราะห์เอกสารข้อมูลการขนส่ง ภาพถ่ายดาวเทียม ข้อมูลการค้า และข้อมูลทางศุลกากรของแอมเนสตี้ พบการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญของวิธีการส่งเชื้อเพลิงอากาศยานเข้าสู่เมียนมาในช่วงปีที่ผ่านมา โดยดูเหมือนว่ากองทัพใช้เส้นทางขนส่งใหม่ และพึ่งพาคลังน้ำมันบางแห่งเพื่อปกปิดแหล่งที่มาของเชื้อเพลิง

มอนต์เซ แฟร์เรอร์ รองผู้อำนวยการระดับภูมิภาคฝ่ายวิจัย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า หลังจากประชาคมระหว่างประเทศใช้มาตรการตอบโต้ห่วงโซ่อุปทานที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต กองทัพเมียนมายังคงใช้ยุทธวิธีตามตำราเพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตร เพื่อให้มีการนำเข้าเชื้อเพลิงอากาศยานต่อไป

“การโจมตีทางอากาศส่งผลให้พลเรือนหลายร้อยคนเสียชีวิต หรือได้รับบาดเจ็บตลอดทั่วเมียนมาในปี 2566 และทำให้หลายคนรู้สึกว่าไม่มีที่ใดที่ปลอดภัย แนวทางที่ดีสุดที่จะหยุดยั้งไม่ให้กองทัพเมียนมาโจมตีทางอากาศอย่างร้ายแรง คือการหยุดการนำเข้าเชื้อเพลิงอากาศยานทั้งหมดเข้าไปในประเทศ”

 

อ่านต่อ: https://www.amnesty.or.th/latest/news/1218/

 

-----

 

"ช่วยโลกกี่ครั้งก็ยังไหว" แอมเนสตี้เปิดตัวคู่มือสุขภาวะนักเคลื่อนไหวทางสังคม

30 มกราคม  2567

 

แอมเนสตี้จัดกิจกรรมเสวนา “ช่วยโลกกี่ครั้งก็ยังไหว (ไหมนะ?)” พร้อมเปิดตัวหนังสือ “ช่วยโลกกี่ครั้งก็ยังไหว: คู่มือดูแลรักษากายและใจของนักเคลื่อนไหวทางสังคม”

พ.ศ.2563 ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 เกิดเหตุการณ์ที่เป็นหมุดหมายสำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทย นั่นคือการชุมนุมทางการเมืองของคนรุ่นใหม่หลายครั้งเกือบตลอดทั้งปี ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากความไม่พอใจการบริหารจัดการสถานการณ์โรคระบาดของรัฐบาลในเวลานั้น การเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งใหญ่นี้ ส่งผลให้มีนักเคลื่อนไหวถูกจับกุมตัวและดำเนินคดีเป็นจำนวนกว่าพันคน บางส่วนในนั้นเป็นเด็กและเยาวชน

แรงกดดันจากภารกิจเคลื่อนไหวทางสังคม ความขัดแย้งกับครอบครัวและคนรอบข้างจากมุมมองทางการเมืองที่แตกต่าง รวมถึงการถูกดำเนินคดี ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อ “สุขภาวะ” (well-being) ของนักเคลื่อนไหวทางสังคม โดยเฉพาะเยาวชน ที่ไม่ได้ใช้ชีวิตอย่างที่ควรจะเป็น

ธเนศ ศิรินุมาศ หัวหน้าฝ่าย Learning Community สมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม (SYSI) เป็นหนึ่งในผู้ที่ทำงานร่วมกับเยาวชน กล่าวว่า ปัญหาหลักที่นักเคลื่อนไหวทางสังคมรุ่นใหม่เผชิญ ได้แก่ ปัญหาด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งความรู้สึกสงสัยในตัวเอง เมื่อการเคลื่อนไหวไม่ได้เป็นไปอย่างรวดเร็วอย่างใจคิด

“คนรุ่นใหม่จะมีความเชื่อ ความฝัน อยากให้จบในรุ่นเรา แต่พอทุกอย่างมันเกิดขึ้นช้าๆ จะรู้สึกอึดอัด จะรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอหรือเปล่า ถึงทำไม่สำเร็จ”

นอกเหนือจากการชุมนุมทางการเมือง คนรุ่นใหม่เหล่านี้ยังมีชีวิตอีกด้านหนึ่ง ทั้งเรื่องการเรียน ความรัก ครอบครัว รวมถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่เคยได้รับการแก้ไข และส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนรุ่นใหม่อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

ณิชกานต์ รักวงษ์ฤทธิ์ หรือ “มีมี่” นักกิจกรรมเฟมินิสต์ ก็ได้กล่าวถึงประสบการณ์การถูกโจมตีจากการเคลื่อนไหว ซึ่งไม่เพียงแต่ถูกโจมตีอุดมการณ์ทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังถูกโจมตีเรื่องเพศ รูปร่างหน้าตา ไปจนถึงการถูกดำเนินคดีทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียด มีมี่และนักเคลื่อนไหวคนอื่นๆ กลับไม่สามารถหยุดพักได้ แม้แต่คำว่า “สุขภาวะ” ก็ยังไม่เคยได้ยินในขบวนการเคลื่อนไหว

