แอมเนสตี้ ประเทศไทย ชวนคุณย้อนอ่านแปดรายงานสิทธิมนุษยชน ที่จะพาคุณไปรู้จักกับเรื่องราวที่ถูกซ่อนไว้ให้ลึกกว่าที่เคย

9 กันยายน 2564

 

ประเทศไทย :  การทรมานในระหว่างการปราบปราม การก่อความไม่สงบในภาคใต้ (2552)

 

 

4 มกราคม 2547 ผู้ก่อความไม่สงบได้บุกเข้าไปในค่ายทหารในจังหวัดนราธิวาส และปล้นสะดมปืนไปหลายร้อยกระบอกและสังหารทหารไปสี่นาย ล่วงเข้าปีที่หกหลังจากนั้น ความรุนแรงและปฏิบัติการปราบปรามการก่อการร้ายรอบใหม่นี้เต็มไปด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยน้ำมือของทั้งสองฝ่ายอย่างกว้างขวาง จนถึงปี 2552 ที่ตีพิมพ์รายงานดังกล่าว พบว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3500 คน โดยสถิติอย่างเป็นทางการชี้ว่า ร้อยละ 66 ของผู้ที่ถูกสังหารในภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2547 เป็นพลเรือน

 

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลไทยจะมีสิทธิและหน้าที่คุ้มครองผลเมืองให้ปลอดภัยจากการละเมิดสิทธิเหล่านี้ แต่การตอบโต้อย่างหนักหน่วงของรัฐบาล โดยมีการตรึงกำลังถึงร้อยละ 45 ของกำลังทหารทั้งหมดไว้ในภาคใต้ ส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง และสร้างความแปลกแยกให้กับประชาชนในพื้นที่

 

รายงานนี้บอกเล่าถึงการใช้วิธีการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐ อย่างไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีอย่างเป็นระบบเพื่อให้ได้ข้อมูล ในระหว่างเดือนมีนาคม 2550 -  พฤษภาคม 2551 ในสี่จังหวัดได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา

 

ดาวน์โหลดได้ที่ : https://bit.ly/3A1lMt1 



โทษประหารชีวิต ไม่ทำให้สังคมปลอดภัยขึ้น 

อาชญากรรม ความปลอดภัยสาธารณะ และโทษประหาร (2556)

 

 

 

รัฐบาลมักอ้างว่าโทษประหารชีวิตเป็นการแก้ปัญหาอาชญากรรมอย่างรวดเร็ว แม้จะไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่ามีผลในเชิงป้องปราม อย่างไรก็ตาม พวกเขามักไม่ศึกษาถึงมาตรการที่มีประสิทธิผลในการแก้ปัญหาความปลอดภัยสาธารณะและอาชญากรรม เช่น การทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิผล การพัฒนาระบบยุติธรรมทางอาญาที่ให้ความเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ และการควบคุมและลดจำนวนอาวุธปืน 

 

ความอ่อนแอของระบบยุติธรรมในหลากหลายประเทศมักทำให้แนวทางแก้ปัญหาอาชญากรรมของสังคมเลวร้ายลง เริ่มตั้งแต่ความบกพร่องของการสืบสวนสอบสวน ไปจนถึงการขาดทนายความที่มีความสามารถสำหรับจำเลยที่เป็นกลุ่มผู้ด้อยโอกาส

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล คัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น แต่การต่อต้านโทษประหารนั้น ไม่ได้หมายถึงการปล่อยให้คนผิดลอยนวล เราตระหนักถึงความทุกข์ทรมานของเหยื่ออาชญากรรมรุนแรงและครอบครัว รวมถึงตระหนักดีถึงหน้าที่ของรัฐบาลในการคุ้มครองสิทธิของเหยื่ออาชญากรรม แต่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเชื่อว่าบุคคลที่ผ่านการพิสูจน์ความกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรมว่ามีความผิด ควรจะถูกลงโทษ แต่ไม่ควรนำโทษประหารมาใช้ เนื่องจากโทษประหารนั้นละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิต ซึ่งได้รับการรับรองตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน

