แอมเนสตี้พบเมียนมากีดกันไม่ให้เด็กโรฮิงญาเข้าโรงเรียนและกดขี่สารพัดวิธี 

23 พฤศจิกายน 2560

 

แอมเนสตี้เผยรายงานวิจัยที่ใช้เวลารวบรวมข้อมูลกว่าสองปี พบทางการเมียนมากีดกันและกดขี่ชาวโรฮิงญาอย่างเป็นระบบ ทำให้พวกเขาเข้าไม่ถึงการศึกษา ระบบสาธารณสุข ไม่มีเสรีภาพในการเดินทางและการประกอบอาชีพ ตลอดจนถูกบีบให้มีสถานะทางกฎหมายในเมียนมายากขึ้นด้วย ซึ่งทั้งหมดเข้าข่ายอาชญากรรมต่อมนุษยชาติตามกฎหมายระหว่างประเทศ

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดตัวรายงานวิจัยฉบับใหม่ชื่อว่า “Caged Without a Roof” หรือ “กรงขังที่ไร้หลังคา” ซึ่งเปิดเผยให้เห็นความเป็นมาและบริบทของการเลือกปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญาในเมียนมาอย่างเป็นระบบ ส่งผลให้พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาและการรักษาพยาบาล ตลอดจนไม่สามารถเดินทางออกนอกพื้หมู่บ้านได้ ซึ่งไม่ต่างจากการถูกกักขัง

 

รายงานดังกล่าวเป็นผลจากการสืบสวนนานสองปีของนักวิจัยแอมเนสตี้ เพื่อวิเคราะห์เชิงลึกต่อรากปัญหาสิทธิมนุษยชนในรัฐยะไข่ของเมียนมา พบว่าทางการเมียนมาได้สร้างข้อจำกัดต่อชีวิตทุกด้านของชาวโรฮิงญา ตั้งแต่การปิดกั้นเสรีภาพในการเดินทาง ซึ่งส่งผลต่อการเข้าถึงการรักษาพยาบาลและการทำมาหากินในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงการกีดกันไม่ให้เด็กๆ เข้าโรงเรียนและการไม่ให้สัญชาติ

 

การกีดกันและกดขี่ดังกล่าวทำอย่างเป็นระบบ โดยแอมเนสตี้ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นประเด็นที่ไม่ได้รับความสนใจเท่ากับความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญาซึ่งเกิดขึ้นเป็นระลอกๆ โดยครั้งล่าสุดเมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา กองกำลังความมั่นคงของเมียนมาได้สังหาร เผาทั้งหมู่บ้าน และบังคับให้ชาวโรฮิงญาประมาณ 600,000 คนต้องหลบหนีข้ามชายแดนไปยังบังกลาเทศ ยังไม่นับรวมการข่มขืนอีกหลายกรณีที่ถูกรายงานไปแล้วก่อนหน้านี้

 

อันนา นีสตัต ผู้อำนวยการอาวุโสด้านการวิจัย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า “แม้ว่าการละเมิดสิทธิเหล่านี้จะไม่ปรากฏให้เห็นชัดเจนเท่ากับประเด็นพาดหัวข่าวในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แต่ก็เป็นเรื่องโหดร้ายทารุณไม่แพ้กัน การมองไปถึงรากของวิกฤตการณ์ในปัจจุบันมีความสำคัญต่อการยุติวงจรการแบ่งแยกเชื้อชาติ”

 

 

ถูกกักบริเวณ

 

แอมเนสตี้พบว่าชาวโรฮิงญาจำนวนมากถูกกักบริเวณไม่ให้เดินทางออกนอกหมู่บ้าน โดยการเดินทางออกนอกพื้นที่ของตัวเองจำเป็นต้องขออนุญาตจากทางการก่อน โดยเฉพาะในตอนกลางของรัฐยะไข่ ชาวโรฮิงญาบางหมู่บ้านไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ถนนและต้องเดินทางทางน้ำเท่านั้น ส่วนคนที่ได้รับอนุญาตให้เดินทาง มักถูกตรวจค้น คุกคาม และรีดไถจากเจ้าหน้าที่

 

