คุยกับเพื่อนเรา ผู้มีความฝันอยากให้ประเทศไทยได้มองเห็นรุ้งงาม - รุ้ง ปนัสยา

20 สิงหาคม 2564

Amnesty International Thailand

ถ้าการเมืองดี ตอนนี้รุ้งอยากทำอะไร? เราถาม 

“อยากเรียนไวโอลินอีกรอบ แล้วก็เรียนภาษาสเปน” รุ้งตอบ 

 

เมื่อเราพูดถึงรุ้ง ปนัสยา หลาย ๆ คนคงจะนึกถึงแววตามุ่งมั่นที่ซ่อนไว้ภายใต้กรอบแว่นของเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง เธอมาพร้อมกับชุดสีแดง และผมยาวสลวยที่พัดไปตามสายลมในยามที่เธอเอ่ยปราศรัย พร้อมกับน้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความเข้มแข็ง แม้ในยามที่เธอถูกนำตัวส่งขึ้นรถควบคุมผู้ต้องขัง 

 

เธอคือเด็กสาวผู้ “พังเพดาน” แห่งความกลัว ท่ามกลางเรื่องราวการเคลื่อนไหวของเธอ วันนี้เราได้ชวนรุ้งมาพูดคุยถึงตัวตนของความเป็นเด็กวัยรุ่นคนหนึ่ง ผู้ชื่นชอบแฮร์รี่ พอตเตอร์ และอยากเรียนภาษาสเปน.. ในวันที่การเมืองของประเทศไทยดีกว่านี้

 

รุ้งเล่าให้เราฟังว่า เธอเป็นลูกคนเล็กท่ามกลางลูกสาวสามคน ที่มักจะถูกทุกคนตามใจ วัยเด็กของเธอเปี่ยมล้นไปด้วยอิสระและการสนับสนุนจากครอบครัวที่มีฐานะ เธอได้เรียนดนตรี ได้เรียนวาดรูป และได้โลดแล่นในโลกแห่งความสนุกสนาน 

 

“จริงๆ ตอนเด็กเป็นคนขี้อายแล้วก็ขี้กลัว ตอนนี้ก็ยังแอบมีความขี้กลัวอยู่นะ” รุ้งว่า ด้วยน้ำเสียงสบาย ๆ แตกต่างจากในยามที่เธอขึ้นปราศรัยบนเวที ท่ามกลางสายตาจับจ้องด้วยความหวังนับพันคู่ “ตอนเด็ก ๆ เคยแสดงงานโรงเรียนด้วย ได้เต้นบนเวที เขามีรณรงค์ให้ล้างมือ แล้วก็ช่วงม.สาม รุ้งเคยเล่นโขน ในวิชาสาระเพิ่มเติม” 

 

แล้วชีวิตในโรงเรียนล่ะ? เป็นยังไงบ้าง? 

“ฉันโดนแกล้ง เป็นเด็กไม่สู้คน ด่าไม่เป็นด้วย พูดจาเรียบร้อยตลอด ถ้าใครมาทำอะไรก็จะบอกว่า ‘ไม่เป็นไร’ จนติดปาก ใครเหยียบเท้าก็ไม่เป็นไรเลย” รุ้งหัวเราะ 

“แต่พอตอน ม.ต้น ก็รู้แล้วว่า การที่เราจะยอมให้ใครมาแกล้ง มันไม่ดีต่อตัวเรา เราต้องสู้ จริง ๆ ก็สู้ไม่เป็นอยู่ดี  แต่เราพอจะรู้ว่าจุดที่ทำให้คนกลัวเรา คือหน้าเรา เวลาที่เราหน้านิ่ง มันจะดูดุ จำได้ว่าตอนไปโรงเรียน เราเคยวางกล่องดินสอไว้บนโต๊ะ แล้วก็มีเด็กผู้ชายวิ่งมาแล้วหยิบไปเลย 

“ตอนนั้นเราก็ไม่ทำอะไรแค่มอง แล้วเขาก็ค่อย ๆ เดินเอากล่องดินสอมาคืน จากนั้นก็ไม่มีใครแกล้งเราอีก เราก็แบบ.. เออ... วิธีนี้เวิร์กเว้ย” 

 

เมื่อเติบโตขึ้น รุ้งกลายเป็นเด็กกิจกรรมที่ชอบทำชมรมเชียร์ อย่างการทำโค้ดแปรอักษร โค้ดการ์ตูน และเคยมีความฝันอยากเป็นแอนิเมเตอร์ เพราะเธอชอบดูการ์ตูนมาก แต่พอไปลองเรียนวาดรูปจริง ๆ ก็พบว่ามันเป็นเรื่องที่ทรมานสำหรับเธอมากกว่า “เราไม่อยากเอาสิ่งที่มันสนุกมันเพลินสำหรับเรา มาทำให้มันกลายเป็นเรื่องที่ทรมาน”

 

เคยไปแลกเปลี่ยนด้วยใช่มั้ย? 