 

รายงานนี้จะทำให้คุณรู้จัก "อาชญากรรม" และ​ "โทษประหารชีวิต" มากยิ่งขึ้น

 

ดาวน์โหลดได้ที่ : https://bit.ly/38P4zXX 




คืบก็ทะเล ศอกก็ทะเล: นโยบายด้านผู้ลี้ภัยของไทย และการละเมิดหลักการไม่ส่งกลับ (2560)

 

 

ค่ำวันที่ 26 พฤษภาคม 2560 มูฮัมเหม็ด ฟุรกาน เซิกเม็น พลเมืองสัญชาติตุรกีได้บันทึกภาพวิดิโอระหว่างอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิที่กรุงเทพ และมีการส่งไปยังนักการทูตและหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ เขาคือหนึ่งในผู้ที่รัฐบาลตุรกีมองว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง และได้ทำการปราบปรามอย่างโหดร้าย และถูกใส่กุญแจมือ มีการเอาเทปปิดที่ปาก ก่อนถูกบังคับให้เข้าไปในเครื่องบินที่เดินทางไปกรุงอิสตันบูล 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งเดียวที่เกิดเหตุการณ์การบังคับส่งกลับ ที่แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวที่จะปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศของไทย ในแง่การปฏิบัติต่อผู้ร้องขอความคุ้มครองเนื่องจากถูกประหัตประหารและถูกกระทำด้วยความรุนแรงมาจากประเทศอื่น 

แม้ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ไทยจะได้รองรับบุคคลที่หลบหนีจากความรุนแรงในประเทศเพื่อนบ้าน ตั้งแต่ปี 1970 จนถึงสิ้นทศวรรษที่ผ่านมา และมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาวิกฤตผู้ลี้ภัย แต่ปี 2522 ทหารไทยได้ผลักดันผู้ลี้ภัยชาวกัมพูชาประมาณ 42,000 คน ข้ามพรมแดนไทย-กัมพูชา โดยใช้ปืนจี้บังคับให้เดินทางผ่านพื้นที่ที่มีการวางกับระเบิดเพื่อส่งมอบให้กับทหารเวียดนาม 

รายงานนี้จะเผยให้เห็นพยานหลักฐานเกี่ยวกับการบังคับส่งกลับของผู้ขอลี้ภัย เช่น อาลี อาเหม็ด อิบราฮิม ฮารูน นักกิจกรรมที่ถูกบังคับส่งกลับไปบาห์เรน ผู้ขอลี้ภัยชาวอุยกูร์จำนวน 109 คนที่ถูกคลุมถุงดำและส่งกลับจีน เจียง ยี่เฟย และตง กวงปิง นักกิจกรรมชาวจีนที่ถูกบังคับส่งกลับจีนแม้จดทะเบียนผู้ลี้ภัยกับ UNHCR และมีกำหนดเดินทางไปยังแคนาดาแล้ว รวมถึงนายมูฮัมเหม็ด ฟุรกาน เซิกเม็น ที่ถูกบังคับส่งกลับไปยังตุรกี เป็นต้น

 

รวมถึงกรณีการผลักดันกลับบริเวณพรมแดนไทย ทางทะเล ทางอากาศ และการส่งกลับโดยอ้อม อีกทั้งยังชวนให้คุณได้รู้จักกับกรอบกฎหมาย กลไกลคัดกรอง การระบุสถานะผู้ลี้ภัย การจับกุม ควบคุมตัว และการส่งตัวออกนอกราชอาณาจักร

 

ดาวน์โหลดที่ : https://bit.ly/3BPtnvc 



“มีคนจับตาดูอยู่จริงๆ”

ข้อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกออนไลน์ในประเทศไทย (2563)

 

 

