Credit - Patrick Feller

โทษประหารชีวิต ปี 2559: ข้อเท็จจริงและตัวเลข

11 เมษายน 2560

เรื่อง: โฮค์แบง แวนโฮล์ม (Robin Vanholme) อาสาสมัครชาวเบลเยี่ยม
แปล: แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

 

สถิติระดับสากล

 

ปี 2559 มีประชาชนอย่างน้อย 1,032 คนที่ถูกประหารชีวิตใน 23 ประเทศ ซึ่งในปี 2558 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเคยบันทึกข้อมูลการประหารชีวิตว่ามี 1,634 กรณี เกิดขึ้นใน 25 ประเทศทั่วโลก ถือว่าสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์อย่างไม่เคยเป็นมาก่อนนับแต่ปี 2532

 

การประหารชีวิตส่วนใหญ่ในโลกเกิดขึ้นในประเทศจีน อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย อิรักและปากีสถาน เรียงตามลำดับ

 

จีนยังคงเป็นประเทศที่ประหารชีวิตประชาชนมากที่สุดในโลก แต่เราไม่ทราบจำนวนการใช้โทษประหารชีวิตที่แท้จริงได้ เนื่องจากทางการจีนเก็บข้อมูลเหล่านี้เป็นความลับของทางราชการ ตัวเลขการประหารชีวิตระดับโลกอย่างน้อย 1,032 กรณี จึงไม่ครอบคลุมการประหารชีวิตที่คาดว่าเกิดขึ้นหลายพันกรณีในจีน

 

หากไม่นับการประหารชีวิตในจีน 87% ของการประหารชีวิตทั้งหมดในโลกเกิดขึ้นในสี่ประเทศ ได้แก่ อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย อิรัก และปากีสถาน

 

นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2549 ที่สหรัฐอเมริกาไม่ติดอันดับหนึ่งในห้าประเทศที่ประหารชีวิตประชาชนมากสุดในโลก โดยตกไปอยู่อันดับ 7 ต่ำกว่าอียิปต์ การประหารชีวิตในสหรัฐฯ 20 กรณีในปี 2559 นับเป็นจำนวนที่ต่ำที่สุดที่มีมาของประเทศนับจากปี 2534

 

ในระหว่างปี 2559 เชื่อว่ามี 23 ประเทศหรือประมาณหนึ่งในแปดของประเทศทั้งหมดในโลกได้ประหารชีวิตประชาชน จำนวนดังกล่าวลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับ 20 ปีที่แล้ว (ซึ่งมี 40 ประเทศที่ประหารชีวิตประชาชนในปี 2540) เบลารุส บอตสวานา ไนจีเรีย และทางการของรัฐปาเลสไตน์ได้รื้อฟื้นการประหารชีวิตขึ้นอีกครั้งในปี 2559 ส่วนชาด อินเดีย จอร์แดน โอมาน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเคยประหารชีวิตประชาชนในปี 2558 กลับไม่มีการประหารชีวิตเกิดขึ้นเลยในปีที่ผ่านมา

 

มี 141 ประเทศหรือกว่าสองในสามของประเทศทั่วโลกที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติแล้ว

 

ในปี 2559 มีสองประเทศได้แก่ เบนินและนาอูรู ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในกฎหมายสำหรับความผิดทุกประเภท เช่นเดียวกับอีก 104 ประเทศทั่วโลก ถือว่าเป็นประเทศส่วนใหญ่ในโลก โดยในปี 2540 มีเพียง 64 ประเทศเท่านั้นที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทุกกรณี

 

การเปลี่ยนแปลงโทษและการอภัยโทษให้กับผู้ต้องโทษประหารชีวิตเกิดขึ้นใน 28 ประเทศในปี 2559 โดยมีผู้ต้องโทษประหารชีวิตอย่างน้อย 60 คนที่ได้รับการล้างมลทินใน 9 ประเทศ รวมทั้งบังกลาเทศ (4) จีน (5) กานา (1) คูเวต (5) มอริเตเนีย (1) ไนจีเรีย (32) ซูดาน (9) ไต้หวัน (1) และเวียดนาม (2)

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลพบข้อมูลว่าในปี 2559 มีการกำหนดโทษประหารชีวิต 3,117 กรณีใน 55 ประเทศ ถือว่าเพิ่มสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับปี 2558 (มีการกำหนดโทษประหารชีวิต 1,998 กรณีใน 61 ประเทศ) โดยมีสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากใน 12 ประเทศ แต่สำหรับบางประเทศอย่างเช่น ไทย จำนวนการกำหนดโทษประหารชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นผลมาจากการที่ทางการไทยให้ข้อมูลอย่างละเอียดกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

 

