สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 15 เมษายน - 21 เมษายน 2566

24 เมษายน 2566

Amnesty International

 

ไทย: “เลือกตั้ง 66: วาทะผู้นำ วาระสิทธิมนุษยชน”

20 เมษายน 2566

 

เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย The Reporters ข่าว 3 มิติ และภาคีเครือข่ายจัดเวทีดีเบตพรรคการเมือง “เลือกตั้ง 2566 : วาทะผู้นำ วาระสิทธิมนุษยชน” ณ ลานคนเมือง เขตพระนคร กรุงเทพฯ เพื่อเปิดโอกาสให้ 12 พรรคการเมือง 6 ภาคประชาสังคม และประชาชน มาพบปะและร่วมแสดงวิสัยทัศน์ด้านสิทธิมนุษยชนในหลากหลายประเด็น ครอบคลุมทั้งสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม แรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัย คนพิการ เด็ก ผู้หญิง ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ สิทธิมนุษยชนและการพัฒนา รวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย 

เนื่องในโอกาสนี้ แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เน้นย้ำว่า “ในฐานะผู้สมัครลงรับเลือกตั้งสมาชิกสมาผู้แทนราษฎรและผู้นำประเทศในอนาคตของประเทศ พวกท่านมีความรับผิดชอบหลักในการรับฟังสารที่พวกเขาต้องการสื่อ และทำงานร่วมกับพวกเขาและผู้คนจากกลุ่มต่างๆ เพื่อสรรสร้างปัจจุบันและอนาคตสำหรับประชาชนทุกคนในประเทศ”

“ดิฉันขอพูดจากใจจริง หลังจากได้เข้าพบกับภาคประชาสังคม นักกิจกรรม และทีมแอมเนสตี้ทั้งในประเทศไทยและในระดับภูมิภาค ดิฉันคิดว่ารัฐบาลชุดหน้าของไทยกำลังเผชิญ “งานใหญ่” ในการขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนต่อไป”

 

อ่านต่อ: https://www.amnesty.or.th/latest/blog/1110/  


-----

 

 

รัสเซีย : วลาดิเมียร์ คารา-มูร์ซา นักเคลื่อนไหวทางการเมืองผู้ต่อต้านสงครามและนักโทษทางความคิด ถูกตัดสินจำคุก 25 ปี 

17 เมษายน 2566 

 

สืบเนื่องจากรายงานข่าวที่วลาดิเมียร์ คารา-มูร์ซา นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและนักข่าว ถูกศาลรัสเซียตัดสินจำคุกเป็นเวลา 25 ปี ในข้อหา “กบฏต่อแผ่นดิน” และการกระทำที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองอื่นๆ จากการปราศรัยต่อต้านการรุกรานยูเครนของรัสเซีย 

นาตาเลีย ซเวียจิน่า ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล รัสเซีย กล่าวว่า

“โทษจำคุก 25 ปีของวลาดิเมียร์ คารา-มูร์ซา เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าขนลุกของการปราบปรามภาคประชาสังคมอย่างเป็นระบบ ซึ่งได้ขยายวงกว้างออกไปและเร่งตัวขึ้นภายใต้ทางการเครมลินนับตั้งแต่ที่รัสเซียรุกรานยูเครนเมื่อปีก่อน สิ่งที่เรียกว่า ‘อาชญากรรม’ ที่ วลาดิเมียร์ คารา-มูร์ซา ถูกดำเนินคดีนั้น - ในข้อหาการพูดต่อต้านการรุกรานและการสนับสนุนในนามของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชน - แท้จริงแล้วเป็นการกระทำที่กล้าหาญอย่างยอดเยี่ยม คำตัดสินนี้เป็นการผนวกรวมการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนเข้ากับ ‘การกบฏต่อแผ่นดิน’ อย่างไม่ถูกต้อง และชวนให้นึกถึงการปราบปรามในยุคสตาลิน” 

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3GYXIN3 

 

-----

 

 

เอธิโอเปีย : รัฐบาลควรเคารพสิทธิในการชุมนุมประท้วงโดยสงบและปล่อยตัวเจ้าหน้าที่สื่อที่ถูกควบคุมตัวทันที 

17 เมษายน 2566

 

เมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า ทางการเอธิโอเปียจะต้องปล่อยตัวเจ้าหน้าที่สื่อ 7 คนที่ถูกควบคุมตัวทันทีจากเหตุความรุนแรงในเขตอัมฮารา สอบสวนข้อกล่าวหาเรื่องการทำร้ายร่างกายต่อหนึ่งในนั้น และปกป้องสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบของทุกคน 

องค์กรสิทธิมนุษยชนกังวลเกี่ยวกับรายงานการละเมิดและความรุนแรงที่เกิดในเขตอัมฮารา ซึ่งมีรายงานการยิงปะทะกันในหลายพื้นที่ รวมถึงการสังหารเจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรม 2 คนเมื่อวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา และการจับกุมประชาชนจำนวนมากในเขตดังกล่าวและในแอดดิสอาบาบา เมืองหลวงของเอธิโอเปีย 

กองกำลังรัฐบาลและกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ต้องไม่มุ่งเป้าไปยังเจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรม รัฐบาลเอธิโอเปียควรสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้อย่างทั่วถึง เป็นอิสระ และมีประสิทธิภาพโดยทันทีและนำตัวผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม 

