ผลกระทบของโรคโควิด-19 ต่อกลุ่มผู้เปราะบาง คนชายขอบผู้ถูกรัฐไทยทอดทิ้งไว้ข้างหลัง

13 กันยายน 2564

Amnesty International Thailand

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล ร่วมกับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจําประเทศไทย สํานักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ จัดงานเสวนา “มาตรฐานสากลว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม กับผลกระทบของโรคโควิด-19 ต่อกลุ่มผู้เปราะบางในประเทศไทย” เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกคนรวมทั้งกลุ่มคนชายขอบและผู้เปราะบางซึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรฐานการควบคุมโรค รวมถึงการเข้าไม่ถึงบริการทางสุขภาพขั้นพื้นฐาน จนเกิดเป็นความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่งซึ่งสังคมไทยในเวลานี้ยังข้ามไม่พ้น

 

ดร.จูเซปเป บูชินี่ อุปทูตรักษาการ คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่า โควิดได้ส่งผลกระทบต่อคนทุกกลุ่ม แต่มีคนบางกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากกว่าโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้พิการ ผู้ลี้ภัย ชนเผ่าพื้นเมืองหรือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เป็นต้น สหภาพยุโรปส่งเสริมแนวทางให้รัฐบาลสามารถตอบสนองต่อการป้องกันโรคระบาดและสามารถฟื้นฟูปัจจัยต่างๆ ในประเทศได้ สิทธิมนุษยชนจำเป็นต้องเป็นส่วนกลางของนโยบายทั้งหมดของภาครัฐในการต่อสู้ต่อโรคระบาด เพื่อให้แน่ใจว่าเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังในการจะฟื้นตัวจากโรคระบาด และขอย้ำว่าสหภาพยุโรปสนับสนุนการบรรเทาความเดือดร้อนจากโรคระบาดที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและวัฒนธรรม เรามียุโรปแพ็กเกจเพื่อสนับสนุนประเทศต่างๆ ที่เป็นสมาชิกในการรับมือกับโควิดและผลที่ตามมาหลังจากนั้น โดยนำทรัพยากรที่มีมารวมกันจนมีจำนวนเงินที่มาอยู่รวมกันเพื่อหาทางบรรเทาและแก้ไขโรคระบาดในประเทศต่างๆ "ภายหลังการระบาดโควิดนั้นทำให้เห็นความเปราะบางและความเชื่อมโยงที่เรามีต่อกัน เพราะทำให้เราตระหนักได้ว่าไม่มีใครปลอดภัยจนกว่าเราจะปลอดภัย และทำให้เราได้แก้ไขข้อผิดพลาดในอดีต สร้างโลกที่เป็นธรรม ยั่งยืนมากขึ้นสำหรับทุกคน สิ่งที่เราสร้างคือสังคมที่ยุติธรรม เท่าเทียม โดยไม่คำนึงเรื่องเชื้อชาติ ชาติพันธุ์หรือเพศสภาพ ทุกคนควรได้รับและใช้สิทธิเสรีภาพที่ติดตัวมาแต่กำเนิดอย่างเต็มที่" ดร.จูเซปเปกล่าว

 

