เด็กผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน (Children Rights Defender)

30 เมษายน 2564

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

เรื่องและภาพโดย Naritha Pokaiyaanunt

ปฏิเสธไม่ได้ว่าแนวคิดที่กำลังขยายตัวมากขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ ของโลกอันเกี่ยวเนื่องกับบทบาทของเด็กในตอนนี้ ได้แก่ เด็กในฐานะนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (children as a human rights defender) เด็กในฐานะพลเมืองที่ตื่นตัว (children as active citizen) และเด็กในฐานะผู้มีอำนาจตัดสินใจด้วยตนเอง (children as an agency) เราจะพบว่าในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก เด็ก ๆ ได้รวมพลังขับเคลื่อนอย่างจริงจังในการจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการขับเคลื่อนต่อต้านรัฐบาลที่ปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพของประชาชน การขับเคลื่อนในการแก้ปัญหาโลกร้อนซึ่งเป็นปัญหาที่ผู้ใหญ่ก่อขึ้นและกำลังส่งผลกระทบต่อชีวิตของบรรดาเด็กๆ ที่ต้องเติบโตและใช้ชีวิตในอนาคต 

 

เด็กผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนคือใคร

ตามนิยามของสหประชาชาติ เด็กทุกคนที่ออกมารณรงค์และปกป้องสิทธิมนุษยชนรวมไปถึงสิทธิของเด็กเอง คือเด็กผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน ถึงแม้จะมีการเรียกที่หลากหลายเช่น ผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลง เด็กนักรณรงค์ ฯลฯ เด็กคือผู้ทรงสิทธิ ผู้เรียกร้อง และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เด็กในทุก ๆ ประเทศและทุก ๆ ภูมิภาคต่างตื่นตัวลุกขึ้นมาเพื่อปกป้องสิทธิของเด็กและสิทธิมนุษยชน เด็ก ๆ ที่แสดงบทบาทของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกำลังสร้างความเข้าใจไปทั่วโลกเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน  

ทำไมเราจึงต้องตระหนักถึงการมีอยู่ของเด็กผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน 

เพราะการยืนหยัดของแนวคิดสากลที่ว่า 

1) เด็กทุกคนมีสิทธิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง 

2) เด็กมีศักยภาพที่จะเข้าใจและเรียกร้องสิทธิมนุษยชนได้ 

3) เด็กสามารถและควรจะออกมาพูดหากถูกละเมิดสิทธิ

ทั้งผู้ใหญ่และเด็กต้องตระหนักว่าเด็กมีสิทธิในการเป็นเด็กผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนในบริบทเดียวกับปฏิญญาสากลว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เด็กต้องตระหนักและรับรู้ได้ว่ากลไกลระดับชาติ ภูมิภาค และนานาชาติสามารถหนุนเสริมเด็กได้ด้วยการมีส่วนร่วมกับเด็ก และต้องทำให้แน่ใจว่าเด็กจะเข้าถึงกลไกต่าง ๆ เหล่านี้และนำมาใช้ได้จริง พลังงาน ความสร้างสรรค์ ความชื่นชมยินดี และความมุ่งมั่นที่บรรดาเด็กผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนแสดงออกในกิจกรรมการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของพวกเขาเป็นสิ่งกระตุ้นให้ผู้ใหญ่เร่งดำเนินการต่าง ๆ ที่ยอมรับบทบาทของเด็กผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนของพวกเขา และสร้างเงื่อนไขบรรยากาศต่าง ๆ ที่จะช่วยยกระดับความเข้มแข็งในการดำเนินบทบาทดังกล่าวของพวกเขาให้สำเร็จลุล่วงอย่างปลอดภัย 

 

เด็กผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนต่างจากนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างไร?

