แอมเนสตี้ ส่งหนังสือถึงกสม. และ ดย. แสดงความกังวลและเรียกร้องให้มีการตรวจสอบกรณีการใช้ความรุนแรงและการจับกุมโดยพลการต่อนางสาวธนลภย์

5 พฤษภาคม 2566

Amnesty International Thailand

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยส่งหนังสือถึงประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน แสดงความกังวลและเรียกร้องให้มีการตรวจสอบกรณีการใช้ความรุนแรงและการจับกุมโดยพลการต่อนางสาวธนลภย์ (สงวนนามสกุล) หรือหยก เยาวชนวัย 15 ปี ที่ถูกตำรวจควบคุมตัว และถูกบันทึกจับตามหมายจับลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ด้วยคดี ม.112 ซึ่งขณะนี้ หยกถูกควบคุมตัวที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี จังหวัดนครปฐม 

เนื้อหาในจดหมายตอนหนึ่งระบุว่า เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2566 เวลาประมาณ 17.40 น. นางสาวธนลภย์ (สงวนนามสกุล) หรือ หยก อายุ 15 ปี ถูกตำรวจจากสถานีตำรวจนครบาลพระราชวังจับกุมโดยไม่แสดงหมายจับจนกระทั่งนำตัวเธอไปถึงที่สถานีตำรวจดังกล่าว การจับกุมครั้งนี้เป็นผลจากการเข้าร่วมการชุมนุมอย่างสงบของหยกเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ.2565 ต่อมาสมาชิกของศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบันได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อสถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ โดยกล่าวหาว่าหยกกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  หยกได้รับหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาที่สถานีตำรวจสองครั้ง โดยเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566 หยกและทนายความได้ยื่นหนังสือขอเลื่อนการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาต่อพนักงานสอบสวนเนื่องจากต้องเข้ารับการทดสอบวัดระดับความรู้ประจำภาคการศึกษา เเละขอนัดหมายใหม่เพื่อเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ วันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2566 

อย่างไรก็ตาม พนักงานสอบสวนกลับออกขอออกหมายจับจากศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ซึ่งทนายความของหยกระบุว่า พนักงานสอบสวนเห็นว่าหยกยังคงมีพฤติกรรมคล้ายกับการกระทำที่ถูกกล่าวหา เช่น เข้าร่วมการชุมนุมหรือทำกิจกรรมร่วมกับนักกิจกรรมอื่น ซึ่งศาลอนุมัติหมายจับ ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566 หลังจากถูกจับกุม หยกเลือกปฏิเสธไม่เข้าร่วมกระบวนการในคดีอาญา เนื่องจากเห็นว่าเจ้าหน้าที่ที่เข้าจับกุม กระทำละเมิดทั้งการใช้กำลังบังคับค้นตัว ไม่เเสดงหมายจับขณะเข้าจับกุม ไม่อนุญาตให้ปรึกษากับทนายความ เเละข่มขู่คุกคามขณะดำเนินการดังกล่าว ขณะนี้ หยกถูกควบคุมตัวที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี จังหวัดนครปฐม

โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยเห็นว่าการจับกุมในครั้งนี้ไม่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 โดยระบุรายละเอียดดังนี้ 

  1. (การออกหมายจับไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมาย) ตามมาตรา 67 ของพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ระบุว่า ก่อนจะออกหมายจับเด็กหรือเยาวชน ศาลจะต้องคำนึงถึงอนาคตของเด็กหรือเยาวชนเป็นสำคัญ และคำนึงว่าเด็กและเยาวชนสมควรได้รับการพัฒนาและการคุ้มครอง อย่างไรก็ตาม การออกหมายจับครั้งนี้ไม่สอดคล้องตามหลักกฎหมายในมาตรา 66(2) ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งระบุว่า พนักงานสอบสวนจะขอออกหมายจับได้ เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลนั้นน่าจะกระทำความผิดอาญา และมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน กรณีของหยก ทนายความและหยกได้ทำหนังสือขอเลื่อนการรับทราบข้อกล่าวหาด้วยเหตุผลทางการศึกษา และพนักงานสอบสวนได้รับเอกสารดังกล่าวเเล้ว อีกทั้งหยกยังเป็นเยาวชนที่กำลังศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ไม่มีอิทธิพลที่จะเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานใดๆ ของพนักงานสอบสวนได้ ตลอดจนพยานหลักฐานทั้งหมดในคดีนี้ก็ถูกรวบรวมอยู่ในความดูแลของพนักงานสอบสวนแล้วทั้งสิ้น