ดร. เสรี นนทสูติ สมาชิกคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม กล่าวว่า กติกาสากลว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมนั้นเกี่ยวเนื่องและแบ่งแยกกันไม่ได้ สิทธิต่างๆ จึงอยู่ด้วยตัวเองไม่ได้ เช่น สิทธิสุขภาพจะมีขึ้นโดยปราศจากสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมืองในการกำหนดนโยบายด้านสิทธิสุขภาพ ฉะนั้น หากประเทศไทยต้องรายงานและตอบคำถามต่อคณะกรรมการในแต่ละอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน คำถามของคณะกรรมการจะไม่จำกัดอยู่เฉพาะสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม แต่จะถามในแง่ของสิทมธิอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม หรือคือสิทธิในระบบนิเวศเดียวกันนั้นมันกระทบกระเทือนกันอย่างไร จากนั้นเมื่อคณะกรรมการพิจารณาแล้วจะออกข้อสรุปและให้ลำดับสีเขียว เหลืองและแดงในสิ่งที่ต้องจับตาในแต่ละประเทศ "ทั้งนี้ โควิด-19 ไม่ได้เป็นเพียงประเด็นด้านสุขภาพ แต่นำไปสู่ปัญหาด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และมาตรการล็อคดาวน์ต่างๆ นั้นโดยนิยามยังเป็นการจำกัดสิทธิมนุษยชน จึงต้องถูกพิจารณาด้านความจำเป็น มีเหตุผลและได้สัดส่วนด้วย ประชาชนแต่ละกลุ่มนั้นได้รับผลกระทบจากโควิดต่างกันออกไป แต่กลับใช้มาตรกฐานการล็อคดาวน์แบบเดียวกัน จึงมีบางกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักกว่าคนอื่น" ดร. เสรีกล่าว และว่า สำหรับเรื่องวัคซีนนั้น ในประเทศที่กำลังพัฒนาและประเทศที่พัฒนาช้าหลายๆ ประเทศ คนส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับวัคซีน การจัดสรรความเร่งด่วนด้านงบประมาณและการกระจายงบประมาณต้องปรับตัวต่อการเคลื่อนไหวต่างๆ ของเชื้อโควิดเป็นหลัก ที่สำคัญคือความชัดเจนด้านการสื่อสารซึ่งต้องชัดเจนเพื่อให้นโยบายต่างๆ สอดคล้องกันด้วย และขณะนี้มีข้อมูลแล้วว่าต้องมีการให้วัคซีนเป็นระยะๆ เพื่อให้เกิดการคุ้มกันอย่างต่อเนื่อง กรอบนโยบายจึงต้องคล่องตัว วางอยู่บนหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และมีธรรมาภิบาล

 

กลุ่มคนเปราะบาง ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่น้อยกว่าใคร

นรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อํานวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กล่าวถึงภาพรวมกลุ่มคนเปราะบางในไทยแต่ละกลุ่มว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลจัดตั้งศูนย์ดูแลคนพิการแบบเบ็ดเสร็จทั้งสิ้น 83 แห่ง, พยายามเพิ่มเบี้ยคนพิการเป็น 1,000 บาทและพักชำระหนี้ให้ ทำให้สามารถช่วยเหลือคนพิการได้มากกว่าสองล้านคน แต่ยังมีข้อท้าทายในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเรื่องโควิดต่างๆ และการเข้าถึงวัคซีน ขณะที่กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ แม้เราจะไม่มีมาตรการเฉพาะในการจัดการปัญหาโควิดให้ แต่หลายโรงพยาบาลก็มีการจัดทำคลีนิกเฉพาะที่ดูแลครอบคลุมทั้งทางด้านร่างกายจิตใจของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ แต่ยังมีความท้าทายอยู่บ้างที่ผูัมีความหลากหลายทางเพศหลายคนไม่อาจไปบริจาคเลือดเพื่อช่วยเหลือคนอื่นๆ ระหว่างภาวะการขาดแคลนเลือดช่วงโควิดได้ หรือความยากลำบากในการไปขอรับฮอร์โมนในช่วงโควิด

 

“ขณะที่ในกลุ่มแรงงาน กระทรวงแรงงานก็มีมาตรการหลายๆ ด้านทั้งในระบบและนอกระบบ คือมีเงินเยียวยาช่วยเหลือทั้งลูกจ้างและผู้ประกอบการ ทั้งยังพยายามให้เข้าถึงการตรวจโควิดและการฉีดวัคซีน การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ หลายหน่วยงานก็มีการจัดล่ามหลายภาษาเพื่อให้แรงงานได้ข้าถึงข้อมูลต่างๆ มากขึ้น ขณะที่กลุ่มสุดท้ายคือผู้ต้องขัง ในกระบวนการยุติธรรมก็พยายามขยายช่องทางการเข้าถึงบริการต่างๆ ส่วนในเรือนจำซึ่งมีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดนั้น ทางเรือนจำก็ได้พยายามแก้ไขให้มีการคัดกรอง แยกโซนและตรวจหาเชื้อกันบ่อยมาก และให้เยี่ยมญาติผ่านแอพลิเคชั่นต่างๆ” นรีลักษณ์กล่าว

 

