สู่โลกใบใหม่ ด้วยพลังแห่งวัยเยาว์

4 กุมภาพันธ์ 2565

Amnesty International 

 
      ในความเคลื่อนไหวที่ผ่านมาของขบวนการนักศึกษา คนรุ่นใหม่ ได้ขยับขยายเข้าสู่กลุ่มการเคลื่อนไหวอื่นๆ นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา พื้นที่ของการออกมาเรียกร้องเปลี่ยนแปลงประเด็นต่างๆ ในสังคมการเมืองไม่ได้หยุดแค่เพียงการออกมาเรียกร้องบนท้องถนนอย่างเดียวเท่านั้น แต่ขยับขยายไปสู่กิจกรรมอื่นๆ แพลตฟอร์มออนไลน์ การเคลื่อนไหวเชิงภูมิภาค รูปแบบการเมืองวัฒนธรรมและวัฒนธรรมทางการเมืองที่แตกต่างและมีรายละเอียดที่ปรับเปลี่ยนไปจากทศวรรษก่อนหน้า เป็นระยะเวลาเกือบ 2 ปี ที่พลังของคนรุ่นใหม่นั้นไม่เคยหยุดนิ่ง พลังของเยาวชนกลุ่มต่างๆ ได้ผลิดอกออกผล และนั่นได้ทำให้เกิดความพยายามที่จะหยุดยั้งพลังของคนรุ่นใหม่ผ่านการสลายการชุมนุมที่ไม่ได้สัดส่วนและไม่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตาม นั่นไม่อาจหยุดยั้งพลังของคนรุ่นใหม่ บนพลวัตรแห่งกาลเวลาได้
     แม้การชุมนุมอาจจะดูบางตาลงไปในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทว่าการเรียกร้องเพื่อความเปลี่ยนแปลงก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องผ่านงานวรรณกรรมจากนักเขียนที่พร้อมจุดประกายพลังให้เกิดขึ้นผ่านตัวอักษร งานบนจอโทรทัศน์และจอภาพยนตร์จากฝีมือของคนที่ไม่สยบยอม งานศิลปะจากศิลปินที่พร้อมยืนหยัดเคียงข้างสิทธิมนุษยชน ตอกย้ำให้เราได้มองเห็นว่าเมล็ดพันธุ์แห่งความตระหนักรู้ ได้ผลิบานท่ามกลางความมืดมิด และไม่อาจเสื่อมสลายไปด้วยบรรยากาศแห่งความกลัว
     อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้มุมมองและประวัติศาสตร์พอสังเขปต่อการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พลังของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ใช่เพิ่งจะเกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นมาทุกยุคทุกสมัยในทั่วทุกมุมของโลกเมื่อพวกเขาพบเจอกับความอยุติธรรมในสังคม
 
 
อาจารย์เชื่อในพลังของนักศึกษา หรือคนรุ่นใหม่มากขนาดไหน
 
       เชื่อมั่นนะ ถ้าเราดูจากประวัติศาสตร์สังคมการเมือง การลุกขึ้นมาของคนหนุ่มสาวนั้นมันเกิดขึ้นมาหลายครั้ง และเกิดขึ้นมานับครั้งไม่ถ้วน จากสังคมไทยเองในอดีตเอง เราก็รู้กันอยู่แล้ว ว่ามันเริ่มขึ้นในยุคสมัยช่วงสงครามเย็นในปี 2516 จากเหตุการณ์14 ตุลา ที่คนหนุ่มสาวเข้ามามีบทบาทในสังคมกระทั่งนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงยุติระบอบเผด็จการทหารได้ เป็นเหตุการณ์ที่ถูกพูดถึงทั่วโลก 
          ในยุค 60 คนหนุ่มสาวนั้นได้ลุกขึ้นมาทั่วโลก ในเหตุการณ์การต่อต้านสงครามเวียดนาม ประเด็นเรื่องสิทธิสตรี เรียกร้องให้คนสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือการเรียกร้องในประเด็นเรื่องสีผิวในอเมริกา ก็เกิดขึ้นในยุคนี้ ในเกาหลีใต้ ในญี่ปุ่น นักศึกษาเข้มแข็งในไทยก็เช่นกัน ยุคนั้นเรียกว่า “คนหนุ่มสาวเปลี่ยนแปลงโลก” หรือเกิด “สำนึกด้านสิทธิ” มันเหมือนเป็นอีกมุมหนึ่งว่า ทำไมคนหนุ่มสาวถึงออกมาเรียกร้องเรื่องนี้ ก็เพราะว่าคนรุ่นเก่าหรือคนรุ่นก่อนหน้านั้นยอมรับได้ การที่รัฐไปทำสงครามก็ปกติ การที่ผู้หญิงไม่ได้รับสิทธิเท่ากับผู้ชายก็ปกติ การที่คนดำไม่มีสิทธิโหวตก็ปกติ มันถูกทำให้เป็นเรื่องปกติ สังคมเป็นแบบนี้ เป็นมานานแล้ว 
        แต่คนหนุ่มสาวเติบโตมาด้วยสายตาที่บริสุทธิ์ พวกเขาจึงสามารถตั้งคำถามกับสิ่งผิดปกติเหล่านี้ได้ เขายังไม่ได้ถูกกลืนไปกับวัฒนธรรมละเมิดสิทธิหรืออำนาจนิยม ซึ่งไม่ใช่แค่ยุคนี้ อย่างปัจจุบันเราก็เห็นเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นทั่วโลกไม่ใช่แค่ในบ้านเรา คนหนุ่มสาวได้ลุกขึ้นมาเรียกร้องเรื่องความเท่าเทียมความเป็นธรรมในสังคมสิทธิเสรีภาพ เช่น โจชัว หว่อง เป็นภาพตัวแทนในคนรุ่นเขา หรือเกรต้า ธันเบิร์ก ที่ไปเปลี่ยนจุดจิตสำนึกให้พวกผู้ใหญ่ต้องมา  Take Action เพราะผู้ใหญ่มักเคยชินและทำสิ่งเดิมๆ แต่คนหนุ่มสาวเขาไม่ได้มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรืออะไร ในพม่าก็คนหนุ่มสาวที่เป็นหัวหอกในการต่อต้านรัฐประหาร ในชิลิก็ได้ประธานาธิบดีที่อายุน้อยกว่าผมอีกนะ อายุ 35 เอง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในชิลี 2-3 ปีที่ผ่านมาก็มาจากพลังของนักศึกษา พลังของคนหนุ่มสาวเปลี่ยนแปลงโลกได้จริง เปลี่ยนแปลงสังคมได้จริง มันไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน เพราะมันเปลี่ยนแปลงได้แล้วทั่วโลกรวมถึงในสังคมไทยด้วย 

 
พลังของคนรุ่นใหม่จะไปในทิศทางใด รูปแบบใด
ในขบวนการต่อสู้สังคมการเมืองไทยตอนนี้

         ผมคิดว่าต้องดูระยะยาว เพราะการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวในครั้งนี้เป็นความพยายามในการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่มุ่งที่จะเปลี่ยนแค่การเมืองเฉพาะหน้า เช่นการเปลี่ยนรัฐบาลเท่านั้น ถ้าเราดูกระแสหรือข้อเรียกร้องต่างๆ บทสนทนา การชุมนุมย่อยๆ ที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมที่ไม่ใช่บนท้องถนน เราต้องไปดูบทสนทนา หรือการชุมนุมเหล่านั้นว่ามันได้ปลุกให้คนในสังคมลุกขึ้นมาถกเถียงเรื่องอะไรบ้าง เราจะเห็นว่าการชุมนุมครั้งนี้นับตั้งแต่ในปี 2563 เป็นต้นมามันได้สร้างบทสนทนาใหม่ๆ ยกระดับการพูดคุยถกเถียงในสังคม มันทำให้เกิดวาระทางสังคมหลายอันขึ้นมา และเป็นวาระ (Agenda) ที่ไม่เคยถูกพูดถึงมาก่อน ผมเลยคิดว่าข้อเรียกร้อง 3 ข้อ เป็นข้อเรียกร้องทางการเมือง แต่เราต้องไปดูการชุมนุมมีคนไปนับว่ามีสถิติคือ เป็นพันๆครั้ง การชุมนุมย่อยๆ และในต่างหวัด มีมิติเรื่องของ Gender ข้อถกเถียงขึ้นมาเรื่องสมรสเท่าเทียม ซึ่งต้องสู้กันอีกยาว พูดง่ายๆ การเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาวในครั้งนี้ เขาไม่ได้ต้องการแค่เปลี่ยนการเมือง แต่เขาต้องการเปลี่ยนวัฒนธรรม และค่านิยมในสังคม ให้คนมองปัญหาหลายปัญหาในมิตที่กว้างขึ้น ปัญหาชาติพันธุ์ คนกลุ่มน้อย คนจนเมือง คนพิการ พระสงฆ์ รัฐกับศาสนาควรจะอยู่คู่กันอย่างไง พูดถึงเรื่องสิทธิในชีวิตและร่างกาย สิ่งแวดล้อม มันเป็นเรื่องของการต่อสู้ระยะยาว การต่อสู้เพื่อเปลี่ยนวิธีคิดของคน ซึ่งเปลี่ยนไม่ได้เร็วหรอก มันต้องใช้เวลา
          การชุมนุมต่อให้มันหายไป เงียบไปบ้าง หรือแม้ไม่มี แต่ไม่ได้หมายความว่า กระแสความเคลื่อนไหวความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมมันหายไป  นักศึกษาหรือคนหนุ่มสาวหันไปเคลื่อนไหวทางแพลตฟอร์มอื่นๆ การเคลื่อนไหวที่เลื่อนไหวหรือพลิกแพลงสถานการณ์
 

คิดว่าจะมีความรุนแรงเกิดขึ้นไหม
เหมือนดังเหตุหารณ์ในการเมืองไทยอดีตที่ผ่านมา

         เราหวังว่ามันจะไม่มี หวังว่าไม่เกิดขึ้นอีก สังคมไทยสูญเสียมาแล้วหลายครั้ง เพราะเราไม่ได้เรียนรู้บทเรียนจากอดีต เป็นความรุนแรงโดยใช้กลไกตำรวจทหาร ซึ่งเรามีอย่างน้อย 4 ครั้ง 14 ตุลา 2516, 6 ตุลา 2519, พฤษภา 2535 และตอนปราบคนเสื้อแดงปี 2553 เอาแค่ประวัติศาสต์ร่วมสมัย 4 ครั้งไม่ใช่ทุกสังคมที่จะมีความรุนแรงซ้ำๆแบบนี้ซ้ำๆ การชุมนุมมีทุกปีเป็นเรื่องปกติในทั่วโลก รัฐประชาธิปไตยจะมองว่าเป็นสิทธิพลเมือง เป็นสิทธิในการชุมนุม เป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย รัฐมีหน้าที่รับฟัง ถ้ารัฐไม่ปราบปรามมันก็ไม่เกิด การนองเลือดมันมาจากรัฐ 90% 
            ชนชั้นนำไม่ยอมปรับตัวในแง่วิธีคิดหรือทัศนคติ ไม่มองว่าการแสดงออกของประชาชนเป็นสิทธิของเขา รัฐมีหน้าที่รับฟังไม่ใช่ปราบปราม คนถ้าไม่เดือดร้อน ก็คงไม่ออกมาชุมนุมหรอก ถ้าชนชั้นนำรู้จักปรับตัวเลิกใช้กลไกในการปราบปรามเป็นหลัก ไม่ใช่เห็นการชุมนุมเมื่อไหร่และคิดว่าเป็นภัยคุกคาม และต้องปราบปราม รัฐควรปรับทัศนคติตัวเอง เวลาเห็นการชุมนุม แสดงว่าคุณมีปัญหาอะไรบางอย่างกับการทำงานของคุณ จนคนออกมาประท้วงต่อต้านแบบนั้น คุณมีหน้าที่รับฟังเขา ซึ่งมันจะไม่เกิดการนองเลือดรุนแรง คือรัฐไม่มีวิธีคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนเลย  นั่นคือปัญหาของรัฐไทย ตำรวจ ทหารไม่ถูกเทรนในเรื่องนี้ ไม่มีหลักคิดที่จะต้องจัดการกับการชุมนุมของประชาชน

 
เพราะรัฐกลัว
จึงใช้ความรุนแรง?

