Electronic Monitoring: คุกข้อเท้าของผู้ถูกสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ 

6 มกราคม 2566

Amnesty International Thailand

เด็กหนุ่มต้องโทษคดียาเสพติด มองกำไลข้อเท้าคล้ายนาฬิกาคุกของ ลูกเกด-ชลธิชา แจ้งเร็ว เขาถามด้วยความสงสัย “พี่ชื่ออะไร” และอีกหลายคำถามถัดมาที่ต้องการคำตอบ ทำไมผู้หญิงคนนี้จึงถูกล่ามข้อเท้าด้วย Electronic Monitoring

“พี่เขียนจดหมายถึงพระราชา แล้วโพสลงเฟซบุ๊ค จึงโดนแจ้งความ 112” ลูกเกด แจ้งสาเหตุการสวมกำไล EM ให้เด็กหนุ่มฟัง ก่อนจะถาม “น้องรู้จักไหม” เธอหมายถึงปัญหาของกฎหมาย 112 ก่อนจะใช้เวลาสั้นๆ ในห้องพิจารณาคดีที่ทั้งสองบังเอิญพบกัน อธิบายให้เด็กหนุ่มฟังถึงปัญหาของกฎหมายมาตราดังกล่าว

จดหมายฉบับดังกล่าวถูกเขียนขึ้นในการชุมนุม ‘ราษฎรสาส์น’ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 

“เราเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยมุ่งหน้าที่ไปพระราชวัง เพื่อเขียนจดหมายถึงกษัตริย์ เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เรียกร้องให้มีการปรับลดงบประมาณสถาบันกษัตริย์ จากนั้นเกดก็โพสจดหมายฉบับนั้นลงในเฟซบุ๊ค โพสเพื่อยืนยันว่านี่คือเจตนารมณ์ของเรา นี่คือความหวังดีต่อประเทศชาติ ไม่กี่เดือนต่อมาก็มีคนไปแจ้งความที่ ปอท. โดยกล่าวหาว่าเกดหมิ่นประมาทสถาบันกษัติรย์ และแจ้งความเอาผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วย” 

ลูกเกด เล่าย้อนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นให้ แอมเนสตี้ฯ ฟัง ซึ่งเป็นเรื่องราวเดียวกันกับที่เล่าให้เด็กหนุ่มผู้เป็นนักโทษคดียาเสพติดในห้องพิจารณาคดี

“มันน่าเศร้านะ” เด็กหนุ่มบอก ก่อนจะแสดงความคิดเห็นว่า “คนที่ควรใส่ EM น่าจะเป็นพวกผมนะ ผมมาจากคดียาเสพติด พวกผมมีพฤติกรรมบ่อนทำลายชาติ ไม่ใช่พวกพี่ แต่ทำไมผมไม่ได้ใส่ EM”

คำถามของเขามาจากสามัญสำนึกขั้นพื้นฐานอย่างถึงที่สุด

 

DSC00359.JPG

ติดตามชั่วคราว จองจำชั่วนิรันดร์

หลังปี 2563 เป็นต้นมา เทคโนโลยีการควบคุมผู้กระทำผิดด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ EM ถูกนำมาใช้เป็นเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวกับผู้ต้องหาคดีการเมืองอย่างแพร่หลาย ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ชี้ให้เห็นแนวโน้มดังกล่าว 

นับจากปี 2561 จนถึงเดือนเมษายน 2565 ลูกความของศูนย์ทนายฯที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดจากการแสดงออกทางการเมืองรูปแบบต่างๆ ถูกศาลสั่งให้ติดติดกำไล EM อย่างน้อย 61 คน ผู้ต้องหา 2 คนในปี 2561 ยังคงติดกำไล EM มาจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากได้รับการประกันตัวระหว่างรอคำพิพากษาศาลฎีกา ทำให้ทั้งสองคนถูกติดกำไล EM มากว่า 3 ปีครึ่งแล้ว

ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ระหว่างเดือน มีนาคม 2564 – มีนาคม 2565 ศูนย์ทนายฯระบุว่า มีผู้ต้องหาอย่างน้อย 54 คน ถูกศาลสั่งติดกำไล EM 