คนพิการ ความเสี่ยงและข้อจำกัดในช่วงล็อคดาวน์

ผศ.อานนท์ ศรีบุญโรจน์ อาจารย์ประจําคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวว่าคนพิการมีเงื่อนไขจำกัดในการเข้าถึงข้อมูล เช่น ถ้าพิการด้านการมองเห็นทำให้ไม่สามารถอ่านค่าการตรวจวัดการรับเชื้อโควิด-19 ได้ หากให้คนอื่นช่วยอ่านก็อาจทำให้เกิดความเสี่ยงด้วย หรือคนตาบอดต้องใช้มือหยิบจับอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อใช้ชีวิต ทำให้อาจสัมผัสโรคได้ง่าย คนพิการหลายคนจึงเต็มไปด้วยข้อจำกัดหลายประการ

 

นอกจากนี้ คนพิการยังถูกจำกัดเรื่องการทำงาน เช่น ทำอาชีพนวดแผนไทยก็อาจประกอบอาชีพไม่ได้ เมื่อเกิดโควิด-19 ก็ทำให้คนพิการตกงานเยอะ ทั้งการจะหางานใหม่ก็เป็นเรื่องยาก คนพิการหลายภาคส่วนจึงหันไปประกอบอาชีพอิสระ หลายคนไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ ทำให้ต้องให้คนรอบๆ ข้างช่วยเหลือจนอาจทำให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อมากกว่าเดิม และแม้โรงพยาบาลหลายแห่งจะสร้างพื้นที่รองรับคนพิการหรือศูนย์พักคอย แต่ก็อาจไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยจนทำให้เกิดความยากลำบากในการรักษา 

 

“ปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้าเป็นคนพิการต่างจังหวัด การเข้าถึงข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ก็มีข้อจำกัดพอสมควร อยากให้ภาครัฐทำเว็บไซต์ที่มีลักษณะเป็นมิตรต่อผู้พิการกว่านี้ หรือทำข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบที่คนพิการเข้าถึงได้และหลากหลายรูปแบบ” อานนท์กล่าว และว่า แม้แต่ด้านการศึกษา เมื่อมีการปิดเรียน นักเรียนนักศึกษาพิการจึงต้องอยู่บ้าน เทคโนโลยีหลายอย่างไม่ตอบสนองต่อการเข้าถึงของคนพิการ นอกจากนี้ คนพิการที่มีความทับซ้อนกลุ่มเปราะบางอื่นๆ เช่น คนพิการชนกลุ่มน้อย คนพิการที่หลากหลายทางเพศ ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยยังต้องเผชิญปัญหาและความลำบากอย่างหนัก จึงอยากให้ภาครัฐเผยแพร่ข้อมูลอย่างกว้างขวางและอยู่ในรูปแบบที่คนพิการทุกกลุ่มเข้าถึงได้ 

 

ผู้ต้องขัง เหยื่อการแพร่ระบาดของโควิดในเรือนจำ

ภัทรานิษฐ์ เยาดํา เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายรณรงค์นโยบาย แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นเนล ประเทศไทย กล่าวว่า ด้วยสถานะทางกฎหมายของผู้ต้องขังยิ่งทำให้รัฐต้องเพิ่มมาตรการในการคุ้มครองเสรีภาพและสิทธิต่างๆ เป็นพิเศษ ทั้งนี้ ในรัฐธรรมนูญไทยก็ระบุไว้ว่าทุกคนมีสิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างมีประสิทธิภาพ โดยห้ามเลือกปฏิบัติไม่ว่าบุคคลนั้นจะอยู่ในสถานะใดก็ตาม แต่ผู้ต้องขังเองก็มีภาวะเปราะบางโดยเฉพาะผู้ต้องขังที่มีเงื่อนไขทางสุขภาพและอายุมากกว่า 60 ปีซึ่งทำให้เสี่ยงการติดโควิดมากกว่าคนกลุ่มอื่น 

 

