สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 25 มีนาคม - 31 มีนาคม 2566

3 เมษายน 2566

Amnesty International

 
ประเทศไทย : แอมเนสตี้เรียกร้องรัฐบาลไทยแก้ 7 ปัญหาสิทธิฯ 'ปริญญา' ชี้เลือกตั้งไม่ทำประเทศเปลี่ยน เหตุติดล็อก ส.ว.
28 มีนาคม 2566
 
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 28 มีนาคม 2566 ที่โรงแรมเดอะสุโกศล กรุงเทพฯ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ประจำปี 2565/66
รายงานแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำปี 2565/66 เชื่อมโยงให้เห็นสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตลอดปี 2565 ใน 156 ประเทศ และยังเรียกร้องให้มีการดำเนินการ นำเสนอขั้นตอนที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการ เพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้และพัฒนาชีวิตของผู้คนทั่วโลก ซึ่งมีข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้นำรัฐบาล ผู้กำหนดนโยบาย ผู้สนับสนุน นักกิจกรรม และผู้ที่มีความสนใจในประเด็นสิทธิมนุษยชนด้วย
ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ประธานกรรมการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ประจำปี 2565/66 ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เน้นย้ำถึงภาวะสองมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นทั่วโลก และความล้มเหลวของประชาคมโลกที่จะรวมตัวสนับสนุนการนำหลักสิทธิมนุษยชนและคุณค่าอันเป็นสากลมาใช้อย่างต่อเนื่อง ท่าทีแข็งกร้าวของชาติตะวันตกต่อการรุกรานยูเครนของรัสเซียเป็นภาพที่ตรงข้ามอย่างชัดเจนกับพันธมิตรบางประเทศ อาทิ ในอิสราเอล ซาอุดีอาระเบีย และอียิปต์ ซึ่งไม่ได้มีปฏิบัติการอย่างจริงจังเพื่อแก้ไขการละเมิดที่ร้ายแรงเลย
ด้าน ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า สำหรับประเทศไทยมีหลายประเด็นที่น่าห่วงใย เช่น สิทธิในเสรีภาพการชุมนุม สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก สิทธิในเสรีภาพการสมาคม การบังคับบุคคลให้สูญหาย การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย สิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง สิทธิของผู้ลี้ภัย ผู้ขอลี้ภัยและผู้อพยพ และการเลือกปฏิบัติ พร้อมนำเสนอข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลไทยจำนวน 7 ข้อ
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/42TPM8U
 
-----
 
 
โลก : ท่าทีต่อการรุกรานยูเครนของรัสเซียเผยให้เห็นถึงกลไกระหว่างประเทศ ที่ไม่สามารถรับมือกับวิกฤตการณ์ระดับโลกได้
28 มีนาคม 2566
 
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกประจำปี 2565/66 ระบุว่า การรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบของรัสเซียในปี 2565 ส่งผลให้เกิดอาชญากรรมสงคราม นำไปสู่วิกฤตพลังงานและอาหารระดับโลก และยิ่งบ่อนทำลายเสถียรภาพของระบบพหุภาคีระหว่างประเทศที่อ่อนแออยู่แล้ว ทั้งยังเผยให้เห็นถึงความย้อนแย้งของประเทศตะวันตกที่ตอบโต้อย่างรุนแรงต่อการรุกรานของรัฐบาลรัสเซีย แต่กลับยอมรับหรือมีส่วนร่วมในการละเมิดร้ายแรงในพื้นที่อื่นๆ
รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ประจำปี 2565/66 ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลชี้ให้เห็นถึงภาวะสองมาตรฐานและการดำเนินงานที่ไม่เพียงพอ เพื่อรับมือต่อการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้เกิดการลอยนวลพ้นผิดและความไร้เสถียรภาพ รวมทั้งความเพิกเฉยอย่างสิ้นเชิงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซาอุดีอาระเบียและอียิปต์และการปฏิเสธที่จะเผชิญหน้ากับระบบการแบ่งแยกอันเนื่องมาจากเชื้อชาติที่อิสราเอลกระทำต่อชาวปาเลสไตน์
รายงานนี้ยังเน้นให้เห็นว่า ประเทศจีนได้ใช้ยุทธวิธีแบบแข็งกร้าว เพื่อกดดันไม่ให้มีปฏิบัติการระหว่างประเทศต่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่ตนเองก่อขึ้นมา รวมทั้งความล้มเหลวของสถาบันระดับโลกและภูมิภาคที่ถูกขัดขวางจากผลประโยชน์ส่วนตัวของสมาชิก ทำให้ไม่มีการรับมืออย่างเหมาะสมต่อสงครามความขัดแย้ง อันเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคน ทั้งในเอธิโอเปีย เมียนมา และเยเมน
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3ZqEPbZ
 
