พชร คำชำนาญ: จากความไม่เข้าใจ สู่วันที่สู้เพื่อสิทธิชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง

22 ธันวาคม 2564

Amnesty International 

พชร คำชำนาญ หรือ กอล์ฟ คือคนเมืองที่เกิดในจังหวัดอ่างทองที่ไม่มีป่าไม้ เติบโตที่กรุงเทพมหานคร และเกิดใหม่ในป่าที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่เรียกว่า “ป่าจิตวิญญาณ” ในอ้อมกอดของพี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองปกาเกอะญอ 

กอล์ฟได้พาเราเดินทางผ่านเรื่องเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่เขาหันมาสนใจเรื่องของชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองว่า หนทางการเริ่มต้นของเขาเกิดขึ้นจากการที่ได้เข้ามาเป็นอาสาสมัครของมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ และได้ทำงานในฐานะเจ้าหน้าที่รณรงค์สื่อสารของมูลนิธิดังกล่าวที่จังหวัดเชียงใหม่ ณ ที่แห่งนั้นเอง ที่เขาได้กลายเป็นคนธรรมดา ที่ทำงานในประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน และเรื่องสิทธิชุมชนในพื้นที่ป่าและกลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงได้จุดประกายความตั้งใจให้รวมกลุ่มกับคนธรรมดา จนกลายมาเป็นหนึ่งในภาคี “#Saveบางกลอย” 

“ในพื้นที่ภาคเหนือที่เราทำงานทั้งสิบจังหวัด ส่วนใหญ่จะคาบเกี่ยวกับพื้นที่ป่าของรัฐในรูปแบบต่างๆ พอชุมชนอยู่ในพื้นที่ป่าแล้วถูกกฎหมายไปประกาศทับแล้วก็บังคับใช้ มันก็ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิชุมชนมากมาย เราก็ไปทำงานหนุนเสริมเขาส่วนนั้น แล้วส่วนที่สอง คือชุมชนที่อยู่นอกพื้นที่ป่าก็มีเหมือนกัน เช่น ชาวบ้านที่เป็นเกษตรกรที่ไม่มีที่ดินทำกินแล้วก็เข้าไป ปฏิรูปที่ดินของนายทุนที่กว้านซื้อไว้แล้วเขาปล่อยทิ้งร้าง ก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน หลักๆ คือเน้นเรื่องสิทธิชุมชน ว่าชุมชนเขามีสิทธิที่จะจัดการที่ดินและทรัพยากรได้อย่างยั่งยืน

“เราได้ใช้ชีวิตอยู่กับพี่น้องชาติพันธุ์ คือปกติเวลาที่เราอยู่ในเมืองตอนที่ยังเรียนอยู่ เราก็จะคือเข้าใจเขาอีกแบบนึงเลย ว่าเป็นกลุ่มไม่มีการศึกษา ไม่ใช่คนไทย เป็นต่างด้าวตัดไม้ทำลายป่า ทำไร่เลื่อนลอย ปลูกฝิ่น ทำเหมือนชาวบ้านชาติพันธุ์ที่เป็นชนเผ่าพื้นเมืองเขาเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่ง ไม่ใช่คนแบบพวกเดียวกับเรา ซึ่งเมื่อก่อนเราคิดแบบนั้นจริง ๆ เพราะเราถูกฝังหัวจากระบบการศึกษา  แต่ว่าสุดท้ายแบบพอเรามาเจอมาใช้ชีวิตอยู่กับเขาจริง ๆ มันไม่ใช่เลย เขาใช้ชีวิต ได้อย่างดีมาก แล้วหลายๆอย่างที่คุณไปกล่าวหาเขามันเกิดมาจากการที่พอคุณไปกดขี่  กดทับเขาแบบนั้น ทำให้สังคมมีอคติกับเขา” 

