#PortraitOfWHRDs : พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ

19 พฤศจิกายน 2563

Amnesty International Thailand

เรื่องราวของ: พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ
สัมภาษณ์และเรียบเรียง: กนิฎฐ์อาภา อารมย์ดี
ภาพ: Ivana Kurniawati
โดยส่วนใหญ่แล้วสถานการณ์หรือสิ่งแวดล้อมที่เราไปอยู่ เราค่อนข้างที่จะได้ได้อภิสิทธิ์ อีกทั้งเรามีความรู้ทางนิติศาสตร์ เราสามารถที่จะแสดงความรู้หรือความเข้าใจในเรื่องบางเรื่องที่อาจจะเป็นข้อมูลที่ขาดพร่องในพื้นที่ เราก็เลยได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจ ความนับถือ หรือการต้อนรับที่ดี เราก็อยากเอาสิ่งนี้แหละไปเติมเต็มในพื้นที่ ให้ชาวบ้านมีความกล้า รู้จักในสิทธิของตัวเอง รู้กฎหมาย และกล้าที่จะร้องเรียนมากขึ้น ซึ่งก็เป็นผลที่ดีในระดับหนึ่ง เราก็พยายามทำให้ข้อจำกัดเขามีน้อยที่สุด และไม่ทำให้เขาได้รับผลกระทบ ส่วนนี้คือมุมที่ได้เปรียบ 
 
 "ในมุมที่เสียเปรียบเพราะความเป็นผู้หญิง เนื่องจากบริบทความมั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มันเป็นพื้นที่ของผู้ชาย ทหาร ตำรวจ หรือแม้กระทั่งกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ก็เป็นผู้ชายในประเด็นที่เราทำ บางครั้งเราก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงเลือกตัดสินใจแบบนี้ ทำไมถึงไม่ทำอีกแบบหนึ่ง ทำไมถึงเลือกทำในสิ่งที่เขาทำ แค่บางครั้งมันเป็นความรุนแรง บางครั้งมันเป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผลสำหรับเรา หรือบางครั้งมีเหตุผลมากเกินไปไม่มีมนุษยธรรม เรารู้สึกว่าถ้าสมมุติเราได้เป็นผู้ชาย แล้วเราพูดด้วยเสียงนี้ เขาอาจจะเข้าใจเรามากกว่า เพราะเราเป็นผู้หญิงเขาก็เลยมามองว่า ผู้หญิงก็จะคิดแบบนี้ พูดแบบนี้ แต่จริง ๆ เราอยากให้ผู้ชายคิดแบบนี้แหละ คุณต้องมีมนุษยธรรมไปด้วยสิ ไม่ใช่แค่เพราะคุณใส่เครื่องแบบ คุณจะเอากฎหมาย เอารัฐศาสตร์มาอย่างเดียว"
 
"เขามักจะมองว่านี่แหละผู้หญิงก็จะพูดแบบนี้ แต่จริงๆมันไม่ใช่ทรรศนะของผู้หญิง แต่มันเป็นศาสนาที่มีมนุษยธรรม และเราคิดละเอียดลออกว่าว่าใครจะเดือดร้อน ยกตัวอย่างเช่นการจับผู้หญิง ตรวจ DNA เด็ก หรือจับลูกชาย 3 คนในบ้านไป แม่จะอยู่ยังไง? คือลูกชายสามคนนี้เขาจะทำผิดเหมือนกันหมด พร้อมๆกันหมดเลยหรือ คุณดำเนินการแบบนี้สุดท้ายคนจะได้อะไรในเรื่องของกระบวนการสร้างสันติภาพ"
 

