#PortraitOfWHRDs : สุชาณี คลัวเทรอ

1 ธันวาคม 2563

Amnesty International Thailand

เรื่องราวของ:  สุชาณี คลัวเทรอ
สัมภาษณ์และเรียบเรียง: กนิฎฐ์อาภา อารมย์ดี
ภาพ: Ivana Kurniawati

"จากที่ได้พูดคุยกับเพื่อนนักข่าวหลายคน การเป็นนักข่าวบางครั้งต้องเข้าไปทำข่าวในเรื่องที่ค่อนข้างจะสุ่มเสี่ยง บางคนก็บอกว่าถูกคามจาก ซึ่งอาจจะไม่ใช่การทำร้ายร่างกาย แต่จะเป็นการเข้ามาคุยให้รู้สึกกลัว แม้แต่ในรูปแบบที่ดูปลอดภัยที่สุด เราก็จะคิดว่าเขามีจุดประสงค์แอบแฝงอะไรหรือเปล่า นักข่าวผู้หญิงบางคนก็จะโดนแบบนี้"

 

"ประมาณหกปีที่แล้ว เราเองก็เคยไปทำข่าวเกี่ยวกับอุตสาหกรรมหนึ่ง ก็มีใครไม่รู้โทรมาหาที่สถานีเพื่อที่จะมาตามหาตัวเรา ตามหาสกู๊ปที่เราทำ แต่ว่าภายหลังก็จัดการไปส่วนหนึ่งไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่อะไร แต่แต่ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่เรารู้สึกว่า เรากำลังโดนคุกคามหรือเปล่า ด้วยความที่เราเป็นเด็กในตอนนั้น เราก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่า “แล้วมันคุ้มหรือเปล่าที่เราจะต้องมาทำสิ่ง ๆ นี้” ด้วยความที่เราเป็นเด็ก เราไม่รู้ว่าโลกภายนอกมันกว้างแค่ไหน พอเราเจออย่างนั้นเราก็สะอึกไปนิดนึง"

 

"ในส่วนของเรื่องคดี เราก็มีประสบการณ์แล้วในระดับหนึ่ง อันดับแรกเรารู้สึกว่าเราก็ควรที่จะระมัดระวังมากขึ้นในการรายงานข่าว ที่ผ่านมา Voice TV ช่วยสนับสนุนในเรื่องค่าใช้จ่ายทนายความ สมาคมนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน (HRLA - Human Rights Lawyers Association) เข้ามาช่วยเหลือด้านทนายความ และก็ได้ Amnesty International Thailand และหลายๆองค์กรมาเป็นแรงสนับสนุนทางใจ คืออย่างน้อยเราก็รู้สึกว่าเราไม่ได้สู้อยู่คนเดียว"

 

"สื่อหลาย ๆ คนจากที่เราคุยมา เขาก็ไม่กล้ารายงานประเด็นที่สุ่มเสี่ยงมากเพราะเขาก็รับตรงนี้ไม่ไหว เพราะเมื่อเกิดปัญหาเราก็ต้องยืนหยัดด้วยตัวเองทั้งนั้น สิ่งที่เราเป็นห่วงก็คือ เรื่องเสรีภาพของสื่อ อย่างที่ทราบกันว่าสถิติเสรีภาพสื่อของไทยในปีนี้ (2020) โดยองค์การ RSF (Reporters sans frontières - นักข่าวไร้พรมแดน) ตกไปอยู่ลำดับที่ 140  จากทั้งหมด 180 ประเทศ ที่สี่ในอาเซียน ตามหลังมาเลเซีย อินโดฯ ฟิลิปปินส์ และเมียนมา ในขณะที่ปีที่แล้ว (2019) อยู่ที่ลำดับ 136 พอเราเห็นอย่างนี้ ด้วยสถานภาพที่เราเป็นนักข่าว เราก็รู้สึกกังวลเหมือนกันว่ามันจะทำให้เพื่อนร่วมงานของเราเขากลัวและไม่รายงานประเด็นสิทธิมนุษยชนหรือเปล่า เพราะว่ามันเป็นประเด็นที่เปราะบางมาก "

 

