6 ตุลาฯ : เงาสีขาวกับดวงอาทิตย์สีดำ 

6 ตุลาคม 2562

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย
บทความโดย วีรพงษ์ สุนทรฉัตราวัฒน์

1.

“ที่มันยืดยาว รู้รึเปล่ามันเป็นยังไง เราถ่วงหรือใครถ่วงกันแน่” 

พลเอกเกรียงศักดิ์ ชะมะนันท์ สวมเชิ้ตทรงซาฟารีสีเหลืองพาสเทลจับคู่กับกางเกงผ้าสีขาว คู่สีของเสื้อและกางเกงเหมือนสีท้องฟ้ากับก้อนเมฆในวันอากาศดี ริมฝีปากคาบไปป์ไม้ระหว่างพูดคุยกับผู้ต้องหาคดี 6 ตุลา ที่เพิ่งได้รับอิสรภาพ นักข่าวยืนล้อมจดถ้อยคำสนทนาระหว่างนายกรัฐมนตรีกับจำเลยลงในสมุดขนาดฝ่ามือ เช้ารุ่งขึ้นถ้อยคำเหล่านี้คงปรากฎในหนังสือพิมพ์หลายฉบับ

“ผมว่าพยานมันเยอะ ฝ่ายโจทก์เองก็เยอะ ตามธรรมดาการพิสูจน์คดีในศาลก็ต้องใช้เวลานานอยู่แล้ว” สุธรรม แสงประทุม  ตอบแทนผู้ต้องหาคดี 6 ตุลาทั้ง 18 คนที่นั่งอยู่ที่โต๊ะอาหาร วันนั้นตรงกับวันที่ 17 กันยายน 2521   

“ไม่มีใครถ่วง?” พลเอกเกรียกศักดิ์ถามแทรก เหมือนรอคำตอบที่ต้องการ

“ไม่มีใครถ่วง แต่ที่โจทก์เขานำสืบมันไม่มีอะไรเลย ไม่ได้เกี่ยวกับพวกผมเลย ผมก็ว่าแปลก ทำไมต้องเสียเวลาถึงขนาดนั้นในการนำพวกผมกลับคืนสู่..”

เปลวไฟถูกแรงลมดูดดึงเข้าไปสัมผัสใบยาสูบในไปป์ เขาโยนก้านไม้ขีดลงในกระถางแก้วหลังจากใบยาสูบติดไฟ

“ไม่มีส่วนไหนที่เป็นความผิดของพวกผมเลย” สุธรรม ย้ำอีกครั้ง

“ก็ลืมกันไป ลืมให้หมด”

พลเอกเกรียงศักดิ์ ชะมะนันท์ ยังคาบไปป์ไม้ไว้ที่ริมฝีปาก ยกมือทั้งสองข้างไปด้านหลัง เหมือนโกยอากาศไปซ่อนไว้ แต่ซ่อนได้เสียที่ไหน – อากาศ 

“เหมือนฝันไปนั่นแหละ”

“ฝันร้าย..” สุธรรม ต่อคำที่ยังไม่สมบูรณ์ เสียงหัวเราะประสานกันขึ้นมา เราไม่มีทางรู้หรอกว่า หลายเสียงหัวเราะหลังสิ้นคำ ‘ฝันร้าย..’ มีความหมายเช่นใด 

“โยนมันทิ้งไป เขาว่ายังไงนะ เอาความขมขื่นไปทิ้งแม่โขง” พลเอกเกรียงศักดิ์ว่า 

แต่แม่น้ำทุกสายไหลคืนสู่ทะเล

ก่อนจากลาในเช้านั้น ผู้ต้องหาคดี 6 ตุลา ยืนถ่ายรูปร่วมกับนายกรัฐมนตรี ภาพใบนี้ถูกบันทึกไว้ยามเช้าวันที่ 17  กันยายน 2521 สองวันหลัง ‘พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519’ ผ่านสภา หนึ่งวันหลังจากผู้ต้องหาคดี 6 ตุลา ได้รับอิสรภาพ 

หนุ่มสาวหลายคนในภาพผันแปรกลายเป็นวัยชรา ใครบางคนคิดทบทวนหาคำตอบให้กับตนและสังคมวงกว้างต่อเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มาตั้งแต่วันนั้นตราบวันนี้ แม้คำตอบยังคลุมเครือ ประวัติศาสตร์ยังไม่ถูกชำระ และใครบางคนต้องหลีกลี้หนีภัยการเมืองหลังรัฐประหารในปี 2557 ใครบางคนหลีกเร้นสันโดษหายเข้าไปในความเงียบ 

และที่ตรงตำแหน่งแถวหน้า ลำดับที่สองจากทางขวา เด็กหนุ่มเชื้อสายจีนร่างเล็กสวมเสื้อเชิ้ตสีขาว กางเกงแบบมีจีบ เขาเป็นคลื่นลูกหลังที่พยายามหนุนดันคลื่นลูกหน้า แต่อีก 40 ปีต่อมา เขากลายเป็นคลื่นลูกหน้าที่ถูกหนุนดันจากคลื่นลูกหลัง

 

 

2.

viroj.jpg

 

 “คนจีนมีคำพูดหนึ่งว่า ‘คลื่นในแยงซี คลื่นหลังต้องดันคลื่นหน้า’ เพราะคลื่นลูกหน้าที่มาก่อน มันหมดแรงแล้ว คลื่นลูกหลังก็ต้องหนุนดันคลื่นลูกหน้า แบบนี้ไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นก็ต้องมีคลื่นข้างหลังดันขึ้นมาเรื่อยๆ แต่ถ้าคลื่นข้างหน้าไม่ร่วมกับคลื่นข้างหลัง ก็ต้องโดนคลื่นลูกหลังกลบ กลบเสร็จแล้วก็ต้องโดนประณามใน history”

16 กันยายน 2562 เราเดินทางไปยังบ้านของ วิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ ชายอายุ 70 ยังคงกระปรี้กระเปร่ากับชีวิตและการเดินทาง เขาจะเดินทางไปอินเดียในอีกสองวัน

