‘สิทธิมนุษยชน’ กับ ‘แฟชั่น’ เกี่ยวกันตรงไหน !?

22 มีนาคม 2564

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

เมื่อพูดคำว่า ‘สิทธิมนุษยชน’ หลายคนอาจมองเป็นเรื่องใหญ่ไกลตัว และดูไม่มีทางเกี่ยวกับเรื่องในชีวิตประจำวันของเราอย่าง ‘เสื้อผ้า’ ที่เรากำลังใส่อยู่

ผู้หญิงคนหนึ่งในประเทศอังกฤษก็อาจเคยคิดแบบเดียวกัน จนกระทั่งเธอได้เจอกับเหตุการณ์น่าตกใจและทำให้เธอต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ ในปี 2011

หลังจาก Karen Wisínska ซื้อกางเกงขายาวตัวหนึ่งมาจากเมือง Belfast เธอพบบางอย่างซ่อนในกระเป๋ากางเกงตัวที่เธอซื้อมา มันคือกระดาษโน๊ตแผ่นหนึ่งแนบไว้กับบัตรนักโทษ กระดาษแผ่นนั้นถูกเขียนด้วยลายมือของแรงงานทาสจากสถานที่ที่เขาเรียกมันว่า ‘เรือนจำ’ ในจังหวัดหูเป่ย ประเทศจีนและส่งมันออกมาผ่านกระเป๋ากางเกงเพื่อขอความช่วยเหลือ 

เจ้าของลายมือเล่าว่า “เราต้องผลิตกางเกงเพื่อส่งออก 15 ชั่วโมงต่อวัน กินอาหารที่แย่กว่าหมูหรือหมา ทำงานหนักเหมือนวัว และเราขอเรียกร้องให้นานาชาติประณามการกระทำที่ย่ำยีศักดิ์ศรีและความเป็นมนุษย์ของรัฐบาลจีน” 

เรื่องราวดังกล่าวได้ถูกส่งมายัง Amnesty International ที่ไอร์แลนด์เหนือและถูกเผยแพร่ออกไปหลังจากนั้น 

เหตุการณ์นี้ทำให้คนหันกลับมามองเรื่องใกล้ตัวอย่างเสื้อผ้าของตัวเองว่ามีที่มาอย่างไร เสื้อผ้าที่คนส่วนใหญ่ในโลกสวมใส่มีที่มาจากอุตสาหกรรม
‘Fast Fashion’ หรืออุตสาหกรรมแฟชั่นที่เน้นความเร็ว เน้นการผลิตและขายอย่างรวดเร็วตามชื่อของมัน บางทียังขายไม่หมดก็ออกคอลเลคชั่นใหม่จนซื้อกันแทบไม่ทัน
นอกจากฟาสต์แฟชั่นจะเป็นตัวการทำลายสิ่งแวดล้อมของโลกจากอุตสาหกรรรมการผลิตที่ไม่สนใจโลก หลายครั้งฟาสต์แฟชั่นยังทำลายชีวิตคนอีกด้วย

โรงงานผลิตเสื้อผ้าในอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นเต็มไปด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชนรูปแบบต่างๆ นอกจากโรงงานนรกที่หูเป่ย โรงงานอื่นๆ ในโลกก็มีสภาพไม่ต่างกัน จากการรายงาน 94% ของโรงงานผลิตเสื้อผ้าฟาสต์แฟชั่นในกัมพูชามีการใช้แรงงานมากกว่าชั่วโมงการทำงานที่กฎหมายกำหนดโดยไม่ได้รับค่าชดเชย นอกจากนี้โรงงานเสื้อผ้าในบังกลาเทศยังมีการลงโทษด้วยการทุบตีคนงานเพียงเพราะทำยอดการผลิตได้ไม่ถึงเป้าหมาย ซึ่งตัวเลขที่กำหนดไว้สูงเกินกว่าจะเป็นไปได้

นอกจากค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรมและการปฏิบัติที่โหดร้าย ภายในโรงงานผลิตเสื้อผ้าหลายแห่งยังมีการล่วงละเมิดทางเพศ จากการสำรวจโดยไม่เปิดเผยตัวตน แรงงานผู้หญิงในอุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้า 14% เคยถูกลวนลามและข่มขืน และผู้หญิง 40 - 50% ถูกย่ำยีศักดิ์ศรีและล่วงละเมิดด้วยคำพูด

การสำรวจยังพบอีกว่า มีเด็กอายุ 5-17 ปี จำนวนกว่า 16.7 ล้านคนเป็นแรงงานในโรงงานผลิตเสื้อผ้า ซึ่งมีสภาพแวดล้อมไม่เหมาะกับการเติบโตและสุขภาวะที่ดี

เหตุการณ์จดหมายจากโรงงานนรกถูกเปิดเผยเมื่อปี 2014 จุดประกายให้ทั่วโลกหันมามองความโหดร้ายของอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่น และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมนี้ นำไปสู่การรณรงค์เรื่องการซื้อเสื้อผ้า แบนธุรกิจที่มีการใช้แรงงานทาสอย่างไม่เป็นธรรม รวมถึงสนับสนุนแบรนด์ที่ไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกระบวนการผลิต

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
ข้อ 4 ไม่ตกเป็นทาส
ข้อ 5 ไม่ถูกทรมาน 
ข้อ 23 สิทธิในการทำงาน
ข้อ 24 สิทธิในการพักผ่อน
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.amnesty.or.th/our-work/hre/udhr/

เพราะเราเชื่อว่า ‘สิทธิมนุษยชน’ อยู่ในชีวิตของเราทุกคนในทุกวัน