-----
 
 
มาเลเซีย : ยกเลิกโทษประหารชีวิตสถานเดียว
27 มีนาคม 2566
 
สืบเนื่องจากการเสนอร่างกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎรว่าด้วยการยกเลิกโทษประหารชีวิต
แคทรีนา โจรีน มาเลียมาว์ ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มาเลเซีย กล่าวว่า “เราขอชื่นชมการตัดสินใจของรัฐบาลในกระบวนการริเริ่มปรับแก้โทษประหารชีวิตภาคบังคับ และมอบอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีตามดุลพินิจของศาล เรารู้สึกยินดีที่ร่างกฎหมายใหม่ทั้ง 2 ฉบับก้าวไปไกลกว่าที่เคยเป็นมา และยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดบางประเภท เว้นชีวิตจนกว่าจะเสียชีวิตตามธรรมชาติ และเปิดโอกาสให้ทุกคนที่อยู่สถานที่คุมขังนักโทษประหารได้รับประโยชน์จากการปฏิรูป หากร่างกฎหมายยกเลิกโทษประหารชีวิตสถานเดียวผ่านการรับรองโดยรัฐสภาจะส่งผลกระทบโดยตรงไม่เพียงเฉพาะกับบุคคลที่ต้องโทษประหารเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสมาชิกในครอบครัวแต่ละคนของพวกเขาที่เฝ้ารอการปฏิรูปที่สัญญาไว้มาอย่างยาวนาน การแก้ไขกฎหมายแห่งชาติครั้งประวัติศาสตร์เหล่านี้เป็นขั้นตอนสำคัญที่มาเลเซียต้องดำเนินการเพื่อปรับปรุงการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เราขอเรียกร้องให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาให้การสนับสนุนร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3lT2a8I
 
-----
 
สหรัฐอเมริกา : ข้อเท็จจริงและสถิติ:สิทธิมนุษยชนในทวีปอเมริกา ประจำปี 2565-66
28 มีนาคม 2566
 
ในปี 2565 ประชากรราว 201 ล้านคนอาศัยอยู่ในสภาวะยากจนในละตินอเมริกาและแคริบเบียน คิดเป็น 32.1% ของประชากรในภูมิภาค สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวช่วง 25 ปีที่ผ่านมา โดยนับแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีประชากรอีก 15 ล้านคนที่ตกอยู่ในสภาวะดังกล่าว ขณะที่อีก 12 ล้านคนอาศัยอยู่ในความยากจนขั้นรุนแรงตั้งแต่ปี 2562
อเมริกายังคงเป็นภูมิภาคที่มีผู้เสียชีวิตจากโควิดมากที่สุด โดยมีผู้เสียชีวิตที่ได้รับการยืนยันแล้วกว่า 2.9 ล้านราย
ณ วันที่ 14 มีนาคม 2566 สหรัฐฯ มีจำนวนผู้ป่วยและอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ที่ได้รับการยืนยันแล้วอยู่ที่ 102 ล้านรายและ 1,111,000 ราย ตามลำดับ ซึ่งมากกว่าทุกประเทศบนโลก ด้านบราซิลมียอดผู้เสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 699,000 ราย
เปรูยังคงเป็นประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตจากโควิดสูงที่สุดในโลก โดยมีผู้เสียชีวิตที่ได้รับการยืนยันแล้ว 6,481 รายต่อประชากร 1 ล้านคน
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3ZtH26P
 
