แอมเนสตี้ ประเทศไทยเชิญชวนศิลปิน-คนทั่วไปส่งโปสการ์ดเข้าประกวดในแคมเปญ “เขียนจดหมายถึงเพื่อนในเรือนจำ” ผลงานที่ผ่านการคัดเลือกจะได้จัดแสดงนิทรรศการ “Freedom Beyond Walls” หอศิลป์กรุงเทพฯ ส่งต่อกำลังใจถึง “เพื่อนในเรือนจำ”

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จับมือหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เปิดตัวโครงการ “Freeratsadon Postcard Initiative 2025: Freedom Beyond Walls” เชิญชวนศิลปิน นักออกแบบ เยาวชน และประชาชนทั่วไปร่วมส่งโปสการ์ดเข้าประกวด เพื่อถ่ายทอดความหวังและเจตจำนงแห่งเสรีภาพส่งต่อกำลังใจให้กับ “เพื่อนในเรือนจำ” ที่เป็นผู้ต้องขังจากคดีทางการเมืองในประเทศไทย โดยโครงการนี้ไม่เพียงเป็นเวทีในการแสดงออกเชิงศิลปะ แต่ยังเป็นการส่งเสียงแห่งความหวังและสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก โดยผลงานที่ผ่านการคัดเลือกจะได้จัดแสดงที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ระหว่างวันที่ 15 – 27 กรกฎาคม 2568 และนำไปใช้สื่อสารในการรณรงค์ผ่านแคมเปญ “ฟรีราษฎร” (FREERATSADON) ต่อไป

Thai Political Tarot ศิลปินผู้ใช้ภาพประกอบในรูปแบบไพ่ทาโรต์เป็นสื่อในการสะท้อนประเด็นทางการเมือง โดยเป็นหนึ่งในศิลปินผู้ร่วมวาดภาพโปสการ์ดและเป็นกรรมการคัดเลือกผลงานให้กับแคมเปญนี้ เผยว่า ศิลปะไม่ใช่แค่การสร้างสรรค์สิ่งสวยงาม แต่คือการเคลื่อนไหว คือการต่อลมหายใจของความหวังในสถานที่ที่คำว่า “เสรีภาพ” แทบจะไร้สิทธิไร้เสียงได้
เพราะศิลปะเป็นสามารถเป็นสิ่งที่เสรีภาพเกิดขึ้นได้โดยธรรมชาติผ่านผลงานและอุดมการณ์ของศิลปินที่แต่ละคนคิดและทำได้อย่างไร้พันธนาการอย่างที่ ถนอม ชาภักดี นักคิดและภัณฑารักษ์คนสำคัญเคยกล่าวไว้ว่า ‘ศิลปะเป็นพื้นที่ของเสรีภาพในตัวมันเอง’ คำกล่าวนี้กลายเป็นแนวคิดหลักที่ Thai Political Tarot ยึดถือ และนำมาใช้เป็นรากฐานในการสร้างสรรค์งานที่ทั้งท้าทาย โอบอุ้ม และปลุกเร้าความหวังในสังคม
ขณะที่ภายใต้บริบทของการเซ็นเซอร์ การจำกัดคำพูด และการบีบช่องทางการสื่อสารของผู้เห็นต่างที่ผ่านมาพบว่าความคิดสร้างสรรค์คือเครื่องมือที่ใช้ต่อรองโดยที่ใครๆ ก็ไม่อาจปิดกั้นได้ สำหรับ Thai Political Tarot หนึ่งในศิลปินที่สนับสนุนโครงการมองว่า ศิลปะเป็นเครื่องมือของผู้ไร้เสียง เป็นพลังที่ดันเพดานคำถามให้สูงขึ้น ส่องแสงเข้าไปในมุมอับของการเมืองไทย และเป็นเหมือนกระจกสะท้อนเสียงใจของ “เพื่อนในเรือนจำ” ผู้ต้องขังทางการเมืองที่ถูกพรากสิทธิและเสรีภาพที่ผ่านมาพบว่าศิลปินหลายคนพยายามเล่าเรื่องการต่อสู้ของผู้ต้องขังทางการเมืองในแบบที่สื่อกระแสหลักไม่เอื้อต่อการนำเสนอ ซึ่ทำให้ศิลปะไม่ได้เป็นเพียงภาพที่สวยงาม แต่คือบทสนทนา คือคำถาม คือพื้นที่ที่ศิลปิน ผู้ชม และเจ้าของเรื่องราวได้มีสิทธิแสดงออกอย่างเสรี การที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดโครงการ “Freedom Beyond Walls” จัดประกวดโปสการ์ดศิลปะไปถึงผู้ต้องขังคดีการเมืองจึงให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ไม่ใช่แค่ในฐานะศิลปินแต่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่ตระหนักถึงการต่อสู้เพื่อสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก
“มนุษย์ทุกคนย่อมเคยมีช่วงเวลาที่กลัวว่าจะถูกลืม แม้ในวันที่ยังอยู่ในโลกภายนอก แต่สำหรับผู้ต้องขังคดีการเมือง ความกลัวนั้นลึกและหนักหนากว่ามาก เพราะการจองจำไม่ใช่แค่การควบคุมร่างกาย แต่คือการลบตัวตนของเขาออกจากพื้นที่สาธารณะอย่างเงียบงัน นี่คืออำนาจของการลืมที่รัฐใช้เป็นเครื่องมือ การส่งโปสการ์ดหรือจดหมายหนึ่งฉบับเข้าไปในเรือนจำจึงไม่ใช่เพียงการส่งข้อความ แต่คือการประกาศอย่างหนักแน่นว่า ‘เรายังอยู่ตรงนี้’ คือการยืนยันว่าการเคลื่อนไหวของเขายังมีความหมาย และการมีอยู่ของเขายังไม่จางหายไปจากความทรงจำของสังคม แม้มันอาจดูเป็นเรื่องเล็กสำหรับเราที่อยู่นอกกำแพง แต่สำหรับเพื่อนของเราที่อยู่ข้างใน มันคือสัญญาณของความหวัง คือการตอกย้ำว่ายังมีคนเห็นคุณค่าในสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขาอยู่เสมอ”
ณธกร นิธิศจรูญเดช เจ้าหน้าที่อาวุโส ฝ่ายรณรงค์เชิงสาธารณะ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่าปี 2567 ผ่านมา แอมเนสตี้ แอมเนสตี้ ประเทศไทยได้ส่งโปสการ์ดกว่า 700 ฉบับ เข้าไปให้เพื่อนในเรือนจำที่เป็นนักโทษคดีทางการเมือง ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากทุกคนจึงเป็นที่มาของโครงการ Freedom Beyond Walls ในปีนี้ ที่มีเป้าหมายให้ทุกคนส่งเสียงของสรีภาพผ่านงานศิลปะ ที่สำคัญการประกวดผู้ที่สนใจประกวดไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานด้านศิลปะ เพียงมีหัวใจที่ต้องการร่วมส่งโปสการ์ดที่สะท้อนแนวคิด “เสรีภาพที่ยังเดินทางได้ แม้ในกำแพงเรือนจำ” ก็สามารถเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ได้

