เกาหลีใต้ : คำตัดสินของศาลฎีกาเกี่ยวกับการรองรับเพศสภาพตามกฎหมายเป็นก้าวสำคัญเพื่อสิทธิของคนข้ามเพศ

24 พฤศจิกายน 2565

Amnesty International Thailand

ภาพถ่าย : Getty Images

คำตัดสินของศาลฎีกาเกาหลีใต้เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ว่าเรื่องการมีบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะไม่ควรเป็นเหตุผลที่จะปฏิเสธการรับรองเพศตามกฎหมายของคนข้ามเพศในทันที นับเป็นก้าวสำคัญของสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าว

“คำตัดสินของศาลฎีกาในครั้งนี้เป็นการเปิดโอกาสให้มีการรับรองสิทธิของคนข้ามเพศมากขึ้น แต่ก็ยังเป็นหนทางที่ยาวไกลเนื่องจากว่ายังคงมีการเลือกปฏิบัติและการตีตราบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างมากในสังคมเกาหลีใต้ ” จีฮิว ยุน ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เกาหลีใต้ กล่าว 

ในการตัดสินใจครั้งนี้และการล้มล้างการตัดสินใจครั้งก่อนบางส่วนจากปี 2011 ศาลฎีกาได้ยืนยันสิทธิของบุคคลข้ามเพศในศักดิ์ศรี ความสุข และชีวิตครอบครัว 

ศาลเน้นย้ำว่าบุคคลข้ามเพศมีสิทธิที่จะได้รับการรับรองทางกฎหมายตามอัตลักษณ์ทางเพศของตน และมีสิทธิและข้อผูกพันตามกฎหมายเช่นเดียวกันในการมีชีวิตครอบครัว นอกจากนั้นยังเสริมด้วยว่าการรับรองเพศสภาพตามกฎหมายไม่ได้เปลี่ยนความรับผิดชอบหรือสถานะของผู้ปกครองที่เป็นบุคคลข้ามเพศหรือสิทธิของบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะโดยพื้นฐาน

ในเกาหลีใต้ไม่มีกฎหมายที่ควบคุมการรับรองเพศสภาพตามกฎหมาย ซึ่งหมายความว่าบุคคลนั้นจะต้องยื่นขอการรับรองเพศสภาพทางกฎหมายผ่านศาลตามหลักเกณฑ์ “Guidelines for the Handling of Petition for Legal Sex Change Permit of Transgender People” ที่ได้รับการรับรองจากศาลฎีกาในปี 2549 

โดยหลักเกณฑ์เหล่านี้รวมถึงข้อกำหนดที่เป็นการละเมิดหรือการเลือกปฏิบัติ เช่น การไม่มีบุตรที่อายุต่ำกว่า 19 ปีหรือตนเองอายุน้อยกว่า 19 ปี รวมทั้งยังไม่ได้แต่งงาน ได้รับการวินิจฉัยว่ามีจิตใจเหมือนเพศตรงข้าม (transsexualism) และผ่านการบำบัดด้วยฮอร์โมนและทำหมัน 

“คำตัดสินนี้ได้แก้ไขเพียงแค่ข้อกำหนดที่เลือกปฏิบัติเพียงข้อเดียวในแนวทางปฏิบัติ แต่อาจเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้การระบุว่าคนข้ามเพศคือความเจ็บป่วยในทางการแพทย์ถูกยกเลิกในกระบวนการรับรองเพศสภาพตามกฎหมายในเกาหลีใต้ ” จีฮิว ยุน กล่าว 

“รัฐบาลจะต้องรับรองว่าการรับรองเพศสภาพตามกฎหมายนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยทางจิตเวช การรักษาทางการแพทย์ เช่น การบังคับทำหมัน และ การผ่าตัดแปลงเพศ หรือ ข้อกำหนดอื่นๆ ที่เป็นการละเมิดหรือเลือกปฏิบัติ เช่น สถานภาพการสมรส หรือการไม่มีบุตร แต่จะต้องเป็นกระบวนการการบริหารจัดการที่รวดเร็วเข้าถึงได้และโปร่งใสซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละคน ”