โทษประหารชีวิตในปี 2565: ข้อเท็จจริงและตัวเลข

16 พฤษภาคม 2566

Amnesty International

ตัวเลขระดับโลก

 

 

การประหารชีวิตระดับโลก

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลบันทึกข้อมูลการประหารชีวิต 883 ครั้งใน20 ประเทศในปี 2565 เพิ่มขึ้น 53% จาก 579 ครั้งในปี 2564 ตัวเลขนี้นับเป็นจำนวนการประหารชีวิตสูงสุดเท่าที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลบันทึกได้ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งนับจำนวนการประหารชีวิตได้ 993 ครั้ง)

จีนยังคงเป็นประเทศที่มีการประหารชีวิตมากที่สุดในโลก แต่ตัวเลขที่แท้จริงยังไม่เป็นที่แน่ชัด เนื่องจากการทางการจีนถือว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นความลับทางราชการ ตัวเลขการประหารชีวิตทั่วโลกที่บันทึกโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ยังไม่นับรวมการประหารชีวิตอีกหลายพันครั้งที่เชื่อว่าเกิดขึ้นในประเทศจีน รวมทั้งในเวียดนามและเกาหลีเหนือ ซึ่งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเชื่อว่ามีการใช้โทษประหารชีวิตอย่างกว้างขวาง

การประหารชีวิตส่วนใหญ่เกิดขึ้นในจีน (มากกว่า 1000 ครั้ง) อิหร่าน (อย่างน้อย 576 ครั้ง) ซาอุดีอาระเบีย (196 ครั้ง) อียิปต์ (24 ครั้ง) และสหรัฐฯ (18 ครั้ง)

93% ของการประหารชีวิตทั่วโลกเท่าที่มีข้อมูล (ยกเว้นจีน) ในปี 2565 เกิดขึ้นในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ
การประหารชีวิต 196 ครั้งที่บันทึกข้อมูลได้ในซาอุดีอาระเบีย นับเป็นจำนวนสูงสุดในรอบ 30 ปีของประเทศนี้

มีการประหารชีวิตผู้หญิง 13 คน ทั้งในอิหร่าน (12) และซาอุดีอาระเบีย (1)

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลบันทึกข้อมูลการประหารชีวิตได้ใน 20 ประเทศ เปรียบเทียบกับ 18 ประเทศในปี 2564

 

การละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

มีข้อมูลการประหารชีวิตในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด 325 ครั้ง ได้แก่ 255 ครั้ง ในอิหร่าน 57 ครั้ง ในซาอุดีอาระเบีย 11 ครั้งในสิงคโปร์ และในจีน (+) สำหรับการคำนวณตัวเลขรวมการประหารชีวิตในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เครื่องหมาย “+” ให้นับว่าเป็น 2  ในกรณีของจีน ตามวิธีวิทยาในการวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล 

มีข้อมูลการประหารชีวิตต่อหน้าสาธารณะอย่างน้อย 3 ครั้งในอัฟกานิสถาน (1+ ครั้ง) และอิหร่าน (2 ครั้ง)

ในอิหร่าน มีการประหารชีวิตบุคคลอย่างน้อย 5 คนที่ขณะกระทำความผิดมีอายุต่ำกว่า 18 ปี

 

การรื้อฟื้นการประหารชีวิต

เริ่มมีการรื้อฟื้นการประหารชีวิตใน5 ประเทศ ได้แก่ อัฟกานิสถาน คูเวต เมียนมา ปาเลสไตน์ (รัฐ) และสิงคโปร์

บอตสวานา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และโอมาน ประหารชีวิตบุคคลในปี 2564 แต่ไม่ได้ประหารชีวิตในปี 2565

วิธีการประหารชีวิตในปี 2565 ได้แก่ การตัดคอ การแขวนคอ การฉีดยา และการยิงเป้า

 

การตัดสินลงโทษประหารชีวิตระดับโลก

มีการตัดสินลงโทษประหารชีวิตใหม่อย่างน้อย 2,016 ครั้งใน 52 ประเทศในปี 2565 เปรียบเทียบกับอย่างน้อย 2,052 ครั้งใน 56 ประเทศในปี 2564

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมีข้อมูลการลดโทษ หรือการอภัยโทษสำหรับโทษประหารชีวิตใน 26 ประเทศ

5 ประเทศ ได้แก่ บาห์เรน โคโมโรส ลาว ไนเจอร์ และเกาหลีใต้ ได้สั่งประหารชีวิตบุคคล หลังงดเว้นมาช่วงหนึ่ง

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลบันทึกข้อมูลการล้างมลทินอย่างน้อย 28 ครั้งให้กับนักโทษประหารชีวิตใน4 ประเทศ ได้แก่ เคนยา (20) โมร็อคโค/ซาฮาราตะวันตก (1) สหรัฐฯ (2) และแซมเบีย (5)

ในระดับโลก ยังคงมีนักโทษประหารอยู่อย่างน้อย 28,282 คนจนถึงสิ้นปี 2565

 