"ที่ผ่านมา อัตราการลดลงของนักโทษในเรือนจำนั้นน้อยมาก คิดเป็น 0.02 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ปัจจุบันมีนักโทษติดโควิดประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ ที่ผ่านมากรมราชทัณฑ์พยายามแก้ไขปัญหาด้วยการตรวจเชิงรุกแก่ผู้ต้องขัง มีการกันบริเวณทำภาคสนามหรือปรับปรุงคุณภาพของ รพ กรมราชทัณฑ์ ทั้งยังแบ่งแยกอาการผู้ป่วยเป็นลำดับ" ภัทรานิษฐ์กล่าว และว่า ที่ผ่านมากรมราชทัณฑ์จัดเรือนจำชั่วคราวซึ่งยังขาดสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้ การทำให้ปัจจัยสาธารณสุขเข้าถึงได้นั้นต้องทำให้แต่ละบุคคลเข้าถึงได้ในเชิงกายภาพด้วย เช่น ต้องทำให้ผู้ต้องขังที่ป่วยสามารถเข้าถึงโรงพยาบาลภายนอกได้ด้วย หากมีข้อจำกัดใดๆ ก็ต้องยกเลิกกฎนั้นก่อน และการเข้าถึงได้ในแง่เศรษฐกิจคือการตรวจหาเชื้อโควิดฟรี เช่นเดียวกับการเข้าถึงวัคซีนซึ่งต้องฟรีและมีคุณภาพ แต่ที่ผ่านมาเราพบว่าผู้ต้องขังที่ไม่ได้เป็๋นสัญชาติไทยต้องจ่ายค่าใช้จ่ายแยกในการตรวจโควิด 

 

“นอกจากนี้ การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของผู้ต้องขัง เจ้าหน้าที่ต้องบอกข้อเท็จจริงเพื่อให้ผู้ต้องขังไม่ตื่นตระหนกและดูแลตัวเองได้ในระดับหนึ่ง และผู้ต้องขังก็มีสิทธิในการรู้ข้อมูลข่าวสารจากโลกภายนอก และต้องใส่ใจถึงความอ่อนไหวเรื่องเพศวิถีของผู้ต้องขัง หากผู้ต้องขังเป็นผู้หลากหลายทางเพศ การเข้าถึงบริการสุขภาพก็ต้องคำนึงถึงความหลากหลายนั้นด้วย” ภัทรานิษฐ์กล่าว

 

ชนพื้นเมือง ความหลากหลายในไทยที่รัฐไม่เคยให้การเยียวยา

นิตยา เอียการนา ผู้อำนวยการสมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย กล่าวว่าประเทศไทยมีประชากรชนเผ่าพื้นเมืองกว่าสี่ล้านราย ในช่วงสถานการณ์โควิดนั้นหลายคนเข้าไม่ถึงข้อมูล ไม่ว่าจะการดูแลตัวเอง ป้องกันหรือการรับรู้ข้อมูลอาการบ่งชี้ต่างๆ ทั้งนี้ หมู่บ้านหลายแห่งเป็นหมู่บ้านห่างไกลทำให้ปิดชุมชนได้สะดวกรวดเร็ว หลายแห่งปิดชุมชนก่อนมีคำสั่งจากภาครัฐเสียอีก แต่ก็มีกลุ่มชนพื้นเมืองหลายรายที่ใช้ชีวิตในเมือง ส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้แรงงาน และประสบความยากลำบากมากเนื่องจากส่วนใหญ่ตกงานและต้องอยู่อย่างแออัด มิหนำซ้ำ การเข้าถึงความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐในช่วงแรกก็ถูกเลือกปฏิบัติ 

 

"กระบวนการเข้าถึงความช่วยเหลือนั้นยากลำบากและเหมาะสำหรับคนที่มีเทคโนโลยีในมือ ชนพื้นเมืองหลายคนจึงแทบจะเข้าไม่ถึงการเยียวยาจากรัฐ หลายคนไม่กล้าไปรับวัคซีน เนื่องจากข้อมูลข่าวสารไม่เพียงพอจนทำให้ผู้คนหวาดกลัว" นิตยากล่าว และว่า การระบาดในระลอกที่สองและสามที่ผ่านมาทำให้ชนพื้นเมืองที่ทำงานในเมืองหลายคนเดินทางกลับชุมชน แต่ด้วยความที่ขาดความรู้ในการป้องกันตัวเองก็ทำให้เป็นพาหะนำโควิดไปกระจายให้คนในชุมชน ซึ่งโรคนั้นแพร่กระจายอย่างรวดเร็วจนหลายชุมชนรับมือไม่ทัน ทั้งยังพบว่าด่านหน้าอย่าง อสม. ก็แทบไม่มีอุปกรณ์ในการดูแลผู้ช่วยซึ่งเป็นชุมชนพื้นเมืองจนต้องลุกขึ้นมาขอรับบริจาค ทั้งที่งบประมาณจากรัฐนั้นมหาศาลมาก นอกจากนี้ การจะให้หน่วยงานรัฐเข้ามาช่วยเหลือต้องใช้เวลา 1-2 วัน ระหว่างนั้นชุมชนต้องจัดการตัวเองแบบไม่มีทิศทาง 