  2. (การจับกุมโดยพลการ) มาตรา 69 ของพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 ยังระบุอีกว่า ในการจับกุมเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด ให้เจ้าพนักงานผู้จับแจ้งแก่เด็กหรือเยาวชนนั้นว่าเขาต้องถูกจับ ทั้งยังให้พนักงานสอบสวนนำตัวเด็กหรือเยาวชนไปศาลเพื่อตรวจสอบการจับกุมทันที หากการจับเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้ปล่อยตัวเด็กหรือเยาวชนไปตามมาตรา 72 และ 73 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว แต่ในระหว่างการจับกุมตัวหยก ตำรวจไม่ได้แสดงหมายจับ และไม่ได้แจ้งถึงเหตุผลของการจับกุม ด้วยเหตุดังกล่าว จึงถือว่าการจับหยก เป็นการจับกุมโดยพลการ

ด้านข้อกฎหมายระหว่างประเทศ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยระบุว่า 

  1. ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ซึ่งคุ้มครองให้เด็กสามารถเข้าร่วมในการชุมนุมโดยสงบได้ เฉพาะข้อบทที่ 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองเเละสิทธิทางการเมือง ยังคุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบของบุคคลทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ และข้อบทที่ 15 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ก็รับรองหลักการนี้ไว้เช่นเดียวกัน โดยยืนยันว่ารัฐภาคีต้องรับรองสิทธิของเด็กที่จะใช้เสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ เสรีภาพด้านการแสดงออกถือเป็นพื้นฐานสำคัญอย่างยิ่งต่อการเข้าถึงสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ
    ทั้งนี้ รวมถึงสิทธิในการแสวงหา ได้รับ และเผยแพร่ข้อมูลและแนวคิดใด ๆ ดังที่ปรากฏรายละเอียดในข้อบทที่ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองเเละสิทธิทางการเมือง และข้อบทที่ 13 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ประกอบกับความเห็นทั่วไป ฉบับที่ 34 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาชาติว่าด้วยเสรีภาพด้านความเห็นและการแสดงออก ซึ่งระบุว่า “การคุกคาม การข่มขู่ หรือการสร้างตราบาปต่อบุคคล รวมทั้งการจับกุม การควบคุมตัว การพิจารณาคดี หรือการคุมขังด้วยเหตุผลเนื่องจากความเห็นของบุคคลดังกล่าว ย่อมเป็นการละเมิดต่อข้อบทที่ 19 ย่อหน้า 1 [ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองเเละสิทธิทางการเมือง]” นอกจากนี้ ข้อ 3 (1) ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กยังกำหนดหลักการที่สำคัญอย่างยิ่งในการคุ้มครอง ปกป้อง เเละส่งเสริมสิทธิเด็ก กล่าวคือ รัฐภาคีจะต้องให้ความสำคัญมากสุดต่อ หลักการ “ประโยชน์สูงสุดของเด็ก” ในการดำเนินงานของทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร เเละตุลาการ รวมทั้งการพิจารณาคดีเเละการรับรองสิทธิในการเข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบของเด็ก

  2. ความเห็นทั่วไปฉบับที่ 35 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาชาติ ยังกำหนดอย่างชัดเจนว่า “การจับกุมและการควบคุมตัวในลักษณะที่เป็นการลงโทษต่อการใช้อย่างชอบธรรมซึ่งสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองเเละสิทธิทางการเมือง ถือเป็นการกระทำโดยพลการ รวมทั้งในส่วนของเสรีภาพด้านความเห็นและการแสดงออก (ข้อ 19), เสรีภาพในการชุมนุม (ข้อ 21)” โดยรัฐภาคีไม่อาจเปรียบเทียบคำว่า “โดยพลการ” ว่าเทียบเท่ากับ “การขัดกับกฎหมาย” เท่านั้น แต่ต้องถูกตีความในภาพรวมว่าเป็นการกระทำที่ขาดซึ่งกระบวนการอันชอบด้วยกฎหมาย (due process of law)

 

ทั้งนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยมีข้อเรียกร้องต่อกรมกิจการเด็กและเยาวชน ดังนี้