เด็กผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่เพียงมีสิทธิเท่าเทียมกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นผู้ใหญ่ หากแต่อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กขยายขอบเขตของสิทธิให้กว้างไปกว่านั้นโดยคำนึงถึงบริบททางสังคมที่แตกต่างกันของเด็ก การที่เด็กต้องเผชิญกับความท้าทายและการละเมิดที่มีลักษณะเฉพาะและมากกว่าผู้ใหญ่เมื่อทำหน้าที่เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเนื่องด้วยสถานะของเด็กในสังคม ทั้งการขาดอำนาจทางการเมือง การขาดสิทธิในการออกเสียงและการพึ่งพาพ่อแม่ ผู้ปกครอง เด็กบางคนอาจเผชิญกับอุปสรรคที่มากขึ้นตามเพศสภาวะ ความสามารถ เชื้อชาติวัฒนธรรมหรือถิ่นที่อยู่อาศัย

 

เด็กผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลกกำลังถูกคุกคาม 

นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นเด็กและเยาวชนต้องเผชิญความเสี่ยงและอันตรายที่แตกต่างจากกลุ่มอื่น เนื่องจากพวกเขาเป็นกลุ่มที่อยู่ล่างสุดในโครงสร้างอำนาจ และต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติ ประกอบกับการกดขี่ในรูปแบบอื่น ๆ ส่งผลให้นักปกป้องสิทธิที่เป็นเยาวชน ซึ่งมักจะถูกมองว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่ชอบสร้างปัญหา มีความคิดอุดมคติหรือไร้เดียงสาจนเกินไป และมักถูกทำลายชื่อเสียงและถูกปิดปาก

อุปสรรคเด่นชัดที่บรรดาเด็กเหล่านั้นต้องเผชิญเมื่อพวกเขาดำเนินบทบาทของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ภาพความท้าทายหรืออุปสรรคต่าง ๆ ที่บรรดาเด็ก ๆ นักกิจกรรมเหล่านั้นประสบพบเจอ ได้แก่ การเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสาร ซึ่งรวมถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิทธิต่าง ๆ ของพวกเขา การไม่ได้รับความสนใจอย่างจริงจังจากผู้ใหญ่ การถูกละเมิดทั้งทางกายและวาจา และการถูกคุกคามทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ อีกทั้งยังถูกขัดขวางจากครอบครัวของพวกเขา กลุ่มผู้อาวุโส สถานศึกษา หรือตำรวจ ตลอดจนการเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับแหล่งสนับสนุน หรือแหล่งการชดเชยเยียวยา ถึงแม้บรรดานักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นผู้ใหญ่ก็เผชิญอุปสรรคหรือความท้าทายเฉกเช่นพวกเขาในบางประการ แต่เด็กมีสิทธิมนุษยชนอันชอบธรรมเฉพาะ ซึ่งสิทธิเฉพาะส่วนใหญ่ของพวกเขาได้ถูกระบุไว้อย่างชัดเจนในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและพิธีสารเลือกรับภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กอีกหลายฉบับ บทบาทที่พวกเขาแสดงออกเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนส่วนใหญ่ก็สอดคล้อง หรือตรงกับสิทธิพิเศษที่ระบุในข้อตกลงสากลดังกล่าว

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิและความรับผิดชอบของปัจเจกบุคคล กลุ่มบุคคล และองค์กรของสังคมในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน หรือที่มักเรียกกันย่อ ๆ ว่าปฏิญญาสากลว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ตลอดจนเอกสารแสดงข้อคิดเห็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ล้วนครอบคลุมทุกคนซึ่งหมายรวมถึงเด็กด้วย ปฏิญญาดังกล่าวไม่ได้ระบุเพิ่มสิทธิใหม่ใด ๆ เพียงแต่อ้างถึงสิทธิต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วในกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อให้นำไปประยุกต์ใช้กับบทบาทและสถานการณ์ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้ง่ายขึ้น ดังนั้น อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและบทบัญญัติเฉพาะกาลต่าง ๆ สำหรับเด็กที่เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงระหว่างประเทศอื่น ๆ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการ (CRPD) จึงล้วนมีความสำคัญที่จะนำมาใช้ในการตีความร่วมกับปฏิญญาสากลว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและปรับให้เข้ากับกฎหมาย นโยบาย และข้อปฏิบัติระดับชาติให้มีความเหมาะสมและมีประสิทธิผลสำหรับเด็ก ในทำนองเดียวกัน ปฏิญญาสากลว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและกรอบกฎหมายที่เกิดจากปฏิญญาฉบับนี้ถือเป็นเครื่องมือซึ่งมีเอกลักษณ์พิเศษที่ช่วยยกระดับการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กในระดับประเทศ โดยเฉพาะในด้านที่เชื่อมโยงกับการทำให้สิทธิของบรรดาเด็กผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนได้รับความสนใจและรับฟังมากขึ้น รวมถึงสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ภาครัฐและผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ ควรดำเนินการเพื่อสร้างความมั่นใจว่า เด็กจะได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิของตนเองเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน อีกทั้งได้ยกระดับบทบาทดังกล่าวให้เข้มแข็งขึ้น โดยไม่ถูกตั้งข้อกล่าวหาและไม่ถูกจำกัดสิทธิดังกล่าวโดยไม่จำเป็นหรือไม่สมควร 