“เสรีภาพในการแสดงออกคือรากฐานของเสรีภาพทางศิลปะ เราเชื่อว่าศิลปะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่มีพื้นที่ให้ผู้คนได้ส่งเสียงของตนเอง ในขณะเดียวกันเราหวังว่าศิลปะจะช่วยให้สังคมเข้าใจว่าเสรีภาพไม่ใช่เรื่องไกลตัว และไม่ควรถูกจำกัดด้วยกฎหมายหรืออำนาจใดๆ และเรายังเชื่อว่าศิลปะมีพลังที่เดินทางข้ามกำแพง และส่งต่อความหวังให้กับผู้ที่กำลังต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม”
บัญชา ลีลาเกื้อกูล ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย พูดทิ้งท้ายว่าการจับกุมหรือควบคุมตัวไม่ควรถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปิดปากผู้เห็นต่าง หรือขัดขวางเสรีภาพในการแสดงออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ข้อกล่าวหานั้นเกี่ยวข้องกับสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญและกฎหมายระหว่างประเทศ ขณะที่แคมเปญ “ฟรีราษฎร” ไม่ได้เป็นเพียงแค่การส่งจดหมายให้กำลังใจหรือเป็นการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ แต่ยึดหลักการสิทธิมนุษยชนสากลที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ เช่น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights – UDHR) มาตรา 11 ที่ระบุว่าบุคคลทุกคนย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าเขามีความผิดโดยกระบวนการศาล ซึ่งหลักการนี้หมายความว่า ไม่มีใครควรถูกปฏิบัติราวกับเป็นผู้กระทำผิด เพียงเพราะถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นใครหรือด้วยเหตุผลทางการเมืองใดก็ตาม

“แม้ผู้ต้องหาคดีทางการเมืองจะถูกขังอยู่ในเรือนจำ แต่ในความเป็นจริงสิทธิและศักดิ์ศรีของพวกเขาไม่ควรถูกลืมไปพร้อมกับอิสรภาพทางร่างกาย การส่งโปสการ์ดหรือเขียนจดหมายถึงเพื่อนในเรือนจำ จึงเป็นการยืนยันว่าพวกเขายังเป็นที่จดจำ มีคุณค่า มีความหวัง และมีคนที่อยู่เคียงข้าง เพราะโปสการ์ดสามารถเป็นเสียงที่เดินทางข้ามกำแพงไปในเรือนจำได้”
สำหรับผู้สนใจส่งผลงานเข้าประกวดสามารถส่งผลงานได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 14 มิถุนายน 2568 ที่ https://forms.gle/vpHy7hB4Qa89AXkC9 และหลังลงทะเบียนทีมงานจะจัดส่งลิงก์สำหรับส่งผลงานภายใน 3 วัน หากได้รับการคัดเลือกจะได้รับทุนสนับสนุนผลงานละ 5,000 บาท เพื่อส่งเสริมการสร้างสรรค์ศิลปะที่มีพลังทางสังคม พร้อมทั้งเกียรติบัตรและโอกาสเข้าร่วมกับศิลปินและนักสิทธิมนุษยชน และได้แลกเปลี่ยนความคิดและแรงบันดาลใจด้านสิทธิมนุษยชนผ่านงานศิลปะกับแอมเนสตี้ ประเทศไทยต่อไป