"เพราะเสื้อผ้าไม่มีเพศ" ชวนคุยกับนักศึกษาฝึกงานแอมเนสตี้ ผู้ชื่นชอบการใส่กระโปรงและบทบาทการทำงานในองค์กรสิทธิมนุษยชน

1 สิงหาคม 2564

Amnesty International Thailand

บทความโดย: กฤติมา คลังมนตรี นักศึกษาฝึกงานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

หากจะกล่าวว่า ใส่กระโปรงไม่จำเป็นต้องเป็นผู้หญิง สวมกางเกงไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ชาย ใส่ชุดทหารอาจจะเป็นนักการเมือง ใส่ชุดนักเรียนแต่อาจเป็นทาสในระบบอำนาจนิยมก็ได้ เช่นเดียวกับ วิชัย ตาดไธสงค์ หรือแทนแทน นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คณะศิลปะศาสตร์ สาขานิเทศศาสตร์ เอกวารสารศาสตร์ หนึ่งในกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQ+) ที่ชื่นชอบในการแต่งตัว ที่ไม่มีกฎเกณฑ์และหลากหลาย โดยเฉพาะการใส่กระโปรง ในขณะเดียวกันเขาก็มีความสนใจในประเด็นสิทธิมนุษยชนและได้ร่วมฝึกงานกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เป็นระยะเวลา 3 เดือน เรามาทำความรู้จักแทนแทนมากขึ้นในบทสัมภาษณ์นี้

 

 

ทำไมถึงเลือกมาฝึกงานกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย? 

ตอนนั้นทางแอมเนสตี้ไปจัดกิจกรรมเขียน-เปลี่ยน-โลก (Write for Rrights)  ที่มหาวิทยาลัย ทำให้รู้จักองค์กรนี้ ตอนนั้นเราได้ทำการเชิญชวนคนที่มหาวิทยาลัยมาลงชื่อในกิจกรรมครั้งนี้ ส่วนตัวก็พอจะรู้จักคนบ้าง ก็ได้เชิญชวนเขามาลงชื่อร่วมกัน พอดีกับช่วงนั้นเราค่อนข้างออกไปสนามกีฬาบ่อยๆ เลยได้ถือเอกสารไปให้คนร่วมลงชื่อ ความรู้สึกหลังจากร่วมกิจกรรมครั้งนั้น ก็รู้สึกสนใจประเด็นสิทธิมนุษยชนมากขึ้น พอถึงช่วงของการหาที่ฝึกงาน เลยคิดว่าสาขาที่เราเรียนอยู่ น่าจะเป็นเป็นประโยชน์ถ้าได้ร่วมงานกับองค์กรสิทธิมนุษยชน เลยยื่นมาสมัครกับที่นี่ 

 

ยังจำวันที่สัมภาษณ์งานได้เลยว่า ทางแอมเนสตี้ติดต่อมาทางโทรศัพท์ ตื่นเต้นมาก เพราะตัวเองเป็นคนที่สื่อสารได้ไม่ค่อยเก่ง กลัวว่าจะพูดอะไรให้พี่เขาฟังแล้วไม่รู้เรื่อง พี่เขาถามว่าสนใจเรื่องสิทธิในด้านไหน ตอนนั้นเราก็ตอบเรื่องการแต่งตัวกับเรื่องสิทธิเด็ก คือเราตื่นเต้นมากจนพูดไม่รู้เรื่อง คือยอมรับเลยว่าเรายังไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับสิทธิเด็กอะไรเลย แต่เราเริ่มสนใจในเรื่องสิทธิเด็กเพราะเราเห็นผ่านทวิตเตอร์เยอะมาก เรื่องการโดนละเมิดสิทธิและส่วนใหญ่เป็นเด็กทั้งการโดนจากโรงเรียนและครอบครัวเลยทำให้เราสนใจในเรื่องนี้ อีกคำถามคือ แอมเนสตี้ทำงานกับนักโทษที่โดนคดีประหารชีวิต คิดยังไงกับนักโทษ คือตอนนั้นยอมรับเลยว่าแอบตกใจคำถามนิดหน่อย แต่พอตั้งสติได้ก็ตอบสิ่งที่เราคิดออกไปว่า เราคิดว่าเขาไม่ควรโดนประหารเพราะถ้าเขาถูกประหารก็เหมือนกับการไปละเมิดสิทธิมนุษยชนของเขาเหมือนกัน เขามีสิทธิที่จะมีชีวิต ในเมื่อเขาถูกจับแล้วเขาก็ควรได้รับโทษตามสิ่งที่เขาได้ทำผิด ตอนนั้นตอบไปแบบนี้ 

 

ความคาดหวังที่มีต่อแอมเนสตี้ ประเทศไทยก่อนเข้ามาฝึกงาน?