กอล์ฟคือคนหนึ่งที่เคยมีอคติจากความ “ไม่รู้” และมายาคติในการแบ่งแยก “ชาวเขา - ชาวเรา” ที่ฝังรากลึกในสังคม กระทั่งวันที่เขาได้ก้าวผ่านจากความไม่เข้าใจ ไปสู่การใช้ชีวิตด้วยความเข้าใจร่วมกับชนเผ่าพื้นเมืองปกาเกอะญอ พร้อมเกิดใหม่จากการโอบกอดและยอมรับซึ่งกันและกัน 

“เวลาที่เราอยู่ในเมืองเรา เราเข้าใจเขาอีกแบบเลย ว่าเขาเป็นกลุ่มไม่มีการศึกษา ไม่ใช่คนไทย ตัดไม้ทำลายป่า ทำไร่เลื่อนลอย ปลูกฝิ่น แล้วสุดท้ายก็มีโครงการเข้าไปโปรดชาวบ้าน ทำเหมือนชาวบ้านชาติพันธุ์ที่เป็นชนเผ่าพื้นเมือง ไม่ใช่คนแบบพวกเดียวกับเรา ซึ่งเมื่อก่อนเราคิดแบบนั้นจริง ๆ เพราะเราเรียนแล้วเราถูกฝังหัวจากระบบการศึกษา 

“แต่ว่าสุดท้ายแบบพอเรามาเจอมาใช้ชีวิตอยู่กับเขาจริง ๆ เรารู้สึกว่า มันไม่ใช่เลย เขาใช้ชีวิตได้อย่างดีมาก แล้วหลาย ๆ อย่างที่คุณไปกล่าวหาเขา มันเกิดมาจากการที่พอคุณไปกดขี่ กดทับเขาแบบนั้น มันก็ทำให้สังคมมีอคติกับเขา สุดท้ายแบบมันก็จะเป็นเหมือนเครื่องมือให้รัฐสามารถแสวงหาผลประโยชน์จากพื้นที่นั้นได้

“พอเราได้อยู่กับเขา ได้ไปเข้าใจเขาแล้วทำให้รู้ว่าเขาไม่ได้เป็นแบบนั้น มันทำให้เราย้อนกลับไปมองตอนที่เราเรียน ว่าเราก็เคยชี้หน้าด่าเขาเหมือนกัน เคยคิดว่าเขาเป็นแบบนั้นแบบนี้ แล้วสุดท้ายก็เลยคิดว่าการต่อสู้กับเขาจนถึงที่สุด ก็อาจจะเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยชดเชยช่วงเวลาแบบนั้นได้”

กอล์ฟเล่าว่า เขายังจดจำตัวเองในวันแรกที่ได้เข้าไปในชุมชนได้ดี วันนั้นเป็นหนึ่งวันในช่วงหน้าฝน ที่เขาให้คำนิยามว่า “เหนือจินตนาการ” 

“ทั้งวันนะ.. เราไม่ได้กินข้าวเลย เพราะเราถูกส่งไปคนเดียว แล้วเราต้องนั่งรถตู้ไป พี่เขาขับเร็วและน่ากลัวมาก (หัวเราะ)  แต่ว่าคือถึงจะขับเร็วยังไงเส้นทางจากเชียงใหม่ ไปอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน มันก็ต้องใช้เวลาสี่หรือห้าชั่วโมง สุดท้ายพอไปถึงก็หิวมาก กว่าจะเดินทางไปที่ชุมชนอีก ก็ใช้เวลาอีกเป็นชั่วโมง พอไปถึงก็หิวมาก หนาวมาก ๆ 

“แล้วตอนนั้น พอฝนตก มันก็หนาว แล้วเราก็ไม่ได้เตรียมผ้าแบบเสื้อกันหนาวไป เพราะเราคิดว่ามันไม่หนาวหรอก แต่พอเราไป พี่น้องชาวบ้านก็ต้อนรับเราดีมาก คือเราบอกว่าจริง ๆ ผมกินมาม่าก็ได้นะครับ คือหิวมาก ไม่ไหวแล้ว แต่พี่น้องก็ทำกับข้าวให้เรากิน คือเป็นกับข้าวที่เรากินไม่ได้เลยตอนนั้น” กอล์ฟเล่าพร้อมรอยยิ้ม เมื่อรำลึกถึงความหลังเมื่อครั้งที่เขาอายุ  22 ปี 