  1. ประสานให้คณะกรรมการคุ้มครองเด็กกรุงเทพมหานครและคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัด ตามมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 สอบสวนการใช้ความรุนแรงและการจับกุมโดยพลการต่อกรณีที่เกิดขึ้นกับนางสาวธนลภย์ และประสานงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าว เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ตำรวจเเละพนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง กรมพินิจเเละคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม มาให้ข้อมูลในกรณีดังกล่าว และรายงานให้สาธารณะทราบเป็นระยะถึงความคืบหน้าในการดำเนินการ อีกทั้งออกข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรมในการป้องกันการเกิดซ้ำต่อการละเมิดสิทธิ
  2. พิจารณาดำเนินการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในลักษณะที่คล้ายกันที่เกิดขึ้นต่อเด็กและเยาวชนในกรณีอื่น โดยเฉพาะนักกิจกรรมเด็กที่ถูกจับกุม คุกคาม ข่มขู่ และสอดแนมโดยเจ้าหน้าที่รัฐและบุคคลที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพพร้อมรายงานให้เด็กหรือเยาวชน และครอบครัวทราบเป็นระยะ
  3. จัดให้มีช่องทางสำหรับรายงานเรื่องการปฏิบัติโดยทารุณและความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนที่มีส่วนร่วมในการเข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบ ซึ่งควรเป็นช่องทางที่เด็กและเยาวชนเข้าใจและเข้าถึงได้ง่าย ตลอดทั้ง ประกันและคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของผู้ให้ข้อมูลและข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กและเยาวชนที่รายงานเหตุการณ์หรือตกเป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น เพื่อป้องกันการโต้กลับที่อาจเกิดขึ้น
  4. ห้ามใช้กลไกการคุ้มครองเด็ก โดยเฉพาะกลไกตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 เพื่อสร้างความหวาดกลัวหรือขัดขวางเด็กไม่ให้เข้าร่วมชุมนุมโดยสงบ และสืบสวนกรณีการใช้อำนาจการคุ้มครองเด็กโดยมิชอบ อันเป็นการละเมิดสิทธิที่เด็กที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ
  5. ส่งเสริมกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้ให้กับครอบครัวที่มีเด็กและเยาวชนเข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบเพื่อช่วยเหลือพัฒนา บทบาทของครอบครัวเรื่องการคุ้มครองและการสร้างพลังให้เด็กและเยาวชนดำเนินการให้เด็กและเยาวชนได้รับการคุ้มครองอย่างจริงจังและรอบด้าน เพื่อให้ปลอดพ้นจากอันตรายทั้งปวงในบริบทของการชุมนุมสาธารณะ ทั้งนี้ โดยการมีปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์กับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะศาลเยาวชนและครอบครัว, กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ภายใต้กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้มีการปฏิบัติต่อเด็กผู้เข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบอย่างสอดคล้องตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

 

และมีข้อเรียกร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดังนี้

  1. ดำเนินการตรวจสอบพร้อมข้อเรียกร้องต่อกรณีการใช้ความรุนแรงและการจับกุมโดยพลการต่อกรณีที่เกิดขึ้นกับนางสาวธนลภย์ และประสานงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าว เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ตำรวจเเละพนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง กรมกิจการเด็กเเละเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมเเละความมั่นคงของมนุษย์ กรมพินิจเเละคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม มาให้ข้อมูลในกรณีดังกล่าว และรายงานให้สาธารณะทราบเป็นระยะถึงความคืบหน้าในการดำเนินการ และออกข้อเสนอแนะที่เป็นรูปธรรมในการป้องกันการเกิดซ้ำต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนในลักษณะเดียวกันข้างต้น 
  2. ติดต่อศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิง บ้านปรานี เพื่อเข้าเยี่ยมและรับรองว่าูศูนย์ฝึกดังกล่าวได้คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของเด็กที่ถูกควบคุมตัว โดยเป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำและข้อบทที่ 40 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก 
  3. ดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการตรวจสอบว่าข้อเสนอแนะที่จัดทำโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในเรื่องสิทธิเด็กและการเข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบได้รับการปฏิบัติตามโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรับรองว่าจะเปิดเผยผลของการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะนั้นต่อสาธารณะและเผยแพร่ความคืบหน้าให้สาธารณะเข้าถึงได้ 
  4. ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อประกันว่ารัฐไทย โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการทบทวนกฎหมายเเละเเนวปฏิบัติที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิในเสรีภาพแห่งการเเสดงออกเเละการชุมนุมโดยสงบ รวมถึงมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ให้สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และพิจารณายุติการดำเนินคดีต่อเด็กเเละเยาวชนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามกฎหมายข้างต้นอย่างเร่งด่วน

 

เอกสารสำหรับดาวน์โหลด