แรงงานข้ามชาติกับการเข้าถึงสวัสดิการด้านสุขภาพในรัฐไทย: กรณีศึกษาแรงงานข้ามชาติ จังหวัดสมุทรสาคร

11 ตุลาคม 2564

Amnesty International Thailand

เขียนโดย นรากร ศรีเที่ยง

ผลงานจากโครงการ Writers that Matters: นัก(อยาก)เขียน เปลี่ยนโลก 

ในหัวข้อ สิทธิมนุษยชนผ่านมุมมองของฉัน

การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วงสองถึงสามทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการย้ายถิ่นของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยนโยบายเน้นการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและการส่งออกอย่างเข้มข้น ทำให้ประเทศไทยเกิดอุปสงค์แรงงานทักษะฝีมือน้อยและราคาถูกจำนวนมาก เพื่อที่จะเข้ามาเป็นแรงงานหลักของการดำเนินกิจกรรมในภาคอุตสาหกรรม แต่จำนวนประชากรในภาคแรงงานของไทยนั้นมีอยู่น้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้รัฐบาลไทยมีความจำเป็นที่จะต้องรับแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเข้ามาแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานดังกล่าว

แรงงานข้ามชาติคือ แรงงานจากประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ที่เข้ามาทำงานในรัฐไทยมากที่สุด คือ แรงงานข้ามชาติสัญชาติเมียนมา ทั้งนี้ จังหวัดสมุทรสาคร เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีการอพยพเข้ามาของแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก ที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยเพื่อต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพของสังคมไทยที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานข้ามชาติยังมีจุดบกพร่องหลายประการ แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ จึงเปรียบเสมือนพลเมืองชั้นสองของประเทศไทย ที่ได้รับสิทธิสวัสดิการและการบริการต่างๆ ของภาครัฐที่ไม่เท่าเทียม หากเทียบกับพลเมืองในประเทศ โดยเฉพาะปัญหาการเข้าถึงบริการสุขภาพของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเราจะเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าวได้อย่างชัดเจน จากการกลับมาแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกที่สองในประเทศไทย ที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว 

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีแรงงานข้ามชาติติดเชื้อจำนวนมากในช่วงต้นปี 2564 สื่อสำนักพิมพ์และแหล่งข่าวในโลกออนไลน์ต่างมีการพาดหัวข่าวพุ่งเป้าโจมตีกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ไม่ว่าจะเป็น “สมุทรสาครยอดยังสูง! ติดโควิด-19 เพิ่ม 450 ราย ส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติ” “อึ้ง! เครือข่ายแรงงานฯ เผยต่างด้าวโรงงานใกล้ตลาดกุ้ง ติดโควิดเพิ่ม 900 ราย” หรือ “ติดเชื้อวันนี้ 745 คน แรงงานข้ามชาติมากสุด เร่งตรวจเชิงรุกสมุทรสาคร” จากการพาดหัวข่าวดังกล่าว ทำให้ผู้คนในสื่อโซเชียลมีเดียจำนวนมาก ต่างพุ่งเป้าโจมตีกลุ่มแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก มีการต่อว่ากลุ่มแรงงานข้ามชาติว่าทำให้ประชาชนจำนวนมากต้องขาดรายได้ แรงงานข้ามชาติตกเป็นแพะรับบาปโดยจำนน ทั้งๆ ที่สาเหตุต้นตอของเรื่องทั้งหมด ควรกลับมาย้อนดูระบบการจัดการของรัฐไทยเกี่ยวกับมาตราการการควบคุมโรคและการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในประเทศ ว่ามีการจัดการอย่างไรในภาวะสถานการณ์ดังกล่าว