 

โดยนิตยาเสนอทางออกว่า ในระยะยาว ชุมชนอาจต้องลุกขึ้นมาจัดตั้งกลไกต่างๆ และสร้างเครือข่ายเพื่อให้เกิดการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพราะชุมชนไหนที่ยังมีสิทธิในการเข้าถึงที่ดิน ใช้ทรัพยากรได้ จะอยู่รอดได้ในระยะยาวและเกื้อหนุนผู้อื่นได้ด้วย

 

กลุ่มคนข้ามชาติ เมื่อไม่ใช่คนไทยจึงไม่มีสิทธิได้รับการเยียวยา?

อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงาน เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) กล่าวว่า กลุ่มคนข้ามชาติเป็นกลุ่มเปราะบางตั้งแต่ก่อนมีการระบาดของโควิดเสียอีก พบว่าปัญหาหลักที่เจอคือการถูกเลือกปฏิบัติและการเข้าถึงข้อมูล โดยเฉพาะช่วงหลังโควิดที่การเลือกปฏิบัติยิ่งรุนแรงมากขึ้น เช่น ตลาดบางแห่งที่เขียนว่าห้ามไม่ให้คนพม่าเข้าตลาด หรือการตีตราจากภาครัฐเองที่ให้ข้อมูลจนทำให้มีแรงงานจำนวนหนึ่งที่ป่วยแล้วไม่กล้าไปรักษา นอกจากนี้ ยังมีแรงงานจำนวนมากที่มีเอกสารถูกต้องตามกฎหมาย แต่กระบวนการของรัฐที่ยุ่งยากทำให้หลายคนหลุดจากระบบและไม่มีเอกสารในที่สุด 

 

"การระบาดระลอกสาม เมื่อผู้ป่วยมากขึ้นทำให้กระบวนการเข้าถึงการคัดกรองยากมากขึ้น ปัจจุบันก็มีโรงพยาบาลหลายแห่งไม่ยอมตรวจโควิดให้แรงงานข้ามชาติซึ่งหากปล่อยเป็นเช่นนี้ต่อไปจะยิ่งทำให้ภาวะการระบาดรุนแรงมากขึ้น หลายคนยังไม่กล้าเปิดเผยตัวว่าเป็นแรงงานข้ามชาติเนื่องจากหวาดกลัว เพราะมาตรการต่างๆ ของรัฐ เช่น แม้กระทรวงสาธารณสุขจะกระตุ้นให้ทุกคนมารับการตรวจ แต่กระทรวงแรงงานกลับแต่งตั้งกลุ่มคนมาไล่จับคนที่เป็นแรงงานผิดกฎหมาย" อดิศรกล่าว และว่านอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้ลี้ภัยในเมืองจำนวนราวหมื่นคนที่เข้าไม่ถึงระบบการดูแล ทั้งยังไม่เข้าถึงข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะข้อมูลจากภาครัฐที่เป็นภาษาไทยเสียส่วนใหญ่ โดยส่วนมากแล้วพวกเขามักอยู่ร่วมกันหลายคนทำให้ไม่อาจเว้นระยะห่างทางสังคมได้ และไม่มีหลักประกันสุขภาพสำหรับผู้ลี้ภัยด้วย ขณะที่กลุ่มเด็กข้ามชาติเองก็เผชิญปัญหาเนื่องจากหลายคนไม่พร้อมสำหรับเรียนออนไลน์ ทำให้ต้องไปรับจ้างทำงานไม่เหมาะสมเช่น ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ 

 

“ขณะที่แอพลิเคชั่นในการเข้าถึงความช่วยเหลือจากรัฐก็ต้องกรอกเลข 13 หลัก ทำให้คนข้ามชาติหลายคนทำไม่ได้ หรือผู้ประกันตนมาตรา 33 ก็ล็อคให้นายจ้างเป็นผู้ติดต่อจัดการให้ แรงงานข้ามชาติไม่สามารถติดต่อเองได้” อดิศรกล่าว

 