            เราจะเห็นมาตราการความรุนแรงที่เกิดขึ้น การใช้กระสุนยาง แก๊สน้ำตา พฤติกรรมของ คฝ. ที่ใช้ความรุนแรงกับสื่อมวลชน ผู้ชุมนุมทั่วไป หรือการบังคับใช้กฏหมายที่คนตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรมอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน รัฐไหนที่สูญเสียความชอบธรรมหรือไร้ความชอบธรรม ก็จะหันมาใช้ความรุนแรงกับประชาชนเป็นหลัก เพราะคิดว่าเป็นวิธีเดียวที่จะรักษาอำนาจของตัวเองไว้ได้ เชื่อง่ายๆ แค่ว่าถ้าทุกคนเงียบเสียง ไม่มีใคร    ประท้วงแล้ว ตัวเองก็จะอยู่ในอำนาจได้นานๆ เป็นวิธีคิดของรัฐบาลที่ไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตย นำมาสู่สิ่งที่เราเห็นในช่วงปีที่ผ่านมา ที่เราจะเห็นมาตรการของรัฐที่มันรุนแรงเกินกว่าเหตุ กลัวประชาชน ถ้าไม่กลัวคงเลือกที่จะทำแบบอื่น
               ในรัฐไทยนั้น อำนาจหลักๆ ของชนชั้นนำมาจากการควบคุมความคิดคิดคน กล่อมให้คนเชื่อ ถ้าเขากล่อมสำเร็จไม่ให้คนตั้งคำถามถึงการใช้อำนาจของเรา นั่นคือปัญหา ถ้ากล่อมเกลาสำเร็จก็อยู่ในอำนาจได้นาน ดังนั้นม็อบของนักศึกษาจึงน่ากลัวกว่าม็อบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นม็อบเกษตรกร ม็อบนักการเมือง หรือม็อบทั่วๆ ไป เพราะว่ามันไม่ได้เรียกร้องแค่ปัญหาเฉพาะหน้า ขอขึ้นค่าแรง ปฏิรูปที่ดิน เรื่องเขื่อน ปัญหาเฉพาะหน้าซึ่งรัฐสามารถเจรจาได้ ชะลอโครงการออกไป แต่สิ่งที่นักศึกษาเรียกร้อมมันสะเทือน
 
 
เพราะนักศึกษาเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของสถาบันหลักๆที่มีอำนาจ ในสังคมไทยอย่างยาวนาน 
นักศึกษาทะลุทะลวงไปที่ความคิด เพดานทางความคิดที่เป็นประเด็นที่คนไม่กล้าพูดถึงมาก่อน 
ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาในเชิงโครงสร้างพื้นฐาน รัฐก็ยิ่งกลัว 
 
 
เมื่อวรรณกรรมเป็นหนึ่งในการเมืองวัฒนธรรม
อาจารย์ชอบวรรณกรรมเรื่องไหนที่เปลี่ยนชีวิตของอาจารย์

            เราอ่านหลายๆ เล่มมาประกอบกันเมื่อโตขึ้นหนังสือที่เราอ่านก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จริงๆ เป็นคนชอบอ่านนิยายประวัติศาสตร์ เพราะรู้สึกว่ามันสนุกและให้บทเรียนอะไรที่น่าสนใจ ตอนสมัยเรียนเป็นนักศึกษา เป็นพวกวรรณกรรม อย่างเรื่อง โจนาธาน ลิฟวิงสตัน นางนวล นิยายของ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ จอห์น สไตน์เบ็ค ตอนเป็นนักศึกษา เราเป็นนักกิจกรรม อ่านนิยายเพื่อชีวิตของไทยค่อนข้างเยอะเช่น  ปีศาจ, ความรักของวัลยา
            พอโตขึ้นมาอ่านภาษาอังกฤษได้มากขึ้น การอ่านมันก็เปิดกว้างออกไป นิยายประวัติศาสตร์ที่เขาเอาเค้าโครงจากเรื่องจริงมาแต่งเป็นนิยายเล่มหนึ่งที่เอาไปสร้างเป็นซีรีย์ Underground Railroad พูดถึงระบบทาสในอเมริกา กลุ่มคนที่พยายาช่วยเหลือให้ทาสหลบหนี เป็นเครือข่ายใต้ดินที่ช่วยทาสหลบหนีจากนายทาสเพื่อช่วยให้ทาสเป็นอิสระได้ นิยายเอาเรื่องนี้มาเขามาแต่งอิงกับเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์ หลายคนมีตัวตนจริง อ่านเรื่องพวกนี้ให้แรงบันดาลใจ สนุกและได้ความรู้ทางประวัติศาสตร์