“ใช่! เคยไปตอนม.ปลาย” รุ้งตอบ 

“สนุกมั้ย?” เราถาม 

 

“ไม่มีอะไรสนุกเลย” เด็กหญิงในแว่นกรอบกลมหัวเราะลั่นด้วยท่าทีสบาย ๆ แม้ประโยคถัดมาจะฟังดูหนักหนาเหลือเกินก็ตาม “เราต้องย้ายบ้านด้วย เพราะโดนลูกโฮสต์บ้านแรกขโมยเงินไปเยอะมาก พอไปบ้านที่สองแล้วต้องเปลี่ยนโรงเรียนใหม่ คือไม่มีเพื่อนเว้ย! แล้วก็โดนลวนลาม แต่ต้องออกจากบ้าน เพราะมันมีกฎว่านักเรียนแลกเปลี่ยนที่อยู่ในบ้านเดียวกัน ห้ามมีความสัมพันธ์กัน แล้วเขามาชอบเรา ซึ่งเราก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมกลายเป็นเราที่ต้องโดนให้ออกจากบ้าน ตอนนั้นก็เลยไม่ไหวว่ะ กลับบ้านเลย เพราะอายุ 16 เอง กลายเป็นว่าไปอยู่แค่ห้าเดือน”

 

ชีวิตในมหาวิทยาลัยเป็นยังไงบ้าง? จำวินาทีแรกที่เข้าธรรมศาสตร์ได้ไหม

“วินาทีแรกคือเรามึนไปเลย ว่าที่นี่ที่ไหนนะ.. เราต้องไปที่ไหนนะ” เป็นอีกครั้งที่รุ้งยิ้ม เมื่อเราชวนคุยถึงความทรงจำ ณ สถานที่ที่ชีวิตของเธอกำลังจะเปลี่ยนไปตลอดกาล “เราสงสัยว่าต้องทำตัวยังไง ต้องติดต่อใคร งงมาก กว่าจะปรับตัวได้ก็อาทิตย์นึง เพราะได้กลุ่มเพื่อนที่โอเค เราก็สบายใจแล้ว” 

 

หลังจบการศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี “รุ้ง” เด็กผู้หญิงคนธรรมดาคนนี้ก็ได้เข้าเรียนที่คณะสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยคณะของเธอเน้นไปที่การเรียนเรื่องพฤติกรรมและวัฒนธรรมมนุษย์ 

 

“พวกเราเรียนกันตั้งแต่ที่มนุษย์เกิดมาได้ยังไงพัฒนาการจากตัวอะไร ก็สนุกดี”

“แล้วชอบไหม?” 

“ไม่.. เราไม่ค่อยชอบสายมนุษย์หรอก ชอบสายสังคมมากกว่า เรียนแบบเรื่องโครงสร้างอะไรแบบนี้ แต่เรื่องวัฒนธรรมมันเข้าใจยากเกินไป” 

“แล้วรุ้งชอบอะไรในความเป็นมนุษย์มากที่สุด” 

รุ้งคิดอยู่สักพัก แล้วเอ่ยตอบ 

“มนุษย์มันประหลาดอ่ะ จริงๆ เราไม่ได้ชอบมนุษย์นะเรากลัว เรารู้สึกว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่น่ากลัวมากๆ แบบ มนุษย์คือเอาทุกอย่างเลย ไม่ให้ใคร ไม่เผื่อแผ่สัตว์ตัวอื่น กวาดล้างทรัพยากรทั้งหมด เราว่ามันน่ากลัวมากกว่าน่าสนใจ แต่เราก็อยากจะเข้าใจไงว่าแบบ ทำไมมันถึงเป็นอย่างนั้นได้” 

 

ตลอดการพูดคุยกัน รุ้งย้ำอยู่เสมอว่าเธอขี้กลัว นั่นชวนให้เราสงสัยว่า อะไรคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เด็กขี้กลัวคนนั้น ได้เติบโตมาจนเป็นรุ้ง ปนัสยา ผู้หญิงที่มากับไฟเหมือนแคทนิส เอเวอร์ดีนจากเรื่องฮังเกอร์เกมส์คนนั้นได้ 