การที่แรงงานข้ามชาติติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นายจ้างหลายคนไม่ยอมออกมารับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล บางคนปัดความรับผิดชอบในการดูแล ทำให้ภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลต้องมาตกอยู่ที่แรงงานข้ามชาติเอง แม้รัฐไทยจะมีนโยบายปรับสถานะแรงงานข้ามชาติ ทำให้มีแรงงานเข้าสู่ระบบจำนวนมาก แต่กลับพบว่ากว่าครึ่งหนึ่งของแรงงานข้ามชาติ ยังเข้าไม่ถึงสิทธิสวัสดิการด้านสุขภาพ ทั้งระบบประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพ ส่งผลให้แรงงานข้ามชาติจำนวนมากต้องเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาพ ปัญหาคุณภาพชีวิต หากจะกล่าวถึงระบบการจัดการของรัฐไทยที่แก้ปัญหาเรื่องสิทธิการรักษาที่ไม่มีประสิทธิภาพ อาจยกตัวอย่างได้จากกรณีของของโรงพยาบาลจังหวัดสมุทรสาครที่แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา เข้ามารับบริการผู้ป่วยนอกเป็นจำนวนมากขึ้นทุกปี และกว่าร้อยละ 50 ของผู้เข้ามารับบริการเป็นแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีสิทธิการรักษาพยาบาลกับโรงพยาบาล ซึ่งจากการที่แรงงานข้ามชาติที่ไม่มีสิทธิในการรักษาพยาบาล แรงงานข้ามชาติเหล่านั้นจำเป็นต้องชำระค่าบริการเอง เมื่อเกิดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเป็นจำนวนมาก แรงงานข้ามชาติบางส่วนจะไม่สามารถชำระค่าบริการได้ หรือชำระได้แค่บางส่วน ทำให้โรงพยาบาลสมุทรสาคร ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถเรียกเก็บจากแรงงานข้ามชาติ ประมาณปีละสิบล้านบาท ทำให้เกิดปัญหาในด้านงบประมาณและทรัพยากรที่ไม่เพียงพอ

ในเมื่อไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการได้ แรงงานข้ามชาติจำนวนมาก จึงเลือกที่จะใช้วิธีการในการพยายามที่จะเข้าถึงสิทธิต่างๆ โดยจากบทความออนไลน์ เรื่อง “แรงงานข้ามชาติ : จากบ้านเกิดสู่แผ่นดินไทย เส้นทางที่ไม่มีกลีบกุหลาบ” ได้ตีแผ่ข้อมูลว่า แรงงานข้ามชาติมักจะหาช่องทางในการเข้าถึงสวัสดิการด้านสุขภาพอย่างถูกกฎหมาย เช่น การหาซื้อบัตรประชาชนของคนไทยเพื่อรับสิทธิต่างๆ ในฐานะพลเมืองไทย การแก้ปัญหาดังกล่าวนำมาซึ่งปัญหาใหม่ นั่นคือ เกิดขบวนการซื้อขายบัตรประชาชนปลอมที่ทำโดยคนไทย บางครั้งเป็นคนในหน่วยงานรัฐเองที่มีส่วนในขบวนการดังกล่าว แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ เลือกใช้วิธีซื้อบัตรคนไทยไม่ใช่แค่เพื่อรับสวัสดิการ แต่บางครั้งเมื่อเกิดเหตุด่วนเหตุร้าย หากต้องการแจ้งความดำเนินคดี ถ้าไม่ใช่พลเมืองชาวไทยตำรวจมักไม่สนใจที่จะรับแจ้ง ดังนั้น แรงงานข้ามชาติจึงเลือกหันหลังให้กับการขึ้นทะเบียนอย่างถูกฎหมายและเลือกที่จะใช้วิธีซื้อบัตร ส่งผลให้เกิดการซื้อขายบัตรกันอย่างแพร่หลาย กลายเป็นขบวนการที่ทำเงินมหาศาล อันเป็นการหากินกับความทุกข์ของแรงงานข้ามชาติอย่างที่ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า เพราะการจัดการของรัฐไทยที่ไม่มีประสิทธิภาพ จึงทำให้การเป็นแรงงานข้ามชาติที่ถูกกฎหมายเป็นเรื่องที่ยากลำบาก นอกจากเรื่องบัตรประชนชนแล้ว หากแรงงานที่ไม่มีบัตรประกันสุขภาพแล้วป่วยขึ้นมา สิ่งที่ทำได้เมื่อต้องการเข้ารับการรักษา คือ การเลือกไปโรงพยาบาลเอกชนหรือตามคลินิก ร้านขายยาทั่วไป สิ่งเหล่านี้คือการเข้าถึงสวัสดิการสุขภาพแบบไม่เป็นทางการ และแน่นอนว่าแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ต้องควักเงินจ่ายเอง เท่ากับรัฐได้ผลักภาระการดูแลด้านสุขภาพให้กับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ 