EM เข้ามาอยู่ในระบบกฎหมายและกระบวนยุติธรรมไทยตั้งแต่ปี 2558 จากการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในยุคของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะทางเลือกที่จะใช้ควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยระหว่างการพิจารณาคดีแทนการคุมขังในเรือนจำ เพื่อแก้ไขปัญหาคนล้นคุก และให้ผู้ต้องหามีโอกาสได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวมากขึ้น

กระทรวงยุติธรรมและศาลยุติธรรม เริ่มนำ EM มาใช้เป็นเครื่องติดตามตัวตั้งแต่เดือนมีนาคม 2561 สำหรับประกันตัวผู้ต้องหาในคดีอาญาและคดียาเสพติด ด้วยจุดประสงค์เพื่อให้คนที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจสามารถเข้าถึงสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการต่อสู้คดี

ดร.ปราโมทย์ เสริมศีลธรรม คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า EM ถูกตั้งความคาดหวังว่าจะถูกใช้เป็นทางเลือกในการแบ่งเบาภาระของกระบวนการยุติธรรมและสร้างความเป็นธรรมในสังคม แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ “เราไม่ได้ใช้กำไล EM เป็นทางเลือกแบบนั้นครับ” ดร.ปราโมทย์ บอก

ในหลักปฏิบัติ EM ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการลดหลักประกัน ซึ่ง ดร.ปราโมทย์ มองว่า นี่คือปัญหาในการใช้ EM ของกระบวนการยุติธรรม

“หากเราใช้ EM เป็นตัวลดหลักประกัน เช่น ศาลบอกว่าถ้าติดกำไล EM หลักทรัพย์ในการประกันตัวจะลดลง หากผู้ต้องหามีหลักทรัพย์เพียงพอ เขาก็ยอมจ่ายเพื่อติด EM แลกกับการประกันตัวใช่ไหมครับ แต่ถ้าคนไม่มีล่ะ ก็ติดคุกไป ท้ายที่สุดก็กลับมาสู่การเลือกปฏิบัติอยู่ดี ผมว่ามันไม่ควรคิดแบบนั้น กำไล EM ไม่ควรถูกนำมาพิจารณาในการเป็นส่วนลดในหลักประกัน เพราะการติดกำไล EM ทำให้ติดตามความเคลื่อนไหวได้อยู่แล้ว เราไม่มีความจำเป็นที่ยังต้องเรียกเงินประกันครับ เราต้องเข้าใจวัตถุประสงค์ในการใส่กำไล EM ว่าใส่เพื่ออะไร” ดร.ปราโมทย์ กล่าว

แต่ดูเหมือนว่า สิ่งที่เกิดกับผู้ต้องหาคดีที่เกิดจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองกลับมีลักษณะต่างออกไปจากหลักการใช้ EM ในกระบวนการยุติธรรม  

อาจารย์แห่งคณะนิติศาสตร์ผู้ทำวิจัยเกี่ยวกับการใช้ EM ในกระบวนการยุติธรรม มองว่า เมื่อศาลพิจารณาว่า ผู้ต้องหารายนี้ต้องใส่ EM พร้อมกับเงื่อนไขที่กำหนดต่างๆ ก็ไม่จำเป็นต้องมีหลักทรัพย์ในการประกันตัวอีกต่อไป เพราะเทคโนโลยีสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของผู้ต้องหาได้ 

“ผมก็เลยเห็นว่าถ้าใส่แล้ว มันไม่จำเป็นต้องมีหลักทรัพย์อีก กลับไปที่คำถามว่ามันลดความเหลื่อมล้ำไหม มันช่วยได้บ้าง แต่ในไทยเราไม่ได้มีวิธีคิดแบบนั้น เราเรียกหลักประกันและพ่วง EM มันทำให้เคสบางเคสไม่จำเป็นต้องใส่ EM ก็กลับกลายเป็นว่าต้องใส่ ใส่พร่ำเพรื่อจน EM อาจจะไม่พอ เคสที่ต้องใช้จริงๆ ก็ไม่ได้ใช้ เพราะมันมีต้นทุน เพราะเราเอาไปใส่เพื่อไปประกอบเป็นส่วนลดหลักประกันเท่านั้นเอง”    

 

 