แรงงานนอกระบบ กลุ่มคนเปราะบางและยากจนมาตั้งแต่ก่อนโควิด

สุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง กรรมการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ กล่าวว่า ประเทศไทยไม่มีการจัดตั้งองค์กรสหภาพ แม้ว่าปัจจุบันเราจะมีมาตรา 40 ซึ่งเป็นการประกันตนโดยสมัครใจ ที่ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบของตัวเองพร้อมรัฐช่วยเหลืออีก 30 เปอร์เซ็นต์โดยไม่มีนายจ้างร่วมจ่าย แต่ไม่ครอบคลุมหากตกงาน ดังนั้น ก่อนจะมีโควิดกลุ่มแรงงานนอกระบบก็เป็นกลุ่มเปราะบางที่ยากจนและไม่ได้รับการคุ้มครองจากระบบประกันสังคมอยู่แล้ว

 

"ช่วงโควิด แรงงานนอกระบบจำนวนมากสูญเสียการจ้างงาน กลุ่มแรงงานนอกระบบไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่ทำหน้าที่ผลิตหรือทำหน้าที่ดูแลผู้อื่น เช่น ทำงานบ้าน หรือภาคบริการจะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ตกงาน และจะเป็นกลุ่มสุดท้ายที่จะได้รับการพิจารณาให้กลับมามีงานทำ ให้กลับมาประกอบอาชีพได้ ในความเป็นจริง ปัจจุบันวัคซีนก็ไม่เพียงพอและรัฐไทยที่เน้นการให้วัคซีนต่อกลุ่มเสี่ยงในแง่อายุกับโรค แต่ยังไม่มีกลุ่มเสี่ยงด้านอาชีพ ทั้งที่กลุ่มภาคบริการเองก็เป็นกลุ่มเสี่ยงและควรเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับวัคซีนเช่นเดียวกัน" สุนทรีกล่าว ทั้งยังว่า นอกจากการไม่เข้าถึงวัคซีน แรงงานนอกระบบหลายคนก็เข้าไม่ถึงเงินเยียวยาจากรัฐ เพราะแรงงานนอกระบบหลายคนไม่ได้มีสมาร์ตโฟนทำให้ถูกตัดสิทธิในการเข้าถึงความช่วยเหลือ หากจะไปติดต่อกับทางภาครัฐด้วยตนเองก็ต้องไปแออัดที่สำนักงานจนอาจทำให้เกิดความเสี่ยง ที่ผ่านมา รัฐออกเงินเยียวยาให้ผู้ประกันตนมาตรา 39 ก็จริง แต่ให้เฉพาะผู้ที่อยู่ใน 29 จังหวัดสีแดงเข้ม ทั้งที่จริงๆ แล้วคนที่เป็นแรงงานนอกระบบ 3.5 ล้านคนทั่วประเทศล้วนได้รับผลกระทบทุกจังหวัด

 

กลุ่มผู้ค้าบริการ อาชีพผิดกฎหมายแต่ทำรายได้ให้สังคมที่ถูกภาครัฐทอดทิ้ง

สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อํานวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) กล่าวว่าต่อให้ไม่เกิดโควิด กลุ่มคนพนักงานบริการก็ใช้ชีวิตในสังคมอย่างยากลำบากเนื่องจากเป็นอาชีพที่ผิดกฎหมาย และเป็นอาชีพที่สังคมโดยรวมไม่ยอมรับจนทำให้หลายคนเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ ของรัฐได้ยากลำบาก ยิ่งเมื่อเกิดโควิด กล่าวได้ว่าเราถูกทิ้งไว้ข้างหลังอย่างรุนแรงเพราะไม่เคยได้รับการช่วยเหลือใดๆ เลย เมื่อรัฐบาลสั่งล็อคดาวน์ทำให้ผู้ค้าบริการกลายเป็นคนตกงานอย่างกระทันหันและถาวร เนื่องจากคนขายบริการส่วนใหญ่มีรายได้วันต่อวัน การสั่งล็อคดาวน์กระทันหันจึงทำให้คนเหล่านี้ไม่มีรายได้ในทันที และโดยเฉลี่ย คนเหล่านี้ต้องดูแลคนในครอบครัวตกคนละ 4-5 คนทำให้ความเดือดร้อนแผ่เป็นวงกว้างมากขึ้น 

 