เมื่อตัวอักษรเป็นเสียงหนึ่งของความเปลี่ยนแปลง
อยากให้อาจารย์ฝากถ้อยความถึงรุ้ง และนักกิจกรรมคนอื่นๆ ที่อยู่ข้างนอกและในเรือนจำ

        อยากจะให้กำลังใจ และอยากฝากไปถึงสังคมไทยโดยรวม อย่าลืมว่าคนเหล่านี้ คนหนุ่มสาว เขาออกมาต่อสู้เพื่อเสรีภาพและความเป็นธรรมในสังคม เขาไม่ใช่อาชญากร ในทางสากล เราเรียกเขาว่าเป็นนักโทษทางการเมือง นักโทษทางความคิด (Prisoners Defenders) ความผิดเดียวของเขาคือเห็นต่างจากรัฐ และรัฐขาดความเป็นประชาธิปไตย ใช้กฏหมายมาเล่นงานคน มาเป็นเครื่องมือในการปราบปราม เมื่อวันหนึ่งที่สังคมเป็นประชาธิปไตยแล้ว อาชญากรรมเหล่านี้ถูกพิจารณาใหม่ และในที่สุดก็ต้องปล่อยเขาไปอย่างที่เกิดขึ้นหลายประเทศ ผู้นำในประเทศหลายคนครั้งหนึ่งเคยถูกจับด้วยความไม่เป็นธรรมมาก่อน 
          จึงอยากจะฝากถึงสังคมว่า อย่าลืมพวกเขา เขาออกมาสู้เพื่อความเปลี่ยนแปลงในสังคม เขาไม่ได้ต่อสู้เพื่อตัวเอง พวกเขาอยู่ในวัยหนุ่มสาว เขาควรที่จะอยู่ในมหาวิทยาลัย โรงเรียน อยู่กับพ่อแม่ กับเพื่อน เดินตามความฝันของเขา การที่ออกมาชุมนุมทางการเมืองมันควรเป็นเรื่องปกติ ไม่ควรเป็นการกระทำที่เขาสูญเสียอิสรภาพแบบนี้ โดยเฉพาะที่ยังไม่ได้ไต่สวนพิพากษาเลยด้วยซ้ำ

         สำหรับเพื่อนๆ ที่ยังอยู่ในเรือนจำทุกคน ผมอยากให้กำลังใจ อยากให้ทุกคนมีความอดทนเชื่อว่าคนจำนวนมากเข้าใจปัญหาที่พวกเขาพูดถึงมากขึ้น ส่วนหนึ่งพร้อมที่จะช่วยเหลือ ผลักดันให้สังคมมีความเป็นธรรมมากขึ้น รวมถึงให้พวกเขาได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งที่สุดก็หวังว่าพวกเขาจะได้รับการปล่อยตัวออกมา ได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม คือเราเห็นผู้พิพากษาในกระบวนยุติธรรมที่มีมโนธรรมสำนึกอยู่ เพียงแต่เขากำลังต่อสู้กับโครงสร้างอำนาจที่มันใหญ่โตและวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยม
 

“เพราะฉะนั้นสิ่งเรียกร้องของทุกคนในแคมเปญของการเขียนนี้จึงสำคัญ อย่าหยุดเขียน อย่าหยุดพูด
เพราะเสียงของทุกคนมันมีความหมาย ในหลายประเทศก็มีคนที่ได้รับการปล่อยออกมา เพราะการรณรงค์แบบนี้”


         มนุษย์นั้น.. ท้ายสุดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษามันมีมโนธรรมสำนึกอยู่และถูกปลุกได้ ถ้ามันมีเสียงที่ไปปลุกเขามากพอ เราอย่าทำให้เขาได้ยินแต่เสียงของผู้มีอำนาจที่มาปลุกเขาอย่างเดียว ถ้าสังคมเงียบเสียงเขาก็ฟังแต่นายของเขา แต่ถ้าสังคมเสียงดังมาก ช่วยกันส่งเสียง เขาก็ต้องฟัง มันจะต้องดังอย่างต่อเนื่อง อย่าดังเป็นพักๆ
 

