เครือข่ายยุติโทษประหารฯ เรียกร้องใช้จำคุกตลอดชีวิตแทนและหาทางเยียวยาผู้เสียหาย

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม เวลา 13.00 น. ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายยุติโทษประหารชีวิต ประกอบด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรม สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน สมาคมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม จัดงานเสวนาเพื่อยุติโทษประหารชีวิตในประเทศไทย ในโอกาสวันยุติโทษประหารชีวิตในประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนจากสถานทูตฝรั่งเศส

ดร.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ ผู้แทนเครือข่ายยุติโทษประหารชีวิต กล่าวว่า ประเทศไทยคุ้นเคยกับโทษประหารชีวิต ที่เป็นบทลงโทษทางกฎหมายในระบบยุติธรรมของไทยมานานหลายศตวรรษ จนกลายเป็นความเชื่อ ค่านิยม และบรรทัดฐานทางสังคม แต่มีองค์กรหลายแห่งเรียกร้องให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต ทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนจำนวนมากต้องการเห็นโทษประหารชีวิตสิ้นสุดลง และแทนที่ด้วยโทษจำคุกตลอดชีวิต วันที่ 10 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันต่อต้านโทษประหารชีวิตแห่งโลก เครือข่ายยุติโทษประหารชีวิต จึงจัดงานเสวนายุติโทษประหารชีวิต เพื่อเปิดพื้นที่ให้เกิดการเรียนรู้เรื่องโทษประหารชีวิตในประเทศอาเซียนและประเทศไทย รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้ถึงความเหมาะสมในการยุติโทษประหารชีวิต

ฌัก ลาปูฌ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย กล่าวว่า หลายประเทศยังมีการใช้โทษประหารโดยปราศจากการอภิปรายในที่สาธารณะ ซึ่งบางครั้งเพราะขาดประชาธิปไตย ขณะที่ผู้เกี่ยวข้องทางการเมืองยังนำโทษประหารมาใช้อย่างสม่ำเสมอ ฝรั่งเศสต่อต้านการนำโทษประหารมาใช้ทุกวาระเป็นพันธกิจแน่วแน่และต่อเนื่องของเรา การต่อต้านโทษประหารชีวิตเป็นภารกิจทางอารยธรรมที่เกี่ยวข้องกับพวกเราทั้งหมด ขอยืนยันว่าโทษประหารชีวิตเป็นการกระทำอมนุษย์ แทนที่จะมีการปกปักรักษาชีวิตมนุษย์ วิคเตอร์ อูโก กล่าวไว้ว่า “ไม่มีอะไรท้าทายกว่าความคิดที่มาถึงแล้ว” วันนี้ทางเลือกของพวกท่านมาถึงแล้วขออย่ารีรอที่จะต่อสู้

ต่อมาเวลา 13.20 น. เป็นการเสวนาเรื่อง “ยุติโทษประหารชีวิตในมุมมองสากล” ดำเนินรายการโดย ณัฏฐา มหัทธนา

กิโยม สิมง นักกฎหมายจากประเทศฝรั่งเศส กล่าวว่า การลงโทษด้วยโทษประหารไม่ใช่สิ่งที่เป็นประโยชน์ แม้ว่าสิงคโปร์หรือไทยจะบอกว่าเป็นสิ่งที่ควรเอามาใช้ เพราะกฎหมายต้องเข้มงวดเพื่อทำให้ประชาชนกลัว แต่การทำเช่นนี้คนไม่ได้กลัว แต่ทำให้ประชาชนชาชินมากกว่า

“เราควรให้ความหมายว่าคำว่า ‘โทษ’ คืออะไร แล้วโทษนั้นควรขยายออกไปไหม เราสามารถลงโทษผู้กระทำผิดโดยทำให้เขาไม่มีสิทธิเสรีภาพแม้แต่จะมีชีวิตต่อไปได้หรือเปล่า และถ้าเขาตายแล้ว เราก็จะไม่ได้ลงโทษเขาต่อ นอกจากนี้หากใช้การประหารแล้วยาเสพติดหายไปได้มันก็คงหายไปนานแล้ว แต่ปัจจุบันก็ยังมีอยู่ โทษประหารไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด รัฐไม่ได้พิจารณาปัญหาอย่างถูกต้อง”

