สิทธิมนุษยชนรอบโลกประจำสัปดาห์ 1 ตุลาคม - 7 ตุลาคม 2565

9 ตุลาคม 2565

Amnesty International Thailand

 
อินโดนีเซีย : สอบสวนการใช้แก๊สน้ำตาของตำรวจหลังมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 130 รายหลังจากเหตุจลาจลในการแข่งขันฟุตบอล
2 ตุลาคม 2565
 
สืบเนื่องจากมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 130 รายหลังจากเหตุจลาจลในสนามกีฬากันจูรูฮันที่เมืองมาลัง จังหวัดชวาตะวันออก เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา
อุสมาน ฮามิด ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล อินโดนีเซีย กล่าวว่า
“พวกเราขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของเหยื่อ ไม่ควรมีใครเสียชีวิตในการแข่งขันฟุตบอล”
“เราขอเรียกร้องทางการให้ดำเนินการสอบสวนอย่างรวดเร็ว ละเอียดถี่ถ้วน และเป็นกลางในการใช้แก๊สน้ำตาที่สนามกีฬาและรับประกันว่าผู้ที่พบว่ามีการกระทำฝ่าฝืนจะได้รับการพิจารณาคดีในศาลอย่างเปิดเผยและไม่ใช่เพียงได้รับการลงโทษภายในหรือทางปกครองเท่านั้น”
“นอกจากนั้นเรายังเรียกร้องให้ตำรวจทบทวนนโยบายการใช้แก๊สน้ำตาและอาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำอื่นๆ เพื่อรับรองว่าจะไม่มีโศกนาฏกรรมสะเทือนขวัญเช่นนี้เกิดขึ้นอีก”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3ebKi56
 
---------
 
 
เมียนมา : ผู้สร้างภาพยนตร์ญี่ปุ่นถูกจำคุกเป็นเวลาเจ็ดปีนับเป็นการโจมตีสื่ออิสระล่าสุด
6 ตุลาคม 2565
 
สืบเนื่องจากรายงานว่าศาลที่ทหารควบคุมในเมียนมาพิพากษานายโทรุ คุโบตะ ผู้สร้างภาพยนตร์ญี่ปุ่นให้รับโทษจำคุกเจ็ดปี
มิง ยู ฮาห์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานภูมิภาคฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า
“คำตัดสินล่าสุดของกองทัพเมียนมาตอกย้ำชื่อเสียงของประเทศในฐานะประเทศที่มีการจำคุกนักข่าวมากที่สุดในโลก
“การบันทึกภาพการชุมนุมประท้วงไม่ใช่อาชญากรรม กองทัพทหารเมียนมาควรปล่อยตัวโทรุ คุโบตะทันทีและปล่อยให้เขากลับบ้าน นอกจากนั้นควรยกเลิกข้อกล่าวหาและปล่อยตัวนักข่าวทั้งหมดที่ถูกจับกุมหรือถูกตัดสินความผิดเพียงเพราะพวกเขาปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3CkbFCa
 
---------
 
 
ฟิลิปปินส์ : การสังหารผู้บรรยายข่าววิทยุแสดงให้เห็นถึงสัญญาณของการวิสามัญฆาตกรรม
4 ตุลาคม 2565
 
วินเนอร์ ปาปา ผู้จัดการฝ่ายสมาชิกและนักกิจกรรม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศ
ฟิลิปปินส์ เปิดเผยถึงกรณีการสังหารเพอร์ซี่ ลาปิด ซึ่งเป็นนักข่าวรายที่สองที่ถูกสังหารภายใต้การปกครองของประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์
“การสังหารผู้ประกาศข่าววิทยุ เพอร์ซี่ ลาปิด แสดงให้เห็นถึงความน่าสลดใจอีกครั้ง ฟิลิปปินส์ยังคงเป็นประเทศที่อันตรายที่สุดแห่งหนึ่งในโลกและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ล้มเหลวในการปกป้องนักข่าวและปกป้องสิทธิมนุษยชนรวมทั้งเสรีภาพสื่อ แสดงให้เห็นถึงสัญญาณของการวิสามัญฆาตกรรมและความพยายามที่จะปิดกั้นเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล”
“รัฐมีภาระหน้าที่ที่จะต้องสอบสวนการสังหารในครั้งนี้ให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว รอบด้าน เป็นอิสระและอย่างไม่ลำเอียง การไม่ปล่อยให้มีการลอยนวลพ้นผิดมีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับนักข่าวและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และเป็นการยืนยันให้เห็นว่าการกระทำนี้จะไม่ได้รับการยอมรับ ประชาคมโลกจะต้องไม่ละความพยายามในการกดดันและติดตามสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไม่มีการแสดงให้เห็นถึงสัญญาณของการปรับปรุงแก้ไขหลังจากรัฐบาลก่อนหน้า”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3C5BZiY
 