เจตนารมณ์ของ EM กับข้อเท้าของคนเห็นต่างทางการเมือง

“ไม่สามารถทำใจให้ยอมรับจนคุ้นชินได้เลยค่ะ” เป็นเวลากว่า 8 เดือนแล้วที่ ลูกเกด ใช้ชีวิตกับ EM ซึ่งสร้างผลกระทบและข้อจำกัดในชีวิตและการงานเป็นอย่างมาก เธอตระหนักดีถึงเงื่อนไขชีวิตและการงานที่ต้องเดินทางอยู่ตลอด จึงทำหนังสือคัดค้านศาลทันทีที่ทราบว่า การติด EM เป็นหนึ่งในเงื่อนไขของการประกันตัว

“ในวันนั้นเกดได้ปรึกษากับทนายความ ทำหนังสือแย้งขึ้นไปที่ศาลเพื่อคัดค้าน เกดทำหนังสือคัดค้านการติดกำไล EM ของศาล โดยให้เหตุผลว่า เราไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนีตั้งแต่แรก เรามาตามนัดหมายของศาลตลอด ภาระหน้าที่การทำงานของเกดที่ต้องเดินทาง ทำให้ไม่สะดวกที่จะต้องใส่กำไล EM และเกดยินดีที่จะวางหลักทรัพย์เพิ่มแทนการใส่กำไล EM แต่สุดท้ายศาลยกคำร้อง” 

จากการถูกปฏิเสธทำให้ลูกเกดตั้งคำถามถึงเจตนารมณ์ของการใช้ EM ที่สวนทางการหลักปฏิบัติกับผู้ต้องหาคดีการเมือง 

“มันสวนทางกันค่ะ ก็ทำให้นักกิจกรรม ทนายความ ผู้คนในสังคม ตั้งคำถามถึงการเลือกปฏิบัติหรือแม้กระทั่งมันเป็นการจงใจหรือเปล่าที่ศาลเลือกใช้ EM เป็นหนึ่งในเงื่อนไขการประกันตัว” ลูกเกด เล่า

ในช่วงเวลา 8 เดือนที่ผ่านมา ลูกเกด ต้องปฏิเสธโอกาสในชีวิต เพราะไม่สามารถเดินทางด้วยเครื่องบินจากการสวม EM ช่วงสายของวันที่ 15 กันยายน เราติดตามลูกเกดเดินทางไปยื่นหนังสือเพื่อขอถอด EM ชั่วคราวที่ศาลอาญาบนถนนรัชดาภิเษก เพราะเธอต้องการเดินทางไปบรรยายในหัวข้อประชาธิปไตยภูมิภาคเอเชียจากการเทียบเชิญขององค์กรระหว่างประเทศ

“ในครั้งนี้เราจะวางหลักทรัพย์เพิ่มในช่วงที่เราเดินทางไปต่างประเทศ และจะมีผู้รับรองด้วยคือครูจุ๊ย ( กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิคณะก้าวหน้า) ซึ่งครูจุ๊ยได้รับเชิญไปงานเดียวกัน ครูจุ๊ยจะมาเป็นผู้รับรองว่าเราจะไม่หลบหนี และพร้อมที่จะวางหลักทรัพย์เพิ่ม เพื่อเป็นการประกันว่า ฉันไปทำงานต่างประเทศนะ พอกลับมาก็จะกลับมาติดกำไล EM และในระหว่างที่ฉันไม่อยู่ ฉันก็พร้อมจะวางเงินประกันเพิ่มให้ เพื่อให้มั่นใจว่าเราจะไม่หลบหนี แต่สุดท้าย ศาลยกคำร้องเช่นเดิม”

เป็นครั้งที่ 3 ที่เธอถูกปฏิเสธคำร้องขอถอด EM ชั่วคราว

“คนเหล่านี้คือคนที่รอการพิจารณาคดี เขายังบริสุทธิ์อยู่ เราใส่ EM ให้เขาเพื่ออะไร” ดร.ปราโมทย์ ตั้งคำถามถึงจุดประสงค์ในการใช้ EM 

 

EM ในกระบวนการยุติธรรม

ในงานวิจัยหัวข้อ การศึกษามาตรการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดทางอาญาแทนการควบคุมตัว (Non-custodial) : EM ในการหันเหผู้กระทำผิดจากการควบคุมตัวก่อน ระบุว่า ประเทศไทยนําเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) มาใช้กับผู้กระทําความผิดแทนการควบคุมตัวทั้งในขั้นตอน ก่อน, ระหว่าง และหลังการพิจารณาคดี ซึ่งวัตถุประสงค์ของการควบคุมตัวในแต่ละขั้นตอนและลักษณะของผู้กระทําความผิดมีความแตกต่างกัน การนําเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวมาใช้จึงต้องคํานึงถึงวัตถุประสงค์ที่มีความแตกต่างกันด้วย 