ความคาดหวังแรกคือ อยากทำงานด้านงานเขียนเกี่ยวกับประเด็นสิทธิ ยิ่งเป็นแอมเนสตี้เราก็คาดหวังเรื่องการทำกิจกรรมที่ได้ลงพื้นที่จริง ปกติเราเห็นทุกอย่างในโลกออนไลน์ อยากรู้ว่าเบื้องหลังการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างไร และอยากรู้ว่าสิ่งที่เราเห็นในม็อบ ในโลกออนไลน์ สถานการณ์จริงๆเป็นอย่างไร

 

งานที่รับผิดชอบมีอะไรบ้าง

งานหลักๆ คือ กราฟิก มีทำบทความนิดหน่อยช่วงแรกๆ แต่ส่วนมากทำกราฟิกทั้งหมด แทนมาทำกราฟิกได้เพราะต้องทำโคว๊ตงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี (AGM21) ก่อน และจะมีงานเขียนเข้ามาชิ้นหนึ่งเลยตกลงกับเพื่อนอีกคนว่า โอเคงั้นเราขอรับหน้าที่ทำกราฟิกเอง เธอทำงานเขียนไป เพราะเพื่อนอีกคนถนัดงานด้านเขียนมากกว่า

 

ความท้าทายในการฝึกงานกับแอมเนสตี้ ประเทศไทย

งานกราฟิกถือเป็นงานที่ใหม่สำหรับเรา ถึงแม้ว่าจะทำได้ดีกว่างานด้านอื่นๆ ทำได้ดีกว่างานเขียนเพราะเรายังมีข้อผิดพลาดในงานเขียนมากกว่า แต่สิ่งที่ท้าทายในกราฟิกคือจุดผิด คำผิด รายละเอียดเล็กๆที่ต้องใช้ความรอบคอบมากๆ มันเป็นอุปสรรคสำหรับเรา แต่ก็ยินดีทำและแก้ไขเพราะได้พัฒนาตัวเอง ได้เรียนรู้เพิ่มขึ้น สิ่งคำคัญมากกว่านั้นคือการได้ช่วยสื่อสารเรื่องสิทธิมนุษยชน ผ่านงานที่เราออกแบบ เช่น การสรุปข้อความสำคัญในเวทีเสวนาหรือในแถลงการณ์ ทำให้ข้อความเหล่านี้สื่อสารถึงผู้รับสารได้ง่ายขึ้น

 

ประเด็นสิทธิที่สนใจอยู่ขณะนี้

ตอนนี้สนใจสิทธิเด็ก จริงๆแล้ว ก่อนหน้าที่จะมาฝึกงานที่นี่เราก็สนใจประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิในเนื้อตัวเหนือร่างกาย สิทธิสตรี โดยเฉพาะเรื่องสิทธิในการแต่งตัวเพราะเราชอบแต่งตัว เราว่าเสื้อผ้าไม่ได้เป็นเครื่องบ่งชี้เพศสภาพ มันเป็นความชอบ พอฝึกงานมาเรื่อยๆเริ่มสนใจในเรื่องสิทธิเด็ก อยากรู้เพิ่มเติมว่า สิทธิเด็กมีอะไร เพราะตอนเด็กๆเราไม่รู้เรื่องสิทธิพวกนี้เลย และคิดว่าเราหรือเด็กหลายๆคนกำลังโดนละเมิดสิทธิที่เราควรจะได้รับ เราเลยอยากศึกษาและทำวิจัยเรื่องนี้ อยากบอกต่อเรื่องสิทธิให้เด็กๆ เข้าใจและสามารถใช้สิทธิที่เขาควรได้รับอย่างเต็มที่ ไม่โดนละเมิดในทุกๆ ทาง แบบเมื่อก่อนที่พวกเราเคยโดยละเมิดมา

 

 

“สิทธิในการแต่งกายเป็นสิทธิมนุษยชน” เล่าประสบการณ์การก้าวออกมาจากการแต่งกายที่ยึดกรอบเพศเดิมๆ

 