ถึงเยาวชนและเยาวรุ่นที่ออกมาเรียกร้องทางการเมืองไทย

      สังคมไหนที่เด็กต้องออกมาประท้วงเรียกร้องชุมนุมเยอะๆ แสดงว่าสังคมนั้นมีความผิดปกติมากแล้ว เพราะว่าด้วยวัยของเขา สังคมปกติที่ของเขาคือโรงเรียนและมหาวิทยาลัย มันเกือบจะใช้เป็นดัชนีชี้วัดได้เลยว่าสังคมไหนที่มีถึงขั้นเด็กมาชุมนุมเรียกร้อง แสดงว่าสังคมนั้นมีปัญหาอย่างรุนแรง เหมือนในยุค 1960 ขบวนการเรียกร้องสิทธิพลเมืองของคนผิวดำ มีเด็กถูกจับกุมเยอะเลยนะ อายุ 14-16 ที่ออกมาเดินขบวนเรียกร้องสิทธิ ทั้งเด็กทั้งผิวขาวและผิวดำออกมาเรียกร้องร่วมกันเพราะเขาเห็นความ      อยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับคนดำ  เหมือนกับบ้านเราเลยทำไมผู้ใหญ่หรือคนทั่วไปในสังคมมองไม่เห็น เด็กมองเห็นเพราะเขามองด้วยสายตาบริสุทธิ์กว่า เพราะฉะนั้นเขากำลังทำหน้าที่เป็นมโนธรรมทางสำนึกให้สังคมในแง่นี้ ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยไม่เห็นด้วย ภาษาที่เขาใช้ หรือท่าทีอะไรบางอย่างที่ผู้ใหญ่บอกว่าก้าวร้าวรุนแรง (Aggressive) ถ้าเราไม่ติดตรงนั้น แล้วลองหันกลับไปมองว่าเขาเป็นกระจกสะท้อนอะไรบางอย่างหรือไม่ มองว่าว่าสังคมนี้มันมีปัญหาอะไรบ้าง โดยเฉพาะปัญหาวัฒนธรรมแบบอำนาจนิยม โดยเฉพาะในระบบการศึกษา ในโรงเรียนของไทยที่มันกดขี่เด็กเอาไว้ เขาไม่ควรต้องออกมาเรียกร้องด้วยซ้ำถ้าผู้ใหญ่ทำหน้าที่ของตนเอง และเมื่อเขาออกมาเรียกร้องแล้ว เขาไม่ควรถูกละเมิดสิทธิอย่างที่เราเห็น ถูกดำเนินคดีแบบนั้น 
 

ในฐานะผู้ใหญ่เราทำอะไรได้อีกบ้างไหม?

       เราทำหน้าที่ได้หลายอย่าง หนึ่งเลยหน้าที่ในแง่การสนับสนุนทางด้านจิตใจ (Moral Support) ให้การสนับสนุน ให้กำลังใจเขา ให้เข้ารู้สึกว่าเขาไม่ได้อยู่เพียงลำพัง ไม่ได้  โดดเดี่ยว มันสำคัญนะการเขียนจดหมายถึงเขามันก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนี้นี่แหละ ไม่มีใครอยากรู้สึกว่าต่อสู้เพียงลำพัง ไม่มีใครสนับสนุน หรือเห็นคุณค่า ความรู้สึกก็จะเป็นความรู้ที่เลวร้าย การแสดงออกตรงนี้การให้กำลังใจมันสำคัญ หรือการแสดงออกการเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน Solidarity มันจะทำให้เขามีกำลังใจมีความเข้มแข็ง รักษาความฝันและความหวังของเขาต่อไปได้ ซึ่งมันดูเหมือนว่าจะหายไปในโลกปัจุบันแล้ว ที่คนไม่ค่อยเขียนจดหมายถึงกัน แต่เราลองคิดดูว่าวันหนึ่งเราได้รับเมลหลายร้อยฉบับ  แต่เราก็ไม่ตื่นเต้นถ้ามีจดหมาย 1 ซองส่งมาถึงแล้ว จ่าหน้าซองโดยเพื่อนที่เราไม่เจอกันมานานแล้วและเขียนด้วยลายมือแค่ไม่กี่บรรทัด อันนั้นมันมีพลังมากกว่าอีเมลพันๆ ฉบับซะอีก มนุษย์นั้นโหยหาตรงนี้ นั่นคือการเชื่อมต่อของมนุษย์ (Human Connection) การติดต่อสื่อสาร ที่มันมีการสื่อสารถึงตัวตน (Personal) ให้กำลังเขาเป็นอย่างดี