“คือมันมีเมล็ดไม้ ซึ่งมันจะขมมาก ขมกว่ามะระ แล้วเขาผัดไข่ให้เรากิน มีน้ำพริกปลากระป๋องที่เผ็ดมาก อะไรแบบนี้ กินเข้าไปน้ำตาจะไหล แต่คือต้องกินให้หมด เพราะเกรงใจเขา 

“พอเข้าห้องน้ำ เป็นแบบไม่มีประตูปิด มีแต่แบบผ้าผืนเดียวกางปิดไว้ แล้วคือเราก็ไม่มีทางรู้เลยว่าข้างในมีคนอยู่ เราก็แบบ.. กูมาใช้ชีวิตอยู่อะไรแบบนี้วะ ตอนนั้นคิดถึงเพื่อนมาก คิดถึงกรุงเทพมาก ประมาณว่ารู้สึกว่าสุดท้ายแล้วกูมาที่นี่ กูจะช่วยเขาได้ขนาดไหนวะ กูจะอยู่กับมันได้จริง ๆ ใช่ไหม 

“แต่สุดท้ายก็อยู่ ๆ ไป แล้วเจอจุดที่มันคลิกอะ นั่นคือวันต่อมาเลย ซึ่งเราจำได้ว่ามันเป็นตอนเช้า ก่อนเข้าไปในไร่หมุนเวียน” 


ความหลากหลายทางเพศ กับการทำงานในพื้นที่ชุมชน 
เราจำได้ว่าตอนลงพื้นที่ครั้งล่าสุดกับกอล์ฟ เขาพูดติดตลกกับพี่น้องในพื้นที่เป็นเชิงตั้งคำถามว่า “ข้าวในไร่หมุนเวียนเป็นผู้ชาย ดอกไม้คือผู้หญิง แล้วกะเทยเป็นอะไร?” เราจึงชวนเขามาพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องความหลากหลายทางเพศและการทำความเข้าใจซึ่งกันและกันในพื้นที่ชุมชนอีกครั้ง 

“เราถือว่าเป็นการเรียนรู้ซึ่งกันและกันแหละ เหมือนที่เราเรียนรู้ความต่างของเขา ของเผ่าพันธุ์ต่างชนเผ่า วิถีชีวิตของเราแตกต่าง ความเชื่อก็ต่าง เวลาเราไปเจอบางอย่าง ก็ต้องใช้เวลาเรียนรู้กับมันนาน แต่เรารู้สึกว่า ความเป็นกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศในชุมชนยังมีน้อย คนนอกเข้าไปในชุมชนมันมีแหละ แต่คนที่อยู่ในชุมชน แล้วเป็นที่ยอมรับของคนในชุมชน หรือออกมาเปิดตัว มันยังมีน้อย ด้วยความที่ในวัฒนธรรมเขามีแค่ชายหญิง สะท้อนผ่านข้าวและดอกไม้ในไร่หมุนเวียน 

“เรายอมรับว่าช่วงแรกที่มาเราก็เกร็งมาก นอกจากจะเป็นคนเมืองแล้วเข้าไปทำงานกับเขาแล้วเนี่ย เราก็ยังรู้สึกว่าอัตลักษณ์ทางเพศของเรามันอาจจะเป็นอุปสรรคไหมในการที่ชาวบ้านอาจจะไม่กล้าคุยกับเรา 

“แต่ว่าสุดท้ายแล้ว มันก็ผ่านไปได้ด้วยดีนะ คือชาวบ้านก็ไม่ได้อะไรเลย เขาก็เคยถามตอนที่นั่งกินข้าวอยู่ ว่าแบบนี้เขาเรียกว่าอะไร?เป็นแบบนี้เขาเรียกว่าอะไรเหรอ? คือเขาถามแบบไม่รู้จริง ๆ เราก็จะตอบว่า ผมชอบผู้ชาย 