ดังนั้นถึงแม้เด็กจะได้รับการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเป็นพิเศษจนเสมอกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นผู้ใหญ่ แต่ในทางปฏิบัติ การใช้สิทธิมนุษยชนของพวกเขาถูกจำกัดอยู่ในกรอบทางสังคมอย่างเห็นได้ชัด สาเหตุหนึ่งมาจากการที่ภาครัฐและฝ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (รวมถึงผู้ปกครอง และโรงเรียน) อาจจะมองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่า เด็กก็เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้ด้วยเช่นกัน หรือมาจากสาเหตุที่บทบาทของพวกเขาถูกจำกัดด้วยกรอบแบบแผนต่าง ๆ ที่ยังคงถือปฏิบัติกันอย่างทั่วไปในสังคม นอกจากนี้ เด็กเองก็อาจจะไม่ได้มองว่าพวกเขาเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน หรือพวกเขาอาจจะเติบโตขึ้นมาในสังคมที่ทำให้พวกเขาไม่ทราบว่าพวกเขาสามารถแสดงบทบาทเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือก และพวกเขามีสิทธิในทางเลือกนั้น ประเด็นดังกล่าวนี้มักพบเห็นได้อย่างชัดเจนเป็นพิเศษกับเด็กผู้หญิง  เด็กพิการ  และเด็กที่อยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง  เหตุผลเรื่องความปลอดภัยของเด็กไม่ควรเป็นสิ่งเดียวที่ถูกนำมาอ้างถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก เพราะในหลายครั้งประเด็นนี้ถูกนำมาอ้างอิงเพื่อออกกฎ ระเบียบหรือการตัดสินใจบางอย่างที่จำกัดสิทธิของเด็กในการแสดงออก



เด็กผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย 

นับตั้งแต่ปี 2563 การออกมาเคลื่อนไหวของนักเรียน นักศึกษาในประเทศไทย เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีจำนวนมากกลายเป็นนักปกป้องสิทธิ ทั้งการแสดงความคิดเห็นต่อกฎระเบียบภายในโรงเรียน ต่อเจ้าหน้าที่รัฐ การวิพากษ์วิจารณ์ต่อรัฐบาลในโครงการต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและประเด็นสาธารณะ เด็กจากทั่วประเทศได้พูดถึงระบบการศึกษา อำนาจนิยมในโรงเรียน สังคม สิ่งแวดล้อม ทรัพยากร กรณีการอุ้มหาย รวมไปถึงความหลากหลายและความเท่าเทียมทางเพศ มีการรวมกลุ่มนักเรียนขึ้นในแต่ละภูมิภาคในการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม

เด็กผู้ปกป้องสิทธิที่ออกมาแสดงความคิดเห็นและเข้าร่วมการชุมนุมอย่างสงบทั้งในพื้นที่สถานศึกษา และพื้นที่สาธารณะมีเด็กผู้ปกป้องสิทธิจำนวนมากถูกคุกคามเพียงเพราะพวกเขาแสดงความคิดเห็นที่ไม่ตรงกับขนบธรรมเนียมของผู้ใหญ่ การปฏิเสธกรอบทางวัฒนธรรมบางอย่างที่ถูกจำกัดไว้ นำมาซึ่งการถูกคุกคาม ถูกติดตาม ถูกทำร้ายร่างกายและถูกดำเนินคดีทางอาญา 

 

ตัวอย่างเด็กผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย

  • เด็กผู้หญิงจากอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา กับการออกมาปกป้องสิทธิชุมชน 