การยกเลิกโทษประหารชีวิต

 6 ประเทศยกเลิกโทษประหารชีวิตในทุกกรณี (คาซัคสถาน ปาปัวนิวกินี เซียร์ราลีโอน และสาธารณรัฐแอฟริกากลาง) หรือบางกรณี (อิเควทอเรียลกินีและแซมเบีย ได้ยกเลิกโทษประหารสำหรับความผิดอาญาทั่วไปเท่านั้น) ในปี 2565

จนถึง ณ สิ้นปี 2565 มี 112 ประเทศ ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดอาญาทุกประเภท ในขณะที่ 9 ประเทศยกเลิกเฉพาะความผิดอาญาทั่วไป

 

 

บทวิเคราะห์ในระดับภูมิภาค

ทวีปอเมริกา

นับเป็นปีที่ 14 ติดต่อกันที่สหรัฐฯ ยังคงเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคนี้ที่ประหารชีวิตบุคคล

การประหารชีวิตในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 64% จาก 11 ครั้งในปี 2564 เป็น  18 ครั้งในปี 2565

เคท บราวน์ ผู้ว่าการรัฐโอเรกอนที่เพิ่งพ้นจากตำแหน่ง ได้ลดโทษผู้ต้องโทษประหารชีวิตที่เหลืออยู่ทั้งหมดในรัฐ

นับเป็นปีที่หกติดต่อกันที่กายอานา ตรินิแดดและโตเบโก และสหรัฐฯ เป็นเพียง 3 ประเทศในทวีปอเมริกาที่มีการตัดสินประหารชีวิตใหม่ 

 

เอเชีย-แปซิฟิก

ในเอเชีย-แปซิฟิก 8 ประเทศ (อัฟกานิสถาน บังกลาเทศ จีน ญี่ปุ่น เมียนมา เกาหลีเหนือ สิงคโปร์ และเวียดนาม) ได้ประหารชีวิตบุคคลในปี 2565 เพิ่มจากจำนวน5 ประเทศในปี 2564

มีข้อมูลการตัดสินลงโทษประหารชีวิตที่เกิดขึ้นใหม่ในภูมิภาคเพิ่มขึ้น 5% จาก 819 ครั้งในปี 2564 เป็น 861 ครั้งในปี 2565

กองทัพได้รื้อฟื้นการประหารชีวิตเป็นครั้งแรกในรอบสี่ทศวรรษในเมียนมา รวมทั้งนักการเมืองฝ่ายค้านที่มีชื่อเสียงสองคน

มีการรื้อฟื้นการประหารชีวิต หลังงดเว้นมาช่วงหนึ่งในอัฟกานิสถาน และสิงคโปร์

ปาปัวนิวกินีกลายเป็นประเทศที่ 21 ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่ยกเลิกโทษประหารสำหรับความผิดอาญาทุกประเภท  

 

ยุโรปและเอเชียกลาง

เบลารุสได้ประหารชีวิตบุคคลหนึ่งคนในปี 2565 นับเป็นประเทศเดียวในยุโรปและเอเชียกลางที่ทำเช่นนั้น

คาซัคสถานยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดอาญาทุกประเภท และให้สัตยาบันรับรองสนธิสัญญาหลักขององค์การสหประชาชาติเพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิต

รัสเซียและทาจิกิสถานยังคงปฏิบัติตามข้อตกลงพักใช้โทษประหารชีวิตชั่วคราว

 

ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ

การประหารชีวิตในภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือเพิ่มขึ้น 59% จาก 520 ครั้งในปี 2564 เป็น 825 ครั้งในปี 2565

การประหารชีวิต 94% ในภูมิภาคนี้ เกิดขึ้นในอิหร่าน (70%) และซาอุดีอาระเบีย (24%)

มีการรื้อฟื้นการประหารชีวิตในคูเวตและรัฐปาเลสไตน์เป็นครั้งแรก นับแต่ปี 2560

ข้อมูลการตัดสินลงโทษประหารชีวิตในภูมิภาคลดลงเล็กน้อยจาก 834 ครั้งในปี 2564 เป็น 827 ครั้งในปี 2565 มีการตัดสินลงโทษประหารชีวิตใน 16 ประเทศในปี 2565 เปรียบเทียบกับ 17 ประเทศในปี 2564

 

แอฟริกาทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา

การประหารชีวิตในภูมิภาคลดลง 67% จาก 33 ครั้งในปี 2564 เป็น 11 ครั้งในปี 2565

มีข้อมูลการประหารชีวิตเท่าที่บันทึกได้ในโซมาเลียและซูดานใต้

ข้อมูลการตัดสินลงโทษประหารชีวิตลดลง 20% จาก 373 ครั้งในปี 2564 เป็น 298 ครั้งในปี 2565

มีข้อมูลการตัดสินลงโทษประหารชีวิตใน 16 ประเทศในปี 2565 เปรียบเทียบกับ 19 ครั้งในปี 2564

เซียร์ราลีโอนและสาธารณรัฐแอฟริกากลาง ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดอาญาทุกประเภท ในขณะที่อิเควทอเรียลกินี และแซมเบีย ยกเลิกโทษประหารชีวิตเฉพาะความผิดอาญาทั่วไปเท่านั้น

 

เอกสารสำหรับดาวน์โหลด