ดร.ปราโมทย์ หนึ่งในผู้ทำวิจัยหัวข้อดังกล่าว บอกว่า EM ได้ถูกนำมาใช้ในทุกชั้นของกระบวนการยุติธรรม แต่ขั้นตอนที่นำมาสู่การถกเถียงมากที่สุดคือการนำมาใช้ในชั้น ‘ก่อน’ และ ‘ระหว่าง’ การพิจารณาคดี เพราะในขั้นตอนนี้จำเลยยังได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ 

“ผมอยากชวนมองแบบนี้ ถ้าเป็นคนที่ถูกสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ กำไล EM ถือว่าเป็นการจำกัดเสรีภาพของเขา แต่ถ้าเป็นขั้นตอนที่การพิจารณาคดีเป็นที่สิ้นสุด หรือในชั้นที่ผู้ต้องขังกำลังจะได้รับการปล่อยตัว กำไล EM ก็เป็นผลดีกับเขา แทนที่เขาจะต้องอยู่ในคุก เขาก็ได้รับเสรีภาพ ถ้าเป็นมุมมองของในช่วงก่อนและระหว่างการพิจารณาคดี กำไล EM ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาครับ

“ถามว่าในต่างประเทศ มีการแยกไหมว่าใช้กับคดีประเภทไหน ไม่มีหรอกครับ แต่หลักสากลทั่วไปเขาจะไม่ใช้กับผู้เยาว์ และกำไล EM จะใช้กับบุคคลที่ยินยอมด้วยนะ หลักการสำคัญคือต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติ เพศ เชื้อชาติ สัญชาติ หรือแม้แต่แนวความคิดทางการเมือง เขาก็เขียนไว้ชัดเจนว่า ต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติ

“นั่นหมายความว่า ถ้าคุณเอากำไลไปใช้กับผู้ต้องหาทางการเมืองกลุ่มหนึ่ง ขณะเดียวกันคนที่มีความคิดทางการเมืองอีกกลุ่ม ทำแบบเดียวกันเลย แต่ไม่ต้องใช้ EM แสดงว่านี่มีปัญหาแล้ว” ดร.ปราโมทย์ กล่าว 

 

คุกของผู้บริสุทธิ์

แบม เป็นคนหนุ่มสาวแห่งยุคสมัยที่ต้องสวมกำไล EM ที่ข้อเท้า แต่โซ่ตรวนอิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้กังขังเฉพาะเธอ แต่รวมถึงครอบครัวด้วย

“วันแรกที่เราใส่ EM แม่บอกว่าแม่จะเป็นคนทำงานบ้านเอง แม่บอกว่าแบมไม่ต้องออกไปไหน ไม่ต้องออกไปตากผ้า เหตุผลก็คือแม่อาย แม่อายคนรอบข้าง แม่รู้ว่าเราไม่ได้ผิดอะไร แต่คนรอบข้างไม่เข้าใจ เขาตีตราเราแล้วว่าการใส่ EM คือนักโทษ ไปโดนคดีอะไร ร้ายแรงรึเปล่า ทำไมถึงใส่ ขณะที่คนในครอบครัวของเราก็เป็นห่วง จนแสดงออกมาเป็นความกลัว ก็กลายเป็นโทษเหยื่อ กลายเป็นว่าเขามาโทษเรา กูเตือนมึงแล้ว มันไม่แปลกหรอกที่มึงจะโดน”

แบม เป็นมวลชนอิสระ เข้าร่วมการชุมนุมตั้งแต่ปี 2563 เธอเติบโตมาในครอบครัวชนชั้นกลางที่สนับสนุนประชาธิปไตย พ่อของเธอมีอาชีพขับรถแท็กซี่และสนับสนุนการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง 

“ตอนนั้นเรามองว่าคนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยเท่มากเลยนะ ทำไมเขากล้าหาญขนาดนี้ ลุงๆ ป้าๆ ที่ออกไปเรียกร้องมีความหวังดีต่อสังคม แต่เราเห็นความน่ากลัวหลังจากนั้น ตอนที่เริ่มมีการสลายการชุมนุม”