แต่ในวันที่ 16 กันยายน 2521 เขายังหนุ่มเกินไปสำหรับความคิดเตรียมใจที่จะตาย แต่ไม่เด็กจนเกินไปหากจะสิ้นหวังกับชีวิต โดยเฉพาะชีวิตที่ถูกจองจำมาเกือบ 2 ปี เป็น 1 ใน18 ผู้ต้องหาคดี 6 ตุลา เพื่อนเพิ่งถูกฆ่า ทารุณอย่างโหดเหี้ยม และความจริงยังคงมีสถานะสาบสูญ

“ประมาณตีสี่กว่า ระเบิดลูกแรกลงในธรรมศาสตร์” วิโรจน์เริ่มต้นเล่าเหตุการณ์ 6ตุลาด้วยระเบิดเอ็ม.79 ลูกแรกที่ถูกยิงมาจากฝ่ายตำรวจนอกมหาวิทยาลัย ระเบิดตกลงกลางผู้ชุมนุมที่สนามฟุตบอล ระเบิดลูกนั้นปลิดชีวิตผู้ชุมนุม 4 คน[i]

สถานีวิทยุยานเกราะรายงานว่า พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรี ยื่นคำขาดต่อ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีในช่วงเวลานั้น ให้รัฐบาลดำเนินการตามกฎหมายต่อ ศนท. ที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างเด็ดขาด 

สุธรรม แสงประทุม กรรมการ ศนท. และตัวแทนชุมนุมนาฏศิลป์ฯ เดินทางไปพบนายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 แต่ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว

“ฉันไม่ได้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดในธรรมศาสตร์เลยนะ ตอนนั้นฉันกับเจี๊ยบ (อภินันท์ บัวหภักดี) คลานออกไปจากตึก อมธ. คลานผ่านตึกโดม แล้วก็คลานไปออกประตูฝั่งท่าพระจันทร์ ร้อยโทธีรชัย เหรียญเจริญ มารับพวกเราไปที่บ้านของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่ซอยเอกมัย ฉันจำได้ว่าพวกเราเข้าไปในบ้าน แต่สุธรรมบอกว่าพวกเราไม่ได้เข้าไป เมื่อถึงบ้านของ ม.ร.ว.เสนีย์ เจ้าหน้าที่ก็จับพวกเราล็อคกุญแจมือแล้วก็ส่งตัวไปที่กองปราบ  พวกเราอยู่ในกองปราบ 7 วัน ไม่รู้ว่าเกิดอะไรเลย มืดแปดด้าน จากตรงนั้นก็ถูกฝากขังที่คุกบางขวาง นี่คือภาพที่พวกเราได้เห็น…แค่นี้เอง เราไม่เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นที่ธรรมศาสตร์”

ในวันที่ 17 ตุลาคม 2519 มีการประกาศใช้คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 28 แก้ไขอำนาจเรื่องการควบคุมตัวผู้ต้องหากรณี 6 ตุลาคม 2519 ให้ศาลมีอำนาจสั่งขังได้ครั้งละ 30 วัน รวมแล้วไม่เกิน 180 วัน กระทั่งวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2520 เจ้าพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหากับผู้ต้องหาทั้ง 18 คน ว่ามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ 

พวกเขาถูกคุมขังตามกฎหมายคอมมิวนิสต์ โดยมีอำนาจคุมขังได้ 30 วัน หากสอบสวนไม่เสร็จก็ขออนุมัติอธิบดีกรมตำรวจขังได้ 60 วัน หากสอบสวนไม่เสร็จก็ขออนุญาตศาลขังได้อีกครั้งละ 90 วัน ไม่เกิน 3 ครั้ง

ผู้ต้องหา 18 คน ถูกฟ้องโดยอาศัยเขตอำนาจของศาลทหารตามกฎอัยการศึกในฐานเป็นคอมมิวนิสต์และฐานอื่นๆ โดยโจทก์คืออัยการศาลทหารกรุงเทพ และมีอัยการผู้ร่วมรับผิดชอบ คือ พันเอกอุทัย ปะถะคามิน, พันตรีชาญพิชญ์ พรหมปรีชาวุฒิ และร้อยเอกวิรัตน์ บรรเลง ในส่วนของจำเลยทั้ง 18 คนมีทนายความคือ ทนายทองใบ ทองเปาด์ ผู้เป็นหัวเรือใหญ่ในการต่อสู้คดีความรวมถึงทนายความอาสารวมทั้งสิน 44 คน

คดีประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 ถูกฟ้องเป็นคดีดำที่ 253ก./2520 ในวันที่ 25 สิงหาคม 2520 จำเลยได้แก่ นายสุธรรม แสงประทุม กับพวกรวม 18 คน โดยทั้ง 18 คนถูกตั้งข้อหาหนักรวม 11 ข้อหา[ii]

กว่าภาพความรุนแรงที่เกิดในเช้าวันที่ 6 ตุลา จะเดินทางไปหาจำเลยซึ่งเป็นฝ่ายถูกกระทำได้เห็น ก็ตอนที่พวกเขาถูกจองจำและนำตัวไปพิจารณาคดีในศาลทหาร

“มาเห็นอีกทีหนึ่งตอนที่อยู่ศาลทหาร พี่ทองใบ (ทองเปาด์) แอบเอาภาพมาให้เราดู เราถึงเห็นความทารุณ มีการเอาลิ่มตอกช่องคลอดผู้หญิง ผู้หญิงถูกบังคับให้ถอดเสื้อ แต่ภาพที่โดนลิ่มตอกช่องคลอด พวกคุณเห็นใช่ไหม ภาพคนลากศพไปแขวนที่ต้นไม้ในสนามหลวง ภาพนำศพไปนั่งยาง ภาพนั้นน่ากลัวมาก” 

คล้ายมีเปลวไฟในดวงตาชายอายุ 70

 

 

3.