เราเป็นทีมสังเกตการณ์คดีอุ้มหายทนายสมชาย ประมาณไม่ถึง 6 เดือนคดีก็เข้าสู่การพิจารณาในชั้นศาล เรียกว่าคดีกักขังหน่วงเหนี่ยว เราเชื่อว่าเขาถูกจับโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเขาก็หายไปไม่กลับมา เราไปสังเกตการคดีทุกวันเป็นระยะเวลารวมกันแล้วประมาณ 8 เดือน ทุกวันในที่นี้หมายถึงทุกวันพิจารณา แต่บางครั้งก็มี 2-3 วัน แต่เนื่องจากระยะเวลามันห่างถึง 8 เดือน มีอยู่ช่วงหนึ่งเราไปอัฟกานิสถานเพื่อสังเกตการเลือกตั้งประมาณ 2 เดือน ด้วยความผูกพันกับเนื้อหาที่เราทำ วันแรกที่เรากลับมาจากต่างประเทศเราก็เข้าไปในห้องพิจารณาเลย เราก็อยากจะติดตามว่ามันจะยังไงต่อจากครั้งล่าสุดที่เรามา วันนั้นเลยก็ได้รับโทรศัพท์ เบอร์ 02  แต่โทรมามือถือบอกว่า “วันนี้ใส่เสื้อในสวยจัง” คือเราก็สงสัย ตอนนั้นเราก็ไม่ได้โพสต์บอกบน Facebook ว่า I’m back คนที่รู้ว่าเรากลับมาแล้วก็ ไม่พวกเขาก็พวกเรา แค่ 2 พวก เขาในที่นี้ก็คือตำรวจ 5 นายที่เป็นจำเลยซึ่งก็อาจจะมีผู้ติดตามอยู่ เราไม่รู้ วันนั้นเราก็ไม่ทันสังเกตว่ามีคนติดตามอื่นที่ไม่ใช่ตำรวจ 5 นายนี้หรือเปล่า เราไม่ได้คิดอะไรมากแต่ก็บันทึกเบอร์ไว้ จะโทรกลับก็ไม่ติด เราเล่าให้เพื่อน ๆ ที่ใกล้ชิดฟังและไม่ได้ทำอะไรมากกว่านั้น นี่ก็เป็นครั้งหนึ่งที่รู้สึกว่าความเป็นเพศของเรา ความเป็นผู้หญิงของเราถูกมองและถูกนำมาโจมตี แต่ถามว่าแปลกใจไหม เราก็ไม่ได้แปลกใจ

 

ตอนทำงาน 3 จังหวัดใหม่ ๆ มักจะมีโทรศัพท์เข้ามาบ่อยมากในเวลากลางคืน เบอร์เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ จนเราก็ไม่รู้ว่าใคร เราก็บันทึกไว้แล้วว่าถ้าเบอร์นี้ขึ้นมาเราจะไม่รับ มันก็จะมีเบอร์เปลี่ยนไปเรื่อยๆ แต่เสียงในสายบางครั้งก็ซ้ำ บางครั้งก็ไม่ซ้ำ ก็จะโทรมาดุด่าเราเรื่องทำงาน 3 จังหวัด “คุณน่ะไม่รู้เรื่องเขา ไม่เข้าใจถูกหรอก” คำพูดสารพัด บางครั้งที่เราอารมณ์ดีเราก็ฟังเฉยๆ เราก็ฟังเขาพูดไปเรื่อย ๆ เพราะเราก็อยากฟังว่าเขาพูดอะไร แต่บางทีเราก็ไม่รับ เราไม่ถึงกับบล็อกเพราะก็อยากดูว่าเขาจะโทรมาบ่อยขนาดไหน แล้วมันก็หายไป เราคิดว่าน่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เข้าถึงเบอร์โทรศัพท์เรา เพราะการพูดจาของเขาไม่ใช่เจ้าหน้าที่ระดับพื้น ๆ เขากล้าที่จะแสดงเหตุผลของเขา และคิดว่าเราไม่มีข้อมูล เขาก็ต้องการแสดงทัศนคติของเขา เนื่องจากเรื่องสามจังหวัดมันมีหลายด้าน หลายมุม เขาก็จะนึกว่าเราไม่มีข้อมูล ถ้าเรามีข้อมูลเราอาจจะไม่พูดแบบนี้ในสื่อ ในเอกสารหรือช่องทางต่างๆ ช่วงนั้นเราก็ยังไม่ได้ใช้เฟสบุ๊กมากมาย จึงคาดว่าน่าจะเป็นคนในที่รู้ว่าเราสื่อสารแบบไหน ปัจจุบันนี้ไม่โดนแล้วเพราะเปลี่ยนมาเป็น IO ออนไลน์แทน หรือไม่เขาก็รู้ว่าเราไม่เปลี่ยนไป เขาคงขี้เกียจโทรแล้ว เบื่อ

 

"เราทำรายงานเรื่องสถานการณ์สิทธิมนุษยชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจริง ๆ เราก็ทำสม่ำเสมอแต่ก็จะมีประเด็นที่ทำให้เราถูกเฝ้าติดตามด้วยว่าเราออกสถานการณ์สิทธิเรื่องการทรมาน รายงานก็จะมีชื่อง่ายๆว่า Torture in Pattani รายงานเป็นภาษาไทย แต่จริง ๆ แล้วรายงานฉบับนี้เผยแพร่หลักจากที่เราไปรายงานสถานการณ์สิทธิที่ UN ปี 2557 รายงานสถานการณ์สิทธิตอนนั้นพอดีเลยเกี่ยวกับเรื่องทรมานก่อนรัฐประหาร"