“เรายังไม่เคยเจอที่ไหนมีท่าทีรังเกียจเลยนะ แม้กระทั่งน้อง ๆ เยาวชนด้วยกันเองที่เราทำงานด้วยก็ตาม มันอยู่ที่การทำงานของเราด้วย เรารู้สึกว่า เราก็อยากจะลบภาพจำแบบนั้นเหมือนกัน.. ภาพจำทีว่า เป็นกะเทยต้องตลก เป็นกะเทยต้องบ้าผู้ชาย แต่เราไม่ได้เป็นแบบนัน ดูรู้สึกว่าที่ผ่านมา เราทำได้ดีในจุดนี้แหละ 


“อย่างที่บอกว่า มันเป็นการเรียนรู้กัน เราเรียนรู้เขา เขาก็ต้องมีพื้นที่ในการเรียนรู้เรา ว่าตอนนี้โลกมันเป็นอย่างนี้ มันมีคนแบบนี้ สุดท้ายเราก็เป็นคนแบบพวกคุณ เขาก็มีความรักเหมือนผู้ชายกับผู้หญิงนั่นแหละ”



ยืนตรงไร่หมุนเวียน
สำหรับกอล์ฟ ไร่หมุนเวียนคือระบบการเกษตรที่มหัศจรรย์เสมอสำหรับเขา กอล์ฟรู้สึกว่าไร่หมุนเวียนคือแหล่งอาหารที่ทำให้เขารู้สึกปลอดภัยเสมอ 

“อาหารจากไร่หมุนเวียน เป็นอาหารที่มาจากเมล็ดพันธ์ที่ส่งต่อเป็นร้อย ๆ ปี มันมีความพิเศษของมัน แล้วยังไม่รวมของเรื่องแบบประโยชน์ของมันในการที่มันเกื้อกูลระบบนิเวศ การทำให้ป่ายังอยู่


“พอพูดถึงไร่หมุนเวียน ก็อยากให้ทุกคนลองมองย้อนกลับไปมองบางกลอย ชาวบ้านเขาก็ทำไรหมุนเวียนกันมาตั้งแต่ต้น ไม่งั้นเขาจะเอาไรกิน ตั้งแต่วันที่เขาทำไร่หมุนเวียนจนถึงทุกวันนี้ สุดท้ายการทำไร่หมุนเวียนกลับถูกกล่าวหาว่าเป็นไร่เลื่อนลอย ทำลายป่า มันนอนเซ้นมาก คือถ้าวันนั้นเขาไม่อยู่ในป่า ไม่ทำไร่หมุนเวียน ป่านนี้มันคงเป็นสัมปทานป่าไม้กันไปหมดแล้ว.. คือไร่หมุนเวียนทำให้ป่ามันอยู่ได้ ทุกวันนี้ มันอุดมสมบูรณ์ และมันเป็นสิ่งที่คนในเมือง รวมถึงคนในสังคมยังไม่เข้าใจ

“แต่เรายืนยันว่าสิ่งที่เปลี่ยนความคิดเราคือไร่หมุนเวียน เพราะมันมีความพิเศษมากจริง ๆ จนไม่รู้จะอธิบายความพิเศษนั้นยังไงเลย” 



เพราะขั้นตอนในการทำไร่หมุนเวียน ได้ถูกรังสรรค์ขึ้นอย่างพิถีพิถันและเต็มไปด้วยจิตวิญญาณของชาวปกาเกอะญอ รวมถึงเป็นความมั่นคงทางอาหาร ที่ตั้งอยู่บนฐานของการอนุรักษ์ป่า 

