#PortraitOfWHRDs :  อังคณา นีละไพจิตร

9 ธันวาคม 2563

Amnesty International Thailand

เรื่องราวของ: อังคณา นีละไพจิตร
สัมภาษณ์และเรียบเรียง: กนิฎฐ์อาภา อารมย์ดี
ภาพ: Ivana Kurniawati

"ปัญหาสำคัญที่สุดของผู้หญิงก็คือ ผู้หญิงมักจะถูกลดทอนความน่าเชื่อถือโดยใช้เพศ เพศสภาพกลายเป็นเครื่องมือในการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้หญิง บางครั้งพวกเขาจะถูกใช้คำพูดที่ลดทอนศักดิ์ศรีอย่างเช่น ‘ออกไปแบบนี้เดี๋ยวก็ไปหาผัวใหม่’ เวลาผู้ชายออกไปทำไมถึงไม่มีคนพูดว่าเดี๋ยวคุณก็ไปได้เมียใหม่ ในขณะที่ผู้หญิงออกไป ผู้หญิงโดน ซึ่งต่างจากปัจจุบันที่เรื่องความเสมอภาคทางเพศถูกพูดถึงมากขึ้น"

 

"เวลาเราทำงานเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ในขณะเดียวกันเราก็ถูกละเมิด คุกคาม และกลั่นแกล้ง เมื่อสังเกตจะพบว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นผู้ชายมักจะไม่โดนคุกคามในเรื่องเพศ แต่เมื่อเป็นผู้หญิงจะมีการเอาเรื่องเพศมาเหยียดหยาม สำหรับสังคมไทยที่มองว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องที่แตะต้องไม่ได้เลยสกปรก ต่ำทรามที่สุด และจะใช้เรื่องเพศกับคนที่เราเกลียดเท่านั้น ทำให้ผู้หญิงยิ่งดูเลว ในขณะที่ประเทศไทยก้าวหน้า รัฐบาลพูดถึงเรื่องความเท่าเทียมทางเพศแต่กลับไม่มีกลไกในการปกป้องผู้หญิงที่โดนกระทำ"

 

"ส่วนตัวเราที่เราเป็นเหยื่อ เรื่องนี้มันอยู่ตลอดชีวิตเรา อยู่ในตัวเรา เราไม่สามารถที่จะไปทำอย่างอื่นได้ ความเป็นเหยื่อทำให้เราต้องทำงานด้านสิทธิมนุษยชนอยู่ตลอด เราไม่เคยนิยามตัวเองว่าจะต้องเป็นผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่โด่งดังเป็นที่รู้จัก แต่คงเริ่มมาจากการที่เรารู้สึกว่า เราไม่ยอม เราทนกับสิ่งนี้ไม่ได้ ในเมื่อเราถูกละเมิดเราก็ต้องเรียกร้อง และสิ่งที่ยืนยันกับเรามาตลอดก็คือการเรียกร้องไปสู่การเปลี่ยนแปลง เราขยายขอบเขตมาเรื่อย ๆจนกระทั่งได้มาทำงานกับองค์กรอื่น ได้เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เรามีโอกาสที่ดีที่ได้ทำงานกับผู้หญิง จะเห็นได้ว่าคนทำงานสิทธิมนุษยชนในปัจจุบันส่วนมากจะเป็นผู้หญิง"

"เมื่อเกิดปัญหาขึ้นผู้หญิงจะเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบ และรู้จักปัญหานั้นดีที่สุด แต่เมื่อมีการพูดคุยบนโต๊ะเจรจา หรือการหารือทางออกร่วมกันผู้หญิงกลับถูกกีดกันออก"

 

