เมื่อ อองซาน ซูจี ได้หันหลังให้กับคุณค่าที่เราเคยเชิดชูเธอ

15 พฤศจิกายน 2561

บทความโดย คูมี นายดู เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

เผยแพร่ครั้งแรกใน The Washington Post

ครั้งหนึ่งนางอองซาน ซูจีเคยร้องขอแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเนลว่า “โปรดอย่าได้ละสายตา หรือความคิดของท่านไปจากเมียนมา” เมื่อครั้งที่เธอยังคงดิ้นรนกับการปราบปรามโดยรัฐบาลทหารเมียนมา

 

และเราก็ทำอย่างที่เธอต้องการ

 

และเมื่อเธอได้ขึ้นสู่การเป็นผู้นำโดยพฤตินัยของรัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนเมษายน 2016 เราก็ยังคงจับตาดูต่อมา -- เริ่มแรกด้วยความหวัง ต่อมาจึงแทนที่ด้วยความตื่นตระหนก

 

เราเฝ้ามองการปล่อยตัวนักโทษทางความคิดที่กลับกลายไปสู่การจับกุมทางการเมืองและคุกคามเสรีภาพการแสดงออก

 

เราเฝ้ามองเมื่ออองซาน ซูจีและพรรคของเธอ -- ที่ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเพราะผู้ลงคะแนนเสียงจากทุกวิถีชีวิต -- กลับปลูกฝังความเกลียดชังที่นำไปสู่การกีดกันและไม่อดกลั้น ทั้งที่มันควรจะเป็นการเฉลิมฉลองต่อความหลากหลายในประเทศ

 

และเราก็เฝ้ามองเมื่อเธอล้มเหลวในการประณามหรือกระทั่งการแสดงออกว่ารับรู้ถึงอาชญากรรมต่อชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ -- ในขณะที่กองทับเมียนมาสังหารคนเหล่านั้นนับพันคน ทรมานเด็กและผู้ชาย ข่มขืนผู้หญิงทุกช่วงวัย และขับไล่ประชากรอีกหลายพันคนออกจากบ้านและประเทศของเขา

 

เราเฝ้ามองอย่างขมขื่น แต่ไม่เคยอย่างเงียบงัน

 

ตั้งแต่อองซาน ซูจีขึ้นสู่อำนาจ ทางแอมเนสตี้ได้รวบรวมหลักฐานอาชญากรรมสงครามและการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยกองทัพในรัฐยะไข่และทางตอนเหนือรัฐฉานมาโดยตลอด และก็เป็นอย่างที่เคย ที่พลเรือนจะเป็นผู้เดือดร้อนที่สุดเสมอ แต่แทนที่จะช่วยบรรเทาความยากลำบากของพวกเขา รัฐบาลของเธอกลับร่วมมือกับกองทัพในการจำกัดการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมต่อคนเหล่านี้

 

เราเคยเปิดโปงการกดขี่ชาวโรฮิงญาอย่างเป็นระบบโดยรัฐ ที่กีดกันพวกเขาอย่างร้ายแรง ริบคืนสัญชาติ ขับไล่ออกจากสังคมและไม่สามารถย้ายที่อยู่หรือเข้าถึงโรงเรียนและโรงพยาบาลได้ และสถานการณ์ก็ยิ่งทวีความรุนแรงเมื่อทางการปลุกระดมความเกลียดชังต่อชาวโรฮิงญา ตราหน้าพวกเขาว่าเป็นผู้ก่อการร้ายและสร้างสถานการณ์ด้วยการเผาบ้านตัวเองและทำเป็นว่าโดนข่มขืน

 

เราทั้งรวบรวม -- และเผยแพร่ -- หลักฐานที่ครอบคลุมและมีความน่าเชื่อถือต่อการที่ผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งกองทัพเมียนมา พลเอกอาวุโส มีนอองไลง์ และอีกสิบสองผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในกองทัพและกรมตำรวจ มีส่วนร่วมในอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่กระทำต่อชาวโรฮิงญา รายงานของฝั่งสหประชาชาติได้สรุปว่าคดีดังกล่าวอาจนับเป็นการฆ่าล้างชาติพันธุ์

 

และในสัปดาห์นี้ เราถอดรางวัลสิทธิมนุษยชนสูงสุดของแอมเนสตี้ “ทูตแห่งมโนธรรมสำนึก” คืนจากนางอองซาน ซูจี

