สิทธิในการแต่งกาย : ผู้ชายกับการใส่กระโปรง

8 มิถุนายน 2564

เรื่องและภาพโดย สิทธิศักดิ์ บุญมั่น และวิชัย ตาดไธสงค์

หากพูดถึงกระโปรง หลายคนคงจะนึกถึงเครื่องแต่งกายชนิดหนึ่งของผู้หญิง ที่มีใช้กันมาอย่างยาวนานตั้งแต่อดีต และยังคงมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน จนทำให้กระโปรงได้กลายเป็นสัญลักษณ์ในการระบุเพศของเพศหญิง ดังเห็นได้ชัดตามห้องน้ำในสถานที่ต่างๆ โดยห้องน้ำชายจะเป็นรูปร่างของคนปกติ แต่ห้องน้ำหญิงนั้นกลับเป็นรูปร่างของคนที่ใส่กระโปรง

แต่เมื่อกาลเวลาผันผ่านไป แฟชั่นเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง กระโปรงจึงไม่เพียงแต่เป็นเครื่องแต่งกายสำหรับผู้หญิงเท่านั้น ผู้ชายบางคนเริ่มนำกระโปรงมาเป็นเครื่องแต่งกายของตน แต่ถึงกระนั้นก็ใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่ทุกคนในสังคมให้การยอมรับ เพราะมีอีกหลายคนที่ยังคงให้ความสำคัญกับการจำกัดเพศของเครื่องแต่งกาย จึงทำให้ผู้ชายที่สวมใส่กระโปรงถูกสังคมติฉินนินทาอยู่เสมอ แต่ถ้าหากลองมองในมุมกลับกัน ก็มีผู้หญิงจำนวนมากที่สวมใส่กางเกงที่เป็นสัญลักษณ์ของเพศชาย และสังคมเองก็มองเป็นเรื่องปกติ แล้วเหตุใดการที่ผู้ชายใส่กระโปรงจึงกลายเป็นเรื่องที่แปลกไปจากการที่ผู้หญิงใส่กางเกง วันนี้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยจะพาทุกคนไปเปิดโลกของเครื่องแต่งกายที่เรียกว่ากระโปรงผ่านความจริงด้านล่างนี้

 

กระโปรงเกิดขึ้นตอนไหน?

กระโปรงเป็นเครื่องแต่งกายของมนุษย์ที่คาดการณ์กันว่ามีอายุยาวนานที่สุดกว่าเครื่องแต่งกายชนิดออื่น เพราะในสมัยโบราณมนุษย์มีการนำเอาใบไม้ ฟาง หรือหนังสัตว์มาปกปิดร่างกายในลักษณะที่คล้ายกับกระโปรง ดังเห็นได้จากซากกระโปรงที่ถูกทำมาจากฟาง อายุกว่า 3,900 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งถูกค้นพบได้ ณ ถ้ำแห่งหนึ่งในประเทศอาร์เมเนีย แต่ในความเป็นจริงกระโปรงอาจเกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้น เพียงแต่หลักฐานถูกทำลายลงตามกาลเวลา จึงทำให้ไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าแท้จริงแล้วต้นกำเนิดของกระโปรงเกิดขึ้นเมื่อใด  แต่ถึงอย่างนั้นนี่ก็เป็นเครื่องพิสูจน์ให้รู้ได้แล้วว่า มนุษย์เรามีทักษะในการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก เพราะถึงแม้ในสมัยนั้นจะไม่มีการถักทอเสื้อผ้าเพื่อสวมใส่ แต่ก็ยังมีการนำเอาใบไม้ต่างๆ หรือหนังสัตว์มาใช้ปกปิดร่างกายของตน

 

ผู้ชายก็ใส่กระโปรง

หากย้อนกลับไปในสมัยของอียิปต์โบราณจะเห็นได้ว่าการแต่งกายทั้งผู้ชายและผู้หญิงนั้นมีความคล้ายคลึงกัน คือการสวมใส่เครื่องนุ่งห่มที่ทำจากผ้าลินินในลักษณะที่คล้ายกับกระโปรง เพื่อความสะดวกสบายในการสวมใส่ และเหมาะกับสภาพอาการที่ค่อนข้างร้อน เพราะอยู่กลางทะเลทราย จึงทำให้การแต่งกายเช่นนี้ไม่ใช่ความแปลกอะไร เพราะทุกคนล้วนสวมใส่เสื้อผ้าแบบเดียวกัน หรือหากมองเข้ามาใกล้ตัวมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันเราก็ยังคงเห็นวัฒนธรรมการแต่งกายของผู้ชายที่สวมเสื้อผ้ามีลักษณะคล้ายกระโปรง อย่างเช่นผู้ชายในประเทศเมียนมาบางคนยังคงนุ่งผ้าโสร่งจนกลายเป็นเรื่องปกติ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าผ้าโสร่งที่ผู้ชายเหล่านั้นสวมใส่อยู่มีลักษณะคล้ายกับกระโปรงที่ผู้หญิงสวมใส่กัน