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/40mS1PN 

 

-----

 

 

ซูดาน : ทุกฝ่ายในความขัดแย้งต้องรับประกันการปกป้องคุ้มครองพลเรือน

17 เมษายน 2566

 

หลังเกิดการปะทะระหว่างกองกำลังซูดาน (SAF) และกองกำลังสนับสนุนเคลื่อนที่เร็ว (RSF) ซึ่งเป็นกองกำลังกึ่งทหารอิสระ เมื่อช่วงเช้าวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมาในกรุงคาร์ทูม

ไทเกอ ชากูทาห์ ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาใต้ กล่าวว่า 

“การใช้อาวุธหนัก อาทิ ปืนใหญ่ รถถัง และเครื่องบินรบในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นในกรุงคาร์ทูม เป็นเหตุให้มีพลเรือนเสียชีวิตจำนวนมากและทรัพย์สินเสียหายมหาศาล ขณะนี้พลเรือนติดอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งและกำลังทนทุกข์ทรมาน ทุกฝ่ายในความขัดแย้งต้องยุติการใช้อาวุธระเบิดที่สามารถสร้างผลกระทบในวงกว้างในบริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่ที่มีพลเรือนจำนวนมากโดยทันที” 

“พันธมิตรระดับภูมิภาคและพันธมิตรระหว่างประเทศของซูดาน อาทิ หน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างรัฐบาล (IGAD) สหภาพแอฟริกา สหประชาชาติ และหน่วยงานอื่นๆ ควรออกมาเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในความขัดแย้งเคารพกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และให้การปกป้องคุ้มครองพลเรือน รวมถึงยุติการโจมตีตามอำเภอใจทันที”

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3UN67c1 

 

-----

 

นิการากัว : การปราบปรามอย่างต่อเนื่องและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบภายใต้รัฐบาลออร์เตกา-มูริลโล 

18 เมษายน 2566

 

เมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุในรายงานฉบับใหม่ว่า 5 ปีผ่านไป รัฐบาลนิการากัวยังคงห่างไกลจากการยุตินโยบายปราบปรามเสียงที่เห็นต่างและการวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ทว่ากลับเดินหน้าขยายและนำเสนอรูปแบบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบใหม่

การเรียกร้องความยุติธรรม: บันทึก 5 ปีแห่งการกดขี่และการปราบปรามในนิการากัว ชี้ให้เห็นถึงวิกฤตสิทธิมนุษยชนที่ประเทศกำลังเผชิญนับตั้งแต่ประชาชนออกมาเดินขบวนชุมนุมประท้วงโดยสงบ เพื่อต่อต้านการปฏิรูประบบประกันสังคมเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2561 ซึ่งการปราบปรามอย่างโหดเหี้ยมเป็นเครื่องมือที่ประธานาธิบดีดาเนียล ออร์เตกา ตัดสินใจใช้เพื่อควบคุมความไม่พอใจทางสังคมนี้ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 300 คน บาดเจ็บกว่า 2,000 คน และถูกควบคุมตัวโดยพลการอีกหลายร้อยคน

“จากเอกสารของเหตุการณ์เชิงสัญลักษณ์ดังกล่าว เราได้แสดงให้เห็นถึงความต่อเนื่องของการปราบปรามที่สังคมนิการากัวต้องเผชิญ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่อคนที่กล้าเปล่งเสียงประณามวิกฤตที่ประเทศกำลังประสบอยู่ และเรียกร้องความเคารพและการใช้สิทธิอย่างเต็มที่ในนิการากัว” เอริกา เกบารา-โรซาส ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สหรัฐอเมริกา กล่าว 

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3GZBJ8K 

 

-----

 

ซิมบับเว : การเฉลิมฉลอง 43 ปีแห่งเอกราช ถูกบ่อนทำลายโดยพื้นที่เคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมและเสรีภาพที่ถูกจำกัดอย่างรวดเร็ว 

18 เมษายน 2566

 

เมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า ชาวซิมบับเวกำลังเฉลิมฉลอง 43 ปีแห่งเอกราชจากการปกครองภายใต้ระบอบอาณานิคม ท่ามกลางความเป็นจริงที่ว่า พื้นที่เคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมถูกจำกัดอย่างรวดเร็ว ซึ่งรวมถึงการตีตราว่าผู้เห็นต่าง คือ อาชญากร และการโจมตีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน 

“43 ปีหลังจากได้รับเอกราช ทางการยังไม่สามารถรับประกันสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ซึ่งกำลังถูกคุกคามมากขึ้นเรื่อยๆ แม้จะได้รับการรับรองภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศ” ฟลาเวีย มวังโกวา รองผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกและแอฟริกาใต้ กล่าว

“สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบถูกละเมิดและบั่นทอนอย่างต่อเนื่อง โดยที่ทางการปฏิเสธที่จะกวาดล้างการชุมนุมของพรรคฝ่ายค้านหลักบางกลุ่ม จับกุมและลงโทษผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบ และใช้กำลังโดยไม่จำเป็นและเกินกว่าเหตุเพื่อยุติการชุมนุมประท้วง

 

อ่านต่อ: https://bit.ly/3GXx3QE