สิทธิมนุษยชนถูกละเมิดอย่างไรใน 6 ตุลา  

6 ตุลาคม 2564

Amnesty International Thailand

เหตุการณ์ 6 ตุลา คือเหตุการณ์หนึ่งที่ฝากบาดแผลไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ไทย หลังผู้ชุมนุมได้รวมตัวกันเพื่อใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของตนเอง ในการแสดงจุดยืนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล หลังจอมพลถนอม กิตติขจร ได้กลับเข้าสู่ประเทศไทยอีกครั้ง 

ท่ามกลางพลังแห่งอุดมการณ์ของประชาชน ได้เกิดเหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่นำไปสู่การสังหารหมู่กลางเมือง ณ สนามบอลของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 โดยปรากฏตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 40 คน  

นี่คือเหตุการณ์ที่เป็นโศกนาฏกรรมของประชาชน และแสดงให้เห็นถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบโดยรัฐบาล ทว่าท่ามกลางความโหดร้าย พลังแห่งจดหมายและเจตจำนงเพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้คืนสู่ประชาชนชาวไทย ได้แพร่สะพัดไปทั่วโลก จนมีคนชูป้ายให้ปล่อยตัวแกนนำในเวลานั้น ที่มหานครนิวยอร์ค

แน่นอนว่าการเมินเฉย และดูหมิ่นเหยียดหยามสิทธิมนุษยชนคือสิ่งหนึ่งที่ผลักดันให้เกิดการอันป่าเถื่อนโหดร้ายทารุณ และไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานขนาดไหน สิทธิมนุษยชนก็ยังคงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับประชาชนทุกคนเสมอ แม้ความอยุติธรรมจะสะท้อนผ่านการที่ว่า เป็นเวลา 45 ปีแล้ว นับตั้งแต่ระเบิด M79 ได้ถูกยิงเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนกระทั่งก่อให้เกิดการเสียชีวิตของผู้คนอย่างน้อยสี่สิบศพ แต่ผู้กระทำผิดกลับยังไม่ได้รับการลงโทษ

แม้จะเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นมากมายในวันนั้น 

 1.png

 

สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก

2.png

 

เหตุการณ์ 6 ตุลาเป็นการชุมนุมโดยสงบของนักศึกษา แรงงาน กรรมาชีพ ท่ามกลางกระแสการตื่นรู้ทางความคิดหลังจาก 14 ตุลา เมื่อประเทศไทยถูกปกครองด้วยระบอบเผด็จการมาเกือบสองทศวรรษ มีการปิดหนังสือพิมพ์ 13 ฉบับ จากคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน 

ไพบูลย์ วงษ์เทศ ได้เล่าถึงเหตุการณ์ทั้งก่อนและหลังวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ในฐานะกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชาชาติรายวัน ในวันนั้นเขาอายุ 23 ปี 

“ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์หกตุลา ไทยรัฐถูกยิง M79 ไปยังสำนักงาน เนื่องจากเป็นสื่อใหญ่ และลงข่าวเรื่องลูกเสือชาวบ้าน กระทิงแดง ส่วนประชาชาติเองก็โดนรัฐกวน ซึ่งคือ พ.ท.อุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ทั้งคุกคามด้วยการส่งของมาในจดหมาย แล้วโทรมาแจ้งเป็นระยะว่ากลุ่มกระทิงแดงกับนวพลกำลังเคลื่อนตัว เพื่อเป็นการข่มขวัญเรา

ในวันที่ 6 ตุลา มีการปิดล้อมธรรมศาสตร์โดยฝ่ายตชด. นักศึกษาไม่มีอาวุธที่จะไปต่อสู้ มีแต่รัฐบาลที่มีอาวุธ ทางกอง บก.ติดต่อนักข่าวภาคสนามที่ถูกส่งไปประจำที่ธรรมศาสตร์ไม่ได้ เพราะตอนนั้นต้องใช้ตู้โทรศัพท์ ก็เลยไปดูที่ธรรมศาสตร์ตอนเย็น วันนั้นฝนตก ผมเห็นคนเยอะ เราไปดูเหตุการณ์ชั่วขณะหนึ่ง ที่เห็นไม่ได้เห็นอะไรมากหรอก แต่ก็เห็นคนเยอะมาก 