เพราะแฟชั่นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ในทุกช่วงเวลา จึงทำให้การแต่งกายของคนในแต่ละยุคสมัยนั้นมีความแตกต่างกัน และในปี 2021 นี้ ผู้ชายส่วนหนึ่งหันมาสนใจในเสื้อผ้าของผู้หญิงอย่างกระโปรง และเลือกมาเป็นหนึ่งในชิ้นส่วนของเครื่องแต่งกายที่ตนสวมใส่ แฮร์รี สไตลส์ นักร้องหนุ่มชาวอังกฤษเป็นอีกหนึ่งคนที่เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่าการแต่งกายของคนเรานั้นไม่ได้มีการแบ่งเพศอย่างชัดเจน เราสามารถเลือกเสื้อผ้าได้ตามใจของเรา การแต่งกายของแฮร์รีนั้นค่อนข้างมีความหลากหลาย อันเห็นได้จากในแต่ละภาพบนอินสตาร์แกรมส่วนตัวของเขา ที่สวมใส่ทั้งกระโปรง หรือแม้แต่ส้นสูง

และหากมองกลับมาที่ฝั่งของประเทศไทยบ้านเราก็มีศิลปินและดาราผู้ชายสวมใส่กระโปรงเช่นเดียวกัน อย่างต้นหน ตันติเวชกุล นักแสดงหนุ่มที่มีผลงานแจ้งเกิดมาจากซีรีส์วัยรุ่นชื่อดังอย่าง ฮอร์โมนวัยว้าวุ่น เป็นอีกหนึ่งคนที่พิสูจน์ให้เห็นได้ว่ากระโปรงไม่ได้เป็นเพียงเสื้อผ้าของผู้หญิงเท่านั้น ผู้ชายเองก็สามารถใส่ได้ และไม่ใช่เรื่องที่ผิดแปลกอะไรไปจากเสื้อผ้าปกติเลยแม้แต่น้อย

 

การแต่งกายกับสิทธิมนุษยชน

ถึงแม้ว่าแฟนชั่นการแต่งกายของผู้ชายในยุคปัจจุบัน ที่เริ่มนำกระโปรงมาสวมใส่นั้นเริ่มมีให้เห็นกันมากขึ้น แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะเห็นด้วยกับสิ่งเหล่านี้ เพราะยังมีผู้คนอีกไม่น้อยที่ยังคงยึดติดกับคำว่าเพศ และยังคงกำหนดกรอบให้สังคม การที่ผู้ชายสวมใส่เสื้อผ้าของผู้หญิงจึงกลายเป็นเรื่องที่แปลกไป และในบางคนอาจถึงขั้นถูกตำหนิติเตียนและว่ากล่าวจากสังคมว่าทำตัวไม่เหมาะสม แต่การกระทำเช่นนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วหรือ เพราะถ้ามองกลับกัน ผู้หญิงเองก็สวมใส่เสื้อผ้าของผู้ชายอย่างกางเกง แต่เหตุใดจึงกลายเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนมองว่าไม่ใช่เรื่องแปลก ทั้งที่เป็นสถานการณ์เดียวกันกับการที่ผู้ชายใส่กระโปรง

ตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อที่ 2 ไม่แบ่งแยก ทุกคนย่อมมีสิทธิและอิสรภาพทั้งปวงตามที่กำหนดไว้ในปฏิญญานี้ โดยปราศจากการแบ่งแยกไม่ว่าชนิดใดอาทิ เชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือทางอื่น พื้นเพทางชาติหรือสังคม ทรัพย์สิน กำเนิดหรือสถานะอื่น นอกเหนือจากนี้ จะไม่มีการแบ่งแยกใด บนพื้นฐานของสถานะทางการเมือง ทางกฎหมาย หรือทางการระหว่างประเทศของประเทศหรือดินแดนที่บุคคลสังกัด ไม่ว่าดินแดนนี้จะเป็นเอกราช อยู่ในความพิทักษ์ มิได้ปกครองตนเองหรืออยู่ภายใต้การจำกัดอธิปไตยอื่นใด

จะเห็นได้ว่าคนเรานั้นมีอิสระในการใช้ชีวิตโดยปราศจากการแบ่งแยกทางสังคม การเลือกสวมใส่เสื้อผ้าเองก็ควรกลายเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนสามารถทำได้อย่างอิสระ โดยที่ไม่มีใครคอยจับผิดหรือว่ากล่าว เพราะประโยชน์หลักๆ ของเสื้อผ้านั้นคือนำมาปกปิดร่างกายของมนุษย์และนำมาเป็นเครื่องประดับ ผู้ชายใส่กระโปรงจึงไม่ใช่เรื่องที่ผิดไป หากแต่คนเรายังคงมองวัตถุประสงค์ของเสื้อผ้าเป็นเรื่องการแบ่งเพศอยู่ จึงทำให้ผู้ชายเหล่านั้นดูแปลกในสายตาของสังคมเท่านั้นเอง

อ้างอิง : https://thewmtd.com/history-of-skirt/

https://www.facebook.com/sararueaipueai/posts/1008373655962851/