‘สตีเฟน ฮอว์คิง’ ว่าด้วยสิทธิ สังคม สิ่งแวดล้อม และความอยู่รอดของมนุษยชาติ

14 มีนาคม 2561

เรื่อง: แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

 

เพื่อเป็นการรำลึกถึงบุคคลสำคัญของโลกด้านวิทยาศาสตร์ ผู้ไม่เคยละเลยปัญหาสังคมและการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์

 

หลังจากการเสียชีวิตของ ‘สตีเฟน ฮอว์คิง’ ด้วยวัย 76 ปีในวันที่ 14 มีนาคม 2561 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัว เพื่อน ตลอดจนวงการวิทยาศาสตร์ที่สูญเสียบุคคลสำคัญแห่งยุคอันเป็นที่รักไป

 

เป็นที่ทราบกันดีว่าฮอว์คิงมีคุณูปการอย่างมากต่อวงการวิทยาศาสตร์โลก ผลงานที่สำคัญของเขาคงหนีไม่พ้นการบัญญัติว่าด้วยภาวะเอกฐานเชิงความโน้มถ่วง (gravitational singularity) ที่มีพื้นฐานมาจากทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป (general relativity) ร่วมกับโรเจอร์ เพนโรส และการตั้งสมมติฐานว่าหลุมดำอาจมีการปล่อยรังสีออกมา ซึ่งปัจจุบันมักเรียกกันว่า "รังสีฮอว์กิง" ไปจนถึงผลงานหนังสือชั้นยอดอย่าง ประวัติย่อของกาลเวลา (A Brief History of Time) และ จักรวาลในเปลือกนัท (The Universe in a Nutshell)

 

แต่นอกเหนือจากนั้น นักฟิสิกส์และนักจักรวาลวิทยาชาวอังกฤษคนนี้ยังทำงานช่วยเหลือสังคมมากมาย และเข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางสังคมอย่างสม่ำเสมอ ตลอดช่วงเวลาที่เขามีชีวิตอยู่ด้วย ในฐานะผู้ป่วยโรค ALS ฮอว์คิงรณรงค์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของคนพิการอย่างจริงจัง เขาร่วมมือกับผู้ทรงคุณวุฒิอีก 11 คนเรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกเห็นความสำคัญของคนพิการมากขึ้นในปี 2542 ร่วมบรรยายในพิธีเปิดพาราลิมปิกเกมส์ที่ลอนดอนในปี 2555 ร่วมโปรโมต Ice Bucket Challenge เพื่อระดมทุนวิจัยเกี่ยวกับโรค ALS จนกลายเป็นกระแสไปทั่วโลกในปี 2557 และอื่นๆ อีกมากมาย

 

ฮอว์คิงสนับสนุนการปลดอาวุธนิวเคลียร์ทั่วโลก เพื่อป้องกันโศกนาฎกรรมครั้งใหญ่ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต เขายังเรียกร้องให้ยุติสงครามใหญ่ๆ ในอดีตหลายครั้ง ซึ่งรวมถึงสงครามเวียดนาม สงครามระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ สงครามอิรัก มาจนถึงสงครามกลางเมืองซีเรีย โดยเขาระบุว่าอาวุธสมัยใหม่ที่ถูกนำมาใช้เพื่อฆ่าฟันกันเป็นตัวอย่างของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในทางที่ผิด

 

อย่างไรก็ตาม ชายผู้เป็นที่รักและชื่นชมของแฟนๆ ทั่วโลกคนนี้ยังมองว่าเทคโนโลยีสามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้มหาศาล โดยเฉพาะบทบาทในการต่อสู้กับโรคภัยต่างๆ และความยากจน แต่ต้องมีการนำมาใช้อย่างถูกต้อง ตระหนักรู้ถึงความเสี่ยง และบริหารจัดการอย่างเหมาะสม เพื่อสร้าง “โลกที่ดีกว่า” ได้อย่างแท้จริงต่อไป

 

ฮอว์คิงยังเป็นนักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อปกป้องและฟื้นฟูโลกจากภาวะโลกร้อนด้วย เขาได้ตั้งคำถามสำคัญซึ่งกลายเป็นที่พูดถึงไปทั่วโลกว่า “ท่ามกลางความวุ่นวายทางการเมือง สังคม และสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ มนุษยชาติจะอยู่รอดในอีก 100 ปีต่อจากนี้ได้อย่างไร?” ซึ่งเขาบอกว่าตัวเองก็ไม่มีคำตอบที่แน่ชัด เป็นแค่การโยนหินทามถางเพื่อให้ทุกคนช่วยกันฉุกคิดมากขึ้น และเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา ฮอว์คิงได้แถลงเตือนด้วยว่าการถอนสหรัฐฯ ออกจากความตกลงปารีส (Paris Agreement) ของประธานาธิบดีทรัมป์ อาจส่งผลให้สิ่งแวดล้อมโลกเข้าขั้นวิกฤตจนไม่สามารถแก้ไขได้อีกต่อไป

 

สิทธิเด็กเป็นเรื่องที่ฮอว์คิงให้ความสนใจอย่างมากเช่นกัน เขาเป็นผู้สนับสนุนตัวยงของ SOS Children ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การแพทย์ การศึกษา ฯลฯ แก่เด็กผู้ยากไร้ทั่วโลก โดยเฉพาะเด็กๆ ในพื้นที่สงครามหรือได้รับผลกระทบจากสงคราม 

 

สตีเฟน ฮอว์คิง ชื่อนี้จึงไม่ได้เป็นที่น่าจดจำเฉพาะความเป็นอัจฉริยะทางวิชาการของเขาเท่านั้น แต่งานเพื่อสังคม ความเห็นอกเห็นใจ แนวคิด ตลอดจนคำถามต่างๆ ที่เขาทิ้งไว้ ต่างก็เป็นสิ่งที่มนุษยชาติควรรำลึกถึง ฉุกคิด และร่วมกันหาคำตอบ เพื่อความอยู่รอดอย่างยั่งยืนของพวกเราทุกคนต่อไป

 

“ผมมักจะสงสัยว่าสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในอวกาศจะมองมนุษย์ยังไง เวลาเรามองออกไปนอกโลก เรามองเห็นภาพอดีตของพวกเขาเสมอ เพราะแสงต้องใช้เวลานานมากๆ กว่าจะเดินทางมาถึงโลก แล้วแสงที่เดินทางออกจากโลกทุกวันนี้ล่ะเป็นภาพของอะไร? เมื่อสิ่งมีชีวิตนอกโลกเห็นภาพอดีตของพวกเรา ภาพของการปฏิบัติต่อพี่น้องและเด็กๆ ของเราในตอนนี้จะเป็นภาพที่เราภูมิใจหรือเปล่า?” — สตีเฟน ฮอว์คิง