อย่างไรก็ดี สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และภาคีเครือข่าย จัดเสวนาการคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้านและแรงงานในภาคเกษตร เพื่อชี้ให้เห็นว่า ยังคงมีแรงงานที่ยังถูกกฎกระทรวงแรงงานยกเว้นในการเข้าถึงประกันสังคมอยู่ คือ แรงงานเกษตร ที่เป็นการว่าจ้างตามฤดูเก็บเกี่ยว ทำให้ยากต่อการหานายจ้างรับรอง และแรงงานทำความสะอาด ที่ในบางครั้งอาจจะทำหน้าที่ที่มากกว่าทำงานบ้าน เป็นยิ่งกว่าคนรับใช้แต่กลับไม่มีสวัสดิการอะไรที่รับรองความมั่นคงในชีวิตได้เลย โดย ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า

“กฎหมายด้านแรงงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน ยังคุ้มครองแรงงานข้ามชาติไม่ครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพและไม่เพียงพอ เพราะยังมีการกำหนดนิยามที่เกี่ยวข้องในลักษณะแคบ ไม่ชัดเจน จนทำให้แรงงานที่ควรต้องได้รับการคุ้มครองตกหล่นไปจากระบบ เช่น แรงงานภาคเกษตร ทำงานบ้าน และเมื่อแรงงานถูกทำให้มองไม่เห็นในระบบการจ้างงาน จึงส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำและส่งผลกระทบต่อสภาวการณ์ด้านสุขภาพที่แรงงานต้องเผชิญความเสี่ยงมากขึ้นด้วยตนเอง”

ในอีกด้านหนึ่ง Thai PBS ได้นำเสนอวิดีโอสารคดีเรื่อง “แรงงานข้ามชาติ โควิดไม่เลือกสัญชาติ”  โดยนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ที่ตัวแรงงานและครอบครัวต้องเผชิญปัญหาภายในรัฐไทย ที่ถึงแม้จะมีสวัสดิการ หรือข้อบัญญัติที่กำหนดไว้ แต่ก็มีลักษณะเพียงผิวเผิน อันทำให้เกิดช่องว่างทางกฎหมาย อีกทั้งการเข้าถึงสิทธิของแรงงานเหล่านี้มักจะเกี่ยวโยงกับนายจ้าง ครอบครัวแรงงานข้ามชาติถูกนายจ้างโกงทั้งค่าแรงและสวัสดิการที่พึงได้รับ ทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ลำบาก โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และการประกาศล็อกดาวน์ ทำให้แรงงานข้ามชาติไม่สามารถเดินทางกลับประเทศบ้านเกิดของตน ตัวอย่างต่อมาวิดีโอรายงานข่าว “ชีวิตแรงงานต่างด้าวในสถานการณ์โควิด”โดยสำนักข่าวไทย พบว่าแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติสัญชาติเมียนมา ในพื้นที่ต่างๆ นอกเหนือไปจากจังหวัดสมุทรสาคร ต้องถูกคนไทยเหมารวมว่าเป็นผู้แพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ในวงกว้างที่มีต้นทางมาจากเมียนมา สิ่งเหล่านี้ได้สร้างความลำบากในการใช้ชีวิตและประกอบอาชีพของเหล่าบรรดาแรงงานข้ามชาติ พวกเขาต้องปรับตัวเป็นอย่างมาก การถูกสังคมตีตราทำให้สิทธิ เสรีภาพ ที่มีน้อยอยู่แล้วยิ่งถูกจำกัดให้เหลือน้อยลงไปอีก เสียงคร่ำครวญของพวกเขาได้แต่พร่ำขอโทษสังคม สะท้อนความหวังที่คนในสังคมจะให้โอกาสและเชื่อมั่นในตัวพวกเขา พร้อมที่จะรับผิดชอบและดูแลตัวเองให้ดีที่สุด

จากทั้งหมดที่กล่าวมา เราจะเห็นได้ว่ากลุ่มแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ต้องเผชิญกับปัญหาหลายด้าน และในขณะเดียวกันนั้นกฎหมายที่คุ้มครองแรงงานเหล่านี้ยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะการเข้าถึงบริการสุขภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต โดยทุกวันนี้ยังคงมีแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก ที่ถูกผลักให้กลายเป็นชนชั้นสถานะรองภายในสังคมและไม่มีสิทธิ ไม่มีเสียง ในการเรียกร้องขอความช่วยเหลือใดๆ สวนทางกับในปัจจุบันที่ผู้คนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ต่างออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลหลายประเทศ เห็นความสำคัญเรื่องสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกัน โดยไม่เลือกปฏิบัติว่าจะเป็นชนชาติใดหรืออยู่ในสถานะใดในสังคม ทุกคนล้วนแล้วแต่ควรได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกันอย่างที่มนุษย์คนหนึ่งพึงจะได้รับ โดยปัญหาที่แรงงานข้ามชาติในไทยต้องเผชิญนั้น ไม่สามารถแก้ไขได้ที่ตัวบุคคลเพียงลำพัง แต่เป็นหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเสนอนโยบายและออกกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าถึงสวัสดิการด้านสุขภาพและกฎหมายในการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติให้มีประสิทธิผลทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว

 


บรรณานุกรม

กรมการจัดหางาน. สถานการณ์แรงงานต่างด้าว, สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว, https://www.doe.go.th/prd/assets

/upload/files/alien_th/55f7218ef5a7863995444e13701e8f71.pdf (สืบค้น 13 กรกฎาคม 2564).

ขวัญชีวัน บัวแดง.(2551).สุขภาพของแรงงานข้ามชาติกับการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของรัฐ. วารสารสังคมศาสตร์, 

20(1): 149

ชัยพล กล่าปลี. (2560). “การศึกษาการย้ายถิ่นของแรงงานชาวเมียนมา กรณีศึกษาชุมชนมหาชัยนิเวศน์ จังหวัด

สมุทรสาคร” การศึกษาการย้ายถิ่นของแรงงานชาวเมียนมา กรณีศึกษาชุมชนมหาชัยนิเวศน์ จังหวัด

สมุทรสาคร. ม.ป.ป., http://www.arts.chula.ac.th/~geography/wp-content/uploads/2017/07/Migration-

of-Myanmar-Labours_Chayapol.pdf (สืบค้น 13 กรกฎาคม 2563).

ชัยยศ ยงค์เจริญชัย. (2562). โควิด-19 : แรงงานข้ามชาติถูกกฎหมายกับความยากลำบากในการเข้าถึงสวัสดิการรัฐ. 

BBC NEWS ไทย. https://www.bbc.com/thai/52407804 (สืบค้น 13 กรกฎาคม 2563).

ผู้จัดการออนไลน์. สมุทรสาครยอดยังสูง! ติดโควิด-19 เพิ่ม 450 ราย ส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติ, ผู้จัดการ

ออนไลน์. https://mgronline.com/uptodate/detail/9640000011945 (สืบค้น 13 กรกฎาคม 2564).

มติชน. (2563). คุ้มครองแรงงาน (ข้ามชาติ) ด้วยสิทธิประกันสังคม. https://www.matichon.co.th/local/quality-

life/news_2474895 (สืบค้น 17 กรกฎาคม 2564) 

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์. แรงงานข้ามชาติ : จากบ้านเกิดสู่แผ่นดินไทย เส้นทางที่ไม่มีกลีบกุหลาบ.

The101.world. https://www.the101.world/migrant-worker-thailand/ (สืบค้น 17 กรกฎาคม 2564).

สำนักข่าวไทย, ชีวิตแรงงานต่างด้าวในสถานการณ์โควิด, สำนักข่าวไทย อสมท., สื่อมัลติมีเดีย, 5.12, https://tna

.mcot.net/social-606002 (สืบค้น 1 สิงหาคม 2564). 

Amarin. อึ้ง! เครือข่ายแรงงานฯ เผยต่างด้าวโรงงานใกล้ตลาดกุ้ง ติดโควิดเพิ่ม 900 ราย, อมรินทร์ เทเลวิชั่น. 

https://www.amarintv.com/news/detail/61408 (สืบค้น 15 กรกฎาคม 2564).

Thai PBS, ข้ามชาติ โควิดไม่เลือกสัญชาติ, Thai PBS web site, สื่อมัลติมีเดีย, 25.47,https://program.thaipbs.

or.th/BackpackJournalist/episodes/70812?fbclid=IwAR1mNpIt_ZB-TZd2S00skh6jsV2c5EOEPBAY

TwdAtdEGOBB0bijzT_oxkz8 (สืบค้น 18 กรกฎาคม 2564).

Thai PBS. ติดเชื้อวันนี้ 745 คน แรงงานข้ามชาติมากสุด เร่งตรวจเชิงรุกสมุทรสาคร, https://news.thaipbs.or.th

/content/299883 (สืบค้น 15 กรกฎาคม 2564).  

International Organization Migration. Labour Migration & Health, International Organization for Migration, 

https://www.iom.int/labour-migration-health (accessed July 17, 2021).