ความรุนแรงทางเพศที่ฉันต้องเผชิญ

5 กรกฎาคม 2564

Amnesty International Thailand

“โดนทำร้ายร่างกายแล้วจะทนทำไม?” 

“ก็รักเขา” 

บทสนทนาจากประสบการณ์จริงของเพื่อนและฉันเมื่อฉันได้บอกเล่าถึงเหตุการณ์ที่มีความรุนแรงระหว่างคู่รักเกิดขึ้น เมื่อผ่านไปอีกวัน ฉันได้กลับไปคืนดีกับแฟนแล้ว  ด้วยคำพูดที่ว่า “เขามาง้อ เพราะเขาไม่ได้ตั้งใจ เขาขอโทษ และยังรักเรา” จากนั้นก็ไปร้านคาเฟ่ กินข้าวด้วยกัน ฮันนีมูนใต้แสงพระจันทร์ และเหตุการณ์ทำร้ายร่างกายก็เกิดขึ้นอีก สิ่งเหล่านี้เรียกว่าอะไรกัน? ทั้งที่รับรู้อยู่ภายในใจว่า เรื่องแบบนี้มันไม่ควรเกิดขึ้นซ้ำๆ แต่เราก็ไม่สามารถพาตัวเองออกมาจากความสัมพันธ์นี้ได้ 

เดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมาได้มีโอกาสเข้าอบรมห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชนศึกษา โดยมีพี่เบสท์ บุศยาภา นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน จากเพจ Shero มาเป็นวิทยากรให้ จากการสนับสนุนทุนของแอมเนสตี้ประเทศไทยที่เปิดโอกาสให้นักกิจกรรม นักเรียน ที่สนใจขอทุนสนับสนุนตั้งต้นมาทำงานด้านสิทธิมนุษยชน การอบรมครั้งนี้ได้สร้างความเข้าใจในเรื่องของความรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงระหว่างคู่รัก ความรู้ที่ได้รับและการแบ่งปันผนวกกับประสบการณ์ที่เจอมาทำให้เราตกตะกอนความคิดได้่ว่า ความรุนแรงระหว่างคู่รักไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในเพศชาย-หญิงเท่านั้น แต่ยังเกิดใน LGBTIQ+ อีกด้วย และสามารถเกิดได้ในทุกพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่ส่วนตัว 

กิจกรรมเริ่มด้วยการทำความเข้าใจจุดเริ่มต้นของความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการกดขี่ทับซ้อนในหลากหลายแง่มุมทั้งชนชั้น เพศสภาวะ ฐานะทางเศรษฐกิจ อำนาจที่แตกต่างกัน ได้เข้าใจในเรื่องของอำนาจและวิธีการใช้อำนาจแบบต่างๆ การจะใช้อำนาจเหนือผู้อื่นนั้นต้องมีแหล่งของอำนาจ เมื่อแต่ละคนมีแหล่งอำนาจไม่เท่ากัน เช่น ฐานะทางเศรษฐกิจ เพศ การศึกษา ตำแหน่งหน้าที่การงาน เป็นต้น คู่รักอยู่ในความสัมพันธ์เป็นพิษ ผู้ที่กระทำการรุนแรง (Abuser) ใช้ความรุนแรงไม่ว่าจะรูปแบบใดๆ ก็ตามเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการแสดงอำนาจและการควบคุมผู้ถูกกระทำการรุนแรง  พฤติกรรมความรุนแรงไม่ได้มีแค่ทางกายภาพเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการข่มขู่ การโดดเดี่ยว ละทิ้ง เพิกเฉย ผู้ถูกกระทำ หมายถึง การกระทำให้ผู้ถูกกระทำออกจากสังคม ควบคุมไม่ให้ผู้ถูกกระทำออกไปข้างนอกหรือกิจกรรมในสังคม การลดทอน ปฏิเสธและกล่าวโทษผู้ถูกกระทำ หมายถึง ผู้กระทำความรุนแรงลดทอนการกระทำความรุนแรงของตัวเอง ทำให้ความรุนแรงเป็นเรื่องปกติเล็กน้อย และเพิกเฉยต่อความรู้สึกของผู้กระทำ เป็นต้น
กิจกรรมต่อมาได้พูดถึงวัฏจักรความรุนแรง ซึ่งเป็นวัฏจักรของสังคมในรูปแบบความสัมพันธ์ ความรุนแรงมักจะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก เพราะผู้กระทำความรุนแรงได้ใช้อำนาจในการครอบงำจนผู้ถูกกระทำความรุนแรงไม่สามารถหนีออกจากความสัมพันธ์นั้นได้ รูปแบบวงจรความสัมพันธ์แบ่งได้เป็น 4 ช่วงคือ 