แบมเติบโตขึ้นมาสวนทางกับการถดถอยของสังคมการเมืองไทย เมื่ออยู่ ม.ปลาย ก็เกิดการรัฐประหาร 2557 

“ตอนนั้นเขายังไม่เอาปืนมาจ่อเราหน้าบ้าน เราก็เรียนหนังสือไป เรารู้แต่ว่ามีการรัฐประหาร มีคนโดนจับ แต่เราก็เรียนต่อไป สังคมรอบข้างของเราก็เพิกเฉย เพื่อนเราก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นด้วยซ้ำ พ่อก็บอกว่าเราทำอะไรไม่ได้แล้ว เราแพ้แล้ว”

หลังจากเรียนมหาวิทยาลัยได้เพียง 2 ปี แบมตัดสินใจหยุดเรียนและออกมาทำงาน แต่เมื่อถึงปี 2563 เธอก็รู้สึกว่า ต้องก้าวเท้าออกไปร่วมเป็นส่วนหนึ่ง 

“วันแรกที่เข้าร่วมม็อบคือวันที่ 16 สิงหาคม เป็นการตัดสินใจเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองด้วยการตัดสินใจของตัวเอง ศึกษาข้อมูลและตัดสินใจด้วยตัวเอง ก่อนหน้านั้นเราฟังมาจากคนอื่น ฟังจากพ่อจากคนรอบข้าง ตั้งแต่ปี 63 จนถึงวันนี้ เราศึกษาด้วยตัวเอง และออกไปเข้าร่วมด้วยตัวเอง จนถึงปี 64 คนหายไปครึ่งหนึ่งเลย ปี 65 ก็เหลือไม่กี่เปอร์เซ็นต์”

แบมเป็นไม่กี่เปอร์เซ็นต์ที่ยังกระตือรือร้นทางการเมือง และยังคงออกมาสนับสนุนการชุมนุมผู้เรียกร้องความเป็นธรรม เธอออกมาสนับสนุนการชุมนุมของชาวบ้านบางกลอย จนถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 

“เราก็เห็นว่ามันไม่เป็นธรรมเลย พวกเขาทั้งโดนขู่ฆ่า โดนไล่ที่ ทำมาหากินไม่ได้ เราไปชุมนุมกับชาวบ้านก็โดนฟ้องฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สามสัปดาห์ต่อมาก็โดนคดี 112”

แบมเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยการติดสติ๊กเกอร์ผ่านโพลหัวข้อ ‘ขบวนเด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่’ หลังจากนั้นถูกสั่งฟ้องดำเนินคดี 112 กระทั่งศาลวางเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวด้วยหลักทรัพย์ 2 แสนบาท พร้อมกับเงื่อนไขติดกำไล EM และห้ามกระทำซ้ำในพฤติกรรมที่ถูกกล่าวหา

นอกจากจะส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ ทั้งของตนเองและครอบครัว การสวมกำไล EM ส่งผลกระทบต่อการงานอย่างมาก

“ก่อนโดนคดี เราเคยทำงานในคลินิกเสริมความงาม พนักงานคลินิกจะเน้นเรื่องความสวยความงาม การแต่งชุดก็จะเป็นชุดกระโปรง แน่นอนมันต้องเห็นขา ที่ทำงานก็ทักเรามาว่า จะกลับมาทำงานได้เมื่อไหร่ เขาก็ถามว่า ถอดกำไล EM หรือยัง เขาไม่ได้ต่อต้านการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเรา แต่การท่ี่เราใส่ EM ก็ทำให้เขาไม่สะดวกใจที่จะให้เรากลับไปทำงาน เขาให้คำอธิบายว่า กลัวพนักงานคนอื่นหวาดกลัวและอับอาย แต่สิ่งที่หนูเผชิญอยู่ มันไม่ยุติธรรมนะ หนูไม่ได้ออกไปทำสิ่งเลวร้าย หนูออกไปเรียกร้องเสรีภาพ เรียกร้องความเป็นอยู่ที่ดีให้คนในประเทศนี้ด้วยซ้ำ มันน่าอายยังไงเหรอ”

ปลายเดือนสิงหาคม แบมและผู้ต้องหาคดีการเมืองที่สวม EM ออกมาจัดกิจกรรม 'Let's Unlock EM' ในวันนั้นแบมใช้โซ่ตรวนมาคล้อง EM กับข้อเท้า เพื่อเป็นสร้างความหมายเชิงเปรียบถึงชีวิตที่ถูกพันธนาการด้วย EM