"เราเป็นคนที่ไม่ว่าจะเกิดเรื่องอะไรขึ้นก็ตาม เราจะนำเรื่องเข้าสู่ระบบ ถ้าหากเราเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ถูกต้อง เราถูกคุกคามจนเกินไป เราก็จะไปแจ้งความ เราเลือกใช้กลไกที่มีอยู่ทั้งหมด เพื่อที่จะบอกว่ากลไกที่มีอยู่ไม่สามารถคุ้มครองเราได้ แย่ที่สุดก็ตรงที่ว่าเราไปแจ้งความ  2 ครั้งที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดทางเทคโนโลยี แต่ปรากฏว่าเรื่องเงียบจนกระทั่งวันนี้ก็ยังไม่มีอะไรเลย นี่กลายเป็นว่าเราในฐานะพลเมืองถูกคุกคาม แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถนำตัวคนผิดมาลงโทษได้ เชื่อไหมว่าเมื่อเราไปแจ้งความ ขนาดเราเอารูปที่มีหน้าเราไปแปะตรงนู้นตรงนี้ เขียนคำหยาบ เรายังต้องอธิบาย เจ้าหน้าที่ตำรวจที่รับแจ้งความยังบอกให้เราช่วยขีดให้หน่อยว่าตรงไหนเป็น hate speech  ตรงไหนที่ทำให้เกิดความเกลียดชัง ถามว่าคนที่จะใช้ดุลพินิจคือใคร ตำรวจเหรอ ตำรวจบอกว่านี่ไม่ใช่ข้อความที่จะทำให้เกิดความเกลียดชัง แต่ข้อความนี้คุกคามเรา บางคนโดนด่าครั้งเดียวเขาก็อาจจะทนไม่ได้แล้ว บางคนอาจจะไม่ใส่ใจมองเป็นเรื่องตลกไป แต่ผู้หญิงบางคนไม่คิดอย่างนั้น และส่วนตัวเราก็เป็นคนที่ไม่ยอมกับเรื่องการคุกคามทางเพศ"

 

" ‘ไปหาผัวมึงให้เจอก่อนเถอะ’ ‘ถ้าตามผัวยังไม่เจอ ก็ไม่ต้องมาทำเรื่องอย่างอื่น’ บางคนก็จะพูดแต่เรื่องผัว นี่คือสิ่งที่เราเจอประจำ ชีวิตผู้หญิงทั้งหมดไม่ได้อยู่ที่ผัว จะมีผัวหรือไม่มีผัวก็ไม่ได้มาเกี่ยวข้องกับชีวิตผู้หญิง เราตั้งคำถามว่าการเป็นผู้หญิงจะต้องไปอยู่ใต้ผู้ชายอีกหรอ" 

 

"เราต้องขอบคุณลูก ๆ ที่ทุกคนหนักแน่นอดทน เวลาที่เราโดนคุกคามเยอะ ๆ ถ้าหากคนรอบข้างเข้าใจ แต่ถ้าคนรอบข้างไม่เข้าใจ แล้วมาซ้ำเติม ผู้หญิงเรานั้นจะยิ่งรู้สึกว่าตัวเองไม่มีทางออก เราเจอผู้หญิงหลายคนที่ถูกกระทำซ้ำเติม เราเจอผู้หญิงที่ไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ เราเจออะไรแบบนั้นมาเยอะทำให้เรารู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้หล่อหลอมให้เราเข้มแข็งขึ้น สำหรับคำพูดแย่ ๆ บางครั้งเราก็ปล่อยมันไป แต่สิ่งที่เราไม่ปล่อยเลยคือ เราถือว่ารัฐมีหน้าที่รับผิดชอบ และเราจำเป็นที่จะต้องแจ้งให้รับทราบ บางคนอาจไม่อยากไปแจ้งความ หรือเราก็รู้กันอยู่ว่ารัฐไม่เห็นความสำคัญในการปกป้องเรา แต่สิ่งหนึ่งที่ทำมาตลอดคือเราพยายามทำให้เห็นว่า เราได้ใช้กลไกทั้งหมดที่มีอยู่แล้ว และเราสามารถพูดได้อย่างเต็ม พูดได้อย่างเต็มภาคภูมิว่ารัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้เห็นความสำคัญในการปกป้องผู้หญิงจากการถูกทำให้ด้อยค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถูกทำให้ด้อยค่าทางเพศ สิ่งนี้ทำให้เราสามารถพูดได้เต็มปากและรัฐไม่สามารถปฏิเสธได้ แต่ถามว่าเมื่อไหร่เราจะแก้ไขปัญหานี้ได้ มันอาจจะนานมากอย่างที่เราก็บอกไม่ถูกว่าเมื่อไหร่ เพราะเรื่องนี้เป็นโครงสร้างที่ฝังอยู่ในสังคม แม้แต่นักสิทธิมนุษยชนผู้ชายเองก็อาจจะไม่เข้าใจเรื่องความเปราะบางทางเพศ"

