คุณยังเก็บกุหลาบที่ผมให้อยู่ใช่ไหม... 

21 พฤษภาคม 2562

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

คุณยังเก็บกุหลาบที่ผมให้อยู่ใช่ไหม... 

 

ผมเป็นข้าราชการบำนาญครับ สนใจสถานการณ์บ้านเมือง ไปฟังปราศรัยการเมืองเป็นครั้งคราว 

 

วันอาทิตย์ที่ 15 มีนาคม 2558 ผมเดินไปให้กำลังใจนักกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งลูกชายของเขาเสียชีวิตจากกระสุนปืนขณะมีการสลายการชุมนุมของประชาชนเมื่อปี 2553 เขากำลังทำกิจกรรม “พลเมืองรุกเดิน” เรียกร้องให้หยุดใช้ศาลทหารกับคดีพลเรือน 

 

ผมมอบดอกกกุหลาบหนึ่งดอกพร้อมกับถุงอาหารแมคโดนัลด์แก่นักกิจกรรมผู้นั้น 

 

น่าแปลกใจไหมล่ะครับ มอบดอกกุหลาบสีแดงกับอาหารแมคโดนัลด์นั่นก็เป็นความผิด 

 

วันที่ 24 ตุลาคม ในปีเดียวกัน ระหว่างตรวจหนังสือเดินทางที่จังหวัดเชียงรายเพื่อจะข้ามไปเที่ยวที่ประเทศลาว ผมถูกจับตัวตามหมายจับของศาลทหาร ซึ่งตั้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (3)* และประกาศ คสชสามฉบับ (7/2557, 37/2557 และ 38/2557) ที่ “ห้ามชุมนุมทางการเมือง” และกำหนดให้คดีอยู่ในอำนาจศาลทหาร 

วันรุ่งขึ้น ผมถูกส่งตัวกลับกรุงเทพ ฯ ไปสอบสวนที่สน.ชนะสงคราม ผมปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ผมถูกควบคุมตัวอยู่ที่นั่นหนึ่งคืนก่อนจะถูกส่งตัวเพื่อฝากขังกับศาลทหารในวันที่ 26 ตุลาคม ผมต้องใช้หลักทรัพย์ 150,000 บาทเพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราว 

วันที่ 23 พฤษภาคม 2559 หนึ่งวันหลังครบรอบสองปีของการยึดอำนาจพลเรือนโดย คสชศาลทหารอ่านคำพิพากษาจำคุก หกเดือน และปรับ 8,000 บาท ในความผิดข้อหาเดียวคือฝ่าฝืนประกาศ คสชฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองเกินห้าคน ศาลทหารลดโทษลงครึ่งหนึ่งโดยให้เหตุผลว่าผมไม่เคยทำความผิดมาก่อนการกระทำของผมในคดีนี้ไม่ร้ายแรง เหลือจำคุก สามเดือนและปรับ 4,000 บาท และโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้หนึ่งปี 

 

ความอ่อนโยนของกลีบกุหลาบดูจะเป็นความหยาบกร้านเกรี้ยวกราดในสัมผัสของผู้ถือกฎหมาย ความปรารถนาที่จะมอบความงดงามแก่คนที่มีอุดมการณ์ร่วมกันในภาวะมืดมนถูกจองจำด้วย “ความสงบเรียบร้อย” ทว่ามันแสนปวดร้าวสำหรับใครอีกหลายคน (...หรือคุณด้วยหรือเปล่า) 

 

ขอบคุณที่เห็นความงดงามของกุหลาบดอกนี้ไปด้วยกัน 

 

 

 

แอมเนสตี้คัดค้านการใช้กฎหมายปิดกั้นการใช้เสรีภาพอย่างสงบ 

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ไม่เห็นด้วยกับการใช้กฎหมายต่าง ๆ รวมถึงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ในการปิดกั้นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างสงบ 

 

*ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (3) ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี 

 

รวบรวมข้อมูลจาก 

ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพโดย ไอลอว์ 

 

หมายเหตุ ข้อความข้างต้นมิใช่เป็นคำพูดของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน หากแต่คณะผู้จัดทำเรียบเรียงขึ้นจากข้อเท็จจริงทุกประการที่รวบรวมจากรายงานข่าวและการบันทึกเหตุการณ์ขององค์กรพัฒนาเอกชน