มุมมองเยาวชนและโทษประหาร

18 ตุลาคม 2564

เขียนโดย: ปิยะรัตน์ ชูกลิ่นหอม Amnesty International Thailand's Youth Network

 

เนื่องในวันครบรอบ วันยุติโทษประหารชีวิตสากล (World Day against the Death Penalty) ซึ่งตรงกับวันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี เกิดคำถามมากมายในสังคมว่าโทษประหารนั้นมันยังควรมีอยู่หรือไม่ เพราะอะไรเราถึงต้องให้ความสำคัญกับมัน  เครือข่ายเยาวชนแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (Amnesty International Thailand’s Youth Network) จึงได้ใช้โอกาสนี้ร่วมกับ ขบวนการเยาวชนแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (Amnesty International Thailand’s Youth Movement) จัดวงเสวนาขึ้นเพื่อพูดถึงประเด็นดังกล่าวในความคิดของแต่ละคน รวมไปถึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ได้พบเจอมาเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ 

 

เปิดวงมาด้วยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อ “โทษประหาร” ว่าทุกคนรู้สึกอย่างไรกับโทษประหาร คำตอบที่ได้ประกอบไปด้วยความคิดเห็นในหลากหลายมุมมอง ไม่ว่าจะเป็นจากคนรอบข้าง หรือจากสื่อที่นำเสนอเกี่ยวกับประเด็นโทษประหาร บ้างก็บอกว่าในการบังคับใช้โทษประหารนั้นต้องแยกเป็นกรณีไป บ้างก็เห็นว่าการประหารนั้นเป็นเพียงกันตัดปัญหาไม่ใช่ทางแก้ไข นอกจากนี้ยังมีการยกกรณีตัวอย่างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นชัดคือในกรณีของ #ข่มขืน=ประหาร ที่สังคมมักถูกชักจูงไปด้วยอารมณ์ที่เดือดดาลจากการทำงานของสื่อที่เสนอข่าวที่ไม่ครบถ้วน ซึ่งสนองตอบความต้องการของสังคมมากกว่าการหาทางแก้ปัญหาจากอาชญากรรมที่เกิดขึ้น 

 

เมื่อพูดถึงแนวทางหรือทิศทางที่จำเป็นไปสู่การยกเลิกโทษประหารได้นั้น ก็เป็นประเด็นที่วงพูดคุยได้ยกมาถกกัน หลายคนกล่าวว่าที่สังคมต้องการให้มีโทษประหาร นั่นก็เพราะความไม่ยุติธรรมของกระบวนการทางกฎหมายไทยเอง ที่เป็นต้นเหตุของปัญหา ครอบครัวของผู้ถูกกระทำไม่อาจคาดหวังหรือเชื่อในกระบวนการทำงานของกระบวนการยุติธรรมไทยได้ หลาย ๆ กรณีตัวอย่างที่ผู้กระทำผิดไม่ได้เป็นผู้ที่มีฐานะทางสังคมหรือเป็นเพียงคนยากจน ก็ยากที่จะได้รับความยุติธรรมในการดำเนินคดี ดังนั้นการประหารจึงเป็นการแก้ปัญหาที่สังคมไทยมองว่าเป็นเครื่องยืนยันความยุติธรรมในสังคมได้มากกว่ากระบวนการยุติธรรมเสียอีก  

 

ตัวละครสำคัญที่จะสามารถผลักดันให้สังคมมีการถกเถียง พูดคุย รวมไปถึงสร้างพื้นที่ให้มีการแลกเปลี่ยนทั้งฝั่งของผู้ที่สนับสนุนและต่อต้านโทษประหารก็คือ “สื่อ” แต่สื่อไทยกลับไม่ใช่ทางออกแต่กลายเป็นกองฟืนที่คอยเติมเต็มกองไฟ ด้วยการเสนอข่าวที่เรียกกระแสหรือเรตติ้งของสังคม การใส่อารมณ์ร่วมเข้าไปของสื่อทำให้คนในสังคมไม่ได้คิดหาทางแก้ปัญหาแต่ใช้โทษประหารเป็นการตัดปัญหา สื่อไม่สามารถกระจายข้อเท็จจริงถึงความจำเป็นในการยกเลิกโทษประหาร ทำให้สังคมไทยไม่ได้มีการหาทางออกที่แท้จริง วงพูดคุยยังแลกเปลี่ยนว่าสิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนให้เห็นว่ารัฐเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อการสร้างความตระหนักรู้ว่ามนุษย์ทุกคนล้วนมีสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน คือ สิทธิในการมีชีวิตรอด และไม่มีใครที่จะพรากสิทธินี้ไปจากใครได้ การที่รัฐไม่ได้สนับสนุนให้สังคมไทยได้มีการเรียนรู้ในเรื่องสิทธิมนุษยชนเท่าที่ควร ไม่ว่าจะในหรือนอกระบบการศึกษา ย่อมส่งผลต่อค่านิยมหรือความเชื่อบางอย่างในประเด็นที่มีความอ่อนไหวเช่นนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

 

การเยียวยาผู้ถูกกระทำที่ต้องเผชิญเหตุการณ์อันก่อให้เกิดความเจ็บปวดนั้น เป็นสิ่งที่วงได้ยกมาพูดคุยเช่นกัน เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ผู้ร่วมวงเสวนาคนหนึ่งได้แลกเปลี่ยนว่า มีหลายครั้งที่ครอบครัวของผู้ถูกกระทำเองไม่ได้ต้องการที่จะให้มีการประหารตัวผู้กระทำผิด เพียงแต่ต้องการความยุติธรรมและการเยียวยาเพื่อให้ครอบครัวของพวกเขาสามารถผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากและกลับไปใช้ชีวิตตามปรกติสุขได้ นอกจากนี้ยังมีการเเลกเปลี่ยนว่าการลงโทษผู้กระทำผิดนั้นควรเป็นไปเพื่อให้เขาตระหนักและรู้สำนึกถึงความผิดของตนจริงๆ เพื่อให้เขายังมีชีวิตและทำการชดเชยเยียวยาให้กับผู้ถูกกระทำและครอบครัว รวมถึงการได้รับการบำบัดฟื้นฟูและให้เขากลับเข้าสู่สังคมได้ ซึ่งจะเห็นได้ว่าโทษประหาร หรือในอีกนัยหนึ่งที่คนในสังคมมองว่าเป็นการแก้แค้น หรือการลงโทษแบบตาต่อตา ฟันต่อฟันนั้นไม่ได้นำไปสู่อะไรเลย   

 

ด้วยการถกเถียง พูดคุย และแลกเปลี่ยนในประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับโทษประหาร จึงได้ข้อสรุปที่สำคัญนั่นก็คือ ถึงเวลาที่เราต้องใช้อารมณ์ให้น้อยลงและเปิดใจฟังเสียงของผู้ถูกกระทำและครอบครัว และคำนึงถึงสิทธิมนุษยชนให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดวิธีที่สามารถแก้ปัญหาได้จริง ๆ ไม่ใช่การใช้โทษประหารเป็นเพียงการตัดปัญหา เพราะชีวิตแลกชีวิตไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น นอกจากต้องเสียไปอีกชีวิตหนึ่งเพียงเท่านั้น... 

 

*เยาวชนที่สนใจขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนร่วมกับเพื่อนๆ ทั่วประเทศไทย สามารถลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมขบวนการเยาวชนแอมเนสตี้ได้ที่ https://forms.office.com/r/S6S3U44sw8  

หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่Naritha.p@amnesty.or.th และ Boontrika.m@amnesty.or.th