"ก่อนหน้านี้ ก็กลับมาถามตัวเองเหมือนกัน “นี่เรามาอยู่จุดนี้ได้อย่างไร” แต่เราก็พูดกับตัวเองว่า สิ่งที่เราทำ เราทำไปในเจตจำนงของสื่อล้วน ๆ คือเราไม่ได้รับอะไรจากสิ่งนี้เลย ไม่มีใครมาจ่ายเงินพิเศษให้เรา เราก็ได้เงินเดือนเหมือนเดิม เจตนาของเราคือการทำหน้าที่สื่อเท่านั้น ทำไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ เรารายงานเรื่องเหล่านี้ เรื่องสิทธิเหล่านี้เพราะเราเห็นว่ามันเป็นสิ่งที่สังคมควรจะได้รับรู้ "

 

"หลังจากเรื่องนี้เกิดขึ้น เราก็คิดว่าต่อไปนี้เวลาจะทำอะไรเราก็ต้องระมัดระวังมากขึ้น หลาย ๆ คนบอกว่าสื่อหลักไม่สำคัญ ไม่เป็นไรหรอกเดี๋ยวนี้มีโซเชียลมีเดียแล้ว แต่สำหรับเรา เราคิดว่าสื่อหลักสำคัญ เพราะว่าอย่างน้อยสื่อหลักต้องเป็นแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ และเป็นกระบอกเสียงให้ประชาชน ถ้าถามว่าโซเชียลมีเดียเป็นกระบอกเสียงได้ไหม ได้ มันก็ได้แต่ความน่าเชื่อถือมันต่างกัน สำหรับกลุ่มคนเปราะบาง เขาจะหันไปหาใคร เขาก็ต้องหันไปหาสื่อหลัก ด้วยความที่สถานการณ์เสรีภาพสื่อเป็นแบบนี้มันก็ทำให้นักข่าวหลายคนรวมถึงเราตั้งคำถามว่า “แล้วเราจะยืนอยู่ได้ยังไง”

 

"หลาย ๆ คนบอกว่า “สื่อค่อยๆ ตาย” “ใครจะดูทีวี” เนื่องจากมันมี Digital TV  และมีหลากหลายช่องเพิ่มมากขึ้น แต่แท้จริงแล้วสิ่งนี้มันมาจากการที่เสรีภาพสื่อมีน้อย สื่อต่าง ๆ พูดในเรื่องเดียวกัน ส่งสาส์นแบบเดียวกัน ทุกช่องพูดแบบเดียวกัน และตัวเลือกเยอะ ดังนั้นคนดูจะดูอะไร สำหรับเรานี่เป็นสิ่งสำคัญและชัดเจนมากที่ทำไมฐานคนดูถึงน้อยลง ไม่ต้องไปหาเหตุผลอะไรยุ่งยากเลย อุตสาหกรรมสื่อขาลงเพราะเราไม่มีเสรีภาพในการพูด Freedom of speech แค่นั้นเอง "

 

"เรารู้สึกว่าประเด็นเรื่องสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกต้องถูกผลักดันไปให้ถึงที่สุด เพราะว่าเป็นประเด็นพื้นฐานที่สุดที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ และเป็นสิ่งที่ทุกคนทำได้ง่ายที่สุดในการมีส่วนร่วมทางประชาธิปไตย เราดีใจที่ประเด็นสิทธิมนุษยชนได้รับความสนใจในวงกว้างจากน้อง ๆ รุ่นใหม่ เพราะว่าในรุ่นเรา สิทธิมนุษยชนแทบจะไม่ได้รับการพูดถึงในโรงเรียนเลย สิ่งที่ได้รับการพูดถึงในโรงเรียนคือสิทธิทางแพ่ง เช่น คุณเกิดอยู่รอดเป็นทารกก็จะได้รับการคุ้มครองเรื่องมรดก และอื่น ๆ แต่สิทธิอื่นๆจะไม่ได้รับการพูดถึงเลย ส่วนตัวเราเชื่อว่าถ้าทุกคนมีความรู้ในเรื่องนี้ และเคารพสิทธิ์ของกันและกัน สังคมก็จะดีขึ้นอย่างแน่นอน"

 

สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกจะต้องได้รับการปกป้อง เพราะว่าถ้าเราพูดอะไรกันไม่ได้เลย แล้วเราจะถกเถียงกันได้อย่างไร และถ้าในสังคมไม่มีการถกเถียง สังคมจะดีขึ้นได้อย่างไร  แล้วถ้าสื่อทำงานอย่างลำบาก จะมีอะไรเป็นช่องทางให้ประชาชนสื่อสารความต้องการของเขาไปยังผู้มีอำนาจได้บ้าง

 

---------------------------------------------------

 สุชาณี คลัวเทรอ ปัจจุบันเป็นนักข่าวฟรีแลนซ์ และธุรกิจส่วนตัว