ชายชาวโรฮิงญาคนหนึ่งเล่าถึงเหตุการณ์ที่รถโดยสารที่เขานั่งมาถูกตำรวจโบกให้จอดว่า “มีตำรวจทั้งหมดสี่นาย สองนายใช้ไม้เท้าตีที่หลัง ไหล่ และขาอ่อนผู้ชายคนหนึ่ง ส่วนอีกคนหนึ่งใช้มือตบหน้าผู้หญิงสี่หรือห้าครั้ง ... หลังจากนั้นก็เอาตัวพวกเขาไปโรงพัก”

 

ทางการเมียนมาประกาศเคอร์ฟิวในเขตที่อยู่อาศัยของชาวโรฮิงญาหลายครั้ง โดยระหว่างการทำงานวิจัยชิ้นนี้ นักวิจัยแอมเนสตี้ได้พบเห็นตำรวจตระเวนชายแดนเตะชายชาวโรฮิงญาที่ด่านตรวจ พร้อมทั้งเก็บข้อมูลวิสามัญฆาตรกรรมได้อย่างน้อยหนึ่งกรณี ซึ่งเป็นการยิงสังหารชายอายุ 23 ปีที่เดินทางในช่วงเวลาเคอร์ฟิว

 

 

เข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาล

 

เสรีภาพในการเดินทางที่ถูกริดลอนส่งผลให้ชีวิตของชาวโรฮิงญาตกอยู่ในความเสี่ยง พวกเขาถูกกีดกันไม่ให้ใช้บริการที่โรงพยาบาลซิตตเว ซึ่งถือเป็นโรงพยาบาลที่มีมาตรฐานที่สุดในรัฐยะไข่ ยกเว้นเฉพาะกรณีผู้ป่วยอาการร้ายแรง โดยต้องได้รับอนุญาตเป็นพิเศษจากทางการและต้องมีตำรวจคุมขณะเดินทางไปโรงพยาบาลด้วย

 

ชายอายุ 50 ปีเศษคนหนึ่งกล่าวว่า “ผมอยากไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลซิตตเว แต่พวกเขาห้ามไม่ให้ไป เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลบอกว่าผมไปที่นั่นไม่ได้เพราะอาจจะไม่ปลอดภัย และบอกให้ผมไปรักษาตัวที่บังกลาเทศแทน ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก พี่ชายผมต้องขายนาข้าวและวัวบางส่วนเพื่อจ่ายค่าเดินทางให้ผม นี่ถือว่าผมยังโชคดี....ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีเงินจ่ายแบบนี้ได้ พวกเขาได้แต่รอความตาย”

 

ในพื้นที่อื่นนอกจากตอนเหนือของรัฐยะไข่ ชาวโรฮิงญาเข้าถึงสถานพยาบาลได้เพียงไม่กี่แห่ง คนไข้โรฮิงญาเหล่านี้จะถูกกักให้อยู่ในเฉพาะ “หอผู้ป่วยมุสลิม” ซึ่งมีตำรวจคุมอยู่ เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์คนหนึ่งเปรียบเทียบว่าหอผู้ป่วยเหล่านี้คือ “โรงพยาบาลที่เป็นเหมือนเรือนจำ”

 

 

เด็กๆ ไม่ได้เรียนหนังสือ

 

นับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ทางการเมียนมายังเพิ่มมาตรการจำกัดการเข้าถึงการศึกษาของเด็กๆ ชาวโรฮิงญาในพื้นที่ส่วนใหญ่ของรัฐยะไข่ ทำให้เด็กชาวโรฮิงญาไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเรียนในโรงเรียนรัฐบาลร่วมกับเด็กคนอื่นๆ อีกต่อไป ส่วนข้าราชการครูหลายคนก็มักปฏิเสธไม่เดินทางไปสอนในพื้นที่ของชาวมุสลิม ทั้งที่ก่อนหน้านี้โรงเรียนเปิดรับเด็กจากหลากหลายเชื้อชาติ

 

ชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่ไม่ได้รับการศึกษาระดับอุดมศึกษา หลายคนที่พูดคุยกับนักวิจัยแอมเนสตี้แสดงความท้อใจและสิ้นหวังต่ออนาคตของตัวเอง