“เราใส่โซ่เพื่อให้คนมองเห็นว่ามันคือพันธะที่ทำให้เราเคลื่อนไปข้างหน้าได้ยากลำบาก แต่คนทั่วไปก็คงไม่รู้หรอกว่าเราเดินทำไม เราเดินไปจบที่สยาม คนก็เห็นแหละ แต่หนูคิดว่าคนอยากจะฟังเพลงมากกว่า เขาคงไม่อยากรับฟังปัญหาการเมือง เขาคงไม่ได้อยากโฟกัสการเรียกร้องของเราเท่าไร ก็ทำให้รู้สึกว่าคนในสังคมยังไม่เข้าใจถึงปัญหาที่เราเจอ ถ้าคนในสังคมเพิกเฉยต่อคนที่โดนคดีทางการเมือง สุดท้ายแล้วสิ่งที่ทุกคนทำกันมาจะกลายเป็นความสูญเปล่า สุดท้ายเราจะถูกเมิน โดนกระทำจากรัฐอย่างอยุติธรรม” แบม บอก

 

อิสรภาพในเรือนจำ

หากมองผ่านมุมมองของ ดร.ปราโมย์ กำไล EM เป็นนวัตกรรมที่ดีและมีประโยชน์ในตัวเอง แต่ปัญหาที่ต้องตั้งคำถามคือวัตถุประสงค์ในการใช้ และมันถูกนำไปใช้กับใคร

“ผมยังเห็นด้วยกับการมีอุปกรณ์ตัวนี้ในการแบ่งเบาภาระของกระบวนการยุติธรรม แต่ EM ไม่ได้เป็นยาวิเศษที่จะแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง EM ถูกออกแบบมามีวัตถุประสงค์ของมันอยู่ และมันต้องใช้ตรงตามวัตถุประสงค์ของมัน มันถูกออกแบบมาเพื่อทำให้คนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวและลดความแออัดในการกักขัง 

“หลักสากลก็บอกว่า เวลาที่คุณจะใช้ EM คุณต้องชั่งน้ำหนักว่า ข้อหาที่เขาโดนกับการใช้ EM ได้สัดส่วนกันไหม ระยะเวลาการใส่ EM ได้สัดส่วนกับโทษที่เขาจะโดนมั้ย บางทีเขามีแนวโน้มจะได้รับโทษนิดเดียว แต่กลับถูกให้ใส่ EM เพื่อเป็นการลงโทษ เพื่อให้เกิดความยุ่งยากในการใช้ชีวิต ซึ่งผิดหลักมากๆ ฉะนั้นผมกลับไปที่คำถาม ผมเห็นด้วยกับการใช้ EM ไม่ว่าจะเป็นในชั้นก่อน ระหว่าง และหลังการพิจารณาคดี มันมีประโยชน์ แต่ต้องใช้ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ ไม่ใช้ใช่พร่ำเพรื่อ หรือใช้เป็นส่วนลดของหลักประกันเท่านั้น และต้องกลับไปที่หลักการพื้นฐาน ถ้ายังสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ต้องปล่อยตัวไม่มีเงื่อนไขครับ”  

ถามแบมว่า หากถ้าเวลาสามารถหวนกลับ จะออกไปติดสติกเกอร์ในวันนั้นไหม

“คงกลับไปทำเหมือนเดิมค่ะ เพราะไม่มีวันนั้นก็มีวันอื่น เพราะสิ่งที่เราทำมันเป็นการแสดงความคิดเห็น เราไม่ได้ทำร้ายใคร โพลกับสติกเกอร์ในวันนั้นเป็นแค่วิธีหนึ่งที่ทำให้คนได้แสดงความคิดเห็น ถึงไม่มีโพล ก็มีวิธีการแสดงความเห็นแบบอื่น เสรีภาพในการพูดและแสดงความคิดเห็นคือสิทธิขั้นพื้นฐาน” แบมย้ำ

ลูกเกด มองว่า แนวโน้มของการกำหนดเงื่อนไขประกันตัวด้วยการติดกำไล EM จะมีมากขึ้น ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับแนวโน้มการพิจารณาคดี 112