“ถ้าในพื้นที่ชุมชนที่เขานับถือพระสงฆ์กับศาสนาดั้งเดิม พิธีกรรมเขาจะมีอยู่เยอะ
 สมมติเราจะทำไร่หมุนเวียน สิ่งแรกที่ต้องดูคือต้องเป็นแปลงหมุนเวียนเดิม คือไม่ใช่การบุกรุกพื้นที่ป่าใหม่ คือแยกให้ได้ก่อนว่าไร่หมุนเวียน ก็คือพื้นที่การเกษตร ป่าก็คือป่า ป่าเขาจะไม่ไปถาง ไปแค่เก็บนู้นเก็บนี้กิน เก็บของป่าได้ หมายถึงว่าไร่ก็คือไร่ เป็นพื้นที่การเกษตร 

“และต้องดูว่าพื้นที่นั้นเป็นไร่เดิมหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ก็ไม่ควรไปทำ สมมติว่าเราดูแล้วก็ต้องไปฟันไม้ก่อนหนึ่งต้นตามพิธีกรรม แล้วก็กลับมาบ้าน เพื่อที่จะกลับมานอน แล้วดูว่าคืนนั้นฝันร้ายหรือเปล่า คือถ้าฝันว่าไฟไหม้ เขาก็จะไปทำไม่ได้ พื้นที่ตรงนั้นต้องปล่อยไปเลย แต่ถ้าคนอื่นไปฟันแล้วไม่ฝันร้ายก็ทำได้ แต่ตัวเราทำไม่ได้ 

“พอถางไร่เสร็จ เขาก็จะทำพิธีหยอดข้าว ถวายหัวข้าว ในพื้นที่ แล้วก็ทำพิธีเลี้ยงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เลี้ยงไฟ ในพื้นที่ ตอนตอนเกี่ยวข้าว เขาก็ทำพิธีกรรมอะไรอย่างนี้เหมือนกัน

“ไร่หมุนเวียนก็เต็มไปด้วยพิธีกรรมนั่นแหละ แต่ความต่างระหว่างไร่หมุนเวียนกับไร่เลื่อนลอย มันมีขอบเขตชัดเจน คำว่าหมุนเวียนคือเวียนกันอยู่ในพื้นที่ แบบคล้าย ๆ เป็นรอบปี ถ้าเราจะไปทำไร่หมุนเวียน เวลาหมุนเวียนไร่ มันจะมีรอบที่เหมาะสม อยู่ที่ประมาณห้าถึงเจ็ดปี เพราะว่าดินมันจะฟื้น ต้นไม้มันจะฟื้น ก็เท่ากับว่าเราต้องมีประมาณเจ็ดแปลง แต่ว่าแต่ละปีเราทำแค่หนึ่งแปลง นั่นหมายความว่าอีก 6 แปลงที่เหลือ ต้นไม้ก็จะเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ คอยดูดซับคาร์บอน เหมือนพื้นที่ป่า

“ดังนั้นการกล่าวหาว่าต้องการพื้นที่เท่านั้น ใหญ่ขนาดนั้นขนาดนี้ เพื่อทำไร่หมุนเวียน ทำพื้นที่เจ็ด แปดแปลง มันใช้ไม่ได้ เพราะสุดท้ายแล้ว ในหนึ่งปีเราไม่ได้ถางไร่ถึงเจ็ดแปลงหรือแปดแปลงไง เราถางแค่แปลงเดียว หมายถึงว่า พอเราถางแค่หนึ่งแปลง พอแปลงนี้เราเก็บเกี่ยวเสร็จ เราก็ไปถางอีกแปลงนึง แล้วก็ปล่อยให้แปลงนี้มันโตขึ้นมา ระหว่างมันโตขึ้นมา ต้นไม้มันก็เจริญเติบโตขึ้นมาคอยดูดซับคาร์บอนจากการเผาพื้นที่ไร่หมุนเวียนจากบริเวณนั้น ๆ และเหลือไว้ดูดซับคาร์บอนในเมืองด้วย” 



ผืนป่าจิตวิญญาณ

“เราได้ยินคำว่าป่าจิตวิญญาณมาเยอะมาก เล่าให้ฟังได้ไหมว่าตรงไหนบ้างที่เราเรียกมันว่าป่าจิตวิญญาณ?”