ตกเย็นวันนั้น ก็มีการปฏิรูปการปกครองเลย แต่คนในสำนักงานเหลือน้อยแล้ว ตอนนั้นทำงานอยู่ เหลืออยู่คนสองคน มีอยู่คนหนึ่งที่เป็นฝ่ายซ้ายหัวก้าวหน้า จากนั้นก็เข้าป่าไป บรรยากาศหนังสือพิมพ์ก็ถูกคุกคาม ถูกสั่งปิดทันที 13 ฉบับ จากประกาศคณะปฏิรูปฉบับที่ 42 ซึ่งเป็นมาตรการปิดหนังสือพิมพ์ในกรุงเทพฯ ไม่มีหนังสือพิมพ์วางแผนเลย ปิดตั้งแต่วันที่หกหรือเจ็ดตุลาคมนี่แหละ เพื่อไม่ให้ประชาชนรู้ข้อเท็จจริง  จากนั้นนักหนังสือพิมพ์ก็ยื่นเรื่องต่อเจ้าพนักงานการพิมพ์ เพื่อขอเปิดอีกครั้ง 

ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา ก็มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพด้วยมาตรา 17 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ให้สั่งยิงเป้าประหารชีวิตได้ รวมถึงสั่งปิดหนังสือได้เช่นเดียวกัน” 

 

โดยหลังจากเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา ไพบูลย์ วงษ์เทศ ลี้ภัยไปยังประเทศสวีเดน 

 

ในปี 2502 มาตรา 17 ถูกใช้เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นฐานอำนาจของการออกคำสั่งประหารชีวิตประชาชนถึง 76 คน และสั่งจำคุกอีก 113 คน ในยุคของจอมพลสฤษดิ์ คนที่ถูกลงโทษรวมไปถึงผู้เห็นต่างทางการเมืองที่ออกมาเคลื่อนไหว เพื่อระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร และถูกนำมาใช้ในรัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร ด้วยเช่นกัน

 

อ้างอิงข้อมูลมาตรา 17 : https://ilaw.or.th/node/4670

 

 

สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ

4.png

 

เมื่อจอมพลถนอม กิตติขจร ผู้นำเผด็จการที่ถูกประชาชนขับไล่ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 เดินทางกลับประเทศไทย หลังลี้ภัยไปยังเมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกาและสิงคโปร์ ได้จุดประกายความไม่พอใจเกิดขึ้นในหมู่ผู้ชุมนุม ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ผู้ชุมนุมจึงรวมตัวกันเพื่อแสดงการต่อต้านอย่างต่อเนื่อง

 

29 กันยายน 2519 มีการนัดชุมนุมเพื่อประท้วงพระถนอม มีประชาชนมาร่วมชุมนุมราวสองหมื่นคน 

ตุลาคม 2519  มีการชุมนุมที่สนามหลวง เลิกในเวลาราว 21.00 น. จากนั้นได้มีการนัดหมายให้ประชาชน

ตุลาคม 2519 มีการชุมนุมที่ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และชุนนุมอีกครั้งที่สนามหลวง  และมีการสั่งปิดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยอ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดยความเห็นชอบของนายกสภามหาวิทยาลัยฯ 

ตุลาคม 2519 มีการชุมนุมอย่างสงบโดยต่อเนื่อง เมื่อถึงช่วงเย็นได้มีการย้ายที่ชุมนุมไปยังลานฟุตบอล เนื่องจากผู้ชุมนุมเข้าร่วมอย่างหนาแน่น ท่ามกลางเสียงประกาศจากวิทยุยานเกราะ และภาพแขวนคอในหนังสือพิมพ์ดาวสยามกรอบบ่าย ในค่ำคืนนั้น เสียงปราศรัยและการแสดงดนตรียังคงดังก้องมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต่อไป 

ราวตีหนึ่งของวันที่ ตุลาคม 2519  เสียงปืนนัดแรกดังขึ้น เริ่มเกิดการเข้าล้อมมหาวิทยาลัย โดยตำรวจหน่วยคอมมานโด หน่วยปฏิบัติการพิเศษ และตำรวจท้องที่ ก่อนที่จะเกิดระเบิดM79 ในช่วงย่ำรุ่งของเช้าวันนั้น จากนั้นได้เกิดระดมยิงเข้ามาในมหาวิทยาลัยอย่างหนักตั้งแต่เวลาเจ็ดโมงเช้า

 

“พี่ ๆ ตำรวจครับ กรุณาหยุดยิงเถิดครับ เรามาชุมนุมอย่างสันติ เราไม่มีอาวุธ” คือคำพูดที่ผู้ปราศรัยคนสุดท้ายของเวทีชุมนุม ธงชัย วินิจจะกูล กล่าวผ่านเครื่องเสียง แต่การหยุดยิงก็ไม่เกิดขึ้น