       นอกจากนี้เราก็ต้องช่วยสนับสนุนในการพูดถึงปัญหาต่างๆ ในช่องทางต่างๆ ต่อไป เพื่อให้ประเด็นที่มันถูกจุดมาแล้วมันไม่สูญเปล่า การต่อสู้ครั้งนี้มันมีการบาดเจ็บ มีคนโดนดำเนินคดี สูญเสียอิสรภาพ มันก็จะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก ถ้าท้ายสุดแล้วถ้าทุกคนเงียบเสียงไป แสดงว่าการปราบปรามของรัฐนั้นสำเร็จ ทำให้ทุกคนกลับไปอยู่กับความหวาดกลัวอีกครั้ง และก็ไม่มีใครกล้าพูดถึงประเด็นต่างๆไม่มีใครกล้าเคลื่อนไหวอีกต่อไป ยิ่งคนที่เป็นผู้ใหญ่ คนที่ต้นทุนทางสังคมสูง  ก็เป็นหน้าที่ที่คุณจะต้องพูดถึงประเด็นปัญหาทางสังคมต่อไป ถ้าคุณยังคิดว่ามันมีความไม่เป็นธรรมในสังคมอยู่ อย่าหยุดพูด อย่าหยุดทำกิจกรรม อย่าหยุดลงมือทำ (take action) ซึ่งมันมีรูปแบบกิจกรรมมากมายทั้งการจัดพูดคุย การเสวนา ประชุมกลุ่มย่อย การรณรงค์ ช่องทางทั้งออนไลน์และออฟไลน์เพื่อให้ปัญหาเหล่านั้นที่มันซีเรียสมันไม่ถูกเอาซุกไว้ใต้พรมอีกครั้งหนึ่ง ในเมื่อเราสู้กันมาเพื่อเอาปัญหามาอยู่บนดิน เพื่อถูกพูดถึงวิพากษ์วิจารณ์ได้ เพื่อแก้ปัญหาได้ เราก็ต้องช่วยกันทำให้มันมีพื้นที่ให้ได้ส่งเสียง (Keep Momentum) ในการต่อสู้เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคมมันก็คือการส่งพลัง (Empowering) ประชาชนหรือพลเมือง มันคือการ Empower ซึ่งกันและกัน ถ้าเราอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวเมื่อไหร่ เราจะรู้สึกไร้พลัง (Powerless) หดหู่ ท้อถอย เพราะเรารู้สึกว่าเราไม่มีพลังอำนาจอะไรที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ เราก็ต้อง Keep Action ให้มันอยู่ได้ 

   ดังที่อาจารย์ประจักษ์ได้ให้ทัศนะไว้ว่าเรามิอาจดูเบาพลังของคนรุ่นใหม่ในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ความเคลื่อนไหวที่ต้องการเรียกร้องไปมากกว่าการเมืองเฉพาะหน้าแต่ต้องการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม และนั่นจึงเป็นเหตุให้คนหลายคนต้องถูกจับกุมเพียงเพราะใช้สิทธิในเสรีภาพของการแสดงออก ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยยังมีนักกิจกรรมทั่วโลกที่ต้องเจอกับการถูกละเมิดสิทธิในแบบเดียวกันเพราะฉะนั้นเสียงของทุกคนจึงมีความหมายและเป็นพลังที่จะช่วยให้นักปกป้องสิทธิทั่วโลกได้พ้นจากวงจรของความอยุติธรรมเหล่านี้ 
                       

ร่วมส่งจดหมายถึงพวกเขา เพื่อจุดเทียนท่ามกลางความอยุติธรรมอันมืดมิดให้กับ
รุ้ง ปนัสยา ได้ที่ https://www.aith.or.th/form/1/take-action