ภาพจำของซีรีส์วายในประเทศไทย : เมื่อความเป็นจริงไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏบนหน้าจอ

18 ตุลาคม 2564

Amnesty International Thailand

เขียนโดย สิทธิศักดิ์ บุญมั่น

ผลงานจากโครงการ Writers that Matters: นัก(อยาก)เขียน เปลี่ยนโลก 

ในหัวข้อ สิทธิมนุษยชนผ่านมุมมองของฉัน

            นับตั้งแต่กระแสคู่จิ้นชายรักชายได้รับความนิยมจากเหล่าวัยรุ่นในประเทศไทย ก็ทำให้วงการบันเทิงของบ้านเราเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก “ซีรีส์วาย” หรือ ซีรีส์ที่นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับความรักของผู้ชายสองคน เข้ามามีบทบาทบนหน้าจอทีวีมากยิ่งขึ้น อันจะเห็นได้จากจำนวนของวันของการออกอากาศที่มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากเมื่อก่อนมีเพียงแค่สัปดาห์ละหนึ่งถึงสองวัน แต่ปัจจุบันเราสามารถรับชมซีรีส์วายได้ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันอาทิตย์ หรือแม้กระทั่งสื่อออนไลน์เองก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่เราสามารถรับชมซีรีส์วายได้อย่างสะดวกสบาย

            วัฒนธรรมของความเป็นวายเองก็มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 โดยปรากฏในการ์ตูนผู้หญิงของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งคำว่า วาย (Y) นั้นย่อมาจากคำว่า ยาโอย (Yaoi) ที่เป็นวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่น และเนื้อหาภายในซีรีส์เหล่านั้นส่วนใหญ่แล้วล้วนแต่เป็นการเล่าเรื่องราวของความรักระหว่างผู้ชายสองคน มีทั้งแบบฉบับความรักวัยใสของนักเรียนมัธยม นักศึกษามหาวิทยาลัย หรือกระทั่งความรักของกลุ่มคนวัยทำงาน ซึ่งเส้นเรื่องส่วนใหญ่จะเป็นการถ่ายทอดให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองที่ค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาเป็นความรัก ผ่านปมปัญหาชีวิต แต่สุดท้ายแล้วก็ลงเอยอย่างสมหวังในที่สุด

            ชีวิตของตัวละครเหล่านั้นดำเนินไปอย่างราบรื่น แต่หากลองมองย้อนมาที่โลกแห่งความเป็นจริง เราจะพบว่าชีวิตของคู่รัก LGBTQ ในประเทศไทยนั้นค่อนข้างจะมีความแตกต่างจากในซีรีส์อย่างสิ้นเชิง เริ่มตั้งแต่การที่ต้องคนเหล่านั้นพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้การยอมรับจากครอบครัว และถึงแม้จะสามารถคบกันได้อย่างเปิดเผยแล้วก็ตาม ต่กฎหมายภายในประเทศก็ยังไม่รองรับการใช้ชีวิตคู่ของทั้งสองได้อย่างเต็มที่ อันเป็นเหตุให้คนเหล่านั้นต้องพลาดโอกาสหลายๆ อย่างในชีวิต ที่ซึ่งคู่รักชายหญิงทั่วไปได้รับ อาทิ การจดทะเบียนสมรสระหว่างเพศเดียวยังไม่สามารถทำได้ในประเทศไทย         

            บนจอทีวีผู้ชายสองคนคบกับได้อย่างเปิดเผย และได้รับการยอมรับจากสังคม แต่ในโลกของความจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น บนสังคมออนไลน์ยังคงมีการล้อเลียนคู่รักชาย-ชาย ผ่านการใช้ถ้อยคำที่หยาบคาย และคำพูดที่แสดงความเกลียดชังเพื่อกดทับศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์  หรือแม้กระทั่งคนรอบข้างของคู่รักเหล่านั้นเองก็มักจะตั้งคำถามว่าทำไมถึงคบกับเพศเดียวกันเสมอ ความจริงของชีวิตที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนกับสังคมที่ยังคงมองกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นตัวตลกกลับไม่ถูกตีแต่ลงบนซีรีส์ และแทบจะไม่มีปรากฏให้เราเห็นบนจอทีวีเลยแม้แต่น้อย