“ป่าทั้งหมดรวมกัน” กอล์ฟตอบ

 

“ไม่ว่ามันจะขนาดกี่พันกี่หมื่นไร่.. มันคือพื้นที่จิตวิญญาณของ ที่เขา ไม่สามารถสูญเสียไปได้เลยแม้เพียงตารางนิ้วเดียว จิตวิญญาณทั้งหมดของเขาอยู่ในนั้น สายสะดือเขาก็อยู่ในนั้น อาหารเขาก็อยู่ในนั้น และสุดท้ายคือหลุมฝังศพเขาก็จะอยู่ในนั้น"



“สมมติชุมชนหนึ่งดูแลพื้นที่ป่าอยู่สองหมื่นสามพันไร่ เขาก็จะขอกันพื้นที่นั้นออกจากการประกาศอุทยาน เพื่อเขาจะสามารถจัดการได้เอง คนในเมืองก็จะบอกว่า  มีที่งานเดียวยังไม่มีเลย แล้วทำไมจะต้องไปให้พวกชนเผ่าตั้งสองหมื่นไร่..  คือมันเกิดจากการที่เรามองเข้าโดยปราศจากความเข้าใจความต่างของแต่ละวัฒนธรรม  คือถ้าคุณยอมรับว่าประเทศนี้มันเป็นประเทศพหุวัฒนธรรม คุณจะไม่มองเขาแบบนั้นหรอก

“เราทำงานกับกะเหรี่ยงในพื้นที่ภาคเหนือ แล้วเราก็ไปทำงานกับกะเหรี่ยงบางกลอย
 แล้วเราขึ้นไปเห็นในพื้นที่เขา เรารู้สึกได้ว่าพวกภูมิปัญญา พิธีกรรม วัฒนธรรม มันถูกทำให้สาปสูญไป คือเขาไม่ได้มีพื้นที่จิตวิญญาณ คือมันหายไปเพราะแบบนั้นเลยนะ 

“ในพื้นที่บางกลอย การร้องรำทำเพลงคือมีน้อยมาก ด้วยสภาพจิตใจเขาด้วย เรื่องพิธีกรรม จะให้เขาทำพิธีอะไรล่ะ ก็ในเมื่อตอนนี้ไม่มีพื้นที่ให้เขาไปทำพิธีกรรม ไม่มีพื้นที่ให้เขาทำไร่หมุนเวียน ไม่มีข้าวจากไร่หมุนเวียน ไม่ได้มีพื้นที่ป่าสะดือเพื่อที่ให้เขาได้ไปทำพิธีแล้ว”  

เพราะตามพิธีกรรมของชาวปกาเกอะญอ เวลาเด็กเกิดมา จะต้องมีการตัดสายสะดือของเด็กใส่ กระบอกไม้ไผ่ และนำไปผูกบนต้นไม้ที่มีความมั่นคงแข็งแรง เพื่อให้ต้นไม้กับเด็กได้เจริญเติบโตด้วยกัน โดยต้นไม้เหล่านี้ ห้ามใครตัดหรือโค่นไปใช้ประโยชน์เด็ดขาด เสมือนเอาจิตวิญญาณของเด็กไปผูกไว้ ให้เติบโตด้วยกัน   

“ในพื้นที่บางกลอย เขาไม่มีพื้นที่ป่าฝังศพให้เอาร่างไปฝัง ไม่มีพื้นที่เลี้ยงผีตาเต๊าะ ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของเขา เพราะมีการจัดบ้านที่ดินเขาเป็นล็อค ๆ ให้ไปทำกิน ดังนั้นบริเวณที่ทำให้พวกวัฒนธรรมประเพณีมันไม่มีอีกแล้ว ไม่มีแม้กระทั่งพื้นที่จิตวิญญาณ ทั้ง ๆ ที่คุณไม่เคยมีส่วนร่วมอะไรเลย”