  • กลุ่มนักเรียนเลวกับการวิพากษ์วิจารณ์กฎระเบียบในโรงเรียนรวมถึงกระทรวงศึกษาธิการ 

  • กลุ่มเด็กเปรต เครือข่ายเด็กในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยที่เคลื่อนไหวในประเด็นการเมืองและอำนาจนิยม

  • กลุ่มนักเรียนมัธยมปีที่ 6 (Dek64) ยื่นฟ้องศาลปกครอง กรณีสอบทีแคส (TCAS) ที่ติดกับกับการสอบปลายภาค

เด็กผู้หญิงจากอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา กับการออกมาปกป้องสิทธิชุมชน

 

ตัวอย่างของเด็กผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลก :

-เด็ก สมาชิกของรัฐสภาเด็ก (Children’s Parliament) ผู้รณรงค์ให้รัฐบาลของตนเคารพและปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศว่าด้วยการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

-เด็ก ซึ่งรณรงค์ให้เกิดการตระหนักรู้ในหมู่เพื่อนฝูงของเขาเกี่ยวกับสิทธิต่าง ๆ ของเด็ก

-เด็กซึ่งเรียกร้องความเป็นธรรมจากกรณีการละเมิดสิทธิเด็ก และส่งเสริมให้เกิดการปฏิรูปต่าง ๆ เพื่อประโยชน์สาธารณะ

-เด็ก ซึ่งเข้าไปมีส่วนร่วมในการชุมนุมอย่างสงบเพื่อประท้วงความอยุติธรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นและสู้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน

-เด็ก ซึ่งติดตามผลการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและนำเสนอรายงาน แก่คณะกรรมการสิทธิเด็ก 

ถึงแม้จะมีเด็กทั่วโลกหลายคนที่ดำเนินการสอดคล้องกับนิยามข้างต้นของเด็กผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน แต่ในความเป็นจริงเด็กส่วนใหญ่ยังมีความแตกต่าง ไม่เพียงแต่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และ/หรือไม่รู้ความหมายของสิทธิมนุษยชน แต่พวกเขาอยู่ในสังคมที่ผู้คนโดยทั่วไปไม่ยอมรับการแสดงความคิดเห็น  หรือยอมให้คนคนหนึ่งพูดถึงสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ ยังมีในหลายสังคมและบริบทที่ไม่คาดหวังให้เด็กแสดงความคิดเห็นที่คัดค้านอำนาจของผู้ใหญ่ ความท้าทายจะยิ่งมากขึ้นในระบบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย อย่างไรก็ดี รัฐภาคี มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามพันธกรณีด้านการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่มีผลบังคับในทุกประเทศ และยอมรับในสิทธิอันชอบธรรมของเด็กผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน ทั้งที่ได้มีการแสดงบทบาทดังกล่าวแล้ว หรือบทบาทที่คาดหวังว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต แม้ว่าสภาวะทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจของแต่ละรัฐ/พื้นที่อาจมีความแตกต่างกันมาก

 

สิทธิที่จะได้รับการรับฟัง

เด็กผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนสามารถใช้สิทธิอื่น ๆ  เช่น สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (สิทธิในการชุมนุมอย่างสันติ) อย่างไรก็ตาม สิทธิในการได้รับการรับฟังของเด็กเป็นกุญแจสำคัญที่เด็กจะได้เป็นผู้ตัดสินใจในเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อตัวเด็กเอง ปฏิญญาสากลว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชนให้การรับรองว่าการมีส่วนร่วมของเด็กในชีวิตสาธารณะถือเป็น “เรื่องที่ส่งผลกระทบต่อตัวเด็กเอง” สิ่งนี้จึงช่วยให้เห็นชัดเจนว่ารัฐมีพันธกรณีที่จะเคารพและหนุนเสริมเด็กผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน และใส่ใจเรื่องที่เด็กสื่อสารอย่างจริงจังในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์สาธารณะ เช่น สิ่งแวดล้อม พื้นที่ทางสังคม ไม่ใช่เพียงแค่หัวข้อเฉพาะของสิทธิเด็ก