เริ่มชื่นชอบการแต่งตัวตั้งแต่ขึ้นมหาวิทยาลัย มันเหมือนได้ปลอดปล่อยตัวเองออกจากกรอบเดิมๆ ที่เป็นอยู่ เพราะเมื่อก่อนเราไม่มีความมั่นใจในการแต่งตัวเลย เป็นเด็กที่แต่งตัวไม่เป็นแต่ชอบดูการแต่งตัว ดูเสื้อผ้า แฟชั่นต่างๆ อันที่จริงเรามาเปิดตัวเรื่อง การใส่กระโปรงหรือใส่เสื้อผ้าแบบไหนก็ได้ตอนปี 3 เพราะเราคิดว่าทำไมผู้ชายจะใส่กระโปรงไม่ได้ก็เสื้อผ้ามันเป็นแค่เครื่องนุ่งห่ม ถึงเราเป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQ+)  แต่เราก็อยากสนับสนุนให้ผู้ชายหลายๆ คนที่ได้เห็นว่าใส่กระโปรงหรือเสื้อครอปเป็นเรื่องที่ทำได้และปกติ การใส่ชุดแบบนี้ก็แค่เครื่องนุ่งห่มร่างกายเฉยๆ มันไม่ได้มีกฎบอกว่าชุดนี้ต้องผู้หญิงใส่เท่านั้น ชุดนี้ต้องผู้ชายใส่เท่านั้น ชุดมันไม่มีเพศ ไม่จำกัดว่าใครหรือเพศไหนต้องเป็นคนใส่ ทุกคนสามารถนำมันมาใส่ได้ แค่ชอบในการแต่ตัวของตัวเอง เราเลยชอบการแต่งตัว คือชุดไม่ได้บ่งบอกเพศของผู้ใส่เพราะชุดมันไม่มีเพศ ถ้าเราตัดเรื่องนี้ออกจากหัวได้ การแต่งตัวจะสนุกขึ้น เราจะใส่แบบไหนก็ได้ ไม่ต้องแคร์อะไรทั้งนั้น

 

ในฐานะที่ฝึกงานฝ่ายสื่อสารองค์กร ในอนาคตคิดว่าจะทำอย่างไรให้ผู้คนเข้าถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนมากขึ้น?

ในฐานะเป็นนักศึกษาฝึกงานฝ่ายสื่อสารองค์กรและทำเกี่ยวกับสื่อ เราคิดว่าสำหรับเราแล้ว การเข้าถึงแพลตฟอร์มหลายๆ แพลตฟอร์มบนโลกอินเทอร์เน็ต แล้วจะสามารถเข้าถึงทุกคนได้ง่าย เพราะทุกวันนี้ ทุกคนอยู่บนโลกออนไลน์ตลอดเวลาทั้งวันทั้งคืน ถ้าเราสามารถเข้าถึงให้มากที่สุดหรือทำสื่อให้น่าสนใจ ย่อยข้อมูลให้ออกมาเข้าใจง่าย ก็สามารถเข้าถึงคนได้มากขึ้น เพราะทุกวันนี้คนเริ่มหันมาสนใจเรื่องสิทธิมนุษยชน การเมืองและสิทธิของตัวเองมากขึ้น ถ้าเราสามารถเข้าไปในหลายๆแพลตฟอร์มได้จะโอเคมากเลย ตอนนี้แอมเนสตี้เองก็มีช่องทางการติดตาม หลักๆ คือ เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม และเว็บไซต์  แต่เราคิดว่าควรจะเสริมช่องทาง ติ๊กต็อก เพราะเป็นแอปพลิเคชั่นที่คนเสพเยอะ ถือว่าเป็นช่องทางที่น่าสนใจ ทำข้อมูลให้กระชับ ย่อยง่าย จะสามารถทำให้คนดูเข้าใจได้ง่ายได้

 

เรื่องที่ประทับใจที่เจอตอนฝึกงาน

มาฝึกงานช่วงโควิดกลับมาระบาดหนักพอดี พอมาถึงมีคนแค่สองสามคนในออฟฟิศ ซึ่งนับรวมแม่บ้านแล้ว ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ออฟฟิศมีมาตรการทำงานที่บ้าน (Work from home) ด้วย ความรู้สึกมันเหงามากๆ พอมันไม่มีคนมันก็ดูโล่งๆ ไปหมด ปกติแล้วก็ไม่ค่อยได้คุยอะไรกันหรอก แต่ว่าถ้ามีคนในออฟฟิศมันจะดูอบอุ่นมากว่าและไม่เหงา หันไปเห็นคนอื่นทำงานมันยิ่งทำให้เราอยากทำงานมากขึ้น ได้ยินเสียงคนอื่นบ้าง คุยกันสองคน มันเหงาเกินไป

 