 

“มันน่าจะมาจากคำว่า กลัวอะไรนักหนา มันคำนี้เลย คำนี้มาจากชมรมเชียร์ด้วยแหละ งานบอลประเพณีมันจะมีโค้ดล้อการเมือง  แล้วมันจะมีปีนึงที่เขียนว่ากลัวอะไรนักหนา แค่เด็กบ้าๆล้อการเมือง มันก็มาจากที่เราคุยกับเพนกวินด้วย เรื่องสถาบันเนี่ยแหละ อยู่ระเบียงสูบบุหรี่อยู่ คุยกันว่า เมื่อไหร่เราจะพูดเรื่องเจ้าได้วะ แล้วทำไมพูดไม่ได้ คือมันก็ได้คำตอบว่าเออสังคมมันยังมีความกลัวอยู่ มันมีเรื่องกฎหมายที่มาปิดปากเยอะ เรื่องนี้มันยังไม่ได้พูดถึงบนดินมากนัก

“แล้วมันก็มาจากตรงนั้นแหละ ที่เราคุยกับเพนกวินว่า โอเค.. เรารู้ว่าเขาทำให้เรากลัว งั้นเราก็ต้องไม่กลัวสิ ก็เลยช่างแม่ง ก็เลยขึ้นไปพูดบนเวทีเลย” 

 

แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้นได้ มันน่าจะมีจุดเปลี่ยนใช่มั้ย แล้วอะไรกันที่ทำให้รุ้งหันมาสนใจการเมือง?

รุ้งเล่าว่า เธอมีเพื่อนคนหนึ่งที่เราเจอกันตั้งแต่ม.4 ซึ่งเป็นม.4 ครั้งที่สองของรุ้ง จากการที่เธอต้องซ้ำชั้นหลังไปแลกเปลี่ยน เธอได้เรียนอยู่ห้องเดียวกันกับเพื่อนคนนี้ แม้ว่าเพื่อนสนิทคนนี้จะเรียนสายญี่ปุ่น ส่วนเธอเรียนศิลป์ฝรั่งเศส 

 

สุดท้ายก็ได้มาทำชุมนุมเชียร์ด้วยกัน ใช้เวลาในการอยู่แผนกเดียวกัน “เราเข้าขากันได้ดีมาก สนิทกันเลย ทำงานสไตล์คล้ายๆ กันด้วย แต่ว่าบ้านเขาไม่ค่อยมีเงินแหละ เวลาเรียนก็ต้องกู้กยศ. และนั่งรถเมล์มาโรงเรียน ต่อรถสองแถว แล้วก็ต้องต่อมอเตอร์ไซค์ กว่าจะมาถึงโรงเรียน ตอนนี้จริงๆ อยู่ธรรมศาสตร์เหมือนกัน เขาก็ยังต้องนั่งรถเมล์มามหาลัย ใช้เวลาสามชั่วโมงในการไปกลับ 

 

“แต่เรามีรถ เราเลยไม่เคยกังวลเลยถ้าจะต้องไปส่งมันทุกวัน ถ้ามันอยากให้เราไปส่ง แต่ตัวมันเองก็จะเกรงใจเรา ไม่อยากให้เรามาเดือดร้อน การไปเที่ยวหรือกินข้าวข้างนอกแทบจะเป็นไปไม่ได้สำหรับมัน ขนาดแค่ร้านข้าวแกง ถ้าจะไปเที่ยวก็ต้องเก็บเงินนานกว่าจะได้ไป 

“ตอนนั้นเราเลยรู้สึกว่า... เออ ทำไมมันต้องขนาดนี้นะ? ทุกคนควรที่จะได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ไม่ใช่หรอ แล้วทำไมมันต้องเป็นแบบนี้” เธอตั้งคำถาม “ทั้งหมดมันก็มาจากสภาพเศรษฐกิจใช่ไหมล่ะ แล้วประเทศเราไม่มีรัฐสวัสดิการในการดูแลประชาชนอย่างเต็มที่ด้วย ถ้าประเทศนี้มีรัฐสวัสดิการ เพื่อนสนิทเราคนนี้อาจไม่ต้องลำบากขนาดนี้ก็ได้ ถ้าค่าเล่าเรียนมันฟรีจริงๆ ถ้าค่ารักษาพยาบาลฟรี และถ้ามีเบี้ยเลี้ยงดูแล เพื่อนก็คงไม่ต้องลำบากขนาดนี้ 