มีประชาชนอย่างน้อย 18,848 คนที่ต้องโทษประหารชีวิตนับจนถึงสิ้นปี 2559 โดยมีการประหารชีวิตด้วยวิธีต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การตัดศีรษะ แขวนคอ ฉีดยา และยิงเป้า มีการประหารชีวิตต่อหน้าสาธารณะเกิดขึ้นในอิหร่าน (อย่างน้อย 33 กรณี) และในเกาหลีเหนือ

 

มีรายงานระบุว่าในอิหร่าน มีประชาชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี (ในขณะที่กระทำความผิด) อย่างน้อยสองคน ได้ถูกประหารชีวิตในปี 2559

 

ในหลายประเทศ เช่น ในบาห์เรน จีน อิหร่าน อิรัก เกาหลีเหนือ และซาอุดีอาระเบีย ประชาชนที่ต้องโทษประหารชีวิตหรือถูกประหารชีวิต มีสาเหตุมากจากกระบวนการยุติธรรมที่มักไม่สอดคล้องกับมาตรฐานการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมระหว่างประเทศ โดยในบางคดีมีการรับฟังเพียง “คำรับสารภาพ” ที่ได้มาจากการทรมานหรือการปฏิบัติที่โหดร้ายเท่านั้น

 

การวิเคราะห์ภาพรวมภูมิภาค

 

ทวีปอเมริกา

นับเป็นปีที่แปดติดต่อกันที่สหรัฐฯ เป็นเพียงประเทศเดียวในทวีปอเมริกาที่ยังคงประหารชีวิตประชาชนต่อไป โดยปี2559 มีการประหารชีวิตประชาชน 20 คน (ลดลง 8 คนเมื่อเทียบกับปี 2558) นับเป็นสถิติการประหารชีวิตที่ต่ำสุดเท่าที่บันทึกได้ตั้งแต่ปี 2534 โดยถือเป็นอัตราการประหารชีวิตที่คิดเป็นครึ่งเดียวของปี 2550 และหนึ่งในสามของปี 2540

 

มีเพียงห้ารัฐที่ประหารชีวิตประชาชนในปี 2559 เทียบกับหกรัฐในปีก่อนหน้านี้ จำนวนการประหารชีวิตในรัฐจอร์เจียเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ (เพิ่มจาก 5 เป็น 9 ครั้ง) ในขณะที่ตัวเลขการประหารชีวิตลดลงเกือบครึ่งหนึ่งในเท็กซัส (จาก 13 เหลือ 7 กรณี) โดยรวมแล้วทั้งสองรัฐมีส่วนรับผิดชอบต่อ 80% ของการประหารชีวิตทั้งหมดที่เกิดขึ้นในประเทศในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี จนถึงสิ้นปี 2559 ยังคงมีผู้ต้องโทษประหารชีวิตอยู่ในสหรัฐฯ 2,832 คน

 

จำนวนการกำหนดโทษประหารชีวิตในสหรัฐฯ ลดลงเช่นกันจาก 52 กรณี ในปี 2558 เป็น 32 กรณี ในปี 2559 (ลดลง 38%) นับเป็นจำนวนต่ำสุดเท่าที่บันทึกได้ตั้งแต่ปี 2516

 

มีเพียงสามประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ได้แก่ บาร์เบโดส กายอานา และตรินิแดดและโตเบโกที่กำหนดโทษประหารชีวิตในปี 2559 ส่วนประเทศในทะเลแคริบเบียนอื่น ๆ อีกสองประเทศได้แก่ แอนติกาและบาร์บูดาและบาฮามาส ได้เปลี่ยนแปลงโทษให้กับนักโทษประหารชีวิตที่เหลืออยู่

 

ทวีปเอเชีย-แปซิฟิก

ในปี 2559 มีการประหารชีวิตอย่างน้อย 130 กรณีที่เกิดขึ้นใน 11 ประเทศ ลดลงเมื่อเทียบกับการประหารชีวิตที่เกิดขึ้นอย่างน้อย 367 กรณีใน 12 ประเทศในปี 2558 ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากปากีสถานซึ่งมีการประหารชีวิตลดลง 239 ครั้ง (73%) ตัวเลขการประหารชีวิตในทวีปเอเชีย-แปซิฟิกไม่ครอบคลุมตัวเลขการประหารชีวิตในจีน ซึ่งยังคงเกิดขึ้นหลายพันครั้ง แต่เราไม่ทราบจำนวนการใช้โทษประหารชีวิตที่แท้จริงในจีน เนื่องจากมีการเก็บข้อมูลเหล่านี้เป็นความลับของทางราชการ

 

ข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการประหารชีวิตในจีน มาเลเซีย และเวียดนามเผยให้เห็นการใช้โทษประหารชีวิตซึ่งเคยถูกปกปิดเป็นความลับ ผลจากแรงกดดันของรัฐสภา ทางการมาเลเซียเปิดเผยว่า ได้ประหารชีวิตประชาชน 9 คนในปี 2559 และจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2559 มีผู้ต้องโทษประหารชีวิต 1,042 คน

 

ข้อมูลใหม่จากเวียดนามเผยให้เห็นว่า เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่ประหารชีวิตประชาชนมากสุดในโลก จากรายงานของกระทรวงความมั่นคงสาธารณะของเวียดนาม ซึ่งมีการเผยแพร่ต่อสาธารณะเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2560 มีนักโทษที่ถูกประหารชีวิต 429 คนระหว่างวันที่ 6 สิงหาคม 2556 ถึง 30 มิถุนายน 2559 เฉพาะจีนและอิหร่านเท่านั้นที่ประหารชีวิตประชาชนมากกว่าเวียดนามในช่วงเวลาดังกล่าว

 

มีการกำหนดโทษประหารชีวิตใหม่ 1,224 กรณีใน 18 ประเทศทั่วภูมิภาค ซึ่งถือว่าสูงขึ้นมากจากการกำหนดโทษประหารชีวิตอย่างน้อย 661 กรณีในปี 2558 (เพิ่มขึ้น 85%) ส่วนใหญ่เป็นเพราะการเพิ่มขึ้นในบังกลาเทศ อินเดีย อินโดนีเซีย ปากีสถาน และไทย โดยทางการไทยได้ให้ข้อมูลอย่างละเอียดกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลว่ามีการกำหนดโทษประหารชีวิตครั้งใหม่ 216 กรณี ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลแบบนี้เป็นครั้งแรกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

 

มัลดีฟส์และฟิลิปปินส์เป็นฝ่ายที่ก้าวถอยหลัง โดยมัลดีฟส์รื้อฟื้นการประหารชีวิตขึ้นมาอีก หลังจากหยุดไปกว่า 6 ทศวรรษ ส่วนฟิลิปปินส์ก็กำลังรื้อฟื้นการใช้โทษประหารชีวิตอีกครั้ง

 

ทวีปแอฟริกาทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา

การใช้โทษประหารชีวิตในทวีปแอฟริกาทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารามีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง โดยจำนวนการกำหนดโทษประหารชีวิตเพิ่มขึ้น 145% และมีการประหารชีวิตอย่างน้อย 22 กรณีในห้าประเทศ เทียบกับการประหารชีวิต 43 กรณีใน 4 ประเทศในปี 2558

 

การกำหนดโทษประหารชีวิตเพิ่มขึ้นจาก 443 กรณีในปี 2558 เป็นอย่างน้อย 1,086 กรณีในปี 2559 ส่วนใหญ่เป็นเพราะการเพิ่มขึ้นในไนจีเรีย (จาก 171 กรณีเป็น 527 กรณี) ซึ่งนับเป็นประเทศที่กำหนดโทษประหารชีวิตในปีนี้มากกว่าประเทศใด ๆ ยกเว้นจีน ความเสี่ยงที่ประชาชนจะถูกประหารชีวิตเนื่องจากความผิดที่ตนเองไม่ได้กระทำยังคงดำรงอยู่ต่อไป โดยมีการบันทึกข้อมูลที่ศาลล้างมลทินให้กับผู้ต้องโทษประหารชีวิตทั่วโลก โดยครึ่งหนึ่งเกิดขึ้นในไนจีเรียในปี 2559 (32 กรณี)

 

ทวีปยุโรปและเอเชียกลาง

ในยุโรปและเอเชียกลาง เบลารุสได้รื้อฟื้นการประหารชีวิตขึ้นอีกครั้งหลังหยุดไป 17 เดือน เบลารุสและคาซัคสถานเป็นเพียงสองประเทศในภูมิภาคนี้ที่ยังคงใช้โทษประหารชีวิตต่อไป

 

ทวีปตะวันออกกลางและทวีปแอฟริกาเหนือ

จำนวนการประหารชีวิตที่บันทึกได้ในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือลดลง 28% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ จากการประหารชีวิต 1,196 กรณีในปี 2558 เหลือ 856 กรณีในปี 2559

 

จากข้อมูลที่บันทึกได้เฉพาะอิหร่านประเทศเดียวมีการประหารชีวิตประชาชนคิดเป็น 66% ของภูมิภาค อย่างไรก็ดี จำนวนการประหารชีวิตโดยรวมที่เกิดขึ้นในอิหร่านลดลง 42% (จากอย่างน้อย 977 กรณี เหลืออย่างน้อย 567 กรณี) เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้

 

ซาอุดีอาระเบียประหารชีวิตประชาชนอย่างน้อย 154 คน เป็นอัตราที่ค่อนข้างสูงในปี 2558 (158 คน) นับเป็นจำนวนการประหารชีวิตสูงสุดที่บันทึกได้ในซาอุดีอาระเบียนับแต่ปี 2538