“พอเกิด 6 ตุลา ทุกอย่างมืดมัวไปหมด” 

ลัดดาวัลย์ ตันติยาพิทักษ์ ย้อนความทรงจำกลับไปช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 แต่เงาสีดำของ 6 ตุลาได้เกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้นแล้ว 

การใช้ความรุนแรงสังหารนักศึกษาและขบวนการประชาชนเริ่มปรากฏมาตั้งแต่ปี 2517การลอบยิงผู้นำและนักศึกษากลายเป็นเรื่องสามัญ กลุ่มอันธพาลคุกคามการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษา เจ้าหน้าที่รัฐไม่เคยดำเนินการจับกุม กลไกของรัฐยินยอมให้ความรุนแรงเกิดขึ้น นอกจากการสังหารหมายเอาชีวิต ยังมีการจับกุมนักศึกษาและประชาชนด้วยข้อหาคอมมิวนิสต์[iii]

วิชัย เกษศรีพงศ์ษา และ ชุมพร ทุมไมย ถูกทารุณจนตายระหว่างออกติดโปสเตอร์ประท้วงต่อต้านพระถนอมในวันที่ 24 กันยายน 2519 ศพของทั้งสองถูกนำไปแขวนค้างไว้ที่ประตูทางเข้าบริเวณหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่จังหวัดนครปฐม ทั้งสองเป็นสมาชิกแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ตำรวจสืบสวนบิดเบือนสาเหตุว่ามาจากการผิดใจกับคนในที่ทำงาน และติดสินบนนักข่าวท้องถิ่นให้เงียบ[iv]

ต้องใช้เวลาอีก 41 ปี สังคมไทยจึงจดจำได้ว่า ช่างไฟฟ้าทั้งสองมีใบหน้า ชีวิต ครอบครัว และความใฝ่ฝัน ผ่านภาพยนตร์สารคดี สองพี่น้อง[v]

หลังการสังหารสองช่างไฟฟ้า ศนท. และกลุ่มต่างๆ นัดชุมนุมประท้วงที่สนามหลวงในวันที่ 29 กันยายน 2519  ประชาชนร่วมชุมนุมแม้ระหว่างการชุมนุมจะมีผู้อ้างตัวว่ารักชาติมาตั้งเครื่องขยายเสียงกล่าวโจมตี ศนท.อย่างหยาบคาย จนตำรวจต้องไปขอร้องให้เลิกและกลับไปเสีย[vi]

การชุมนุมยังคงดำเนินต่อไป แม้ฝนจะตกแทบทุกวัน และถูกคุกคามจากกลุ่มกลุ่มกระทิงแดง นักเรียนอาชีวะ และกลุ่มประชาชนผู้อ้างว่าตนรักชาติ 

“นี่เป็นเรื่องธรรมดาเหลือเกิน ตลอดเวลาที่เราชุมนุมมานี้ ไม่มีวันไหนเลยที่ฝนไม่ตก” สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กล่าวผ่านไมโครโฟนแก่ผู้ร่วมชุมนุมที่ท้องสนามหลวง

ฝนตกหนัก ฝนเดือนตุลา

ช่วงหัวค่ำ 19.30 น. ผู้ชุมนุมเคลื่อนย้ายเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พวกเขาประกาศไม่สลายการชุมนุมจนกว่าพระถนอมจะออกจากประเทศ เสียงถังน้ำมันที่ถูกใช้ตั้งเวทีหลายใบถูกกลิ้งบดไปกับพื้นถนน ข้ามฝั่งเข้าไปจัดชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“ได้ยินเสียงเคลื่อนเวทีเข้าธรรมศาสตร์ เขาช่วยกันกลิ้งถังน้ำมันเข้าไป…โอ้โห เสียงมันดังสนั่นหวั่นไหว น่ากลัวเหมือนกันนะ แต่ตอนนั้นเราไม่ได้คิดอะไร แม้มีเสียงปืนยิงโป้งป้าง ก็ไม่ได้รู้สึกอะไร เพราะเราก็วัยรุ่น แต่พอได้ยินเสียงที่เขาผลักถังน้ำมันที่จะใช้ตั้งเวทีในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสียงมันน่ากลัวมาก” 

เสียงถังน้ำมันบดครูดบนพื้นถนนยังชัดแจ้งในโสตทรงจำของลัดดาวัลย์

หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 5 ตุลาคม 2519 ลงรูปนักศึกษาแสดงละครเสียดสีเหตุการณ์สังหารช่างไฟฟ้าที่ถูกนำศพไปแขวนที่นครปฐม นักศึกษาสองคนนั้นคือ อภินันท์ บัวหภักดี นักศึกษา ปี 2 คณะรัฐศาสตร์ กับวิโรจน์ ตั้งวานิชย์ นักศึกษา ปี 4 คณะศิลปะศาสตร์ ก่อนที่หนังสือพิมพ์ดาวสยามจะนำภาพจากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ไปขยายผล เสนอข่าวในทำนองว่านักศึกษาจงใจดูหมิ่นรัชทายาท

ในวันเดียวกันนั้น ลัดดาวัลย์  เดินทางกลับบ้าน แต่ วนิดา ตันติยาพิทักษ์ พี่สาวของเธอตัดสินใจอยู่ร่วมชุมนุมต่อที่ธรรมศาสตร์ กระทั่งรุ่งเช้าวันที่ 6 ตุลาคม ลัดดาวัลย์ ตื่นขึ้นมาพร้อมเสียงร้องเฮดังระงมถนนละแวกบ้าน

“รถบรรทุกขนาดเล็กที่วิ่งผ่านหน้าบ้านเต็มไปด้วยคนที่ขึ้นไปร้องเชียร์เฮลั่น เหมือนพวกเขาได้รับชัยชนะ พ่อแม่ก็ตื่นตระหนก เพราะข่าวทางวิทยุและโทรทัศน์รายงานในลักษณะเจ้าหน้าที่ปราบปรามนักศึกษาได้แล้ว จัดการคอมมิวนิสต์ได้แล้ว เราก็อยากออกไปดู แต่พ่อแม่ก็ไม่ให้ออกไป”