กิโยมกล่าว

ฮานน์ โซฟี เกรฟ กรรมาธิการคณะกรรมการสากลต่อต้านโทษประหารชีวิต กล่าวว่า ประเทศที่นำโทษประหารมาใช้ใหม่ไม่ได้ทำให้อัตราการก่ออาชญากรรมลดลง เมื่อยกเลิกโทษประหารก็ไม่ได้ทำให้อัตราก่ออาชญากรรมเพิ่มขึ้น การใช้โทษประหารจึงไม่ได้มีผลในการป้องปรามอาชญากรรม

“ไม่นานนี้ผู้พิพากษาทางใต้ของไทยยิงตัวเอง ไม่ทราบว่าท่านอยู่ใต้ความกดดันใดหรือไม่ แต่ท่านอยู่ในประเทศที่ผู้พิพากษาเป็นผู้ตัดสินประหารทำให้ท่านต้องมีความตึงเครียดมาก การเป็นผู้พิพากษาที่ต้องตัดสินโทษประหารกับคนอื่นไม่ได้ต่างจากการทำหน้าที่ของเพชรฆาตที่พาคนไปแขวนคอ สิ่งนี้ไม่ได้ทำให้ผู้พิพากษารู้สึกดี มีผู้พิพากษาหลายท่านที่เคยตัดสินโทษประหารชีวิตลาออกจากงานเพราะไม่ได้รู้สึกดี ในโลกนี้หากเราต้องการเพิ่มศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ให้มนุษย์มีความเจริญเติบโตงอกงามและให้สังคมมีความกลมเกลียวเราต้องยกเลิกโทษประหารชีวิต”

ฮานน์กล่าว

ราจีฟ นารายัน ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบาย คณะกรรมการสากลต่อต้านโทษประหารชีวิต กล่าวว่า เมื่อก่อนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศมองโกเรียไม่ดีนัก แต่ตั้งแต่ปี 2008 มีประธานาธิบดีมองโกเลียในขณะนั้นเชื่อในการยกเลิกโทษประหารชีวิต จนยุติการใช้โทษประหารสำเร็จปี 2014 เป็นตัวอย่างที่ภาวะผู้นำทางการเมืองทำให้ยกเลิกโทษประหารได้ แม้ว่าประธานาธิบดีคนต่อมาจะพยายามนำโทษประหารกลับมาใช้

“โอกาสที่พวกเรามีคือการดำเนินการกับนานาชาติเพื่อผลักดัน เราต้องการภาคประชาสังคมและสื่อที่มีอิสระและเสรีภาพ เพื่อผลักดันโน้มน้าวให้ผู้กำหนดนโยบายยกเลิกการใช้โทษประหารชีวิต และจำเป็นต้องพูดคุยกับสาธารณชนด้วย”

ราจีฟกล่าว

ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการจังหวัด สำนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า ประเทศไทยมี 55 ฐานความผิด ที่ใช้โทษประหาร แต่พบว่าเราสามารถลดฐานความผิดบางอย่างที่ไม่ใช่อาชญากรรมรร้ายแรงที่สุดได้ เช่น การวางเพลิงเผาทรัพย์ หรือคดียาเสพติด

“อาชญากรรมในสังคมมีที่มาจากหลายสาเหตุ แต่เราโยนว่าสาเหตุเป็นเพราะโทษยังไม่แรงพอ ทั้งที่เรามีโทษประหารชีวิตอยู่แล้ว ที่จริงคือวิธีบังคับใช้กฎหมายต่างหากที่ไม่มีประสิทธิภาพ คนมีอำนาจสามารถให้เจ้าหน้าที่ชั้นต้นบิดเบือนพยานหลักฐานหรือทำลายพยานหลักฐานได้ เรียกกันว่า ‘สอบสวนแบบทำลายพยานหลักฐาน’ เพื่อช่วยคนรวย นักการเมืองที่มีอิทธิพล และเจ้าหน้าที่รัฐ ประเทศไทยมีระบบการสอบสวนโดยหน่วยงานเดียว ลบกล้องวงจรปิดได้ กล้องเสียได้ เพราะกล้องนั้นอยู่ในมือคนเพียงคนเดียว ประเทศไทยจึงต้องการระบบการสอบสวนที่ทำลายพยานหลักฐานไม่ได้”

ดร.น้ำแท้กล่าว

จากนั้นเวลา 15.00 น. เป็นการเสวนาเรื่อง “ความจำเป็นและอุปสรรคในการยุติโทษประหารชีวิตในประเทศไทย” ดำเนินรายการโดย ณัฏฐา มหัทธนา

สมชาย หอมลออ ทนายความสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า การยกเลิกโทษประหารชีวิต นอกจากจะคุ้มครองสิทธิของผู้อาจตกเป็นจำเลยในคดีอาญา ยังเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้คนอื่นในสังคม รวมถึงคนที่สนับสนุนการใช้โทษประหาร คนที่สนับสนุนความรุนแรงด้วย เมื่อกระบวนการยุติธรรมของเรายังมีข้อบกพร่องมาก โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมชั้นต้น

“บางคดีเกิดขึ้นในสถานการณ์พิเศษที่มีการใช้กฎอัยการศึกและพรก.ฉุกเฉินเช่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งให้อำนาจควบคุมตัวที่ค่ายทหาร 7 วันโดยไม่ต้องขออนุญาตศาล จากนั้นส่งตัวไปศูนย์ซักถาม คุมตัวตามพรก.ฉุกเฉินครั้งละ 7 วัน จนครบ 30 วัน ระหว่างนั้นจะมีการซักถามที่เจ้าหน้าที่เรียกว่า ‘กรรมวิธี’ ที่องค์กรสิทธิมนุษยชนพบว่าคือการทรมานเพื่อให้ได้ข้อมูล เช่น คำรับสารภาพหรือคำซัดทอด แล้วให้ลงชื่อยืนยันว่าไม่มีการทรมาน แต่ศาลไทยรับฟังบันทึกของพยานที่ให้ถ้อยคำผ่าน ‘กรรมวิธี’ โดยอธิบายว่าไม่ใช่พยานหลักฐานหลักแต่ใช้ประกอบพยานหลักฐานอื่นๆ ซึ่งถูกตั้งคำถามว่าเป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาโดยชอบหรือไม่

“กระบวนการยุติธรรมของเรามีปัญหามากและไม่มีหลักประกันให้ประชาชนในการตกเป็นแพะได้ รัฐต้องมีเจตจำนงในการปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศ เราจะมีรัฐบาลที่มีความกล้าหาญเรื่องนี้หรือไม่ หรือเรามีรัฐบาลที่เพียงแต่ต้องการฉวยประโยชน์จากสถานการณ์ที่ประชาชนไทยทุกข์ระทมจากปัญหาอาชญากรรม”

สมชายกล่าว

รศ.อัจฉราพรรณ จรัสวัฒน์ อดีตประธานหลักสูตรสาขาวิชาอาชญาวิทยาและงานนยุติธรรม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์โลกเห็นด้วยกับการยกเลิกโทษประหารเพราะให้ความสำคัญของความเป็นมนุษย์และสิทธิที่จะดำรงตนของมนุษย์ แต่ข้อจำกัดของมนุษย์มี 3 เรื่องใหญ่ 1.ความเคยชินที่ฟังตามกันมา บอกว่าคดีรุนแรงต้องประหารให้หมด ทั้งที่ไม่ใช่ทางออกในทางอาชญาวิทยา 2.ทุกคนกลัวการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม 3.ความไม่รู้

“เราต้องสร้างความตระหนักและประกาศว่าต้องการยุติโทษประหาร โดยต้องมีข้อเสนอในทุกรูปแบบ เช่น ถ้าไม่ใช้โทษประหารจะใช้สิ่งไหนทดแทน, ฉายภาพความสำคัญของความเป็นมนุษย์ ทำให้เป็นวาระแห่งชาติ มีแนวร่วมในการรณรงค์และหากองทุน, ให้ความสำคัญต่อบทบาทภาคประชาสังคม ประชาชน ชุมชน สร้างความเข้าใจเรื่องความเป็นธรรมทางสังคมและความเข้าใจทางกฎหมาย, สร้างเครือข่ายที่กว้าง หาบุคคลต้นแบบที่ถูกโทษประหารและลดโทษจนได้ออกไปทำประโยชน์ให้ชุมชน, นำประเด็นที่ยุติแล้วมาวิเคราะห์”

รศ.อัจฉราพรรณกล่าว

เกศริน เตียวสกุล อดีตนักวิชาการสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและผู้ศึกษาเรื่องนักโทษรอประหารชีวิตในเรือนจำ กล่าวว่า ตนได้ทำงานวิจัยโดยเข้าไปคุยกับนักโทษรอประหาร 20 คนที่เรือนจำบางขวางและทันฑสถานหญิงกลางแล้วพบว่านักโทษที่ถูกตัดสินประหารชีวิตทุกคนรับรู้ว่าถ้ารับสารภาพโทษจะลดลงเป็นจำคุกตลอดชีวิต แต่น่าแปลกที่พวกเขายืนยันว่าไม่ได้กระทำความผิดหรือไม่ยอมรับสารภาพ