---------
 
ทวีปอเมริกา : รัฐบาลในภูมิภาคต้องใช้มาตรการเร่งด่วนในการแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันและการเลือกปฏิบัติ
3 ตุลาคม 2565
 
เพื่อต่อสู้กับความไม่เท่าเทียมกันและการเลือกปฏิบัติ รัฐบาลในทวีปอเมริกาจะต้องใช้มาตราการทั้งหมดที่จำเป็นเพื่อรับประกันการได้รับสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในภูมิภาคอย่างเต็มที่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ที่ผ่านมา ในจดหมายเปิดผนึกถึงประมุขของรัฐที่จะเข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งองค์การรัฐอเมริกัน (OAS) ครั้งที่ 52 นอกจากนั้นยังต้องรับประกันความคุ้มครองของผู้ลี้ภัยและผู้อพยพที่ต้องเผชิญกับปัญหาความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติอย่างหนัก โดยมีพื้นฐานมาจากเพศสภาพ เชื้อชาติ หรือสัญชาติ ตลอดจนปัจจัยอื่นๆ
ตามที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลได้บันทึกไว้ การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ได้เน้นย้ำและทำให้ความไม่เป็นธรรมเชิงโครงสร้างที่ฝังอยู่ลึกในทวีปอเมริการุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งมีรากฐานมาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจ เชื้อชาติ และเพศสภาพ โดยผู้คนจำนวนมากในภูมิภาค ที่รวมทั้งผู้หญิง คนพื้นเมือง และผู้ที่มีเชื้อสายแอฟริกา เสียเปรียบในแง่ของสิทธิในชีวิต สุขภาพ การคุ้มครองทางสังคม และสิทธิในการเข้าถึงมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอและการทำงาน
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3V8eEpO
 
---------
 
แคนาดา : การสร้างท่อส่งน้ำมันในเขตชนพื้นเมืองเป็นอันตรายต่อนักต่อสู้เพื่อที่ดินทำกิน
3 ตุลาคม 2565
 
กลุ่มนักต่อสู้เพื่อที่ดินทำกินเวทซูเวทเอ็นในแคนาดามีความเสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เนื่องจากมีรายงานว่าได้มีการเริ่มสร้างท่อก๊าซซีจีแอล (Coastal GasLink pipeline: CGL) ใต้ Wedzin Kwa (แม่น้ำมอร์ริส) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ที่ผ่านมา
“การตัดสินใจอนุญาตให้มีการก่อสร้างท่อก๊าซซีจีแอลบนพื้นที่ของเวทซูเวทเอ็น โดยที่ไม่ได้รับความยินยอมโดยสมัครใจล่วงหน้าและแจ้งข้อมูลต่อหัวหน้าของเวทซูเวทเอ็น นับว่าเป็นการละเมิดสิทธิชุมชนในการกำหนดอนาคตตนเองอย่างไร้ยางอายและยังเป็นก้าวถอยหลังที่น่าเศร้าในการเดินทางของแคนาดาในการไกล่เกลี่ยกับชนพื้นเมือง นอกจากนั้นการขยายตัวของการสกัดเชื้อเพลิงฟอสซิลและโครงสร้างพื้นฐานนับว่าเป็นการละเมิดต่อภาระผูกพันของแคนาดาในการปกป้องสิทธิมนุษยชนจากผลกระทบเลวร้ายที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” เคตตี้ นิฟเวียบันดิ ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แคนาดา กล่าว
“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แคนาดาขอเรียกร้องให้รัฐบาลในแคนาดาและรัฐบริติชโคลัมเบียยุติการก่อสร้างของท่อก๊าซบนผืนแผ่นดินของเวทซูเวทเอ็นซึ่งเป็นแผ่นดินดั้งเดิมที่ไม่เคยยกให้กับแคนาดา”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3MiaWWv
 
---------
 
เมียนมา : บริษัท Puma Energy ถอนตัวท่ามกลางการตรวจสอบการจัดหาเชื้อเพลิงการบิน
5 ตุลาคม 2565
 
สืบเนื่องจากการตัดสินใจของบริษัท Puma Energy ในการถอนตัวออกจากเมียนมาเกือบสองปีหลังจากการรัฐประหารในต้นปี 2564 มอนต์เซ เฟร์รัน นักวิจัยประเด็นธุรกิจและสิทธิมนุษยชนของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า
“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลรับรู้ถึงการตัดสินใจของ บริษัท Puma Energy ในการย้ายออกจากประเทศ ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการรณรงค์อันยาวนานโดยกลุ่มภาคประชาสังคมที่รวมถึง Burma Campaign UK และ Justice For Myanmar ที่ร่วมกับกลุ่มอื่นๆ ในการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนเกี่ยวกับการจัดหาเชื้อเพลิงการบินที่อาจตกอยู่ในมือของกองทัพเมียนมา”
 
อ่านต่อ: https://bit.ly/3rDbPzv