 

“นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เราหันมาสนใจการเมืองมากขึ้น ว่าเราอยากหาคำตอบว่าต้องทำยังไง.. ให้ชีวิตคนสบายขึ้น เราอยากทำเพื่อเพื่อนคนนี้”  



วีรกรรมสุดเปรี้ยวที่เคยทำกับเพื่อนสนิท

รุ้งเล่าว่า เพื่อนสนิทของเธอมีสองคน คนหนึ่งคือเพื่อนที่เล่าให้ฟังด้านบน ส่วนอีกคนคือเพนกวิ้น พริษฐ์ ชิวารักษ์ เราจึงชวนให้เธอช่วยเล่าวีรกรรมที่บ้าที่สุดเท่าที่เคยทำ แล้วเธอก็ตอบว่า “ปฏิวัติชมรม”

 

“คือมันก็เคยมีครั้งหนึ่งแบบ เราเคยอยู่ชมรมเดียวกัน แล้วก็ทำฝ่ายเดียวกัน เราพยายามจะสู้ให้ได้ทำโค้ดการเมืองให้มันตรง ไม่อ้อมค้อม พยายามให้มันเป็นโทนที่เราอยากจะได้ แต่ว่าตอนนั้นชมรมเชียร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มันถูกให้เงิน โดยสมาคมศิษย์เก่า เพราะงั้นเนี่ย.. เรื่องเจ้าแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะพูด แต่ว่าเราอยากสู้ 

“ตอนนั้น ในฝ่ายที่ทำโค้ด ก็พยายามหมือนจะไปปฏิวัติหัวหน้าฝ่าย  จับมือกับเพื่อนไปล็อบบี้คนอื่นๆ ว่าแบบเอาไงๆ แต่สุดท้ายเราแพ้นะ มันก็เป็นเรื่องเศร้าแต่มันก็เป็นความทรงจำที่น่าจดจำว่าเออขนาดเรื่องแค่นั้นเรายังสู้ ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ เหมือนเป็นการจุดเริ่มต้นของการสู้ของเราด้วยแหละ  ที่ไม่ใช่ในพื้นที่ชุมนุม”



ตอนนี้รุ้งไม่ได้ทำแค่ชมรมเชียร์แล้ว แต่ต้องขึ้นเวทีชุมนุม และกลายเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง รุ้งยังกลัวอยู่ไหม?

“ถ้าเป็นเมื่อก่อนเราคงจะบอกว่าไม่กลัว มันไม่กลัวที่แบบเราพยายามจะให้คนอื่นไม่กลัวด้วย แต่ลึกๆ ของเรา เรากลัวอยู่ตลอดเลย” เธอกล่าว “เรากลัวการขึ้นเวทีทุกครั้ง กลัวการโดนคดี กลัวการเข้าคุก แต่ว่า  มันคือตรรกะเดียวกับที่เราออกมาพูดเรื่องเจ้า คือถ้ารู้ว่าเขาทำให้เรากลัว เราก็ต้องไม่กลัวเพื่อเป็นการต่อต้าน

“เราว่าเรื่องกฎหมาย ที่ส่งมาหาเราเพื่อจับเราเข้าคุก มันคือ เครื่องมือหนึ่งของเขา ที่พยายามทำให้กลัว  ทำให้เราหยุด แต่เรารู้...ว่ามันเป็นเครื่องมืออยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราต้องต่อต้าน ด้วยการแบบอย่าปล่อยให้ตัวเองไปกลัวขนาดนั้น แล้วมันต้องให้กำลังใจคนอื่นๆ รอบข้างด้วย เพราะว่าทุกคนก็ต่างมีความกลัวหมด 

“มันไม่ใช่ว่าเรากล้าบ้าบิ่น จนเราออกมาแล้วมันไม่มีความรู้สึกภายในอยู่เลยมันไม่ใช่ ความกลัวมันคือความรู้สึกที่ทุกคนต่างมีหมด  แต่เราคิดว่ามันคุ้มที่จะแลกนะ แบบอย่างวันนั้นน่ะ 10 สิงหา ที่เราพูดไปแล้วพบว่ากระแส ณ ตอนนั้นมันดูมีแต่เสียงสนับสนุน จนเกิดเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในสังคมไทย เราก็คิดว่า มันก็โอเคนะที่จะเป็นแค่เราที่โดนคดี