หลายวันหลังจากนั้น พี่สาวส่งข่าวมาบอกว่า เธอปลอดภัยดี แต่ยังต้องหลบซ่อนตัวต่อไป

 

 

4.

sorgorl.jpg

จันทบุรีรับฟังข่าวสารจากกรุงเทพมหานครแบบวันเวย์ ที่นั่นมีเด็กชายคนหนึ่งรับฟังข่าวสารเหล่านี้ หลายปีต่อมาเขาจะกลายเป็นนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ คลุกคลีกับการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม และเมื่อถึงวันนั้น เขามองย้อนกลับมาหาอดีตของตนและเมื่อวานของประเทศ เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ตามที่เป็นจริง

“สมัยนั้นผมดูทีวีขาวดำ คลื่นเสียงและสัญญาณภาพจะดังซ่าๆ ฟังวิทยุของรัฐ อ่านหนังสือพิมพ์ แต่การสื่อสารในสมัยนั้นเป็นลักษณะกรุงเทพมาจันทบุรี ไม่เหมือนวันนี้ที่เราอยากรู้อะไรก็สามารถค้นหาได้ด้วยตนเอง” 

สรกล อดุลยานนท์ เดินทางกลับไปจันทบุรีผ่านความทรงจำในห้วงเวลาก่อน 6 ตุลาคม 2519 ตอนนั้นเขายังอยู่ในวัยเยาว์

“สิ่งที่ผมรับรู้เกี่ยวกับ 6 ตุลาล้วนมาจากข่าวสารจากภาครัฐ หนังสือพิมพ์จากฝั่งรัฐ ข้อมูลที่ได้รับก็ทำให้มองเห็นว่านักศึกษาเป็นตัวร้าย ผมก็รู้สึกแบบนั้น ผมในวัยนั้นอยู่ในระบบการศึกษาแบบนั้น ผมจึงเชื่อว่าเป็นนักศึกษาเป็นตัวร้าย"

“พวกเวียดนามซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์ก็น่ากลัว ในธรรมศาสตร์มีอุโมงค์ลับใต้ดิน มีการซ่องสุมอาวุธ มีการยิงต่อสู้ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐบาดเจ็บล้มตาย นำไปสู่การล้อมปราบ”

คือความรับรู้ในวัยเยาว์ต่อ 6 ตุลา ของนักข่าวและคอลัมนิสต์ที่มีนามปากกา ‘หนุ่มเมืองจันท์’

ภาพฟุตเทจการล้อมปราบนักศึกษาในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม เผยแพร่ผ่านสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 บันทึกโดย สรรพสิริ วิรยศิริ สื่อมวลชนผู้ล่วงลับ สรกลเป็น 1 ในหลายคนในประเทศนี้ที่ได้เห็นเหตุการณ์ในเช้านั้น

“ผมจำได้ว่าดูภาพที่ อ.สรรพสิริ บันทึกเผยแพร่ออกช่อง 9 ตอนนั้นไม่ได้รู้สึกว่าการกระทำนั้นเป็นด้านลบ แต่รู้สึกว่าเหตุการณ์มันรุนแรงกว่าที่ผมรับรู้ แต่เราก็ยังมองว่านักศึกษาเป็นผู้ร้าย”

 

5.

6 ตุลาคม 2519 ถูกบันทึกว่าเป็นการสังหารหมู่กลางเมือง แต่ไม่ปรากฏผู้กระทำผิด มีเพียงนักศึกษาและประชาชนเสียชีวิตอย่างน้อย 40 ราย เป็นหญิง 4 ราย ชาย 32 ราย (ยังไม่ทราบชื่อจนทุกวันนี้จำนวน 6 ราย) และอีก 4 รายสภาพศพถูกเผาจนไม่สามารถระบุอัตลักษณ์ได้ ตัวเลขอย่างเป็นทางการระบุว่า มีนักศึกษา ประชาชนถูกจับกุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เฉพาะในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ทั้งสิ้น 3,094 คน เป็นชาย 2,432 คน และหญิง 662 คน 

เย็นวันเดียวกันนั้น คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำโดย พลเรือเอก สงัด ชะลออยู่ ทำรัฐประหาร นักศึกษาและประชาชนที่ถูกจับกุมจะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมภายใต้คำสั่งของคณะรัฐประหารที่เรียกกันต่อมาว่า “กฎ 6 ต.ค. 2519”[vii]

คณะรัฐประหาร มีคำสั่งออกมาอีกหลายฉบับ ฉบับที่ 14 ระบุว่า “ศาลทหาร” ตามคำสั่งที่ 8 ให้หมายถึง “ศาลทหารในเวลาไม่ปกติ” หนึ่งสัปดาห์ถัดมา คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 22 กำหนดข้อหา “ภัยต่อสังคม” ขึ้นมา บุคคลที่เป็นภัยต่อสังคมในสายตาของคณะรัฐประหารนั้นหมายรวมถึงบุคคลที่มีพฤติการณ์ “ยุยง ปลุกปั่น ใช้หรือสนับสนุนให้ประชาชนก่อความวุ่นวายหรือก่อความไม่สงบขึ้นในเมือง”, “กระทำด้วยประการ ใด ๆ ให้ประชาชนเลื่อมใสหรือเห็นคล้อยตามในระบอบการปกครองอื่นอันมิใช่การปกครองระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” และ “ร่วมกันหยุดงาน หรือปิดงานงดจ้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย”

มีการประมาณการว่าหลัง 6 ตุลา มีผู้ถูกจับกุมด้วยข้อหาภัยต่อสังคมมากถึง 8,000 คน ในจำนวนนั้นมีทั้งแพทย์ ครู นักศึกษา พระภิกษุ ชาวนาชาวไร่ และนักสหภาพแรงงาน 

“ตอนนั้น กศส. เริ่มรวมตัวกันตั้งแต่ปี 2518” ลัดดาวัลย์ หมายถึง กลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม เป็นการรวมกลุ่มกันของศาสนิกชนในทุกศาสนาทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม เพื่อเคลื่อนไหวในเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย การรณรงค์ในประเด็นสิทธิมนุษยชนเริ่มขึ้นหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา องค์กรที่มีบทบาทโดดเด่นกลายเป็นองค์กรทางด้านศาสนา[viii]