การสลายการชุมนุมต่อผู้ชุมนุมโดยสงบในครั้งนั้น มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 40 คน เป็นหญิง 4 ราย ชาย 32 ราย (ยังไม่ทราบชื่อจนทุกวันนี้จำนวน 6 ราย) และอีก 4 รายสภาพศพถูกเผาจนไม่สามารถระบุอัตลักษณ์ได้

และเกิดการรัฐประหารขึ้นในวันนั้นเอง

 

อ้างอิงข้อมูลลำดับเหตุการณ์ : https://doct6.com

 

 

สิทธิในการมีชีวิต และการไม่ถูกทรมาน

5.png

 

ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนได้ระบุไว้ดังนี้ 
ข้อที่สาม สิทธิในการมีชีวิต ระบุว่า  ทุกคนมีสิทธิในการมีชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงแห่งบุคคล
ข้อที่ห้า ไม่ถูกทรมาน ระบุว่า  บุคคลใดจะถูกกระทำการทรมาน หรือการปฏิบัติ หรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีไม่ได้

 

แต่ในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ที่ถูกเรียกว่า ‘การสังหารหมู่’  (Massacre) ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่รุ่งเช้าของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 นั้นมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยสี่สิบราย มีประชาชนถูกจับกุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เฉพาะในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ทั้งสิ้น 3,094 คน 

จากภาพหลักฐานการเสียชีวิต ได้ชี้ให้เห็นสภาพศพที่ถูกทารุณและปฏิบัติอันโหดร้าย ไม่ว่าจะเป็นการแขวนคอทั้งก่อน และหลังเสียชีวิต การตอกไม้ลงกับศพ การลากศพไปกับสนามฟุตบอล รวมถึงการล่วงละเมิดทางเพศ 

ในระหว่างการควบคุมตัว นักศึกษาชายและหญิงถูกบังคับให้ถอดเสื้อ นักศึกษาหญิงเหลือเพียงเสื้อชั้นใน ถูกสั่งให้เอามือกุมหัว นอนคว่ำคลานไปกับพื้น ระหว่างคลานก็ถูกเตะและถีบโดยตำรวจ ระหว่างขึ้นรถถูกด่าทออย่างหยาบคาย และขว้างปาสิ่งของใส่จากตำรวจและกลุ่มกระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน รวมถึงถูกปล้นชิงทรัพย์สินเช่นกัน 

ท่ามกลางการละเมิดสิทธิในการมีชีวิต และการกระทำการทรมาน ลงโทษ และย่ำยีศักดิ์ศรีผู้ชุมนุมโดยสงบ จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีผู้ที่ลงมือกระทำได้รับการลงโทษหรือเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และไม่ปรากฏผู้กระทำผิด 

 

"ฉันไม่ได้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดในธรรมศาสตร์เลยนะ ตอนนั้นฉันกับเจี๊ยบ (อภินันท์ บัวหภักดี) คลานออกไปจากตึก อมธ. คลานผ่านตึกโดม แล้วก็คลานไปออกประตูฝั่งท่าพระจันทร์ ร้อยโทธีรชัย เหรียญเจริญ มารับพวกเราไปที่บ้านของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่ซอยเอกมัย

ฉันจำได้ว่าพวกเราเข้าไปในบ้าน แต่สุธรรมบอกว่าพวกเราไม่ได้เข้าไป เมื่อถึงบ้านของ ม.ร.ว.เสนีย์ เจ้าหน้าที่ก็จับพวกเราล็อคกุญแจมือแล้วก็ส่งตัวไปที่กองปราบ  พวกเราอยู่ในกองปราบ 7 วัน ไม่รู้ว่าเกิดอะไรเลย มืดแปดด้าน จากตรงนั้นก็ถูกฝากขังที่คุกบางขวาง นี่คือภาพที่พวกเราได้เห็น…แค่นี้เอง เราไม่เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นที่ธรรมศาสตร์

มาเห็นอีกทีหนึ่งตอนที่อยู่ศาลทหาร พี่ทองใบแอบเอาภาพมาให้เราดู เราถึงเห็นความทารุณ มีการเอาลิ่มตอกช่องคลอดผู้หญิง ผู้หญิงถูกบังคับให้ถอดเสื้อ แต่ภาพที่โดนลิ่มตอก พวกคุณเห็นใช่ไหม ภาพคนลากศพไปแขวนที่ต้นไม้ในสนามหลวง ภาพนำศพไปนั่งยาง ภาพนั้นน่ากลัวมาก"

- วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์

 

 

อ้างอิงข้อมูล: https://doct6.com , https://www.amnesty.or.th/latest/blog/719

 

 