-----
 
 
ประเทศไทย : เด็กผู้หญิงอายุ 15 ปี ถูกคุมขังก่อนการพิจารณาคดีในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์
30 มีนาคม 2566
 
จากกรณีที่มีการคุมขังเด็กผู้หญิงอายุ 15 ปี ก่อนการพิจารณาคดีในความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ หลังเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงโดยสงบที่กรุงเทพฯ
ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเครื่องย้ำเตือนอันน่าสะเทือนใจอีกครั้งหนึ่งว่า ทางการไทยยังคงพุ่งเป้าโจมตีเด็กโดยการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์เพื่อปราบปรามการแสดงความเห็นต่างโดยสงบ นอกจากนั้น ภายในเดือนมีนาคมเพียงแค่เดือนเดียว มีการพิพากษาตัดสินลงโทษผู้ชุมนุมประท้วงอย่างน้อย 4 คน อีกทั้งยังมีการตั้งข้อกล่าวหาและการสั่งฟ้องในอีกหลายคดีภายใต้ข้อหานี้
“คดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้สะท้อนให้เห็นการหดตัวลงอย่างน่าตกใจของพื้นที่พลเมืองสำหรับประชาชนหลายล้านคนในประเทศไทย โดยที่ทางการยังคงปฏิเสธที่จะยอมรับการแสดงความเห็นต่างโดยสงบมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบหลายคนถูกพิพากษาตัดสินว่ามีความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ เพียงเพราะการใช้สิทธิในเสรีภาพในการแสดงออกผ่านการโพสต์ข้อความทางออนไลน์ การเข้าร่วมงานแฟชั่นที่จัดขึ้นเพื่อล้อเลียน และเมื่อเร็วๆ นี้ ในการขายปฏิทินออนไลน์ซึ่งมีภาพวาดเป็ดเหลือง อันเป็นสัญลักษณ์ของขบวนการชุมนุมประท้วง”
“ทางการไทยต้องยกเลิกการดำเนินคดีต่อบุคคลในทุกข้อหา ซึ่งเป็นการใช้กฎหมายที่มีเนื้อหาไม่สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน และต้องงดเว้นจากการจับกุมและควบคุมตัวผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบก่อนการพิจารณาคดีด้วย”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/40T8gEV
 
-----
 
กัมพูชา : ยุติ 'การบังคับไล่ที่มวลชน' ออกจากพื้นที่มรดกโลกบริเวณปราสาทนครวัด
31 มีนาคม 2566
 
เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชายุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยทันที จากกรณีที่ทางการดำเนินการย้ายถิ่นฐานกว่า 1 หมื่นครอบครัวที่อาศัยอยู่บริเวณปราสาทนครวัด
ในช่วงเดือนมีนาคม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ทำการสัมภาษณ์บุคคลมากกว่า 35 คนในพื้นที่รอบนครวัดและรันตาเอก หนึ่งในสองชุมชนตั้งถิ่นฐานแห่งใหม่ที่วางแผนไว้ ซึ่งการวิจัยดังกล่าวเปิดเผยว่า การขับไล่ที่ทางการมักจะเน้นย้ำว่า “เป็นไปโดยความสมัครใจ” กลับไม่เป็นเช่นนั้น โดยผู้อยู่อาศัยรายงานว่า พวกเขาเผชิญกับภัยคุกคามหากปฏิเสธที่จะย้ายออก
การวิจัยยังชี้ให้เห็นถึงการขาดการปกป้องคุ้มครองที่เหมาะสมจากการบังคับไล่ที่ตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ อาทิ การแจ้งให้ทราบล่วงหน้าอย่างเพียงพอก่อนทำการบังคับไล่ที่ และการปรึกษาหารือกับผู้ที่ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับกระบวนการบังคับไล่ที่และการตั้งถิ่นฐานใหม่
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/40AE9lJ