“ผู้หลักผู้ใหญ่เขาก็คุยกัน จึงตั้งสำนักงานขึ้น ตอนนั้นผู้คนถูกจับกุมจำนวนมาก ทุกอย่างมันมืดมัวไปหมด เราก็เข้าร่วมกับ กศส. เพื่อดูว่าเกิดอะไรขึ้น พวกเราสามารถช่วยเหลืออะไรได้บ้าง แนวคิดตอนนั้นคือใช้ศาสนาเชื่อมรอยร้าว เพราะว่าสังคมแตกแยกกัน คนก็หนีเข้าป่าเยอะ ไม่เฉพาะนักศึกษานะ ผู้นำชาวนาก็มี ผู้นำแรงงานก็มี ประชาชนที่มีความตื่นตัวก็อยู่ไม่ได้ เพราะเขาปราบหนักมาก มันทมิฬมาก มันเหี้ยมโหด ไม่คิดว่าคนไทยจะทำกันได้ขนาดนี้ นึกถึงภาพแล้วก็..”

ลัดดาวัลย์หยุดเล่า ละเว้นการบรรยายภาพนั้นออกมา กักเก็บไว้ในห้วงคำนึงของตนแต่เพียงผู้เดียว

 

6.

 “ในตอนนั้นคิดว่าเราต้องทำใจ โดยเฉพาะเมื่อพลเอกฉลาดถูกยิงเป้า เราก็เตรียมใจเลย”

 วิโรจน์ หมายถึงช่วงเวลา 5 เดือนแรกที่ถูกจองจำ และพลเอกฉลาด หิรัญศิริ คือผู้นำกลุ่มนายทหารที่พยายามทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 แต่ไม่สำเร็จ พลเอกฉลาดถูกส่งเข้ามาจองจำร่วมกับนักโทษการเมือง 6 ตุลาที่คุกบางขวางได้เพียง 21 วัน ในวันที่ 21 เมษายน 2520 พลเอกฉลาดถูกตัดสินยิงเป้าด้วยมาตรา 21[ix]

“ยิงเป้าต่อหน้าต่อตาเราเลย เราก็เตรียมใจว่า มันเป็นอุดมการณ์ของการต่อสู้ การต่อสู้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ” 

วิโรจน์ว่า

แต่อีก 18 เดือนต่อมา ในเช้าวันที่ 16 กันยายน 2521 วิโรจน์กับผู้ต้องหาคดี 6 ตุลาอีก 18 คนได้รับการปล่อยตัวจากกฎหมายนิรโทษกรรม หลังจำคุกมากว่า 2 ปี ผ่านกระบวนการพิจารณาตามระบบศาลทหาร มีการสืบพยานทั้งฝ่ายโจทก์กว่า 400 ปาก 

“ช่วงที่พวกเราขึ้นศาลทหาร ฉันจำได้ว่านักข่าวต่างประเทศมากันเยอะมาก สำนักข่าวใหญ่ๆ มากันหมด CNN ก็มา ฉันปีนขึ้นไปบนโต๊ะแล้วพูด “they shackle me” ชี้ชูตรวนขึ้นมาให้เขาดู (หัวเราะ) ตอนนั้นสุธรรมก็ไม่พูดภาษาอังกฤษ ฉันก็เหมือนกับเป็น speaker ของกลุ่ม ธงชัยยังไม่ได้ไปเมืองนอก เขาก็ยังไม่พูดภาษาอังกฤษ แต่ตอนนี้ธงชัยพูดภาษาอังกฤษเก่งกว่าฉันแล้ว (หัวเราะ) 

“วันหนึ่ง พี่ทองใบถือภาพถ่ายคนชูป้าย ‘Free สุธรรม’ ‘Free วิโรจน์’ ที่นิวยอร์คมาให้เราดู เราก็อุ๊ยตายแล้วชื่อฉันไปอยู่นิวยอร์คเลยเหรอ แล้วก็มีคนมาทาบทามให้แม่ของฉันเป็นฐานะตัวแทนครอบครัวของ 18 ผู้ต้องหาไปนิวยอร์ค เพื่อที่จะไปเรียกร้องนานาชาติกดดันรัฐบาลให้ปล่อยตัวพวกเรา เพราะมีแม่คนเดียวที่พูดภาษาอังกฤษได้ แต่แม่เป็นโรคหัวใจ ก็ไม่กล้าบินไป” วิโรจน์เล่า

การรณรงค์ในประเด็นสิทธิมนุษยชนเริ่มขึ้นหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา องค์กรที่มีบทบาทโดดเด่นกลายเป็นองค์กรทางด้านศาสนา  ดร.โกศล ศรีสังข์ เลขาธิการสภาคริสตจักรในประเทศไทย ได้ทำหนังสือถึงธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2520 เรียกร้องให้โอนคดี 6 ตุลาจากศาลทหารไปให้ศาลพลเรือนพิจารณาพิพากษา และเปิดให้จำเลยมีทนายความได้ สังฆราชบุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ ประธานกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม (กศส.) เรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรี สนับสนุนให้มีการพิจารณาคดี 6 ตุลาในศาลพลเรือน รวมทั้งให้มีการประกันตัวผู้ต้องหาได้ ด้านนายจอห์น ทากาจิมะ เลขาธิการสภาคริสตจักรแห่งชาติญี่ปุ่น ส่งโทรเลขถึง นายกรัฐมนตรีไทย ขอให้พิจารณาคดี 6 ตุลาในศาลพลเรือน และขอให้พลเมืองญี่ปุ่นที่ สนใจคดีนี้เข้าพบหากมาเยือนญี่ปุ่น[x]

หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา บ้านริมคลองแสนแสบหลังหนึ่งหลบซ่อนภารกิจที่กำลังทำอยู่ในซอยสุขุมวิท 39 ที่นั่น ลัดดาวัลย์นั่งพิมพ์ข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยช่วงปี2520-2521 ที่ถูกรวบรวมมาจากคนทำงานในเครือข่าย กศส. เพื่อส่งข่าวสารนี้ไปยังองค์กรระหว่างประเทศ

“เราเริ่มต้นจากการนำความจริงมาตีแผ่ ว่าเกิดอะไรขึ้น เราไม่ได้ไปวิเคราะห์ว่า ใครถูกใครผิด แต่พยายามรวบรวมข้อมูลและสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงในประเทศไทย มีการเข่นฆ่า มีคนถูกนำตัวขึ้นศาลทหาร ตอนนั้นประเทศอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก มีคำสั่งคณะปฏิรูปอะไรเยอะแยะไปหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีกฎหมายภัยสังคม ใครซ่าหน่อยใครเปรี้ยวหน่อยจะถูกจับเข้าคุก”

ลัดดาวัลย์เล่า 

“ผู้ปกครองในยุคนั้นแบ่งเป็น 2 สาย สายเหยี่ยวกับสายพิราบ”

วิโรจน์ เล่าว่า หลัง 6 ตุลา ประเทศไทยถูกกดดันจากนานาชาติ และเกิดความขัดแย้งในหมู่ผู้นำทางทหาร “สายเหยี่ยวที่เปิดหน้าออกสื่อก็คือ พลตรีสุตสาย หัสดิน สายพิราบคือ พลเอกสายหยุด เกิดผล สายพิราบบอกว่าต้องปล่อยคนออกมาจากป่า ต้องเอากลับมาเรียนหนังสือ เพื่อทำให้ civil warหายไป ส่วนสายเหยี่ยวบอก ไม่ได้! พวกในคุกต้องยิงทิ้ง พวกในป่าปราบแม่งให้ราบ ในที่สุดสายพิราบชนะ 

“เขาก็สู้กันนาน สู้กันเป็นปี ระหว่างที่เขาสู้กันนี้ก็มีสัญญาณถูกส่งมา จิมมี คาร์เตอร์ (ประธานาธิบดีสหรัฐในเวลานั้น) ส่งผู้แทนกับ โรสลิน คาร์เตอร์ สุภาพสตรีหมายเลข 1  มาเยี่ยมพวกเราในคุกบางขวาง มาดูสภาพการณ์ของพวกเรา ฉันก็เป็นล่ามให้สุธรรม (แสงประทุม) ฉันก็เล่าให้พวกเธอฟังว่า ต้องกินน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาโดยเอาสารส้มมาแกว่งก่อนดื่มทุกครั้ง ฉันก็กินอย่างนี้แหละ ฉันขี้ไหล จนไม่เป็นอะไร จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ อาจารย์วิโรจน์ภูมิคุ้มกันดีมาก เพราะภูมิคุ้มกันฉันมาจากบางขวาง

“เขาถามคำถามสุดท้าย “What do you want me to convey the message to the Mr.President?” “พวกคุณอยากจะให้ฉันไปบอกอะไรกับมิสเตอร์เพรสสิเดนท์บ้าง” ซึ่ง จิมมี คาร์เตอร์ เป็นประธานาธิบดีที่ชูเรื่องสิทธิมนุษยชนมากที่สุดของอเมริกา สุธรรมก็พูด แต่ฉันก็ลืมแล้วว่าพูดอะไร (หัวเราะ) 

“จากเหตุการณ์นั้นไม่นาน ก็มีการนิรโทษกรรม เขาก็ปล่อยตัวพวกเรา ฉันก็ตกใจ…เฮ้ย ปล่อยยังไงวะ พ่อแม่เอาเสื้อผ้ามาให้เราใส่” 

15 กันยายน 2521 พลเอกเกรียกศักดิ์ ชะมะนันท์ นำ ‘พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519’ ผ่านเข้าสภา หนึ่งวันหลังจากนั้น ผู้ต้องหาคดี 6 ตุลา 18 คน ได้รับอิสรภาพ สองวันหลังจากนั้น อดีตผู้ต้องหาทั้ง 18 คนเดินทางไปบ้านของพลเอกเกรียงศักดิ์ ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะบอกพวกเขาก่อนจากลาว่า

“เอาความขมขื่นไปทิ้งแม่โขง”

 

7.

laddawan.jpg

 

ระหว่างปี 2519-2520 เกิดการเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนสากล ทั้งในการนิยามความหมาย การบันทึกข้อมูล การรณรงค์และการส่งเสริมมนุษยชน ในปี 2520 ปรากฏการเคลื่อนไหวขององค์กรนิรโทษกรรมสากลหรือ AI (Amnesty International) ซึ่งตั้งมาแล้ว 15 ปีในตอนนั้น[xi]

ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น ค้นเอกสารในหอจดหมายเหตุของกระทรวงการต่างประเทศ พบแฟ้มเก็บจดหมาย 88 ฉบับจากสมาชิกของ AI ที่พูดถึงนักโทษการเมือง 18 คนในตอนนั้น[xii]

ในตอนที่ กศส. รวบรวมข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ช่วงปี 2520-2521 จากการเยี่ยมผู้ต้องหาคดี 6 ตุลา และผู้ต้องหาคดีภัยสังคม รวมถึงข้อมูลจากการเยี่ยมญาติของผู้ต้องหา หนังสือร้องเรียน ฯลฯ ลัดดาวัลย์ เล่าว่า ข้อมูลจากทั่วสารทิศจะถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษ พิมพ์ลงบนกระดาษ บรรจุใส่ซองอย่างมิดชิด ก่อนจะถูกส่งไปให้ชายคนหนึ่งที่ชื่อ นิโคลัส เบนเนตท์