“เพราะคนอื่นๆ ในประเทศมีจำนวนมากกว่าเราหลายเท่าตัว เขาได้รับผลจากตรงนี้...แล้วมันจะเป็นผลที่ดี เพราะเขาจะพูดเรื่องสถาบันได้แล้ว โดยที่ไม่ต้องระแวงขนาดนั้น  มันไม่เป็นเรื่องประหลาด หรือดูเป็นเรื่องที่ผิดมหันต์อีกแล้ว” รุ้งยิ้มอีกครั้ง พร้อมกล่าวย้ำ “เราคิดว่ามันคุ้มที่จะแลก”

“เราคิดว่ามันยังมีความหวัง เราคิดจริงๆ ว่าขบวนนี้ มันจะสร้างอะไรสักอย่าง จะสร้างความสำเร็จเลยก็ได้ เราค่อนข้างเห็นศักยภาพในตัวบางคนหรือบางกลุ่ม ที่แบบมีศักยภาพสูงมากที่พอจะทำได้ เราก็เลยยังอยากยืนยันที่จะสู้ไปด้วยกันกับทุกคนอยู่ ยังไม่อยากที่จะทิ้งใครไว้ตรงนี้ด้วย”

 

การออกมาเคลื่อนไหวเปลี่ยนชีวิตยังไงบ้าง? 

“เอาจริง.. เปลี่ยนเยอะเหมือนกัน เปลี่ยนกระทั่งแบบวิธีคิด หรือว่าแบบวิถีการใช้ชีวิตของเรา ที่การใช้ชีวิตของเราต้องยืดหยุ่นปรับให้เข้ากับขบวน เป็นอย่างนั้นซะมากกว่า แต่ว่าปกติ เราอาจจะอยากใช้ชีวิตแบบ เออ อยู่คนเดียวบ้าง นั่งชิลไปวันๆ บ้าง อ่านหนังสือ ไปเที่ยวไปขับรถเล่นๆ แต่ว่าทุกวันนี้เราก็ทำไม่ได้ เพราะต้องเตรียมพร้อม (Standby) ตลอด แล้วก็เรื่องรักษาสมดุลให้ชีวิต (Balance)  

“เราก็ต้องให้ความสำคัญที่หนึ่งเลยคือขบวน เรื่องอื่นเป็นรอง อย่างเรื่องครอบครัว เรื่องตัวเอง เรื่องการเรียน ทุกอย่างเป็นรองหมดเลย 

“เวลาเราคิดทำอะไรซักอย่าง เราจะนึกถึงขบวนเป็นหลักเลย  ถ้าเราจะทำแบบนี้หรือทำกิจกรรมอะไรยังไงต้องคิดดูว่ามัน ดีต่อขบวนไหม”

“การติดคุกมาสองรอบ ทำให้เรารับฟังคนอื่นได้ดีขึ้น เข้าใจคนอื่นได้ดีขึ้น แล้วเราจะไม่อยากที่จะตัดสินใจไปก่อน เราอยากจะฟังในทุกๆ มุมของเขาก่อน เพราะแต่ละคนต่างมีที่มาที่ไป ไม่มีใครที่เหมือนกันเลยแม้แต่นิดเดียว สังคมที่เขาเกิดมาเติบโตมามันก็แบบไม่เหมือนกันเพราะงั้นเหตุผลที่ไม่เหมือนกัน แบบที่เราคิดว่ามันไม่ดีเลย แล้วเราก็คิดไปว่าทำไมเขาต้องคิดอย่างนี้ ก็มีนะ แต่ว่าก็ต้องไปฟังเขาก่อนว่าทำไมเขาถึงทำ ทำไมเขาถึงคิดแบบนี้ เวลาที่เรามองข้ามไป เราแค่ไม่รู้ เราเลยคิดไปแบบนั้น การเรียนรู้ตรงนี้ มันยิ่งขยายขอบเขตการเรียนรู้ ทั้งการเรียนรู้ผู้คน และการจะใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่น”



มุมส่วนตัวของปนัสยา 

ในมุมหนึ่งที่เป็นนักกิจกรรมที่ดูเข้มแข็ง แต่ลึกๆ แล้ว รุ้งยังคงเป็นเด็กอายุยี่สิบสองปีคนเดิม เราจึงชวนเธอคุยเรื่องสบายๆ กันบ้าง 

 