สิทธิในการได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรม 

7.png

ทุกคนย่อมมีสิทธิในความเสมอภาคอย่างเต็มที่ในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมและเปิดเผยจากศาลที่อิสระและไม่ลำเอียงในการพิจารณากำหนดสิทธิและหน้าที่ของตนและข้อกล่าวหาอาญาใดต่อตน

ตัวเลขอย่างเป็นทางการระบุว่า มีนักศึกษา ประชาชนถูกจับกุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เฉพาะในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ทั้งสิ้น 3,094 คน เป็นชาย 2,432 คน และหญิง 662 คน

ในวันที่ 17 ตุลาคม 2519 มีการประกาศใช้คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 28 แก้ไขอำนาจเรื่องการควบคุมตัวผู้ต้องหากรณี 6 ตุลาคม 2519 ให้ศาลมีอำนาจสั่งขังได้ครั้งละ 30 วัน รวมแล้วไม่เกิน 180 วัน กระทั่งวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2520 เจ้าพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหากับผู้ต้องหาทั้ง 18คน ว่ามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ 

พวกเขาถูกคุมขังตามกฎหมายคอมมิวนิสต์ โดยมีอำนาจคุมขังได้ 30 วัน หากสอบสวนไม่เสร็จก็ขออนุมัติอธิบดีกรมตำรวจขังได้ 60 วัน หากสอบสวนไม่เสร็จก็ขออนุญาตศาลขังได้อีกครั้งละ 90 วัน ไม่เกิน 3 ครั้ง

ผู้ต้องหา 18 คนซึ่งเป็นพลเรือน ถูกฟ้องโดยอาศัยเขตอำนาจของศาลทหารตามกฎอัยการศึกในฐานเป็นคอมมิวนิสต์และฐานอื่นๆ โดยโจทก์คืออัยการศาลทหารกรุงเทพ และมีอัยการผู้ร่วมรับผิดชอบ คือ พันเอกอุทัย ปะถะคามิน พันตรีชาญพิชญ์ พรหมปรีชาวุฒิ และร้อยเอกวิรัตน์ บรรเลง ในส่วนของจำเลยทั้ง 18 คนมีทนายความคือ ทนายทองใบ ทองเปาด์ ผู้เป็นหัวเรือใหญ่ในการต่อสู้คดีความรวมถึงทนายความอาสารวมทั้งสิน 44 คน

คดีประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 ถูกฟ้องเป็นคดีดำที่ 253ก./2520 ในวันที่ 25 สิงหาคม 2520 จำเลยได้แก่ นายสุธรรม แสงประทุม กับพวกรวม 18 คน โดยทั้ง 18 คนถูกตั้งข้อหาหนักรวม 11 ข้อหา

 

 

รับชมคลิปแกนนำ 6 ตุลา ถูกปล่อยตัวได้ยังไง? :  https://www.youtube.com/watch?v=67UiKBi1AcA

อ้างอิง คดีประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 : แง่มุมในหลืบประวัติศาสตร์  : https://freedom.ilaw.or.th/blog/6oct-historical-case

บทความ 6 ตุลาฯ : เงาสีขาวกับดวงอาทิตย์สีดำ : https://www.amnesty.or.th/latest/blog/719/

 

 

สิทธิมนุษยชนถูกปกป้องได้อย่างไร?

9.png

 

พลังจากตัวอักษรคือสิ่งที่แสดงเจตจำนงจากผู้คนทั่วโลก มีการชูป้ายให้ปล่อยตัวแกนนำที่มหานครนิวยอร์ค และมีจดหมายนับแสนฉบับเพื่อเป็นปฏิบัติการด่วน และได้ถูกส่งมายังรัฐบาลไทย กลายมาเป็นปัจจัยหนึ่งที่กดดันให้เกิดการปล่อยตัวแกนนำขึ้น 

สมชาย หอมลออ หนึ่งในผู้ถูกควบคุมตัวได้เล่าว่า "ระหว่างที่ถูกควบคุมตัวอยู่ มีองค์กรเพื่อสังคมให้ความช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบจากการสังหารหมู่ในธรรมศาสตร์ และได้ทราบมาว่ามีองค์กรระหว่างประเทศหลายองค์กรรณรงค์ให้ปล่อยพวกเรา หนึ่งในนั้นคือองค์กรแอมเนสตี้ ผมทำกิจกรรมการเมืองมาหลายปีก่อนถูกจับ แต่ไม่เคยให้ความสนใจกับองค์กรระหว่างประเทศเหล่านี้เลย และเพิ่งมาสนใจหลังถูกจับในคดี 6 ตุลา