“เขาเป็นคนที่มีคุณูปการกับการเมืองไทยในสมัยนั้นมาก นิโคลัส เบนเนตท์ ตอนนั้นเขาเป็นที่ปรึกษายูเนสโก แต่ก็เป็นนักสิทธิมนุษยชนด้วย เขาเป็นชาวอังกฤษที่ต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชน เขาทำงานการศึกษานอกระบบเพื่อให้คนตระหนักถึงสิทธิ เขาเข้ามาอยู่เมืองไทยในตอนนั้น เป็นที่ปรึกษาให้กับผู้นำนักศึกษาหลายคนในช่วงนั้น  เมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา ก็ถือว่าเขาอยู่ในแวดวงเครือข่ายที่ก่อตั้งขึ้นมา ก็มาช่วยกันเต็มที่

“เราประชุมกันทุกวันเสาร์ นิโคลัสจะเล่าให้พวกเราฟังถึงความคืบหน้า เช่น เขาเพิ่งได้รับจดหมายตอบจากต่างประเทศมาแบบนี้นะ หรือเขาโทรศัพท์คุยกับองค์กรต่างประเทศอย่างนี้นะ องค์กรสิทธิต้องการรู้ข้อมูลแบบนี้

“ตำรวจมาที่สำนักงานเกือบทุกวัน สมัยนั้นเขาเรียกสันติบาล พวกสันติบาลจะคุ้นเคยกับพวกเรามาก เขาถามอะไรเราก็บอกหมดทุกอย่าง “คุณอยากนั่งฟังเราประชุมด้วยกันก็ได้นะ” เราก็ให้เขาฟัง เขาก็มานั่งร่วมประชุมด้วย เราทำงานเปิดเผย ไม่ได้ทำอะไรผิด ไม่ได้ไปวิจารณ์การเมือง 

“การเยี่ยมผู้ต้องหาเป็นการแก้ปัญหา ไม่ให้ขยายความขัดแย้ง เยี่ยมทั้งผู้ต้องหาและญาติของเขา เราไปเยี่ยมครอบครัวของอภินันท์ บัวหภักดี ไปให้กำลังใจกับครอบครัวของเขา และอีกหลายคน งานของเราคือไปเยี่ยม ไปหาข้อมูล เก็บข้อมูล แต่ที่สำคัญก็คือว่าเราจัดการอย่างไรกับข้อมูล เรานำข้อมูลมาเขียนรายงาน อันนี้คือความลับเลย ความลับตอนนี้ก็เปิดเผยหลังจาก 40 ปี” (หัวเราะ) 

แต่ความกระจ่างแจ้งของ 6 ตุลา ยังถูกบดบังอย่างไม่เป็นธรรม เหมือนเมืองที่เมฆบังบดแสงอาทิตย์ ทึมเทาและชวนเศร้า 

 

8.

ห้าปีหลัง 6 ตุลา หนึ่งปีหลังนโยบาย 66/2523  สรกลเข้าเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี 2524

“แม้เวลาผ่านมา 4-5 ปี แต่กลิ่นยังชัด ธรรมศาสตร์มีแนวคิดการต่อสู้ตลอดเวลา ผมเข้าไปเรียนก็รับเรื่องนี้ได้เต็มที่ ผมก็ทำกิจกรรมนักศึกษา จัดงานรำลึก 14 ตุลา 2516 จัดงานรำลึก 6 ตุลา 2519 เมื่อเป็นผู้จัดงาน เราก็ต้องเรียนรู้ข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ ช่วงนั้นพี่เจี๊ยบ (อภินันท์) พี่วิโรจน์ (ตั้งวาณิชย์) ก็กลับมา พี่เจี๊ยบเรียนจบไล่กันกับผม พวกเขากลับมาเรียนหลังจากถูกปล่อยตัวจากคุกในปี 2521 พี่ธงชัย (วินิจจะกูล) เป็นแขกประจำของกลุ่มกิจกรรมนักศึกษา อาจารย์เกษียร (เตชะพีระ) พี่โต สมศักดิ์ (เจียมธีรสกุล) อาจารย์สมคิด (เลิศไพฑูรย์) ก็แวะเวียนเข้ามาอยู่ในช่วงเวลานั้น ผมได้สัมผัสผู้คนที่ผ่านเหตุการณ์นั้นมาตลอด”

หลังจากนั้น เขาเริ่มต้นอาชีพสื่อมวลชนตราบปัจจุบัน ในฐานะคนข่าว สรกลสัมภาษณ์นักการเมืองมากมายมาตลอดเวลากว่า 30 ปี เขาเข้าใจว่าทำไมต้องเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้น เข้าใจในสภาพตามที่มันเป็นจริง

“ยิ่งพอมาทำงานข่าว เราได้ผ่านเหตุการณ์ทางการเมือง เมื่อมองย้อนกลับไป  เราก็เริ่มเข้าใจว่าทำไมเหตุการณ์นั้นจึงเกิดขึ้น ผมเข้าใจวิธีคิดของทหารมากขึ้น เข้าใจวิธีคิดของคนมีอำนาจและกลัวจะสูญเสียอำนาจมากขึ้น พออ่านประวัติศาสตร์ในช่วงเวลานั้นผมเข้าใจว่าทำไมเขากลัว ผมพูดคุยกับพี่ๆ ที่ทำกิจกรรมนักศึกษาในช่วงนั้น ก็ต้องยอมรับว่าพวกเขามีความคิดสังคมนิยมอยู่บ้าง แต่ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ก็คือเราไม่ควรใช้ความรุนแรงตอบโต้กัน มันเป็นความคิดทางการเมืองที่แตกต่างกันเท่านั้นเอง แต่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม เป็นการใช้ความรุนแรง กระทำต่อคนอย่างโหดเหี้ยม มองเขาเป็นศัตรูเหมือนเขาไม่ใช่มนุษย์ มองเขาไม่ใช่มนุษย์ จะทำอะไรกับเขาก็ได้ ตอกลิ่ม แขวนคอ ซึ่งมันไม่ควรเกิดขึ้น เพราะเพียงแค่ความเชื่อที่ต่างกันเท่าเองนั้นเองหรือ”

คำถามของสรกลถูกตอบโดยสภาพปัจจุบันของสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองตั้งแต่ปี 2535 และ 2553 ยังไม่นับความตายรายทางบนถนนความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดกับผู้คนทุกฝั่งความคิด รัฐประหารที่ผุดเกิดแต่ไม่ดับ ฝืนลักษณะธรรมชาติ ไม่ว่าปี 2534, 2549 และ 2557

หรือเราเป็นเพียงเงาของนาฬิกาแดดรัฐทหาร

 

9.