การรัฐประหารโดยทหารในปี 2557 คือจุดเริ่มต้นในความพยายามอันยาวนานของทางการไทยในการปิดปากนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรม นักข่าว และนักการเมืองฝ่ายค้าน รวมถึงในโลกออนไลน์ ซึ่งมีเป้าหมายเป็นบุคคลที่วิจารณ์รัฐบาลและสถาบันพระมหากษัตริย์ในโลกออนไลน์ รวมถึงใครก็ตามที่มีแนวคิดต่างจากที่รัฐบาลยอมรับ

 

ในหลายกรณี รัฐบาลพุ่งเป้าฟ้องร้องคดีอาญากับบุคคลที่มีชื่อเสียง เพื่อส่งข้อความไปยังผู้ใช้อินเตอร์เน็ตคนอื่นว่า ทางการไทยไม่อดกลั้นต่อความเห็นต่าง กลยุทธ์นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความกลัว รวมถึงเพื่อยับยั้งการโพสต์และแชร์เนื้อหาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของรัฐบาลที่รัฐถือเป็น “ข้อมูลเท็จ”

 

ดาวน์โหลดได้ที่ : https://bit.ly/3hbyDBB 



เราก็เป็นแค่ของเล่นเขา:

การละเมิดสิทธิทางร่างกาย จิตใจ และทางเพศ  ต่อทหารเกณฑ์ในกองทัพไทย (2563)

 

 

ทุกปี เกือบหนึ่งในสามของชายไทยที่อายุถึงเกณฑ์ต้องเข้ารับราชการตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร  แม้กองทัพไทยและนักการเมืองจะชี้แจงว่าพวกเขาดูแลทหารเกณฑ์ ดุจญาติมิตรในครอบครัว แต่หลักฐานที่น่าเชื่อถือก็ได้ชี้ชัดว่าในทางปฏิบัติจริง ทหารเกณฑ์จำนวนมากต้องเผชิญกับความรุนแรง ความอับอาย การละเมิดทางเพศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทหารเกณฑ์ที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งมักตกเป็นเป้าหมายการละเมิดเนื่องจากวิถีทางเพศและการแสดงออกทางอัตลักษณ์ทางเพศ

รายงานเล่มนี้ จะพาให้คุณได้ฟังเสียงของอดีตทหารเกณฑ์และทหารเกณฑ์ที่กำลังรับราชการในกองทัพ ณ ช่วงเวลานั้น ที่ได้เล่าประสบการณ์ภายในค่ายทหาร รวมถึงแนวทางการจัดการกับการละเมิดต่อทหารเกณฑ์ในประเทศอื่น ๆ 

พร้อมเผยให้เห็นภาพจำลองสิ่งที่เหล่าทหารเกณฑ์ต้องเผชิญ ผนวกกับบทสัมภาษณ์ทั้งจากครูฝึก รวมถึงทหารเกณฑ์ที่ต้องเผชิญกับทั้งการถูกทำร้ายร่างกาย การลงโทษด้วยวิธีต่าง ๆ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ และการถูกล่วงละเมิดทางเพศ 

รวมถึงเรื่องราวของการทุจริตเช่นเดียวกัน 

 

ดาวน์โหลดได้ที่ : https://bit.ly/3zSQTqC 

 

 

"หน้าแสบเหมือนโดนไฟไหม้" 

การใช้กำลังโดยมิชอบของตำรวจไทยระหว่างการชุมนุมโดยสงบ (2564)

 

 

คำให้การของพยานจำนวนมากในรายงานฉบับนี้ และคลิปวิดีโอ 87 ชิ้น เผยให้เห็นการใช้สารเคมีที่สร้างความระคายเคืองจนเกินขอบเขตต่อประชาชน รวมทั้งการใช้แก๊สน้ำตาและการฉีดน้ำแรงดันสูง ผู้เสียหายระบุว่าได้รับบาดเจ็บ รวมทั้งแผลไหม้ที่รุนแรงและเลือดไหลออกทางจมูก