“ความรักความหวงแหนของชาวปกาเกอะญอกับป่า มันเป็นเหมือนกับชีวิตของเขาทั้งชีวิต ที่จะยังอยู่ในพื้นที่นั้น ต่อให้เขาตาย เขาก็ยังอยู่พื้นที่นั้น ดวงวิญญาณก็ยังอยู่ในพื้นที่นั้น เพราะเขาเชื่อแบบนั้น

เขาเชื่อว่าพื้นที่ป่า จะพาเขาไปอยู่อีกภพภูมิหนึ่ง และด้วยความที่เขามองว่านี่คือป่าจิตวิญญาณตามหลักจารีตของเขา มันจะถูกเขียนออกมา เป็นกฎระเบียบชุมชน ว่าคุณห้ามทำแบบนี้แบบนั้น ห้ามไปตัดต้นไม้ชนิดนี้ชนิดนั้น ห้ามล่าสัตว์ชนิดนี้ และมีกฎระเบียบกฎลงโทษของเขาเอง ถ้าชุมชนเขาสามารถจัดการพื้นที่นั้นได้ คุณต้องทำไร่หมุนเวียนเท่านี้นะ คุณห้ามถางไร่หมุนเวียน ก่อนมันจะครบเจ็ดปี คุณห้ามทำ ห้ามรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ที่ไม่เป็นไร่หมุนเวียน คุณห้ามไปทำไร่หมุนเวียนในพื้นที่ป่าต้นน้ำ คือมันมีหมดเลย และกฎระเบียบเหล่านี้เกิดจากการได้ทดลองทำมาเป็นร้อยเป็นพันปีในพื้นที่ตรงนั้น และเขาก็สามารถจัดการกับพื้นที่ได้


“พื้นที่ไหนที่มีป่า มีอุทยาน.. มันมีชาวบ้านอยู่ก่อนแล้วทั้งนั้น แล้วชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ฟื้นฟูมันขึ้นมา เขาออกมาต่อสู้กับขบวนการค้าไม้ด้วยตัวเองด้วยซ้ำ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐออกมาสู้ สุดท้ายเขาถูกประกาศทับ กับถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกตัดไม้ทำลายป่า เป็นภัยของความมั่นคงของทรัพยากรประเทศ แต่คือความจริงคือมันไม่ใช่ ใครจะอยากทำลายบ้านตัวเองล่ะ..” 

ทำไมเราถึงต้องเซฟบางกลอย?
กอล์ฟเล่าว่า ชาวบ้านบางกลอยเป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่อยู่ในพื้นที่มาอย่างยาวนาน เป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งร้อยปี

“ถ้าย้อนกลับไปอย่างเก่าแก่สุดที่เราพอจะหาได้ ก็คือภาพถ่ายทางอากาศของกรมแผนที่ทหารบกตั้งแต่ ปี 2455 ซึ่งมันเก่าแก่มาก หรือแม้กระทั่งบัตรประชาชนปู่คออี้ ระบุว่าปู่เกิดปี 2454 หมายความว่าตรงนั้นมันมีชุมชนตั้งอยู่มาก่อน และพื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก ทั้งเรื่องทรัพยากรป่า หรือเรื่องอะไรก็ตาม แล้วมันจะไม่สามารถเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ขนาดนั้นได้ถ้าชุมชนในพื้นที่เขาไม่ดูแลรักษาพื้นที่ตรงนั้น 

“เขาไม่เคยเรียกร้องเรื่องโฉนดหรือเรื่องเอกสารสิทธิอะไรในพื้นที่ตรงนั้นเลย เขาแค่ต้องการสิทธิในการที่จะครอบครองในการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ตรงนั้น ในฐานะคนที่อยู่มาก่อน แล้วก็เป็นคนที่ดูแลรักษา สุดท้ายกฎหมายของก็ไปประกาศทับเขา โดยไม่ได้มีส่วนร่วมอะไรกับเขาเลย แล้วก็ไปชี้นิ้ว หาว่าเขาเป็นพวกบุกรุกป่า ทำลายป่า หาว่าเขาเป็นต่างด้าวบ้าง หาว่าเขาเป็นพวกกองกำลัง มีอาวุธ เป็นพวกเป็นภัยต่อความมั่นคง ทั้ง ๆ ที่เขาอยู่ในพื้นที่มาก่อน 