 

เมื่อครั้งที่เธอได้มารับรางวัลจากเราในปี 2012 สองปีหลังจากถูกปล่อยตัวออกจากการกักบริเวณในบ้านพักอย่างยาวนาน เธอร้องขอให้เราจับตาดูสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป

 

ไอรีน ข่าน ผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการแอมเนสตี้ในขณะนั้น ได้กล่าวถึงนางอองซาน ซูจีไว้ว่า “เป็นสัญลักษณ์แห่งความหวัง ความกล้าหาญ การปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ไร้วันตาย”

 

ทว่าในวันที่แอมเนสตี้ยังคงมุ่งมั่นที่จะรักษาสัญญาที่เราเคยให้ไว้กับเธอ อองซาน ซูจีกลับผิดสัญญาที่เคยให้ไว้กับเรา

 

กลับกัน เธอหันหลังให้แก่จริยธรรมที่ครั้งหนึ่งเราเคยยกย่องเธอ --ความยุติธรรม, ศักดิ์ศรี, และสิทธิมนุษยชน--

 

การยอมให้นางอองซาน ซูจีอยู่ในฐานะทูตแห่งมโนธรรมสำนึกของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลต่อไป ไม่เพียงแต่จะเป็นการเหยียดหยามรางวัลอันทรงเกียรตินี้แล้ว แต่ยังรวมไปถึงทุกๆ คนที่ทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อความครอบคลุมของสิทธิมนุษยชนทั่วโลก

 

แต่ในขณะที่เรามีความเสียใจอย่างยิ่งที่ต้องถอดถอนรางวัลนี้ เราก็ยังคงมีความหวัง

 

ในชีวิตของผมเมื่อยังเป็นนักกิจกรรมในแอฟริกาใต้ ผมเองก็เป็นส่วนหนึ่งของการต่อต้านระบบแบ่งแยกชาติพันธุ์เช่นกัน ผมถูกจับกุมหลายต่อหลายครั้ง น้องชายของผมต้องเข้าคุก เพื่อนรักของผมถูกสังหาร

 

เราทุกคนต้องเสียสละบางสิ่ง บางคนต้องเสียมากกว่าคนอื่นๆ แต่การดิ้นรนไม่เคยเป็นเรื่องของคนๆ เดียว การต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนไม่เคยเป็นแบบนั้น

 

ในเมียนมาก็เช่นกัน การต่อสู้เพื่อความยุติธรรมไม่ได้มีนางอองซาน ซูจีเพียงผู้เดียว มันจะยังคงมีต่อไป -- และต่อไป -- ในหมู่บ้าน, ในเมือง, และในประเทศต่อไป

 

โลกจะต้องไม่ลืมว่าปัญหาสิทธิมนุษยชนในเมียนมามีมากกว่าแค่เรื่องโรฮิงญา มีคนอีกมากที่ถูกคุกคาม กีดกัน และอยู่ในความยากจนอย่างร้ายแรง -- โดยสามารถตามรอยสาเหตุไปถึงผู้มีอิทธิพลในกองทัพ และในทุกๆ ภาคส่วนของการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของเมียนมา

 

แม้ว่าพรรคของเธอจะไม่มีอำนาจเหนือกองทัพ แต่ตัวเธอเองและรัฐบาลของเธอยอมปล่อยให้ตัวเองกลายเป็นโล่ให้กองทัพก่ออาชญากรรมได้อย่างเสรี

 

อองซาน ซูจีกล่าวไว้เมื่อปี 2012 ว่า “ฉันไม่เคยรู้เลยว่ามีคนมากมายที่ใส่ใจกับตัวพวกเราและอุดมการณ์ของเรา รางวัลนี้แสดงให้เห็นว่าฉันไม่ได้อยู่คนเดียว”

 

คนที่เคยใส่ใจในตอนนั้นก็ยังคงใส่ใจในวันนี้ และนี่คือสาเหตุที่ชาวเมียนมาจะไม่โดดเดี่ยวในการต่อต้านการกดขี่ในประเทศของพวกเขา

 

เพราะแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเนลจะยิ่งทุ่มเทเพื่อต่อสู้กับความอยุติธรรมเคียงข้างพวกเขาต่อไป ไม่ว่าจะมีนางอองซาน ซูจีหรือไม่ก็ตาม