“ฉันนึกว่าฉันจะเป็นนักโทษศาลทหารรุ่นสุดท้ายแล้ว ประเทศไทยไม่ควรมีอีกแล้ว ในยุคนี้ยังมีอีกเหรอ ในยุคที่มีอินเทอร์เน็ต มีไลน์ มีเฟซบุ๊ค ยังมาจับคนขึ้นศาลทหารได้อีก”

 วิโรจน์ เกิดในยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่ออายุ 2 ขวบ เกิดรัฐประหารในปี 2494 กระทั่งวัย 70 เขาเรียนรู้โลกและชีวิต สูดอากาศหายใจเข้าออกในยุคของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หากคำนวณเล่นๆ จะพบว่า ในช่วงชีวิตของวิโรจน์ เขาพบพานกับการรัฐประหารทั้งสิ้น 11 ครั้ง 

มากเกินไปไหมสำหรับชีวิตคนคนหนึ่ง

 “คุณเชื่อมั้ย มันมีช่วงเวลาหนึ่งที่เราจำไม่ได้ว่าใครเป็น ผบ.ทบ.” สรกล ชวนย้อนกลับไปในเวลาที่สังคมไทยอาจหลงลืมไปแล้ว “เวลามีปัญหาการเมืองนักข่าวจะยื่นไมค์ไปที่ ผบ.ทบ. แต่ช่วงเวลาหลังจากปี 2535 ไม่มีใครยื่นไมค์ไปที่ ผบ.ทบ. แล้ว ผบ.ทบ. ก็ไม่กล้าให้ความเห็นทางการเมือง กระทั่งปี 2549 ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป สิ่งเก่าหมุนวนกลับมา แต่โลกยุคใหม่ทหารคุมสื่อไม่ได้แล้วครับ ทหารเองก็รู้ว่าโซเชียลมีเดียมีพลานุภาพมาก แต่การควบคุมสื่อเป็นคนละเรื่องกับการบังคับใช้อำนาจ”

“ในเหตุการณ์ 14 ตุลา ในเหตุการณ์ 6 ตุลา คุณเรียกร้องอะไรตอนนั้น” วิโรจน์ตั้งคำถามกับสังคมไทย “บางการเรียกร้องผิด บางการเรียกร้องถูก บางคนจะเอาสังคมนิยมซึ่งตอนนั้นแรงมาก แต่ก็มีเสียงหนึ่งที่บอกว่า จะเอาประชาธิปไตย แล้วเสียงนี้ไม่เคยตายไม่เคยหายไปไหน ‘เราจะต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย’ เสียงนี้ไม่เคยตาย แล้วก็ปะทุขึ้นมาเป็นไทยรักไทย เป็นเพื่อไทย เป็น ธนาธร ซึ่งฉันตามไม่ทัน ฉันยอมแพ้ (หัวเราะ) เพราะว่าฉันเป็นคนที่ไม่ใช้อินเทอร์เน็ต จนกระทั่งไปเป็นพรีเซนเตอร์ถั่งเช่า แล้วเถ้าแก่บังคับให้ใช้ ฉันถึงได้รู้ว่า อ๋อ อานุภาพมันขนาดไหน”

วิโรจน์เอื้อมมือหยิบสมาร์ทโฟนที่วางบนโต๊ะก่อนจะชูขึ้นเหนือศีรษะแล้วค้างไว้เนิ่นนาน

“นี่คือศาสนาของคนรุ่นใหม่ ในนี้เต็มไปด้วย human right สิทธิมนุษยชนไม่ได้ถูกสอนอยู่ในโรงเรียน แต่วันนี้ทุกคนมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น one man one vote, one man one idea, one man one opinion, one man one suggestion มันอยู่ในนี้เต็มไปหมด this is human right.”

สมาร์ทโฟนยังถูกชูอยู่เช่นนั้น ในนั้นมีระลอกคลื่นเหมือนคลื่นในแม่น้ำแยงซี

‘คลื่นในแยงซี คลื่นหลังต้องดันคลื่นหน้า’ เป็นเช่นนี้เสมอมา เสมอกันทุกแม่น้ำ นี่คือความจริงในระดับเดียวกับพระอาทิตย์ ที่จะโผล่ขึ้นมาทิศตะวันออกอยู่เสมอ.

            

 

            

 



[i] ลำดับเหตุการณ์กรณี 6 ตุลาคม 2519 https://doct6.com

[ii] อัฑฒพล ธนศานติ, คดีประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519 : แง่มุมในหลืบประวัติศาสตร์

[iii] เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เกิดขึ้นได้อย่างไร https://doct6.com

[iv] ลำดับเหตุการณ์กรณี 6 ตุลาคม 2519 https://doct6.com

[v] ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง สองพี่น้อง (The Two Brothers) ภายใต้การผลิตของโครงการ ‘บันทึก 6 ตุลา’ (Documentation of Oct 6)

[vi] ลำดับเหตุการณ์กรณี 6 ตุลาคม 2519 https://doct6.com

[vii] อ้างแล้ว

[viii] อ้างแล้ว

[ix] สุรชาติ บำรุงสุข, 40 ปี รัฐประหาร 26 มีนาคม (1) รำลึก “พลเอกฉลาด หิรัญศิริ”

[x]ธนาพล อิ๋วสกุล ชัยธวัช ตุลาธน,  การต่อสู้ของจำเลยคดี 6 ตุลาภายใต้กระบวนการ (อ) ยุติธรรมหลังการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519

[xi] ไทเรล ฮาเบอร์คอร์น กับงานศึกษาหัวเลี้ยวหัวต่อ ‘การนิรโทษกรรม’ ช่วง 6 ตุลา

[xii] อ้างแล้ว