"ภายหลังการรัฐประหารไม่นานเราก็ได้รับหมายเรียกในข้อหาหมิ่นประมาท กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) ไปแจ้งความ ตั้งแต่นั้นก็ใช้เวลาประมาณ 2 ปีกว่าอัยการจะถอนคดี ซึ่งในระหว่างนั้นก็มีหลายองค์กรช่วยเหลือ Amnesty International ก็ถือเป็นหนึ่งในนั้น รวมทั้งกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม และองค์กรในพื้นที่ สุดท้ายทหารจึงยอมถอนแจ้งความ อัยการก็เลยถอนคดีสั่งไม่ฟ้อง ก็ถือเป็นอันสิ้นสุดคดี เหตุการณ์นั้นทำให้พวกเราพยายามผลักดัน พ.ร.บ. ทรมานอุ้มหายให้เป็นความผิดทางอาญา โดยใน พ.ร.บ. ฉบับที่เรากำลังผลักดันกันก็จะมีมาตราหนึ่งกล่าวว่า ถ้าบุคคลใช้สิทธิโดยสุจริตในการแจ้งความ ร้องเรียน ดำเนินการเพื่อเป็นประโยชน์กับการป้องกันการทรมาน บุคคลนั้นจะได้รับการคุ้มครอง คุณไม่ควรจะถูกดำเนินคดี ถือเป็นการปกป้อง Human Rights Defenders (นักปกป้องสิทธิมนุษยชน) รูปแบบหนึ่ง"

 

แต่ต่อจากนั้นก็มีผลร้ายตามมา เขาเลือกไม่ฟ้องเราเพราะรู้ว่าเรามีกลุ่มสนับสนุน เขาก็ไปฟ้องเคส ไล่ฟ้องนักข่าวท้องถิ่น แจ้งความคดีเดียวกันเลย ถึงแม้เราจะไม่หยุดแต่เขาก็ไม่มาฟ้องเราแล้ว เพราะรู้ว่าถ้าฟ้องก็ต้องถอนอีก เขาก็เลยเลือกไปฟ้องเคสที่ออกมาพูด และนักข่าวที่รายงานสิ่งที่เคสพูด ก็เท่ากับว่าเสรีภาพของสื่อ เสรีภาพของผู้ที่ได้รับผลกระทบที่จะร้องเรียนเรื่องตัวเองก็มีน้อยมาก เพราะมีความเสี่ยงในการถูกฟ้องกลับ ตอนที่เราถูกฟ้อง เจ้าหน้าที่ก็มักจะพูดกับชาวบ้านว่า “ไม่ต้องไปร้องเรียนพี่หน่อยแล้วนะ เขาถูกดำเนินคดีแล้ว” เขาก็พูดกลับมาแบบนี้ซึ่งมันก็สร้างความหวาดกลัว  เพราะทุกคนก็จะพูดว่า “พี่หน่อยยังโดนด้วยหรอ” “ขนาดเขายังโดนเลย แล้วเราล่ะ” มันทำให้เรากลัวที่จะไปหาพวกเขา กลัวทำพวกเขาเดือดร้อนด้วย 

 

เราสนุกกับการทำงานในช่วงเวลาที่ผ่านมา มีอุปสรรคก็แก้ไป เรามีเพื่อนฝูงหรือน้อง ๆ ในพื้นที่ก็ทำให้เราไม่ได้เป็นทุกข์เท่าไหร่ แต่ก็เป็นทุกข์เรื่องบ้านเมืองนี่แหละ พอมาเจอเรื่องโควิด 19 เราก็ได้อยู่กับตัวเอง ไม่เคยอยู่บ้านติดต่อกันมากกว่า 3 วัน 5 วันมานานมากแล้ว เราก็เลยคิดมาก บวกกับเรื่องงานด้วย เพราะว่าตอนนั้นกระแสผลกระทบของโควิดในประเทศไทยและในโลกมันเยอะและแรง ปัจจุบันก็ยังคงแรงอยู่ แต่ในตอนนั้นมันก็ทำให้เราชะงัก และตั้งคำถามว่าจะเอายังไงต่อ เราจะทำงานแบบนี้ไปยังไงต่อ พอเราได้คิดและอยู่กับตัวเองก็ดีเหมือนกัน เรามีเพื่อนที่สมัครไปวิปัสสนาให้เรา เขามาถามเราว่าจะไปไหม เราก็ตอบว่าไป ก็เลยได้ไป เราทำวิปัสสนาอย่ะ 10 วันไม่ได้พูดกับใครเลย ซึ่งก็ผ่านมาได้ด้วยดี เป็นวิธีปฏิบัติที่เราเอามาใช้ได้ เมื่อเรารู้สึกว่าเราอยากอยู่กับตัวเอง เราก็จะมีเทคนิค

 