"คำถามคือแล้วคนเหล่านี้จะดำเนินชีวิตอย่างไร จากการสำรวจผู้ค้าบริการนั้นส่วนใหญ่ใช้เงินเก็บที่มีอยู่น้อยนิด หลายคนจึงไม่มีรายได้และไม่เหลือเงินเก็บแล้ว นำของมาจำนำ หรือบางคนหันไปพึ่งพิงญาติหรือครอบครัว และไปพึ่งพิงเงินกู้นอกระบบ คำถามคือแล้วจะหาเงินจากไหน ความปลอดภัยในชีวิตอยู่ที่ไหน คนเหล่านี้ไม่อาจไปร้องขอใครได้ เมื่อไม่มีเงิน สิ่งที่ตามมาคือเมื่อเจ็บป่วยแม้จะมีรัฐสวัสดิการรักษาพยายามฟรี แต่การออกจากบ้านก็มีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นมากมาย หลายคนจึงมีปัญหาสุขภาพซึ่งจากปกติก็มีความเสี่ยงอยู่แล้ว 92 เปอร์เซ็นต์เครียดมากขึ้นเนื่องจากไม่มีเงินในการดำเนินชีวิต และมีผู้ค่าบริการจำนวน 96 เปอร์เซ็นต์ที่แม้จะอยู่ในภาวะโควิดก็ยังต้องออกมาหาลูกค้าทั้งที่หวาดกลัวต่อการติดโรค แต่ก็ยังต้องทำเพื่อหารายได้” สุรางค์กล่าว และว่า นอกจากนี้ มีกลุ่มของผู้ค้าบริการทางเพศก็ยังมีคนที่ป่วยด้วยโรค HIV ด้วย ซึ่งเมื่อเกิดการระบาดของโควิดก็ทำให้การเข้าถึงยาต้านเชื้อ HIV เป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้น ซึ่งน่าเป็นห่วงมากเพราะการขาดยาต้านเป็นเวลานานนั้นส่งผลอันตรายโดยตรงต่อร่างกาย นอกจากนี้ หลายคนยังไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้านจนกลายเป็นคนไร้บ้าน ต้องออกไปนอนข้างทางหรือใต้สะพานลอย อยากให้รัฐหาที่อยู่ให้กลุ่มคนเหล่านี้ ไม่ใช่ไปปราบปรามเขาจนบีบให้คนหลังชนฝาในภาวะวิกฤติ

 

ทั้งนี้ คาเทีย ชิริซซี รองผู้แทนข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวปิดท้ายว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อชุมชนชายขอบ โดยนับตั้งแต่การระบาด โควิดได้ไปถ่างช่องว่างที่เดิมก็มีอยู่แล้วของสิทธิมนุษยชนและทำให้เกิดความไม่เท่าเทีบมกันมากกว่าเดิมทั่วโลก คนที่ถูกผลักไปอยู่ข้างหลังมีโอกาสติดและตายจากโควิดมากกว่า ความเสียเปรียบเชิงโครงสร้างทำให้หลายคนที่เสียเปรียบมีโอกาสติดเชื้อมากกว่า นอกจากนี้พวกเขายังต้องเจอกับผลกระทบที่เลวร้ายอีกขั้น ทั้งไม่มีงาน ถูกเลือกปฏิบัติอย่างรุนแรงกว่าเดิมและถูกละเมิดสิทธิทั้งทางสังคมเศรษฐกิจและวัฒนธรรม 

 

"การระบาดของโควิดทำให้เราได้เรียนรู้ถึงบทเรียนสำคัญของการสนับสนุนคนกลุ่มชายขอบ เพื่อให้เกิดการคุ้มครองเกียรติ ศักดิ์ศรีและความปลอดภัย และรับมือกับความไม่เท่าเทียมเชิงโครงสร้างที่กีดกั้นไม่ให้คนกลุ่มนี้เข้าถึงบริการของรัฐในการป้องกันโรคระบาด รัฐต้องจัดสรรทรัพยากรทั้งสวัสดิการ เงินคุ้มครองสังคมต่างๆ และบริการด้านสาธารณสุขทุกรูปแบบ เพื่อสะท้อนความจำเป็นเฉพาะอย่างของชุมชนชายขอบโดยไม่เลือกปฏิบัติ  นอกจากนี้ ยังอยากย้ำว่าจำเป็นต้องให้ทุกคนเข้าถึงวัคซีนให้ได้ด้วย" ชิริซซีกล่าวปิดท้าย