 

"คนรุ่นใหม่เข้าใจประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้นกว่าเดิม แต่ถามว่าพอไหม มันก็ยังไม่พอ อย่างวันนี้คุณตั้งกรรมาธิการในสภา ตั้งกรรมาธิการวิสามัญ กรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีผู้หญิง 2 คนทั้ง ๆ ที่พลเมืองผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และไม่ได้หมายความว่าเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของผู้ชาย ผู้หญิงเองอาจจะรู้ดีมากกว่าผู้ชายด้วยซ้ำ กรรมการบางชุดที่ถูกจัดตั้งไม่มีผู้หญิงเลยด้วยซ้ำไป นี่คือสิ่งที่คนทำงานด้านผู้หญิงต้องกลับมาถามตัวเองว่าไม่ว่าจะอย่าง เราข้ามวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ในสังคมไทยได้ยากมาก"

 

เขาอ้างว่าเพื่อสวัสดิภาพของสังคมที่คุณจะเลือกปฏิบัติ เช่นการห้ามไม่ให้ผู้หญิงทำงานกะกลางคืน เพื่อที่ว่าผู้หญิงจะได้ไม่ถูกข่มขืน แทนที่คุณจะสร้างสังคมที่ปลอดภัย ไม่ให้ผู้หญิงถูกข่มขืน แต่คนกลับบอกว่าเพื่อสวัสดิภาพของสังคมเพราะฉะนั้นไม่ให้ผู้หญิงทำงานกลางคืน และอ้างว่าเพื่อสวัสดิภาพของผู้หญิง การกระทำนี้ไม่ใช่การเลือกปฏิบัติ ซึ่งเมื่อ กฎหมายมาตรา 17 วรรค 2 บังคับใช้ เลยกลายเป็นว่าสิ่งที่เราเพียรพยายามทำมาไม่ได้เพียงพอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงเลย 

 

"จากประสบการณ์ส่วนตัวที่เราทำงานกับผู้หญิงมาเยอะบอกได้เลยว่า ผู้หญิงเป็นคนที่มุ่งมั่นตั้งใจ เมื่อคิดจะทำอะไรก็จะทำให้ได้ แต่ว่าภาระของผู้หญิงมีมากมาย ผู้หญิงไม่ต่อสู้เพื่อตัวคนเดียว แต่ผู้หญิงยังมีใครต่อใครที่ผู้หญิงต้องรับผิดชอบด้วย ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว พ่อแม่ ลูก ๆ ในบางภาวะที่เป็นภาวะอ่อนไหวต่อผู้หญิง ไม่ว่าช่วงตั้งครรภ์ ให้นมบุตร ผู้หญิงก็ยังคงต้องทำหน้าที่อยู่ เพราะฉะนั้นการที่สังคมจะช่วยให้ผู้หญิงสามารถทำหน้าที่ได้ดีขึ้นถือเป็นเรื่องสำคัญ จึงอยากให้สังคมตระหนักถึงเรื่องนี้ การช่วยเหลือไม่ได้หมายถึงการให้เงินให้ทอง แต่หมายถึงการแบ่งเบาภาระของผู้หญิง ยกตัวอย่างเช่นผู้ชายในครอบครัวจะสามารถช่วยกันดูแลผู้หญิงได้อย่างไร ทำอย่างไรข้อเสนอของผู้หญิงถึงจะถูกได้ยิน ถูกรับฟัง ในการตั้งคณะกรรมการหรือกิจการใด ๆ ก็แล้วแต่ ทำอย่างไรสังคมถึงจะคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้หญิง ทำอย่างไรผู้หญิงถึงจะถูกเห็น ถูกได้ยิน ถ้าเราพูดถึงผู้หญิงเราควรจะเข้าใจผู้หญิงในมิติของผู้หญิงเองด้วย สิ่งนี้จะทำให้ผู้หญิงสามารถทำงานได้เต็มที่ รู้สึกปลอดภัย และสามารถสร้างกลไกปกป้องคุ้มครองผู้หญิงในรุ่นต่อ ๆ ไปได้มากขึ้น"

 

---------------------------------------------------

อังคณา นีละไพจิตร เป็นอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้ก่อตั้งมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