แอมเนสตี้ออกแถลงการณ์ถึงทางการไทยอีกครั้ง ย้ำยกเลิกการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมโดยสงบ

28 ธันวาคม 2563

Amnesty International 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลออกแถลงการณ์ถึงทางการไทยอีกครั้งเรียกร้องให้ยกเลิกการการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมโดยสงบและผู้ที่สนับสนุนการชุมนุมทั่วประเทศ จากการรวบรวมข้อมูลพบว่ามีถึง 220 คน ที่ถูกดำเนินคดีซึ่งในนั้นมีเยาวชนร่วมอยู่ด้วย จึงเรียกร้องให้รัฐบาลไทยประกันว่า จะปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ในแง่ของการเคารพสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ และไม่ควรมีใครถูกคุกคามหรือถูกตอบโต้เพียงเพราะการเข้าร่วมหรือแสดงความเห็นด้วยกับการชุมนุมโดยสงบ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลแถลงว่า สองเดือนหลังจากทางการไทยยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงเพื่อควบคุมการชุมนุมโดยสงบ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังคงกังวลอย่างยิ่งว่า ทางการไทยยังคงเร่งและเพิ่มการปราบปรามผู้ชุมนุมและผู้ที่สนับสนุนการชุมนุมทั่วประเทศ  

โดยหลังนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชาประกาศเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 ที่จะ “ใช้กฎหมายทุกฉบับทุกมาตรา” เพื่อจัดการกับผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ได้เริ่มดำเนินคดีจำนวนมากต่อแกนนำผู้ชุมนุม นักดนตรี และนักกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมโดยสงบ

จากการรวบรวมข้อมูลพบว่า มีบุคคลจำนวนประมาณ 220 คน ซึ่งรวมถึงเด็กถูกดำเนินคดี อย่างน้อย 149 คนในจำนวนบุคคลถูกดำเนินคดีข้อหาละเมิดข้อจำกัดในการชุมนุมสาธารณะภายใต้พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และอย่างน้อย 53 คนถูกดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่นฯ ถึง ณ ตอนนี้บุคคลจำนวน 37 คนถูกดำเนินคดีภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา) ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี การดำเนินคดีในครั้งนี้เป็นในการต่ออายุการใช้กฎหมายอันน่าตกใจ เจ้าหน้าที่ได้ทำการดำเนินคดีกับทนายความ และนักเคลื่อนไหวในจังหวัดอุบลราชธานีภายใต้กฎหมายยุยงปลุกปั่นฯ (ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116) และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับคำปราศรัยของแกนนำผู้ประท้วงในปลายเดือนสิงหาคม 2563

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกังวลว่า การรับมือกับการชุมนุมอย่างต่อเนื่องของทางการ ไม่เพียงมีแนวโน้มจะนำไปสู่การควบคุมตัวโดยพลการและการจำคุกผู้ที่ศาลตัดสินว่ามีความผิด หากยังมีโทษจำคุกเป็นเวลานานและสร้างภาระในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาสำหรับบุคคลที่ตกเป็นเป้าหมายเพียงเพราะการใช้สิทธิของตน ไม่ว่าผลการตัดสินจะเป็นเช่นไร ซึ่งไม่เพียงส่งผลในทางบทบัญญัติลงโทษต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบ หากยังสร้างให้เกิดบรรยากาศของความหวาดกลัว และคุกคามต่อการใช้สิทธิของประชาชนในสังคมโดยรวม

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจึงเรียกร้องอีกครั้งให้รัฐบาลไทยประกันว่า จะปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ในแง่ของการเคารพสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ และไม่ควรมีใครถูกคุกคามหรือถูกตอบโต้เพียงเพราะการเข้าร่วมหรือแสดงความเห็นด้วยกับการชุมนุมโดยสงบ

รัฐบาลไทยต้องตระหนักว่าการชุมนุมโดยสงบเป็นสิทธิมนุษยชน และการใช้สิทธิดังกล่าวเป็นเงื่อนไขที่นำไปสู่การบรรลุซึ่งสิทธิอื่น ๆ มากมาย รวมทั้งสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติซึ่งเป็นหน่วยงานของผู้ชำนาญการที่ดูแลให้มีการปฏิบัติตามและเป็นผู้มีอำนาจตีความสิทธิตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ได้ระบุว่า รัฐมีหน้าที่งดเว้นจากการแทรกแซงต่อการชุมนุมโดยสงบ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องทางการให้ยกเลิกการดำเนินคดีทั้งปวงต่อชุมนุมโดยสงบและผู้ที่สนับสนุนการชุมนุมทั่วประเทศ  ทางการไทยควรงดเว้นจากการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งจำกัดการใช้สิทธิ นอกเหนือจากการจำกัดเท่าที่กระทำได้ตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

 

ข้อมูลพื้นฐาน

ทางการดำเนินคดีกับบุคคลจากเนื้อหาการปราศรัยในการชุมนุมที่ผ่านมา และได้ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมจากการแสดงความเห็นหรือถ้อยแถลงทางออนไลน์ผ่านโซเชียลมีเดียในลักษณะที่เกี่ยวกับการชุมนุมหรือการไลฟ์สดการปราศรัยในการชุมนุม

ภายหลังนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชาแถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2563 ว่า “รัฐบาลไทยกำลังจับตามองผู้ใช้โซเชียลมีเดียทุกคนในประเทศไทย และมีการแบ่งแยกประเภทเพื่อการสอบสวนต่อไปในอนาคต” และการออกมาขู่ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมว่าจะมีการดำเนินคดีกับบุคคลที่แสดงออกทางออนไลน์ โดยทางกระทรวงฯ ระบุอย่างคลุมเครือว่าเป็นการกระทำที่ “ไม่เหมาะสม” หรือ “มีบทบาทในการยั่วยุให้เกิดความขัดแย้งในสังคม” ทางกระทรวงฯ ได้ขอให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีดำเนินคดีกับ 496 ยูอาร์แอล ซึ่งทางการมองว่าได้ละเมิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ และกฎหมายความมั่นคงที่ไม่ได้ระบุอื่น ๆ ในระหว่างวันที่ 13 ตุลาคม และช่วงต้นเดือนธันวาคม 2563

ทางการยังกล่าวหาผู้ชุมนุมอย่างสงบรวมทั้งเด็กว่าละเมิดกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 15 ปี หรือโทษจำคุกตลอดชีวิต (ในมาตรา 110) ละเมิดกฎหมายฐานยุยงปลุกปั่นฯ ที่มีโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี ละเมิดกฎหมายฐานชุมนุมสาธารณะและความผิดทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีโทษไม่เกินห้าปีและปรับ และละเมิดกฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ห้ามการชุมนุมอย่างสงบ บุคคลประมาณ 37 คนถูกดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มากกว่า50 คนถูกตั้งข้อหายุยุงปลุกปั่น และประมาณ 149 คนถูกดำเนินคดีข้อหาละเมิดข้อกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินเกี่ยวกับการชุมนุม และบุคคลอื่นในข้อหาละเมิดกฎหมายที่กำหนดให้ต้องแจ้งการชุมนุมล่วงหน้า ผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งถูกดำเนินคดีในหลายข้อหาที่รวมทั้งกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและภายใต้กฎหมายยุยงปลุกปั่นฯ