“เราต้องยอมรับว่า การติดกำไล EM รวมถึงการกำหนดเงื่อนไขการประกันตัวอย่างอื่น เช่น ห้ามกระทำการในลักษณะที่ถูกฟ้องร้องมาก่อนหน้า ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมหรือแสดงความคิดเห็น เป็นเงื่อนไขที่กว้างมาก และตีความยากมาก แต่สิ่งที่น่ากลัวก็คือ มันสร้างความหวาดกลัว ทำให้ประชาชนไม่กล้าแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี มันถูกใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมการเคลื่อนไหวของนักกิจกรรม

“เราพอจะเห็นแนวโน้มคดี 112 ส่วนใหญ่ศาลจะตัดสินว่ามีความผิด เราอาจจะได้ถอดกำไล EM ในวันที่มีคำพิพากษาคดี 112 ตอนนั้นมั้งคะเราอาจจะมีอิสระจากกำไล EM” ลูกเกด กล่าวและยิ้ม ซึ่งเป็นรอยยิ้มเยาะเย้ยความทุกข์ยากขวากหนามลำเค็ญ เหมือนในเพลงแสงดาวแห่งศรัทธา

 

ข้อมูลล้อมกรอบ

เทคโนโลยีการควบคุมผู้กระทำผิดด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Monitoring) หรือ EM เป็นนวัตกรรมถูกคิดค้นขึ้นในช่วงทศวรรษ 1960 – 1970 Dr.Ralph Schwitzgebel คณะกรรมการในการทดลองด้านจิตวิทยาของ มหาวิทยาลัย Harvard ซึ่งต้องการประดิษฐ์อุปกรณ์ที่มีประโยชน์ต่อสังคม มีราคาไม่แพง และสามารถใช้เป็นทางเลือกสำหรับผู้กระทำผิดอันจะมีประโยชน์ต่อบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมและสังคมทั่วไป แต่อุปกรณ์ดังกล่าวได้น ามาใช้อย่างจริงจัง หลังจากนั้นประมาณ 20 ปี ได้มีการ นำเทคโนโลยีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มาใช้ใน การควบคุมตัวผู้กระทำผิดในประเทศ สหรัฐอเมริกา แคนาดา สหราชอาณาจักร และประเทศอื่นๆ ทั่วโลกโดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อลดจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำเป็นสำคัญ

ในปี ค.ศ.1977 ผู้พิพากษาชื่อว่า Jack Love ชาวอเมริกันในเมือง Albuerque มลรัฐนิวเม็กซิโก ได้รับแรงกระตุ้นจากการ์ตูนเรื่องไอ้แมงมุม (Spiderman) ในการนำอุปกรณ์ที่สามารถติดตามผู้กระทำผิดมาใช้และได้ชักชวนให้ Michael Goss ผู้เชี่ยวชาญ ของบริษัทในการออกแบบและผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ในปี ค.ศ.1983 จึงกล่าวได้ว่า ผู้พิพากษา Jack Love ได้พิพากษาคดีให้มีการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มาใช้สำหรับผู้กระทำผิดเป็นคนแรกในเมือง Albuerque โดยเป็นผู้พิพากษาของศาลที่ได้มีคำสั่งแรกของโลกให้มีการติดเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์กับผู้กระทำผิดที่ได้รับการพักการลงโทษเพื่อ เฝ้าติดตามพฤติกรรม 

หลังจากนั้นมีการนำแนวคิดในการใช้ที่อยู่อาศัยเป็นที่ควบคุมผู้กระทำผิดโดย อาศัยระบบอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวมาช่วย เพื่อลดความแออัดของผู้ต้องขังในเรือนจำ และทัณฑสถาน รวมทั้งเป็นการให้โอกาสผู้กระทำผิดได้ใช้ชีวิตในชุมชนได้อย่างปกติซึ่ง ต่อมาเมืองปาล์มบีช (Palm Beach) และ รัฐฟลอริดา ได้พัฒนาการใช้อุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์ ในการนำไปใช้สำหรับผู้กระทำผิดที่ได้รับการพักการลงโทษ ตลอดจนการ ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นการลดความแออัดยัดเยียดของผู้ต้องขังในเรือนจำ

 



ที่มา: แนวทางการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (Electronics Monitoring) มาใช้ในการควบคุมตัวผู้กระทาผิดในประเทศไทย โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุมนทิพย์ จิตสว่าง และอาจารย์ ดร.ฐิติยา เพชรมุนี

 https://tlhr2014.com/archives/42398