KICK OFF ด้วยรักและยุติธรรม สู่นิรโทษกรรมประชาชน

1 กุมภาพันธ์ 2567

Amnesty International Thailand

ความขัดแย้งทางการเมืองภายในสังคมจากผลพวงการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในสังคมและปริมาณคดีความจากการแสดงออกทางการเมืองเป็นจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย เพิ่มภาระแก่กระบวนการยุติธรรม เป็นภาระให้กับผู้ต้องหา จำเลย ผู้ต้องขังและคนในครอบครัวของพวกเขา ทำให้ประเทศตกอยู่ในวงจรความขัดแย้งทางการเมืองและยิ่งตอกย้ำรอยร้าวของสังคมจนไม่อาจเดินหน้าอนาคตของประเทศไปสู่ความท้าทายและความเจริญผาสุกของประชาชนได้

เพื่อคืนความยุติธรรมให้แก่บุคคลอันเป็นที่รักของครอบครัว และยุติวงจรความขัดแย้งเหล่านี้อย่างเท่าเทียมกัน ในเทศกาลแห่งความรักปีนี้ "เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน" ซึ่งประกอบไปด้วยองค์กรภาคประชาชนและนักกิจกรรมจากหลายกลุ่ม เดินหน้าเริ่มแคมเปญ "นิรโทษกรรมประชาชน" เสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชน เพื่อยุติการดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้รัฐสภาพิจารณาและออกบังคับใช้เป็นกฎหมาย โดยใช้กระบวนการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 133 (3) และพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2564 ซึ่งต้องใช้รายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10,000 รายชื่อ โดยจะเริ่มเดินหน้ารวบรวมรายชื่อประชาชน รวมถึงดำเนินการกิจกรรมต่างๆ ตลอดสองสัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 1-14 กุมภาพันธ์ 2567

 

กำหนดการกิจกรรมวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567

เวลา 10.00 น. ตัวแทนเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนยื่นรายชื่อผู้ริเริ่มเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชน ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรที่อาคารรัฐสภา เกียกกาย

เวลา 10.45 น. เปิดตัวรถ Le Truck - รักเธอ สำหรับการเดินสายรณรงค์รวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชน

เวลา 13.00 น. ตัวแทนเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน เดินทางไปที่หน้าสำนักงานพรรคเพื่อไทย เพื่อยื่นหนังสือเชิญหัวหน้าพรรคเพื่อไทยมาร่วมรับรายชื่อและข้อเสนอจากประชาชน ในวันสุดท้ายของกิจกรรม ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567

เวลา 15.00 น. ตัวแทนเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน เดินทางไปที่หน้าสำนักงานพรรคก้าวไกล เพื่อยื่นหนังสือเชิญหัวหน้าพรรคก้าวไกลมาร่วมรับรายชื่อและข้อเสนอจากประชาชน ในวันสุดท้ายของกิจกรรม ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567

*หมายเหตุ* หลังจากวัน KICK OFF แคมเปญด้วยรักและยุติธรรม สู่นิรโทษกรรมประชาชน แล้ว เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนจะเดินทางไปยื่นหนังสือเชิญหัวหน้าพรรคการเมืองอื่นๆ ที่สำนักงานของพรรคการเมืองต่างๆ ตามที่ประสานงานได้และจะแจ้งกำหนดการให้ทราบต่อไป

 

แคมเปญนิรโทษกรรมประชาชนจะมีกิจกรรมและจุดหมายอย่างไร?

1 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 10.00 น. ที่อาคารรัฐสภา เกียกกาย ตัวแทนเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน เดินทางมายื่นเอกสารเพื่อริเริ่มการเข้าชื่อร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชน ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร

หลังจากยื่นเอกสารริเริ่มเข้าชื่อแล้ว ตัวแทนเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จาก iLaw ระบุว่า "เราจัดกิจกรรมเพื่ออยากให้ทุกคนร่วมกันส่งเสียงเรื่องนี้ในเทศกาลแห่งความรักนี้ 1-14 กุมภาพันธ์ 2567 โดยจะมีกิจกรรมต่อเนื่องทั้ง 14 วัน ทั้งงานเสวนาวิชาการ งานศิลปะ งานสร้างสรรค์ ใครชอบแบบไหนและเห็นความสำคัญของการนิรโทษกรรมประชาชนด้วยกันก็ขอให้เลือกไปร่วมงานกันเอง นอกจากนี้เรายังรับอาสาจุดรับลงรายชื่อรับอาสาจัดกิจกรรมเพิ่มเติม งานนี้จะสำเร็จได้ไม่ใช่เพราะองค์กรที่จัดงานเท่านั้นแต่ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของผู้คนจำนวนมากอย่างที่เคยเป็นมา เพื่อส่งร่างนี้เข้าสภาและไปให้ไกลที่สุดเพื่อคนที่อยู่ในเรือนจำและอาจจะต้องเข้าเรือนจำในไม่กี่วันข้างหน้า โดยพวกเราเชื่อว่ากิจกรรมนี้จะเป็นอีกครั้งที่เราจะได้เห็นการการรวมพลังของประชาชนที่มีความหมายอีกครั้งหนึ่ง"