“นักโทษที่ไม่รับสารภาพส่วนหนึ่งทำผิดจริงแต่เป็นผู้ร้ายปากแข็ง เพราะมีความเชื่อหรือได้รับการแนะนำว่าสามารถวิ่งคดีได้ คนเหล่านี้มีทุนทรัพย์ เสียเงินหลายล้านแต่ในที่สุดถูกตัดสินประหารชีวิต คนอีกกลุ่มรู้ว่ารับสารภาพแล้วโทษลดลง คู่คดีก็รับสารภาพไปแล้ว แต่เขาเชื่อว่าตัวเองไม่ได้ทำผิดแล้วจะสารภาพทำไม

“เราพูดกันเสมอว่าต้องรอให้ประชาชนเห็นพ้องกันในการยกเลิกโทษประหารชีวิต แต่สังคมมีคนที่ต้องการอยู่กับอะไรเดิมๆ เรารอไม่ได้ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องออกกฎหมายยกเลิกโทษประหารชีวิต การใช้โทษจำคุกตลอดชีวิตก็มากพอแล้ว”

เกศรินกล่าว

เวลา 16.20 น. โคทม อารียา อ่านถ้อยแถลงของเครือข่ายยุติโทษประหารชีวิต ระบุว่า ด้วยเหตุที่มีความจำเป็นที่จะปกป้องสังคมจากอาชญากรรมร้ายแรง ตลอดจนเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมต่างๆ สังคมจึงมีกระบวนการยุติธรรมเชิงโทษทัณฑ์ (retributive justice) ได้แก่ การตัดสินโทษทางอาญา การราชทัณฑ์ เป็นต้น และมีกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (restorative justice) ได้แก่ การชดเชยผู้เสียหายและการคืนความสมานฉันท์สู่สังคม

“โทษสูงสุดและเด็ดขาดทางอาญาคือโทษประหารชีวิต แต่มีข้อศึกษาทางอาชญาวิทยาว่า โทษประหารชีวิตไม่ใช่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการป้องกันอาชญากรรมและป้องปรามผู้ที่จะกระทำความผิดให้ยับยั้งชั่งใจก่อนลงมือกระทำการ ประเทศส่วนใหญ่  (ประมาณ 106 ประเทศ) ได้ยุติโทษประหารชีวิต อีกหลายประเทศ (ประมาณ 28 ประเทศ) มีการตัดสินลงโทษแต่ไม่มีการบังคับโทษประหารชีวิต (moratorium) โดยที่สถิติอาชญากรรมร้ายแรงในประเทศเหล่านี้ไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ประเทศที่เหลือ (ประมาณ 56 ประเทศ) มีการตัดสินและการบังคับโทษประหารชีวิต

“การลงโทษประหารชีวิตไม่เปิดโอกาสการกลับตัวกลับใจของผู้ถูกลงโทษ อีกทั้งกรณีการตัดสินคดีที่มีข้อผิดพลาดด้านพยานหลักฐานก็ไม่สามารถคืนความยุติธรรมได้ ในประการสำคัญการประหารชีวิตเป็นการลิดรอนสิทธิในชีวิตซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ และการปลิดปลงชีวิตน่าจะขัดกับหลักคำสอนของหลายศาสนา”

ทางเครือข่ายมีข้อเรียกร้องต่อผู้มีอำนาจหน้าที่และต่อสังคมดังนี้

1. ขอให้มีการศึกษาเรื่องบทลงโทษทางอาญา (โดยเฉพาะโทษจำคุกตลอดชีวิตและโทษประหารชีวิต) วิธีการป้องกันอาชญากรรม และการเยียวยาผู้เสียหายจากอาชญากรรมร้ายแรง

2. ขอให้พิจารณายุติโทษประหารชีวิตซึ่งจะแทนที่ด้วยโทษจำคุกตลอดชีวิต โดยแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาหมวดโทษ มาตรา 18 เป็น “โทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิดมีดังนี้ 1. จำคุก 2. กักขัง 3. ปรับ 4. ริบทรัพย์สิน” และขอให้ยกเลิกข้อความในมาตรา19 “ผู้ใดต้องโทษประหารชีวิต ให้ดำเนินการด้วยวิธีฉีดยาหรือสารพิษให้ตาย”

3. ในระหว่างที่ยังไม่มีการแก้ไขกฎหมายในเรื่องนี้ ขอให้พักการบังคับโทษประหารชีวิต

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแอมเนสตี้
บริจาคสนับสนุนแอมเนสตี้