“ให้มันจบที่หม้อเรา” ประวัติศาสตร์ก้นหม้อกับเสรีภาพที่ถูกกลืน

16 กุมภาพันธ์ 2564

เรื่อง: พัชรพร ศุภผล อาสาสมัครแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย
ภาพ: กันต์ แสงทอง

เมื่อปี 2563 โลกออนไลน์ให้กำเนิดขบวนการพันธมิตรชานม (Milk Tea Alliance) ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่าง 4 ประเทศที่มีวัฒนธรรมการดื่มชานมคล้ายคลึงกัน ประกอบไปด้วยชาไทย ชาไข่มุกไต้หวัน ชานมฮ่องกง และชามสาลาจายของอินเดีย

 

ขบวนการพันธมิตรชานมแสดงออกถึงความสร้างสรรค์ในการเรียกร้องประชาธิปไตยของคนรุ่นใหม่ มีที่มาจากการวิวาทกันระหว่างแฟนคลับชาวไทยและชาวจีนของนักแสดงซีรีส์วาย (Yaoi) ก่อนจะบานปลายเป็นเรื่องราวที่กระเทือนถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะการส่งภาพมีม (Meme) เสียดสีการเมืองกันไปมา

 

ขบวนการพันธมิตรชานมมีขึ้นเพื่อสนับสนุนการต่อสู้ของประเทศพันธมิตร กับรัฐบาลที่คุกคามสิทธิเสรีภาพประชาชน จนเกิดเป็นกระแส # MilkTeaAlliance และในปีนี้เอง ชาวเมียนมาก็ประกาศยกแก้วชานมขอเข้าร่วมพันธมิตร เป็นชาติที่ 5 ต่อจากอินเดีย

 

พันธมิตรชานมสู่กระทะปลดแอก

 

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 พลเอกอาวุโสมิน อ่อง ลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมาและผู้นำการรัฐประหารในขณะนี้ ได้เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลของนางออง ซาน ซูจี ตลอดจนควบคุมตัวนางออง ซาน ซูจี กับแกนนำคนสำคัญของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ทั้งยังตัดระบบการสื่อสาร และประกาศใช้เคอร์ฟิวส์

 

คืนวันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นักศึกษาและผู้คนจากทั่วทุกสาขาอาชีพลุกขึ้นรวมพลหยิบหม้อ กระทะ จนถึงไหปลาร้า เคาะ ตี อึกทึกไปทั้งย่างกุ้ง เพื่อแสดงอารยขัดขืน (Civil Disobedience Movement) ต่อต้านการรัฐประหาร และเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวนางอองซาน ซูจีพร้อมแกนนำพรรคโดยเร็ว

 

ชาวเมียนมาเรียกปรากฏการณ์นี้ว่าการขับไล่ “มะกาวง์โซหว่า” แปลว่า สิ่งชั่วร้าย ที่คล้ายคลึงกับวัฒนธรรมการไล่ราหูแบบไทย ๆ หรือ กบกินเดือนของลาว ที่ต้องเคาะภาชนะให้เกิดเสียงดังเพื่อให้ราหูตกใจ การเคาะหม้อ ตีไหในครั้งนี้นับเป็นการแสดงออกในการชุมนุมอย่างสันติและมีทีท่าชัดเจนว่า ประชาชนมองรัฐประหารเป็นสิ่งชั่วร้าย อำนาจของกองทัพเปรียบเสมือนราหูที่กำลังกลืนกินเสรีภาพของประชาชนชาวเมียนมาอยู่

 

 

เคาะหม้อเมียนมาสะเทือนถึงไทย

กลุ่มราษฎรและกลุ่มสิทธิแรงงานไทยได้หยิบยืมวิธีนี้มาใช้ด้วยเช่นกัน หลังจากออกประกาศนัดหมาย “รวมพลคนไม่มีจะกิน ตีหม้อไล่เผด็จการ”  ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ณ บริเวณสกายวอล์ก แยกปทุมวัน

มีผู้ชุมนุมจำนวนมากนำหม้อ กระทะ และอุปกรณ์ในครัวเรือนมาเคาะส่งเสียงดังทั่วบริเวณเพื่อแสดงความไม่พอใจต่อการบริหารงานของคณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เนื่องจากภาวะผู้คนตกงานและเศรษฐกิจตกต่ำ รวมถึงประชาชนที่ได้รับเงินเยียวยาไม่ทั่วถึง

 

ผลจากเหตุการณ์นี้ทำให้มีประชาชนถูกตำรวจควบคุมตัวไปไม่ต่ำกว่า 8 คน ในจำนวนนี้เป็นเยาวชน 2 คน หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจยังมีการตระเตรียมรถน้ำและใช้แก๊สน้ำตาเพื่อยุติการชุมนุมจนประชาชนตลอดจนผู้ประกอบการร้านค้าบริเวณนั้นได้รับบาดเจ็บและความเสียหาย

 