 “เหตุการณ์เรียกร้องการปล่อยนักโทษทางความคิดเมื่อ 6 ตุลา 19 ได้มีผู้สนับสนุนแอมเนสตี้ทั่วโลกส่งจดหมายมายังรัฐบาลไทยในเวลานั้น จนมีผลทำให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมในเวลาต่อมา กล่าวกันว่ามีจดหมายเข็นใส่รถมายังที่ประชุมของคณะรัฐมนตรีราวๆ แสนฉบับ ผมคิดว่าคนที่เขียนจดหมายและลงชื่อจริงเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยนักโทษทางความคิดได้นั้น ต้องเป็นผู้มีจิตใจแน่วแน่ในการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน ทำให้รู้ได้ว่าเสียงของคนตัวเล็กๆ เหล่านี้มีพลังอย่างมาก และเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังของคนที่ไม่ได้มีอำนาจในทางการเมืองเหมือนกับนักการเมือง หรือไม่ได้มีปืนเหมือนทหาร หรือไม่ได้มีเงินเป็นอำนาจเหมือนนายทุน แต่มีจิตใจและความแน่วแน่ในการรวมพลังกันของคนในขบวน" 

 

นอกจากนี้ วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ ได้เล่าถึงพลังของคนทั่วโลกว่า 

“ช่วงที่พวกเราขึ้นศาลทหาร ฉันจำได้ว่านักข่าวต่างประเทศมากันเยอะมาก สำนักข่าวใหญ่ๆ มากันหมด CNN ก็มา ฉันปีนขึ้นไปบนโต๊ะแล้วพูด “they shackle me” ชี้ชูตรวนขึ้นมาให้เขาดู (หัวเราะ) ตอนนั้นสุธรรมก็ไม่พูดภาษาอังกฤษ ฉันก็เหมือนกับเป็น speaker ของกลุ่ม ธงชัยยังไม่ได้ไปเมืองนอก เขาก็ยังไม่พูดภาษาอังกฤษ แต่ตอนนี้ธงชัยพูดภาษาอังกฤษเก่งกว่าฉันแล้ว (หัวเราะ) 

“วันหนึ่ง พี่ทองใบถือภาพถ่ายคนชูป้าย ‘Free สุธรรม’ ‘Free วิโรจน์’ ที่นิวยอร์คมาให้เราดู เราก็อุ๊ยตายแล้วชื่อฉันไปอยู่นิวยอร์คเลยเหรอ แล้วก็มีคนมาทาบทามให้แม่ของฉันเป็นฐานะตัวแทนครอบครัวของ 18 ผู้ต้องหาไปนิวยอร์ค เพื่อที่จะไปเรียกร้องนานาชาติกดดันรัฐบาลให้ปล่อยตัวพวกเรา เพราะมีแม่คนเดียวที่พูดภาษาอังกฤษได้ แต่แม่เป็นโรคหัวใจ ก็ไม่กล้าบินไป”

 

การเมินเฉย และดูหมิ่นเหยียดหยามสิทธิมนุษยชนคือสิ่งหนึ่งที่ผลักดันให้เกิดการอันป่าเถื่อนโหดร้ายทารุณ และไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานขนาดไหน สิทธิมนุษยชนก็ยังคงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับประชาชนทุกคนเสมอ แม้ความอยุติธรรมจะสะท้อนผ่านการที่ว่า เป็นเวลา 45 ปีแล้ว นับตั้งแต่ระเบิด M79 ได้ถูกยิงเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนกระทั่งก่อให้เกิดการเสียชีวิตของผู้คนนับสี่สิบศพ แต่ผู้กระทำผิดกลับยังไม่ได้รับการลงโทษ

แต่พลังของมวลชนทั่วโลก คือหนึ่งในเสียงที่จะสามารถกู่ตะโกนไปจนถึงรัฐบาลได้ จนกระทั่งสามารถเป็นหนึ่งในพลังที่สร้างความเปลี่ยนแปลง จนช่วยผลักดันให้รัฐบาลปล่อยตัวประชาชนที่ถูกขึ้นศาลทหารได้ในที่สุด

 

10.png

แม้เหตุการณ์จะผ่านไปถึง 45 ปีแล้ว แต่เหตุการณ์นี้จะเป็นหนึ่งในสิ่งที่ย้ำเตือนให้รัฐบาลส่งเสริมการเคารพและการถือปฏิบัติโดยสากลต่อสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน  เพื่อที่จะต้องไม่เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีกในอนาคต  

 

และย้ำเตือนเสมอ ว่าพลังของ “คนธรรมดา” นั้นยิ่งใหญ่เพียงใด