“สุดท้ายพอคุณต้องการให้พื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่ป่า เป็นอุทยานที่ปราศจากคนแล้วคุณก็ พยายามจะทำให้พื้นที่ตรงนั้นเป็นมรดกโลกธรรมชาติ คุณก็ไปผลักดันเขาลงมา ด้วยการใช้กำลังและใช้ความรุนแรง ไปเผาบ้านเขาอะไรอย่างนี้ แล้วสุดท้ายก็ให้เขามาอยู่ในที่จัดสรรใหม่ ที่บ้านโป่งลึกบางกลอย ที่อยู่อาศัยและทำกินไม่ได้ เจ็บป่วยก็ต้องระหกระเหินกันลงไปทำงานในเมืองเพื่อหาค่าจ้างมาแลกข้าว ต้องหาเงินซื้อข้าวทั้ง ๆ ที่ถ้าเขาอยู่ที่เดิมเขาสามารถปลูกข้าวกินเองได้

“แล้วยังมีการอุ้มฆ่าบิลลี่ ยิงทนายป๊อด ที่ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม ปู่คออี้ (ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวบางกลอย) ก็เสียชีวิตไปแล้วตอนปี 2561 แกเสียชีวิตโดยที่ยังไม่มีโอกาสได้กลับไปที่ทำกินที่บ้านเก่าบ้านเดิมของแกเลย

“เรารู้สึกว่าเรื่องพวกนี้มันเป็นเรื่องที่ไม่ควรมีใครรับ ถ้าเรามองว่าเขาเป็นคนในสังคมเดียวกับเรา เป็นคนเหมือนกับเรา มันไม่ควรจะเป็นเรื่องที่มีใครรับได้ทั้งนั้น” 

“การที่เราจะต้องออกมาเซฟเขา เพราะว่าจากการที่เขาถูกละเมิด ถูกกดขี่กดทับแบบซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งจากหน่วยงานราชการ ทั้งจากกฎหมาย จากนโยบาย อะไรก็ตาม ทั้งจากอคติของคนในสังคมเองด้วย สุดท้ายเวลานี้พิสูจน์ให้เห็นว่า เขาไม่สามารถที่จะช่วยเหลือตัวเองได้แล้วในเชิงที่จะออกมาเรียกร้อง เพราะว่าการออกมาเรียกร้องแบบเดี่ยว ๆ ที่ผ่านมา มันนำมาซึ่งการ เสียชีวิต หรือว่าการที่เขาถูกอุ้มหาย หรืออย่างตอนนี้คือสิ่งที่เขาเจอคือเรื่องการถูกดำเนินคดี ซึ่งเราไม่ควรปล่อยให้เขาต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวอีกแล้ว เพราะเราไม่อยากให้โศกนาฏกรรมเหมือนตอนปี 2554 ที่มีการไปเผาบ้านเขามันเกิดขึ้นอีกครั้ง


“และเรารู้สึกว่ามันถึงเวลาแล้วที่สังคมคนในเมืองจะตื่นขึ้นมาแล้วก็ออกมาทำความเข้าใจและต่อสู้ร่วมกับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์” กอล์ฟย้ำ 


ปัจจุบันเขาทำงานร่วมกับภาคี #Saveบางกลอย และยังคงมุ่งหน้าสานต่ออุดมการณ์ไปกับมูลนิธิอาสาพัฒนาภาคเหนือ และเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. .... และได้ยื่นรายชื่อกว่า 16,000 รายชื่อให้รัฐสภาเมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา 

ในฐานะของคนธรรมดาวัย 25 ปี ที่เชื่อในความเท่าเทียมกันของมนุษย์ทุกคน