แน่นอนว่าท่ามกลางบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความตึงเครียด หลายๆ คนเองก็คงจะตกอยู่ในสภาวะตึงเครียด รุ้งเองก็เช่นกัน เราจึงถามเธอว่า เวลาเครียดเธอจะจัดการอารมณ์เหล่านั้นได้อย่างไร 

 

“เราชอบดูการ์ตูน เรื่อง “rick and morty’  มาก ดูวนเรื่อยๆเลย แล้วตอนนี้ก็ติดบุหรี่ คือเราไม่สามารถที่จะไม่มีมันในมือได้เลย ถ้าไม่มีเมื่อไหร่จะรู้สึกไม่มั่นใจขึ้นมาแล้วก็อยู่กับเพื่อน จะใช้เวลาตอนกลางคืนอยู่กับเพื่อนซะเยอะ อย่างเมื่อคืนอยู่ถึงตีสามเพื่อคุยกันปรับทุกข์กัน เช่นคุยเรื่องผู้ชาย” 

 

“แล้วรุ้งชอบผู้ชายแบบไหน?” 

 

เธอยิ้มกว้าง แล้วตอบว่า “เราชอบคนใจดี ด้วยความที่เราเป็นลูกคนเล็ก มันก็มีความเป็นเด็ก แล้วเราก็ขี้อ้อน แบบ..เขาต้องเป็นผู้ใหญ่ที่ใจดี แล้วก็ฉลาด เพราะเราชอบคนที่คุยกันรู้เรื่อง ไม่ใช่แบบเราต้องมาอธิบายให้ฟังทุกอย่างว่า เราคิดอะไร ทำไมเราคิดเห็นแบบนี้ ถ้าเป็นคนที่เข้าใจเราเลยก็จะดี เราก็มีอะไรที่ต้องทำเยอะ จะตัดสินใจด้วยตัวเองโดยแบบไม่มีใครมาขัด ถ้าเขาเป็นคนที่พร้อมจะสนับสนุนเราได้มากๆ มันคงจะดีมากเลย” 

 

“แล้วรุ้งเป็นแฟนแบบไหนหรอ?” 

 

“เราชอบดูแลนะ เราเป็นคนใส่ใจคนหนึ่ง แบบว่าเป็นอะไร คิดอะไรอยู่ ต้องการอะไร ให้ช่วยอะไรไหม เราจะคอยซัพพอร์ตให้ตลอดเลย” 

 

ช่วงตอบคำถามภายในสามวินาที กับรุ้ง ปนัสยา

  • ชอบหนังหรือซีรีส์เรื่องไหน 

    • แฮรีพอตเตอร์

  • ชอบหนังสือเรื่องอะไร

    • ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ

  • ตัวละครในแฮรี่พอตเตอร์ที่ชอบ 

    • เฮอร์ไมโอนี่

  • เพลงที่อยากส่งให้คนที่ชอบตอนนี้ฟัง 

    • โอ้ใจเอ๋ย

  • เวลามีความรักชอบทำอะไรให้คนที่ชอบ

    • ชอบให้ของกิน

  • ไอดอลในชีวิตคือใคร 

    • พริษฐ์ 

  • คนที่เรารักหรือคนที่รักเรา 

    • คนที่รักเรา

  • ของคาวหรือของหวาน 

    • คาว

  • วิชาที่ชอบ 

    • ศิลปะ

  • วิชาที่เกลียด 

    • คณิตศาสตร์

  • ถ้าได้เป็นนายกจะทำอะไรเป็นอย่างแรก 

    • รัฐสวัสดิการ!!!

  • สามคำที่นิยามความเป็นตัวเอง

    • ขี้อ้อนพูดตรงใจดี

  • อยากขอบคุณใครที่สุดในชีวิต 

    • ขอบคุณพี่ที่คุยมา 3 ปีแต่ไม่ได้คบ

  • ความฝันตอนเด็กอยากเป็นอะไร 

    • อยากเป็นนายก 

  • อีก 10 ปีข้างหน้าอยากทำอะไร 

    • อยากเป็นประธานาธิบดี

  • ถ้าเทียบประเทศไทยเป็นคนเขาจะเป็นคนยังไง 

    • เป็นคนที่เฉื่อยชาไม่สนใจและรักสนุก

  • ถ้าตอนนี้การเมืองไทยดี อยากทำอะไร?

    • อยากเรียนไวโอลินอีกรอบ แล้วก็เรียนภาษาสเปน รู้สึกว่าสเปนมันเซ็กซี่ดี แล้วเวลาฟังเพลง เราชอบเพลงที่มันเป็นภาษาสเปนด้วย