            จากการสำรวจซีรีส์วายไทยที่ออกอากาศในปี 2020 และต้นปี 2021 ของ Rocket Media Lab บนแพลตฟอร์มไลน์ทีวี ทั้งหมด 13 เรื่อง พบว่าเกือบทั้งหมดยังคงเสนอภาพของชายตรงเพศ (straight) ที่รักกัน และทั้ง 100% จะต้องมีฝ่ายหนึ่งที่ดูมีความเป็นชายมากกว่าอีกฝ่าย ซึ่งการนำเสนอเนื้อหาที่มีแต่ความเกี่ยวข้องกับเพศชายนั้นสร้างภาพจำให้คนดูยึดติดกับนักแสดงจะต้องเป็นชายตรงเพศเท่านั้น การนำเอานักแสดงที่อยู่ในกลุ่มชายรักชายมาเล่นซีรีส์วายกลับกลายเป็นเรื่องที่ผิดแปลกนับเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้กลุ่มคนผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศถูกกีดกันให้กลายเป็นคนชายขอบ หรือหากแต่จะเป็นตัวละครที่ลักษณะอ่อนหวาน(feminine) ก็อาจจะได้รับบทบาทสำคัญภายในเรื่อง แต่ก็ต้องถูกนำเสนอมาในลักษณะของการเป็นตัวตลก สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ล้วนแต่สะท้อนชุดความคิดที่ผู้ชายต้องเป็นใหญ่เท่านั้น

            ไม่เพียงเท่านั้นซีรีส์วายของประเทศไทยยังมีการนำเสนอเนื้อหาที่มีความรุนแรง อย่างเช่น ฉากที่เกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศ หรือการข่มขืน ซึ่งเป็นประเด็นที่มีการกล่าวถึงการอย่างมากถึงความไม่เหมาะสมในการใช้เพศชายเป็นสัญลักษณ์ของการใช้ความรุนแรง หรือการสอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์แบบผิดๆ ก็กลายมาเป็นที่วิจารณ์ของผู้คนอย่างมาก  และถูกมองว่าไม่ได้ขับเคลื่อนประเด็นของ LGBTQIA+ ทั้งๆ ที่เป็นซีรีส์ของคนกลุ่มนี้โดยตรง เพียงแต่เป็นการจัดทำขึ้นมาเพื่อขายความจิ้นให้สาววายได้ชุ่มฉ่ำใจเท่านั้น

            จากค่านิยมเหล่านี้ทำให้มองเห็นได้ว่า สังคมยังคงนิยามคำว่าเพศเป็นเพียงแค่เครื่องมือที่ใช้สำหรับการจำกัดความเป็นคนเอาไว้ สังคมยังคงมีความเข้าใจว่าความรักนั้นเป็นเรื่องของผู้ชายและผู้หญิง สังคมไม่ได้มองลึกลงไปในตัวบุคคล เพราะหากเรามาลองวิเคราะห์ดูดีๆ ก็จะเห็นถึงความแตกต่างระหว่างชีวิตจริงกับความเป็นซีรีส์วายในจอทีวีอย่างชัดเจน โลกแห่งความเป็นจริงของกลุ่มคน LGBTQIA+ นั้นแทบจะกลายเป็นโลกคู่ขนานของคนทั่วไป แต่ในซีรีส์กลับกลายเป็นอีกแบบ ในขณะที่ประเทศไทยนั้นได้ขึ้นชื่อว่าเป็นสวรรค์ของเหล่าผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ

            เพราะซีรีส์วายเป็นหนึ่งในสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่ให้ความรู้ควบคู่กับความบันเทิงแก่ผู้ชม และเนื่องจากได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก การตระหนักถึงความสำคัญของการเห็นค่าแก่กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายเพศจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น หากเนื้อหาที่ปรากฏบนหน้าจอภาพยนตร์เป็นเนื้อหาที่สะท้อนสังคมเพียงแค่ด้านใดด้านหนึ่ง ก็เปรียบกับว่าการสื่อสารครั้งนั้นล้มเหลว หากแต่สิ่งที่นำเสนอออกมายังไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง และในสังคมความเป็นจริงยังคงมีการแบ่งแยกเพศอย่างเห็นได้ชัดเจน และยังมีการสร้างภาพจำให้คนกลุ่มหนึ่งรู้สึกว่าตัวเองกลายเป็นสิ่งประหลาดในสังคมอยู่

            คงจะกลายเป็นเรื่องที่หากวันหนึ่งเราตื่นขึ้นมาในสังคมที่ทุกเพศสามารถใช้ชีวิตอยู่บนสังคมได้อย่างเท่าเทียม คู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสได้ การเป็น LGBTQIA+ กลายเป็นเรื่องปกติที่ไม่ต้องมีใครเข้ามาจับจ้อง หรือต้องคอยพิสูจน์ตนเองให้คนอื่นยอมรับ เพราะในฐานะของความเป็นคนเฉกเช่นกับผู้ชายและผู้หญิง ไม่จำเป็นเลยที่คนหนึ่งคนต้องพยายามเปลี่ยนแปลงตนเอง จนต้องยอมสละโอกาสบางอย่าง หรือความฝันที่ตนมีไปทำในสิ่งที่ไม่ใช่ความชอบ เพื่อให้ตนเองสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างเรียบง่าย ความเป็นคนมันถูกจำกัดอยู่ที่คำว่าเพศหรือ ทำไมชายหญิงทั่วไปไม่ต้องพยายามอะไรเลยก็สามารถอยู่สังคมได้อย่างมีความสุข

            หากประเทศไทยให้อิสระกับ LGBTQIA+ ได้ใช้ชีวิตของตนเองอย่างอิสระ อันเหมือนกับในซีรีส์วาย สังคมคงน่าอยู่มากกว่าที่เป็น เมื่อเราก้าวผ่านคำว่าเพศ และให้ความสำคัญกับความเป็นคนมากยิ่งขึ้น ประชาชนกลุ่มนี้ได้รับโอกาสแบบเดียวกันกับผู้มีอัตลักษณ์ทางเพศและรสนิยมทางเพศตรงเพศกำเนิด (straight) การกลายเป็นประเทศที่พัฒนาคงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม หากแต่เราควรเริ่มจากการยอมรับในความแตกต่างของผู้อื่น ไม่ใช้เพศเป็นเครื่องมือกดทับศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ หรือถูกใช้เพื่อสร้างความบันเทิงให้คนในสังคม ภาพจำด้านลบเกี่ยวกับกลุ่ม LGBTQIA+ ก็จะไม่มีให้เห็นบนจอทีวี

 

            เพราะสิทธิความเท่าเทียมทางเพศเป็นหนึ่งในสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนควรให้ความสำคัญ เพราะสิ่งนี้จะเป็นเครื่องมือรับประกันให้กับประเทศได้ ในเมื่อทุกคนเท่าเทียมกัน เคารพในความเพศที่หลากหลายจนกลายเป็นเรื่องปกติ ภาพของซีรีส์วายก็จะกลายเป็นหนึ่งในซีรีส์ที่ทำหน้าที่ให้ความบันเทิง โดยปราศจากอคติทางเพศ หรือกระทั่งการให้ความสำคัญกับชุดความคิดชายเป็นใหญ่ ภาพจำของคนในสังคมก็จะเปลี่ยนไปตามบริบทที่มันเป็น และในท้ายที่สุดเราจะไม่ต้องมานั่งจับผิดว่าโลกแห่งความเป็นจริงกับโลกแห่งซีรีส์วายมีความแตกต่างกัน