ด้านประกายดาว พฤกษาเกษมสุข จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) กล่าวว่า "ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของแคมเปญนี้ เราจะจัดงานส่งรายชื่อให้ถึงสภา โดยขออนุญาตใช้พื้นที่ที่ลานประชาชน และจะขอเชิญหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรคมารับข้อเสนอของประชาชนด้วย บ่ายวันนี้จะไปยื่นหนังสือเชิญให้กับพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล และวันต่อๆ ไปก็จะไปยื่นหนังสือเชิญหัวหน้าพรรคการเมืองอื่นๆ เราอยากเจอทุกคนโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอยู่ตอนนี้ เป็นพรรคที่ล้มลุกคลุกคลานกับเส้นทางต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาสองทศวรรษ สส. ของพรรค และประชาชนที่สนับสนุนพรรคต่างถูกจับกุมคุมขังด้วยคดีทางการเมืองเป็นร้อยเป็นพันคน รวมทั้งยังไม่ได้กลับบ้าน ก็หวังว่าจะได้พบคุณแพทองธาร ชินวัตร ที่หน้าสภาวันที่ 14 เพื่อมารับร่างนี้จากประชาชน"

 

จะเกิดอะไรขึ้น หากร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ถูกบังคับใช้

ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ที่กำลังรณรงค์ให้ประชาชนเข้าชื่อเพื่อเสนอให้รัฐสภาพิจารณาต่อไปนั้น จะเริ่มนับเวลาการ

นิรโทษกรรมตั้งแต่การรัฐประหาร 2549 ทุกการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมืองจะเข้าข่ายการได้รับนิรโทษกรรมทั้งสิ้น

ในร่างมาตรา 5 ยังระบุไว้อย่างชัดเจนว่าความผิดฐานใดบ้างที่จะได้รับการนิรโทษกรรมในทันที เช่น

  • คดีความผิดตามประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
  • คดีพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 37/2557 และ 38/2557
  • คดีตามฐานความผิดในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
  • คดีตามฐานความผิดในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548
  • คดีตามฐานความผิดในพระราชบัญญัติออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559
  • คดีตามฐานความผิดที่เกี่ยวโยงกับข้อดังกล่าวด้านบน

อย่างไรก็ตาม ตามมาตรา 4 ของร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ระบุไว้ว่าจะยกเว้นไม่นิรโทษกรรมให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐที่สลายการชุมนุมหรือกระทำการใดที่เกินกว่าเหตุ หรือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 (ความผิดฐานเป็นกบฏ ความผิดฐานล้มล้างรัฐธรรมนูญ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการ)

นอกจากนี้เพื่อเดินหน้าให้การนิรโทษกรรมเป็นได้ใช้กลไกตามระบอบประชาธิปไตย ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ยังกำหนดให้ตั้ง "คณะกรรมการนิรโทษกรรมประชาชน" เพื่อเป็นกลไกในการนิรโทษกรรม โดยมีสมาชิกในคณะกรรมการดังกล่าว 19 คน ประกอบไปด้วย

  • ประธานสภาผู้แทนราษฎร (ประธานคณะกรรมการ)
  • ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
  • ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล
  • สส. 10 คนตามสัดส่วนของพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร
  • ตัวแทนประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีจากสี่เหตุการณ์ คือ การรัฐประหาร 2549, การชุมนุมช่วงปี 2552-2553, ช่วงการรัฐประหาร 2557-2568 และการชุมนุมช่วงปี 2563-2566 เหตุการณ์ละหนึ่งคน
  • องค์กรภาคประชาชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการค้นหาความจริงและอำนวยความยุติธรรมสองคน

ทั้งนี้คณะกรรมการชุดดังกล่าวยังมีหน้าที่สำคัญในการพิจารณาว่า นอกจากคดีที่ได้รับการนิรโทษกรรมตามมาตรา 5 หากคณะกรรมการเห็นว่าเป็นคดีที่เข้าข่ายเป็นการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมือง ก็สามารถวินิจฉัยให้นิรโทษกรรมได้ และยังเปิดโอกาสให้บุคคลผู้กระทำการนั้น หรือสามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้ซึ่งอยู่กันกันฉันสามีกริยาซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรส ผู้อุปการะและผู้อยู่ในอุปการะของบุคคลผู้กระทำการนั้น ยื่นคำร้องเสนอให้คณะกรรมการชุดดังกล่าวพิจารณาในกรณีที่เห็นว่าคดีของคนอาจตกหล่นไป

หากร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาและได้บังคับใช้ จะส่งผลให้คดีที่เข้าข่ายนิรโทษกรรมตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือคดีที่ผ่านการวินิจฉัยจากคณะกรรมการจะถูกยุติลง

  • คดีใดยังไม่ฟ้อง จะต้องระงับการสอบสวนหรือระงับฟ้อง
  • คดีใดฟ้องแล้ว ให้ถอนฟ้องหรือระงับฟ้อง
  • คดีใดอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นศาล ให้ศาลยกฟ้องหรือจำหน่ายคดี
  • คดีใดอยู่ในระหว่างการรับโทษ ให้โทษนั้นถึงที่สุดและปล่อยตัวผู้นั้นทันที

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการลบประวัติอาชญากรรมของผู้ที่เข้าข่ายนิรโทษกรรมทั้งหมด หลังจากนั้นคณะกรรมการจะต้องจัดทำรายงานเพื่อเสนอมาตราการเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบภายหลังจากการนิรโทษกรรม

ติดตามข้อมูลรายละเอียดกิจกรรมและรายละเอียดแคมเปญนิรโทษกรรมประชาชน ได้ทาง https://amnestypeople.com

ติดตามข้อมูลข่าวสารรายละเอียดกิจกรรมนิรโทษกรรมเพิ่มเติมผ่าน LINE
https://line.me/ti/g/0_HxmsMsfr

ติดต่อประสานงาน แพน 061-626-3394 I waranyuta@ilaw.or.th