เราคิดว่าเราได้แรงบันดาลใจมาจากช่วงมหาลัย เพราะว่าช่วงนั้นคือช่วงที่เขาเรียกกันว่า ‘พฤษภาทมิฬ’ เป็นช่วงที่ทหารยึดอำนาจและมีการปราบปรามประชาชนในปี 2535  บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมีเกิดเหตุการณ์นองเลือด

 

เราคิดว่าเราได้แรงบันดาลใจมาจากช่วงมหาวิทยาลัย เพราะเราเรียนอักษร เราเรียนสังคมศาสตร์ การพัฒนา ได้ลงชุมชน ได้เห็นสภาพความเหลื่อมล้ำ เราก็เลยอยากสร้างการเปลี่ยนแปลง มันทำให้เราได้มาทำงานกับพี่ ๆ ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ความรู้เราก็งอกเงยไปเรื่อย ๆ ทำให้เรามีความเชื่อมั่นในแนวทางนี้ รวมทั้งเรามีความรู้ทางกฎหมายจากที่เราเรียนนิติศาสตร์ด้วย 

 

ที่บ้านเราคุณพ่อเป็นผู้รับเหมา คุณพ่อเป็นคนจีน อ่านเขียนหนังสือไม่ได้เลย หนังสือเล่มเดียวที่รับก็คือไทยรัฐ แล้วเนื่องจากพ่อไม่อ่านหนังสือ แม่ไม่อ่านหนังสือ แม่ชอบทำกับข้าวหรือทำอย่างอื่น เราก็จะมีไทยรัฐเนี่ยแหละที่เป็นหนังสือคู่ใจตั้งแต่เด็ก จำได้เลยว่าเรานอนอ่านทั้งเล่มตั้งแต่สมัยตัวเล็ก ๆ นอนคว่ำไปทั้งฉบับ อ่านไปเรื่อย ๆ เพราะไม่มีหนังสืออื่น อ่านทุกเรื่องทั้งนิยาย ดูดวง ตรวจลอตเตอรี่ จำหรือไม่จำก็ไม่รู้ ต่อมาเราก็เลยชอบอ่านหนังสือ แล้วก็ได้มาอ่านทีหลัง ปัจจุบันนี้ก็ชอบอ่านนิทานเพราะเมื่อก่อนเราไม่ได้อ่านนิทาน 

 

"15 ปีที่แล้วตอนที่เราเริ่มทำงานใหม่ ๆ มันแทบไม่มีคนพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนในพื้นที่สาธารณะเลย แต่ลองมาดูวันนี้ที่ทุกคนออกมาเรียกร้องสิทธิมนุษยชน การเปลี่ยนแปลงอาจจะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ มันคงไม่ใช่แค่การที่เราไปอบรม การที่เราทำแถลงการณ์ การที่เราออกหนังสือ หรือความพยายามสื่อสารในที่สาธารณะอย่างเดียว มันคือยุคสมัยที่ทำให้สิ่งที่พวกเราจับมาตั้งแต่ยังไม่เป็นที่นิยมกลายมาเป็นที่สิ่งที่ได้รับยอมรับมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะเป็นกระแสที่ต้านกับอำนาจอยู่ แต่เราคิดว่ามันงอกเงยแล้ว"

 

เราจะต้องใฝ่รู้ เพราะปัจจุบันมีเรื่องใหม่ ๆ เยอะมาก หากมีเวลาก็ต้องอ่านหรือหาความรู้เพิ่มเติม ต้องเขียน ต้องบันทึก เราเป็นคนฝักใฝ่ในการอ่าน หาความรู้ และเขียน เราต้องคิดถึงจะเขียนได้ อีกเรื่องก็คือเรื่องภาษาและเรื่องการปรึกษาหารือกับผู้อื่นเพื่อให้มีแนวความคิดหลาย ๆ ด้าน ซึ่งเรื่องนี้ค่อนข้างยาก หลาย ๆ เรื่องก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องมีเหตุผลในการแสดงออก ดังนั้นถ้าเรามั่นใจ เราก็จะสามารถแสดงออกความคิดเห็นของเราได้ ไม่ว่าจะในวงผู้ใหญ่ วงผู้ชาย วงเด็ก หรือวงวัยเดียวกัน ก็ขอให้มีจุดยืนที่มั่นคง แต่ทั้งนี้มันต้องเกิดจากการใฝ่รู้ใฝ่เรียน และนำออกมาปฏิบัติ

 

---------------------------------------------------

 

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เป็นนักสิทธิมนุษยชนที่ทำงานตรวจสอบข้อร้องเรียนด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ทั้งประเด็นการทรมาน การบังคับสูญบุคคลให้สูญหาย การใช้ความรุนแรงต่อผู้บริสุทธิ์ในพื้นที่ และยังเคยเป็นอดีตประธานของแอมเนสตี้ ประเทศไทยด้วย