ในช่วงแรกคือ ความสัมพันธ์เริ่มจากความตึงเครียด ความสัมพันธ์ที่ผู้กระทำพยายามหลีกเลี่ยงความรุนแรง ช่วงที่สอง เป็นช่วงที่ผู้กระทำใช้ความรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจรวมไปถึงความรุนแรงด้านอื่นๆ  ช่วงที่สาม เป็นช่วงที่ผู้กระทำความรุนแรงแสดงอาการขอโทษแบบจอมปลอม เบี่ยงเบนความรับผิด และโทษว่าเป็นความผิดของผู้ถูกกระทำที่ทำให้เกิดความรุนแรง ผู้กระทำจะขอโอกาสและบอกว่าตนเองเปลี่ยนไปแล้ว และผู้ถูกกระทำยอมกลับไปอยู่ในความสัมพันธ์แบบเดิมที่กระทำความรุนแรงต่อไป ช่วงที่สี่ จะเป็นช่วงที่ผู้กระทำความรุนแรงทำเหมือนความรุนแรงนั้นไม่เคยเกิดขึ้น จากที่กล่าวมาคือจะมีการวนอยู่ในวัฏจักรเหล่านี้อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์แบบไหน ความสัมพันธ์แบบครอบครัว ความสัมพันธ์แบบคู่รัก เป็นต้น  

 ประเทศไทยมีกฎหมายที่แยกออกมาโดยเฉพาะเรื่องผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งก็คือพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. ๒๕๖๒ ซึ่งในตัวบทนั้นโดยส่วนใหญ่กล่าวถึงผู้กระทำความรุนแรง การรับโทษมีเพียงการพาไปบำบัดรักษาสภาพจิตใจหรือทำทัณฑ์บนเท่านั้น พอครบกำหนดก็ให้กลับมาเหมือนเดิม หรือหากผู้ถูกกระทำเป็นเด็กก็จะห้ามไม่ให้ผู้กระทำคุกคาม ติดตาม หรืออย่างอื่นในทำนองนั้นไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ในความเป็นจริงเหยื่อแทบจะไม่ต้องการแม้แต่จะกลับไปยุ่งกับผู้กระทำเลยด้วยซ้ำ ในหลายกรณีที่มองว่าโทษนั้นน้อยเกินไป เพราะนั่นคือความรุนแรงที่เป็นการทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ โทษนั้นน้อยไปมากๆ เมื่อเทียบกับสิ่งที่เหยื่อต้องเจอมาตลอด 

สังคมไทยยังคงให้ความสำคัญกับคำว่าครอบครัวนั้นต้องอยู่กันพร้อมหน้า โดยที่ไม่ได้สนใจเลยว่าสถานการณ์ภายในครอบครัวนั้นจะเป็นอย่างไร ให้ความสำคัญกับคำว่าสายเลือดจนมองข้ามสภาพร่างกายและจิตใจของเหยื่อผู้ถูกกระทำไปว่าพวกเขาเหล่านั้นยังต้องการที่จะให้ครอบครัวเป็นครอบครัวที่อยู่กันพร้อมหน้าหรือเปล่า เพราะเหตุนี้ครอบครัวจริงไม่ใช่สถานที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน

จากทั้งสองหัวข้อที่ผ่านมาจะพบว่าเกิดความรุนแรงขึ้นตลอดไม่ว่าจะในความสัมพันธ์แบบใดก็ตาม เกิดเป็นวัฏจักรซ้ำๆ บั่นทอนกันไปเรื่อยๆ แต่ก็ขาดกันไม่ได้ แต่ถ้าหากเราให้เกียรติและเคารพกันและกัน ความรุนแรงเหล่านี้จะลดน้อยลงหรือเปล่า 

สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานนั้นได้เขียนไว้ว่า มนุษย์ทุกคนล้วนมีสิทธิในเนื้อตัว ร่างกายของตนเอง ผู้ใดจะมาละเมิดไม่ได้ ทุกคนมีสิทธิที่จะไม่ถูกทรมาน ในความรุนแรงไม่ว่าจะในความสัมพันธ์แบบใดก็ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน การจะตีหรือทำร้ายผู้อื่นโดยอ้างว่ารักนั้นไม่ใช่สิ่งที่ควรกระทำหรือกระทำได้ การทำร้ายไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา ซ้ำยังเป็นการเพิ่มบาดแผลทางกายและใจให้กับผู้ถูกกระทำอีกด้วย ในเมื่อทุกคนมีสิทธิในร่างกายตนเอง การทำร้ายร่างกายจึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่ว่าจะเป็นใครก็ไม่ควรที่จะไปทำร้ายร่างกายผู้อื่น

รวมถึงกฎหมายที่ไม่ได้ครอบคลุมและการเลือกปฏิบัติในกฎหมาย จะพบว่ากฎหมายหลายฉบับของประเทศไทยนั้นยังล้าหลังรวมถึงยังไม่กว้างพอที่จะสามารถคุ้มครองคนทุกกลุ่มได้ ทั้งการเยียวยาต่อเหยื่อผู้ถูกกระทำก็ยังไม่สามารถได้รับการเยียวยาได้อย่างถูกต้องหรือกฎหมายพื้นฐานเช่นการสมรสนั้นก็ยังไม่ครอบคลุม กลุ่มความหลากหลายทางเพศยังไม่สามารถสมรสกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้ในประเทศไทย ทั้งๆ ที่เป็นมนุษย์เหมือนกัน และไม่ได้ไปเบียดเบียนสิทธิของผู้ใด เพียงแค่ต้องการให้ได้สิทธิเท่าเทียมกับผู้อื่นก็กลับทำไม่ได้ แค่เพราะว่าสังคมไทยยังไม่เปิดกว้างและให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนมากพอ

 

ปทุมมา ก็ว่าอยู่

นามปากกา

กลุ่มนักกฎหมายอาสา – Law Long Beach

 

*บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชนศึกษา ซึ่งเป็นกิจกรรมที่กลุ่มนักกฎหมายอาสา – Law Long Beach ได้รับทุนสนับสนุุน Seed Fund จากแอมเนสตี้ 

 

เพียงแค่คุณส่งโครงการที่ขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนในประเด็นใดก็ได้มาให้ทางเราพิจารณา คุณก็มีโอกาสที่จะได้รับ Seed Fund พิเศษสำหรับสมาชิกแอมเนสตี้ 3 - 5 คน ต่อทุนสนับสนุนไม่เกิน 5,000 บาท และสมาชิกมากกว่า 5 คนได้ถึง 10,000 บาท 

สามารถส่งใบโครงการได้ที่: คลิกที่นี่

เงื่อนไขและรายละเอียดโครงการ: คลิกที่นี่

 

นอกจากนี้ หากสนใจสร้างกลุ่มแอมเนสตี้คลับเป็นของตัวเองในโรงเรียน มหาวิทยาลัย ชุมนุม เพื่อเรียนรู้และขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนไปกับเรา สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่: naritha.p@amnesty.or.th หรือโทร. 02-513-8745