 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องรัฐต่างๆ ให้

  • ยอมรับอย่างชัดเจนถึงความชอบธรรมของเด็กผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนและสนับสนุนการดำเนินงานของพวกเขาอย่างเปิดเผย 

  • ยอมรับบทบาทของพวกเขาในการสนับสนุนงานด้านสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะ

  • บัญญัติและปฏิบัติตามกฎหมายซึ่งรับรองและคุ้มครองเด็กผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน และให้ยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่อาจก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการดำเนินงานที่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมทั้งงานที่เกี่ยวกับสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบและการสมาคม

  • งดเว้นจากการใช้ภาษาที่สร้างตราบาป เป็นการกล่าวร้าย ดูหมิ่น หรือเลือกปฏิบัติต่อเด็กผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน ทั้งการตราหน้าว่าพวกเขาเป็นอาชญากร บุคคลไม่พึงประสงค์ หรือเป็นพวกที่ทุจริตด้านศีลธรรม เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง การพัฒนา หรือค่านิยมของสังคม 

  • ประกันให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเกื้อหนุนซึ่งช่วยให้เด็กผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนได้รับการคุ้มครองอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้พวกเขาสามารถทำหน้าที่ปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนได้ โดยไม่ต้องกลัวการลงโทษ การตอบโต้เอาคืน หรือการคุกคามใด ๆ

  • แก้ปัญหาการกดดัน การโจมตี การคุกคาม และการข่มขู่ต่อเด็กผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนรวมทั้งให้มีการสอบสวนอย่างรอบด้าน โดยทันทีและอย่างเป็นอิสระต่อกรณีที่เกิดการละเมิดและการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนต่อพวกเขา และให้นำตัวผู้ต้องสงสัยเข้าสู่กระบวนการพิจารณาอย่างเป็นธรรมโดยไม่ใช้โทษประหารชีวิต และกำหนดมาตรการเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ และการชดเชยอย่างเหมาะสมให้กับผู้เสียหาย

  • ให้ปรึกษาหารือกับเด็กผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนและหน่วยงานภาคประชาสังคม เพื่อจัดทำกลไกคุ้มครองระดับชาติสำหรับเด็กผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ตกอยู่ใต้ความเสี่ยง โดยเน้นแนวทางการป้องกัน การร่วมมือทำ งาน และการให้ความสำคัญกับประเด็นด้านเพศสภาพ

  • ประกันว่าเด็กผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนได้รับการคุ้มครองเป็นพิเศษ ตอบสนองกับแรงกดดันและความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับอายุ ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินงานของตน ยอมรับว่าเด็กต้องเผชิญกับปัญหาท้าทายและความเสี่ยงที่มีลักษณะเฉพาะรวมทั้งความรุนแรงในรูปแบบที่แตกต่างไป

  • ดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพื่อยอมรับและคุ้มครองเด็กผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนและหน่วยงานที่มีแกนนำเป็นเด็กซึ่งมีส่วนร่วมในการปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการกำจัดแบบแผนการปฏิบัติที่มีลักษณะเลือกปฏิบัติตามอายุและกีดกันไม่ให้เด็กมีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะ รวมทั้งการสนับสนุนทรัพยากรให้กับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เป็นเด็กและหน่วยงานที่มีแกนนำเป็นเด็ก

  • ประกันว่า จะไม่มีการใช้ระบบยุติธรรมอย่างมิชอบเพื่อพุ่งเป้าโจมตีหรือคุกคามเด็กผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน และงดเว้นจากการดำเนินคดีอาญาหรือการใช้กระบวนการหรือมาตรการฝ่ายปกครองเพื่อปราบปรามพวกเขา ด้วยเหตุเพียงเพราะการใช้สิทธิของตนอย่างสงบ 

  • จัดทำแนวทางที่เป็นรูปธรรมเพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้ ทักษะ และศักยภาพของเด็กผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมทั้งวิธีการคุ้มครองสิทธิของพวกเขา และการบริหารจัดการความปลอดภัยของพวกเขา

 

ที่มา 

https://www.childrightsconnect.org/wp-content/uploads/2020/12/final-implementation-guide-the-rights-of-child-human-rights-defenders-forweb.pdf