 

“หนูอยากเรียนต่อ โตขึ้นหนูอยากเป็นหมอ แต่หนูคงเป็นไม่ได้เพราะทางการไม่อนุญาต” วัยรุ่นหญิงชาวโรฮิงญาวัย 16 ปี บอกกับแอมเนสตี้

 

244955_Rohingya children_ Myanmar.jpg

 

ประกอบอาชีพยากลำบาก

 

การควบคุมการเดินทางที่เข้มงวดยังส่งผลกระทบต่อการหาเลี้ยงชีพของชาวโรฮิงญา มีการตัดเส้นทางการค้าไม่ให้พ่อค้าแม่ค้าเดินทางไปตลาดได้ เกษตรกรถูกห้ามไม่ให้ทำไร่ไถนา ขณะที่ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมก็ถูกกีดกันจากทางการ ส่งผลให้ภาวะขาดแคลนอาหารและความยากจนกลายเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในชุมชนโรฮิงญา

 

 

กฎหมายเหยียดเชื้อชาติ

 

นักวิจัยแอมเนสตี้วิเคราะห์ว่าหัวใจหลักของการเลือกปฏิบัติแทบทั้งหมดคือกฎหมายและท่าทีของทางการเมียนมาที่มีลักษณะเหยียดเชื้อชาติอย่างชัดเจนและเปิดเผย โดยเฉพาะพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2525 ซึ่งปฏิเสธไม่ให้สัญชาติกับชาวโรฮิงญา โดยอ้างเหตุผลเกี่ยวกับชาติพันธุ์ของพวกเขา

 

ทางการเมียนมาจงใจยกเลิกบัตรประจำตัวของชาวโรฮิงญาซึ่งถูกจำกัดอยู่แล้วในอดีต และนับตั้งแต่ปี 2559 รัฐบาลเพิ่มความยุ่งยากเพื่อกีดกันไม่ให้ชาวโรฮิงญาลงทะเบียนทารกแรกเกิดในทะเบียนบ้าน ซึ่งเป็นหลักฐานชิ้นเดียวที่สามารถยืนยันถิ่นที่อยู่ในเมียนมาของพวกเขาได้

 

ขณะที่ในตอนเหนือของรัฐยะไข่ คนที่ไม่กลับมาบ้านระหว่าง “การนับหัวประชากร” ประจำปีก็มีสิทธิถูกตัดชื่อออกจากบัญชีรายชื่อของทางการโดยสิ้นเชิง ส่งผลให้ชาวโรฮิงญาที่หลบหนีออกนอกประเทศแล้วแทบจะไม่มีโอกาสเดินทางกลับมายังถิ่นฐานบ้านเกิดได้อีกเลย

 

 

การแบ่งแยกเชื้อชาติอย่างเป็นระบบ

 

จากการวิเคราะห์หลักฐานเชิงกฎหมายอย่างละเอียด แอมเนสตี้สรุปว่าการปฏิบัติของทางการเมียนมาต่อชาวโรฮิงญาถือเป็นการแบ่งแยกทางเชื้อชาติหรือ Apartheid ตามคำจำกัดความของอาชญากรรมต่อมนุษยชาติในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการแบ่งแยกทางเชื้อชาติและธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ

 

การแบ่งแยกทางเชื้อชาติเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติอย่างหนึ่ง ครอบคลุมการกระทำหลายรูปแบบที่เกิดขึ้นในบริบทของการกดขี่อย่างเป็นระบบและการครอบงำเชิงโครงสร้าง กระทำโดยกลุ่มเชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่งต่อกลุ่มเชื้อชาติกลุ่มอื่น และมีเจตจำนงที่จะกระทำต่อไปเรื่อยๆ

 

ในกรณีนี้เห็นได้ชัดเจนคือการที่ทางการเมียนมาใช้มาตรการทางกฎหมายและอำนาจในการปกครองกีดกันชาวโรฮิงญาไม่ให้เข้าถึงสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอย่างการศึกษา การรักษาพยาบาล และเสรีภาพในการเดินทาง ตลอดจนขัดขวางไม่ให้ชาวโรฮิงญาสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตในทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของพวกเขาได้