โทษประหารชีวิตในปี 2565: การประหารชีวิตเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบห้าปี

16 พฤษภาคม 2566

Amnesty International

ภาพ : © Anadolu Agency via Getty Images

  • เป็นปีที่มีการประหารชีวิตตามคำสั่งศาลสูงสุดทั่วโลกนับตั้งแต่ปี 2560
  • เพียงวันเดียวมีการประหารชีวิตบุคคลถึง 81 คนในซาอุดีอาระเบีย
  • มีข้อมูลว่า 20 ประเทศได้ทำการประหารชีวิต
  • 6 ประเทศยกเลิกโทษประหารชีวิตในทุกกรณีหรือบางกรณีในปี 2565

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลแถลง “รายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิตในปี 2565”  พบว่า เป็นปีที่มีการประหารชีวิตสูงสุดในรอบห้าปี โดยตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือเป็นภูมิภาคที่มีการประหารชีวิตบุคคลมากที่สุด

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเนล ได้บันทึกการประหารชีวิตในปี 2565 พบว่า มีจำนวนสูงสุดในรอบห้าปี โดยมีข้อมูลการประหารชีวิตบุคคลอย่างน้อย 883 คนใน 20 ประเทศ เพิ่มขึ้น 53% เมื่อเทียบกับปี 2564 จำนวนการประหารชีวิตที่เพิ่มสูงมากเช่นนี้ ยังไม่รวมการประหารชีวิตอีกหลายพันครั้ง ซึ่งเชื่อว่าเกิดขึ้นในประเทศจีนโดยการประหารชีวิตส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ ในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ซึ่งมีจำนวนเพิ่มจาก 520 ครั้งในปี 2564 เป็น 825 ครั้งในปี 2565 

จนถึงสิ้นปี 2565  มี112 ประเทศยกเลิกโทษประหารชีวิตในทุกกรณี มี 9 ประเทศยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดอาญาทั่วไปเท่านั้น ­ มี 23 ประเทศยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ รวมมี 144 ประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติแล้ว ส่วนประเทศที่มีและยังใช้โทษประหารชีวิตอยู่มี 55 ประเทศ 

สำหรับประชาคมอาเซียนซึ่งประกอบด้วย 10 ประเทศนั้น กัมพูชาและฟิลิปปินส์ ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภท ส่วนลาวและบรูไน ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ คือยังคงโทษประหารชีวิตอยู่ตามกฎหมายสำหรับอาชญากรรมทั่วไป แต่ได้มีการระงับการประหารชีวิตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาหรือมากกว่านั้น ส่วนประเทศไทย เมียนมา อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์และเวียดนาม ยังคงเป็นหนึ่งในจำนวน 55 ประเทศที่มีและใช้โทษประหารชีวิตอยู่ 

แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการสากลของแอมเนสตี้ เผยว่า ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ เพราะเร่งประหารชีวิตบุคคลในปี 2565 ซึ่งเผยให้เห็นความเพิกเฉยอย่างเลือดเย็นต่อชีวิตมนุษย์ จำนวนผู้ที่ถูกประหารชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมากตลอดทั่วทั้งภูมิภาค ซาอุดีอาระเบียประหารชีวิตบุคคลมากถึง 81 คนภายในวันเดียว  เมื่อเร็วๆ นี้ อิหร่านได้ประหารชีวิตประชาชนเพียงเพราะใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมประท้วง ซึ่งเป็นความพยายามของทางการที่จะยุติการลุกฮือของประชาชน

เป็นที่น่าเศร้าใจว่า การประหารชีวิตทั่วโลกโลก 90% นอกประเทศจีน เกิดขึ้นเฉพาะในสามประเทศในภูมิภาคนี้เท่านั้น การประหารชีวิตในอิหร่านเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก จาก 314 ครั้งในปี 2564 เป็น 576 ครั้งในปี 2565 ในซาอุดีอาระเบีย ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นถึงสามเท่าจาก 65 ครั้งในปี 2564 เป็น 196 ครั้งในปี 2565 นับเป็นจำนวนสูงสุดเท่าที่แอมเนสตี้บันทึกได้ในรอบ 30 ปี ในขณะที่อียิปต์ประหารชีวิตบุคคล 24 คน

การใช้โทษประหารชีวิตยังเป็นข้อมูลที่ถูกเก็บเป็นความลับในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศจีน เกาหลีเหนือ และเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่ใช้โทษประหารชีวิตอย่างกว้างขวาง ดังนั้นตัวเลขระดับโลกที่แท้จริงมีจำนวนที่สูงกว่านี้มาก ในขณะที่เราไม่ทราบจำนวนผู้ถูกประหารชีวิตที่แท้จริงในประเทศจีน แต่เป็นที่ชัดเจนว่าจีนยังคงเป็นประเทศที่ประหารชีวิตบุคคลมากสุด มากกว่าอิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ และสหรัฐฯ

 

ห้าประเทศรื้อฟื้นการประหารชีวิต

 

A woman holds two placards reading 'stop executions in Iran' and 'free Iran'.

Demonstrators gathered outside Downing Street in protest against executions in Iran and in support of freedom for Iran, 14 January, 2023.

 

ได้มีการรื้อฟื้นการประหารชีวิตใน 5 ประเทศในปี 2565 ได้แก่ อัฟกานิสถานคูเวต เมียนมา ปาเลสไตน์ (รัฐ) และสิงคโปร์ ทั้งยังมีข้อมูลการประหารชีวิตที่เพิ่มขึ้นในอิหร่าน (จาก 314 ครั้งเป็น 576 ครั้ง) ซาอุดีอาระเบีย (จาก 65 ครั้งเป็น 196 ครั้ง) และสหรัฐฯ (จาก 11 ครั้งเป็น 18 ครั้ง)

การประหารชีวิตในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าในปี 2565 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2564 การประหารชีวิตในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเป็นการละเมิดกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งระบุว่า การประหารชีวิตอาจกระทำได้ในความผิดที่เป็น “อาชญากรรมที่ร้ายแรง” เท่านั้น รวมถึงความผิดเกี่ยวกับการฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา มีข้อมูลการประหารชีวิตที่เกิดขึ้นในจีน ซาอุดีอาระเบีย (57 ครั้ง) อิหร่าน (255 ครั้ง) และสิงคโปร์ (11 ครั้ง) โดยคิดเป็นสัดส่วน 37% ของจำนวนการประหารชีวิตทั้งหมดที่บันทึกข้อมูลได้ และยังมีการประหารชีวิตในความผิดด้านยาเสพติดที่เกิดขึ้นในเวียดนาม แต่ตัวเลขดังกล่าวยังเป็นความลับทางราชการ

"นับเป็นความพลิกผันที่โหดร้าย เกือบ 40% ของการประหารชีวิตเกิดขึ้นในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วนักโทษเหล่านี้มักมาจากผู้ด้อยโอกาส และมักเป็นผู้ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการลงโทษที่โหดร้าย”

“ถึงเวลาที่รัฐบาลประเทศต่างๆ และองค์การสหประชาชาติ ต้องเพิ่มแรงกดดันให้กับผู้มีส่วนรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงเช่นนี้ และประกันให้มีมาตรการคุ้มครองสิทธิในระดับสากล”  แอกเนสกล่าว

 

Back of a person wearing a t-shirt with the hashtag #AntiDeathPenalty and an image of a noose with a stop sign over it.

An activist at a protest against the death penalty at Speakers’ Corner in Singapore on 3 April, 2022.

 

แม้ว่าจำนวนการประหารชีวิตจะเพิ่มขึ้น แต่จำนวนการใช้โทษประหารชีวิตยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับของเดิม โดยลดลงอย่างน้อยจาก 2,052 ครั้งในปี 2564 เป็น 2,016 ครั้งในปี 2565

 

แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

ในบริบทเช่นนี้ ยังคงมีแสงสว่างบ้างเล็กน้อยใน 6 ประเทศซึ่งยกเลิกโทษประหารชีวิตในทุกกรณีหรือบางกรณี

คาซัคสถาน ปาปัวนิวกินี เซียร์ราลีโอน และสาธารณรัฐแอฟริกากลาง ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดอาญาทุกประเภท ส่วนอิเควทอเรียลกินีและแซมเบีย ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดอาญาทั่วไปเท่านั้น

จนถึงสิ้นปี 2565 มี 112 ประเทศยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดอาญาทุกประเภท และมี 9 ประเทศยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดอาญาทั่วไปเท่านั้น 

แนวโน้มเชิงบวกยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดยไลบีเรียและกานาได้ดำเนินการด้านนิติบัญญัติเพื่อมุ่งสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต ในขณะที่ทางการศรีลังกาและมัลดีฟส์ระบุว่า จะไม่กลับไปใช้โทษประหารชีวิตอีก ด้านมาเลเซียการเสนอร่างกฎหมายเพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิตเชิงบังคับที่อยู่ระหว่างการพิจารณาในรัฐสภา

ในขณะที่หลายประเทศได้ทำให้โทษประหารชีวิตเป็นเพียงภาพในอดีต ถึงเวลาที่ประเทศอื่นๆ จะต้องปฏิบัติตาม การกระทำที่ทารุณของประเทศต่างๆ รวมทั้งอิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย จีน เกาหลีเหนือ และเวียดนาม ถือเป็นประเทศกลุ่มน้อยอย่างชัดเจน ประเทศเหล่านี้ควรปรับตัวอย่างเร่งด่วนให้เข้ากับยุคสมัย ที่ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และอำนวยให้เกิดความยุติธรรมแทนที่จะประหารชีวิตประชาชน” แอกเนส คาลามาร์ดกล่าว

“รัฐภาคีสหประชาชาติ 125 แห่ง ซึ่งนับเป็นจำนวนสูงเป็นประวัติการณ์ ที่เรียกร้องให้มีข้อตกลงชั่วคราวเพื่อพักใช้การประหารชีวิต แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การลงโทษที่น่าชิงชังเช่นนี้สามารถและกำลังจะกลายเป็นอดีตไปแล้ว แต่ตัวเลขที่น่าเศร้าในปี 2565 ย้ำเตือนว่า เรายังไม่สามารถพอใจกับผลสำเร็จเท่านี้ และยังคงจะต้องรณรงค์ต่อไป จนกว่าจะมีการยกเลิกโทษประหารชีวิตทั่วโลก”

 

อ่านเพิ่มเติม