“ขบวนประชาธิปไตยตอนนี้ยังใช้ dominant culture อยู่ ก็คือยังมีวัฒนธรรมการใช้อำนาจเหนือ เช่น การกดดันให้ต้องสู้ ต้องไปต่อ ไม่พัก หรือเรากำลังทำเพื่อประเทศชาติ เราจะมาอ่อนแอ หรือแสดงความรู้สึกไม่ได้ การขอความช่วยเหลือถูกตีตราว่าเป็นความอ่อนแอ”

“เราอาจจะไม่รู้ว่า ในแต่ละวันเราโดนความรุนแรงบางอย่างโดยที่เราไม่รู้ตัว การที่ถูกบอกว่าต้องสู้สิ พักไม่ได้ พรุ่งนี้ต้องไป ต้องจัดม็อบอีก จริงๆ แล้วมันทำให้เหนื่อยมาก เรารู้ว่าหลายคนที่เราคุยด้วยเหนื่อย แต่เขาพักไม่ได้ เพราะว่าขบวนมันขึ้น เราต้องไป จังหวะนี้มันมี มันต้องจบที่รุ่นเรา” นาริฐา โภไคยอนันต์ เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายกิจกรรมและสิทธิมนุษยชนศึกษา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวเสริม

 

อ่านต่อ: https://www.amnesty.or.th/latest/news/1216/

 

----- 

 

กัมพูชา: ทางการต้องยกเลิกคำตัดสินความผิดของผู้นำฝ่ายค้านในข้อหากบฏที่ไม่มีมูลความจริง

29 มกราคม  2567

 

ก่อนการพิจารณาคดีอุทธรณ์ในวันพรุ่งนี้ของเขม โสกา ผู้นำฝ่ายค้านของกัมพูชาที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดในข้อหากบฏและลงโทษจำคุก 27 ปี 

มอนต์เซ เฟอร์เรอร์ รองผู้อำนวยการภูมิภาคฝ่ายวิจัย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า เราขอเรียกร้องให้ทางการกัมพูชายกเลิกคำตัดสินความผิดและการลงโทษในข้อหากบฏที่ไม่มีมูลความจริงของเขม โสกา และยุติการปราบปรามกลุ่มต่อต้านที่ดำเนินอยู่

“คำตัดสินความผิดและการลงโทษจำคุก 27 ปีของโสกา ผู้นำฝ่ายค้าน แสดงให้เห็นว่าทางการกัมพูชาไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม

“ใครก็ตามที่กล้าพูดต่อต้านรัฐบาลกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง ทางการกัมพูชาต้องเคารพ ปกป้อง ส่งเสริม และเติมเต็มสิทธิมนุษยชนของทุกคนในประเทศ รวมถึงสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การชุมนุมและการสมาคมโดยสงบ และยุติการจำกัดพื้นที่ภาคประชาสังคมที่เพิ่มขึ้น

“เขม โสกา ถูกควบคุมตัวเป็นเวลาหลายปี เข้าและออกจากคุก และถูกกักบริเวณในบ้านจากความพยายามอย่างไม่หยุดหย่อนที่จะปิดปากเขา ทางการกัมพูชาจะต้องปล่อยตัวเขาในทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข”

เขม โสกา คืออดีตประธานพรรคสงเคราะห์ชาติ (CNRP) ซึ่งเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2560 เขาถูกจับกุมและถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 443 ของประมวลกฎหมายอาญาในฐาน "สมรู้ร่วมคิดกับหน่วยงานต่างชาติ" ข้อกล่าวหาระบุว่า โสกามี “แผนลับ” ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2536 เพื่อโค่นล้มรัฐบาล เขาถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานกบฏและลงโทษจำคุก 27 ปีในช่วงก่อนการเลือกตั้งระดับประเทศในปี 2566

ก่อนการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว นักการเมืองฝ่ายค้านถูกคุกคาม ข่มขู่ ทุบตี และจำคุกในการพิจารณาคดีท่ามกลางประชาชน นักกิจกรรมของพรรคฝ่ายค้านถูกโจมตีบนท้องถนนด้วยกระบองโลหะหลายครั้ง โดยมีนักกิจกรรมทางการเมืองคนหนึ่งถูกแทงเสียชีวิตในปี 2564 ซึ่งหลายคนเชื่อว่าเป็นการโจมตีที่มีเป้าหมาย

 

อ่านต่อ: https://www.amnesty.org/en/latest/news/2024/01/cambodia-authorities-must-overturn-baseless-treason-conviction-of-opposition-leader/