ประจักษ์พยานและผู้เสียหายยังระบุถึงหลายเหตุการณ์ของการควบคุมฝูงชนที่มีความอันตราย ตั้งแต่การเล็งเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงใส่ศีรษะของประชาชน ไปจนถึงการยิงกระสุนยางอย่างไม่เลือกเป้าหมายใส่ฝูงชน 

รายงานระบุว่าทางการไทยมักใช้ยุทธวิธีที่รุนแรงและเกินขอบเขตอยู่เสมอ เพื่อปราบปรามขบวนการเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมที่เป็นเยาวชนซึ่งขยายตัวเพิ่มมากขึ้นในประเทศ รวมทั้งการทุบตีผู้ชุมนุม การฉีดน้ำแรงดันสูงที่ผสมสารเคมี และการยิงกระสุนยางในระยะประชิด โดยรายงานฉบับนี้ได้บันทึกข้อมูลอย่างละเอียด และการวิเคราะห์การชุมนุมที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา เผยให้เห็นภาพอย่างละเอียดของการใช้กำลังจนเกินขอบเขตมิชอบด้วยกฎหมายต่อผู้ชุมนุมโดยสงบ  

 

ดาวน์โหลดได้ที่ : https://bit.ly/2YuAURJ 

 

 

สารเคมีที่สร้างความระคายเคือง  ในการบังคับใช้กฎหมาย (2564)

 

 

รายงานที่จะพาให้คุณรู้จักสารเคมีที่สร้างความระคายเคือง และหลักการใช้ เพื่อปกป้องสิทธิของคุณให้มากยิ่งขึ้น เมื่อหลายกรณีทั่วโลกพบว่าตำรวจมีการใช้กำลังเพื่อเร่งสลายการชุมนุมอย่างสงบ แทนที่จะเลือกใช้ทางเลือกอื่นอย่างสันติในการยุติความขัดแย้ง แต่เจ้าหน้าที่กลับใช้แก๊สน้ำตา สเปรย์พริก และเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง ในลักษณะที่เป็นการกระทำโดยพลการ ปฏิบัติโดยมิชอบ หรือเกินกว่าเหตุ บ่อยครั้งที่เจ้าหน้าที่แทบไม่ต้องรับผิดชอบหรือไม่ต้องรับผิดใด ๆ จากการกระทำของตน

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่ลแนล จึงได้ตอบสนองต่อการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานภาครัฐที่มีความบกพร่องอย่างร้ายแรงโดยการเผยแพร่รายงานฉบับใหม่ที่มีข้อมูลอย่างรอบด้าน เพื่อประกันว่าตำรวจจะใช้แก๊สน้ำตาและสเปรย์พริกอย่างชอบด้วยกฎหมาย

 

ดาวน์โหลดได้ที่ : https://bit.ly/3lbNhdh 



ผู้ถูกลืมเบื้องหลังกรงขัง  โควิด-19 และเรือนจำ (2564)

 

 

เมื่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเรือนจำและสถานที่คุมขังอื่น ๆ ได้เผยให้เห็นถึงภัยคุกคามต่อสุขภาพอย่างเป็นระบบในระหว่างการควบคุมตัวของผู้ต้องหา รายงานนี้จะพาคุณไปสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับการติดเชื้อโควิดในเรือนจำ มาตรการการป้องกัน การเข้าถึงวัคซีน และหนทางสู่การแก้ไขปัญหาความแออัด เพื่อจะไม่มีใครถูกลืม

พร้อมชวนสำรวจพันธกรณีของรัฐ สิทธิต่าง ๆ ของผู้ถูกคุมขัง รวมถึงมาตรฐานระหว่างประเทศ 

 

ดาวน์โหลดได้ที่ : https://bit.ly/3l5j13z 

 

สามารถเข้าไปที่ https://www.amnesty.or.th/resources/ เพื่ออ่านรายงานเล่มอื่น ๆ ของแอมเนสตี้  ประเทศไทย