การเคาะหม้อ ตีกระทะ (Pots and Pans) สัญลักษณ์แสดงถึงสิ่งผิดจารีต

การเคาะหม้อ ตีกระทะหรือ Pots and Pans คือการนำหม้อและภาชนะอื่น ๆ ในครัวเรือนมาเคาะ ตี ให้เกิดเสียงดัง  เพื่อแสดงออกถึงการไม่พอใจหรือการเรียกร้องบางสิ่ง มีประวัติศาสตร์การพบหลักฐานว่าเริ่มขึ้นในช่วงราวปี ค.ศ. 1834 ที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมีวัฒนธรรมท้องถิ่นเกี่ยวกับการรวมตัวของชาวบ้านเพื่อไปส่งเสียงอึกทึกครึกโครมในบ้านของผู้ที่ประพฤติตนผิดจารีตในชุมชน เช่น คู่สมรสที่เลิกรากัน,ผู้ที่แต่งงานเป็นครั้งที่สอง,คู่แต่งงานที่มีอายุห่างกันมากเกินไป ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ผิดจารีตในบริบทของยุคนั้น พวกเขาจะรวมตัวกันเพื่อส่งเสียงโห่ร้อง เคาะหม้อและภาชนะอื่น ๆ

 

ต่อมาชาวฝรั่งเศสในกรุงปารีสได้ออกมากระทำการเช่นเดียวกันนี้เพื่อส่งเสียงความไม่พอใจต่อนโยบายการปกครองของพระเจ้าหลุยส์-ฟีลิปที่ 1 (Louis Philippe I) ที่ทรงต้องการให้ระบบทุนนิยมในฝรั่งเศสเฟื่องฟู ทรงสนับสนุนนายทุน และกลุ่มนักการเมืองอย่างมาก ส่งผลให้ชนชั้นกรรมาชีพรู้สึกถูกกีดกันออกจากระบบการปกครองครั้งนี้ จึงได้รวมตัวกันประท้วง เสียงหม้อและกระทะดังจนสามารถนำไปสู่การโค่นอำนาจของพระเจ้าหลุยส์-ฟีลิปที่ 1 ได้สำเร็จ

 

จากฝรั่งเศสถึงหม้อสตูว์ในละตินอเมริกา

ถึงแม้ Pots and Pans  จะเริ่มจากฝรั่งเศส แต่กลับกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกอย่างกว้างขวางโดยละตินอเมริกา ที่ได้นำวิธีนี้มาประท้วงหลายต่อหลายครั้ง จนมีชื่อเรียกเป็นเอกลักษณ์เฉพาะว่า Cacerolazo หรือ กาเซโรลาโซ คำนี้ในภาษาสเปนแปลว่า การตีหม้อ อันมีที่มาจากคำว่า Cacerola  กาเซโรลา ซึ่งแปลว่า หม้อสตูว์

 

กาเซโรลาโซปรากฏในการประท้วงในแถบละตินอเมริกาหลายครั้ง โดยเริ่มจากปี ค.ศ. 1971 ในชิลีประชาชนชาวชิลีได้ออกมากาเซโรลาโซเพื่อส่งเสียงประท้วงให้ดังถึง ซัลบาดอร์ กิเยร์โม อาเยนเด ประธานาธิบดีของชิลีที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหารได้

จากกลุ่มประเทศละตินอเมริกาก็ได้ขยายไปถึงภูมิภาคอื่นทั่วโลก เช่น แคนาดาในปี ค.ศ.2012 นักศึกษาในมณฑลควิเบก ใช้วิธี กาเซโรลาโซ เพื่อประท้วงรัฐบาลที่จะมีการขึ้นอัตราค่าเล่าเรียน การประท้วงครั้งนี้ตำรวจได้ใช้สเปรย์พริกไทย พร้อมกระบองไล่ทุบตีนักศึกษา และจับกุมนักศึกษาได้ราว 85 คน

 

ต่อมาเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2563 ประเทศสเปนนำ กาเซโรลาโซมาใช้ในการประท้วงด้วย หลังจากประชาชนไม่ต้องการฟังพระราชดำรัสของสมเด็จพระราชาธิบดีฆวน การ์โลสที่ 1 ที่ทรงประกาศให้ประชาชนร่วมมือกันเพื่อต่อสู้กับโรค Covid -19  และยังทรงมีคดีอื้อฉาวเกี่ยวกับการคอรฺรัปชั่นเงินบริจาคที่เพื่อช่วยเหลือวิกฤติโควิดในประเทศ แต่ทรงนำไปใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย การกระทำ กาเซโรลาโซ ของประชาชนในสเปนจึงเป็นการตั้งใจกลบพระสุรเสียง เพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจอย่างมากต่อการกระทำของพระองค์

 

เช่นเดียวกับที่ประเทศบราซิลประชาชนกระทำ กาเซโรลาโซ ในเวลา 20.30 น. ของทุกคืน ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม ในปีเดียวกันเพื่อแสดงความไม่พอใจต่อท่าทีในการจัดการปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 ของประธานาธิบดีฌาอีร์ โบลโซนารู

 

เคาะแด่สิทธิสตรีและกรณีเหยียดผิว จอร์จ ฟลอยด์

ฟิลิปปินส์เป็นประเทศแรกในเอเชียที่นำวิธี กาเซโรลาโซ มาใช้ เสียงของหม้อและกระทะกลายเป็นเสียงแห่งความโกรธของ “ผู้หญิง” ที่มีต่อการเหยียดเพศของ นายโจเซฟ เอสตราดา ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ที่ได้กล่าวต่อสาธารณชนพาดพิงถึง ฮิลลารี คลินตันว่าเขาได้มีเพศสัมพันธ์ด้วย และการกล่าวว่าผู้หญิงหลายคนอยากมีลูกให้เขา

 

เหตุการณ์นี้นำไปสู่การเดินประท้วงของผู้หญิงนับสองพันคนในกรุงมะนิลา มุ่งหน้าสู่ทำเนียบของโจเซฟ นำโดยกลุ่ม Gabriela องค์กรเพื่อพิทักษ์สิทธิสตรีในฟิลลิปปินส์ ในวันที่ 8 มีนาคม 2542 ซึ่งเป็นวันสตรีสากล

 

ปี 2563 ที่ผ่านมาในอาร์เจนตินา ผู้หญิงนับพันคนได้ร่วมกันทำ กาเซโรลาโซ เพื่อส่งเสียงประท้วงถึงรัฐบาลจากเหตุการณ์ ความรุนแรงต่อผู้หญิงที่เพิ่มขึ้นระหว่างการกักตัวในช่วงCovid 19 ระบาด และยังเรียกร้องให้นักการเมืองลดเงินเดือนลง

 

นอกจากนี้ในกรณีการเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์ ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 จากกรณีการเหยียดผิวและเชื้อชาติ ทำให้เกิดแฮชแทก #Blacklivesmatter ขึ้นเป็นกระแสทั่วโลก นำไปสู่การชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ของชาวอเมริกันในหลายรัฐ กาเซโรลาโซ เป็นอีกวิธีที่ผู้คนใช้เรียกร้องความเป็นธรรมต่อการเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์ จนรัฐบาลต้องประกาศเคอร์ฟิวส์เพื่อควบคุมสถานการณ์ ในเวลา 19.00 น. ของวันอังคารที่ 5 มิถุนายน 2563แต่ฝูงชนยังคงยืนหยัดต่อสู้ และดำเนินไปนานกว่าหนึ่งชั่วโมง

 

กระแสการลุกฮือต่อต้านการเหยียดผิวและเชื้อชาติยังกระพือไปนอกอเมริกา แม้ในวันนี้ขบวนการ Black Lives Matter จะได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ประจำปี 2021 แต่การต่อสู้ของประชาชนจะยังคงดำเนินต่อไป

 

เคาะหม้อกับนัยยะแห่งความยินดีและเครื่องมือทางการเมือง

การเคาะหม้อไม่ได้มีนัยยะเชิงลบเพียงอย่างเดียว แต่ยังถูกใช้ในการสนับสนุนให้กำลังใจในบางประเทศอีกด้วย เช่นในปีที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาและอินเดียก็ได้มีประชาชนจำนวนมาก ออกมาเคาะหม้อบริเวณระเบียงและหน้าบ้านของตนเองเพื่อเป็นการขอบคุณและส่งกำลังใจให้ทีมแพทย์ที่กำลังสู้กับโรคระบาดโควิด-19

 

แต่หม้อก็ยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้เพื่อการต่อสู้ทางการเมืองครั้งยิ่งใหญ่หลายเหตุการณ์  ไม่ว่าจะเสียงของประธานาธิบดี ทหาร นายทุน หรือแม้แต่กษัตริย์ ก็ยังต้องสยบให้เสียงของหม้อ

 

มะกาวง์โซหว่าของชาวเมียนมาในวันนี้อาจไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อตามรอยกาเซโรลาโซ พวกเขารู้แค่ว่าเสียงเคาะหม้อของเขาจะต้องขับไล่สิ่งชั่วร้ายออกไป และในชีวิตของมนุษย์นั้นไม่มีสิ่งชั่วร้ายใดน่ากลัวไปกว่าสิ่งที่คุกคามสิทธิและเสรีภาพซึ่งเป็นสิ่งที่ทั้งประเทศไทย เมียนมาและอีกนานาประเทศ กำลังประสบอยู่

 

 

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

Diego Rivera.  (2020). From France to Chile: the History of the Cacerolazo. Retrieved 12 February 2021 from https://chiletoday.cl/from-france-to-chile-the-history-of-the-cacerolazo.    

Erin Duncan-O’Neill.  (2017). Vive les Satiristes! Caricature during the Reign of Louis Philippe, 1830-1848.Retrieved 12 February 2021 from https://jhiblog.org/2017/07/19/vive-les-satiristes-caricature-during-the-reign-of-louis-philippe-1830-1848.

Sittiporn Netniyom.  (2021).  สู่รู้เรื่องพม่า. https://www.facebook.com/groups/293274474148447/permalink/2050898821719328/.

Shree Paradkar. (2020). Why the COVID-19 pandemic has pots and pans clanging with the sounds of defiance. Retrieved 12 February 2021 from https://www.thestar.com/opinion/2020/03/23/why-the-covid-19-pandemic-has-pots-and-pans-clanging-with-the-sounds-of-defiance.html.