เล่ากิจกรรมที่ประทับใจที่ได้ทำร่วมกับแอมเนสตี้ ประเทศไทย

กิจกรรมที่ลิโด้ ประทับใจมาก คือ เป็นงานกิจกรรมที่โชว์ผลงานศิลปะเกี่ยวกับเด็ก ในงานวันนั้นจะมีเวทีคุยเรื่องเกี่ยวกับเด็กการถูกทำร้ายและการถูกล่วงละเมิดทางเพศ มีคนหนึ่งพูดเกี่ยวกับเรื่องการถูกล่วงละเมิดทางเพศขึ้นซึ่งเราก็เป็นคนหนึ่งที่โดนล่วงละเมิดทางเพศในวัยเด็ก มันทำให้เราหวนกลับไปนึกถึงสิ่งที่เราเจอตอนนั้น มันเป็นเรื่องที่ไม่ว่าใครก็ไม่สมควรโดนหรือถูกล่วงละเมิด อันที่จริงเราพยายามลืมช่วงเวลาเหล่านั้น แต่ก็ไม่เคยลืมมันเลย มันเป็นอะไรที่ฝังใจมากๆ ตอนที่ได้ฟังคือตอนนั้นน้ำตาซึมไปเลย และมันทำให้เราซึมไปอีกหลายวันเลยเพราะไปนึกถึงมัน เราไม่ได้โดนขนาดไปจนถึงมีเพศสัมพันธ์ แต่ยังฝังลึกความจำตรงนั้นแล้วคนที่โดนหนักกว่าเราเขาจะอยู่แบบไหน เขาต้องแข็งแรงขนาดไหนถึงกลับมาได้ มันสะเทือนใจมากที่คนๆ หนึ่งต้องมาโดนอะไรแบบนี้และทุกๆครั้งที่เรารับรู้เรื่องแบบนี้มาเขาจะโทษเหยื่อตลอด มันน่าเศร้ามากเลย ที่คนโดนกระทำต้องมานั่งรับฟังคำพูดแบบนี้ ทั้งที่เขาไม่ได้ผิด เขาคือพูดถูกกระทำสังคมควรจะเข้าใจเขา ไม่ใช่ไปดูถูกเหยียดหยามเขา

 

งานที่ชอบที่สุดตั้งแต่ทำมา

ความคาดหวังเราคืออยากออกไปข้างนอก ไปเจอสังคม ไปเจอผู้คน เราได้ไปร่วมกิจกรรมยืนหยุดขัง หน้าศาลฯ เราได้ออกไปสถานที่จริง รู้สึกชอบมากๆ อาจจะมีเหนื่อยบ้างที่ต้องใช้เสียงในการล่ารายชื่อ แต่ก็สนุกมาก มีความสุขที่ได้ทำ 

 

 

เชิญชวนให้คนที่สนใจมาลองฝึกงานกับแอมเนสตี้ ประเทศไทย

อยากเชิญชวนเด็กๆ ที่สนใจด้านสิทธิมนุษยชน มาเรียนรู้งานด้านนี้ ไม่ใช่แค่เรียนรู้ด้านสิทธิแต่ได้เรียนรู้เรื่องการทำงานจริงๆ  สำหรับเราเป็นคนไม่มีตารางชีวิต พอมาทำงาน เราก็พยายามจดเขียนตารางเพื่อบริหารเวลาได้มากขึ้น หลังจากฝึกงานเราปลี่ยนความคิดได้หลายอย่าง เมื่อก่อนสนใจเรื่องการเมืองระดับหนึ่ง ก็มีอ่านบ้าง ข่าว บทความ แต่อ่านสั้นๆ ผิวเผิน พอมาฝึกงานเราได้อ่านมากขึ้น ศึกษามุมมองเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น การทำความเข้าใจเรื่องสิทธิลึกขึ้น  พอมาเจอเรื่องสิทธิเด็กก็สนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ  เราอยากให้ทุกคนมาเป็นส่วนหนึ่งของแอมเนสตี้ มาเป็นน้องๆ ที่น่ารักของพี่ๆ พี่ๆ ทุกคนน่ารักมาก ทุกคนเหมือนแม่ ใจดีมากๆ

 

แนะนำบทความที่ชอบในเว็บไซต์แอมเนสตี้ ประเทศไทย

เรื่องผู้หญิงต้องใส่กระโปรง ผู้ชายต้องกางเกงเป็นแนวคิดที่ฝั่งรากลึกมานาน บทความนี้พูดถึงการที่ผู้ชายหยิบยกกระโปรงมาใส่ แฟชั่นไร้เพศ แฟชั่นมีการเปลี่ยนแปลง กระโปรงจึงไม่ใช่เครื่องแต่งกายของผู้หญิงเท่านั้น 

 

 “สิทธิในการแต่งกาย: ผู้ชายกับการใส่กระโปรง” 

อ่านต่อที่: https://www.amnesty.or.th/latest/blog/878/

 

ร่วมฝึกงานกับแอมเนสตี้ สมัครได้ที่นี่ https://www.amnesty.or.th/get-involved/volunteer-and-intern/