#PortraitOfWHRDs : ชลธิชา แจ้งเร็ว

11 ธันวาคม 2563

Amnesty International Thailand

เรื่องราวของ: ชลธิชา แจ้งเร็ว

ภาพ: Ivana Kurniawati

"เราเป็นนักกิจกรรม นักศึกษาปริญญาโทที่สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล อดีตกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการลอบประทุษร้ายประชาชน และเลขานุการคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน"

 

"เราคิดว่าใคร ๆ ก็สามารถเป็น “นักปกป้องสิทธิมนุษยชน” ได้ ไม่จำเป็นต้องผูกขาดคำนี้ไว้กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เช่น เอ็นจีโอ ทนายความ หรือคนที่มีภาพลักษณ์ทางสาธารณะ เราต้องทำให้ทุกคนรู้สึกว่าเขาก็สามารถเป็นนักปกป้องสิทธิฯ ได้  เมื่อลุกขึ้นมาสู้เพื่อปกป้องสิทธิและเสรีภาพของตัวเขาและผู้อื่นในสังคม"

 

"เมื่อพูดถึงนักปกป้องสิทธิฯ หญิง เรายังทำงานอยู่ในสังคมชายเป็นใหญ่ที่มีการเลือกปฏิบัติทางเพศ เป็นโจทย์ท้าทายว่าจะทำยังไงให้การเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยมีความเข้าใจเรื่องความอ่อนไหวทางเพศสภาพ เป็นพื้นที่ปลอดภัยและเปิดกว้างสำหรับคนทุกกลุ่มในสังคมรวมถึง LGBT คนพิการ คนไร้สัญชาติ"

 

"เมื่อเราเคลื่อนไหวเรียกร้องประเด็นที่อ่อนไหวในสังคม ทำให้ถูกล่าแม่มดทางออนไลน์ เขาไม่ได้โจมตีเรื่องแนวคิดหรือการปฏิบัติของเรา แต่กลับมาโจมตีเรื่องรูปร่างหน้าตาและเพศสภาพ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ มักเจอเรื่องพวกนี้หนักมาก มันคือการทำลายอัตลักษณ์และตัวตนของเรา ซึ่งมันอ่อนไหวและเจ็บปวดมาก"

 

"ตอนปี 2558 เราเป็นหนึ่งใน 14 นักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ที่ถูกคุมขังในเรือนจำเพราะออกไปต่อต้านคสช. ตอนนั้นเราอายุ 20 ปี เข้าไปในเรือนจำแล้วเขาบังคับให้เราถอดเสื้อผ้าต่อหน้าผู้คุมคนอื่น ให้เรานั่งยองๆ คลำร่างกายเรา ตอนนั้นเราตั้งคำถามว่าเขามีประตูตรวจจับวัตถุแปลกปลอมอยู่แล้ว ทำไมต้องให้เราเปลื้องผ้าในที่ที่มีคนอื่นอยู่ด้วย เขาบังคับให้เราขึ้นขาหยั่ง ตอนนั้นเราไม่รู้จักขาหยั่ง ไม่รู้ว่ามันคือการตรวจภายใน และไม่รู้ว่าเขาจะเอานิ้วแหย่เข้ามาในอวัยวะเพศของเรา เราช็อกมากและตกใจร้องกรี๊ดขึ้นมา ผู้คุมก็พูดจาไม่ดีบอกว่า “อย่ามาดัดจริตได้ไหมมันเรื่องแค่นี้เอง” เราถูกดำเนินคดีก็แย่อยู่แล้ว แล้วยังต้องมาโดนการคุกคามทางเพศอีก"

  

"ล่าสุดพอเราทำม็อบที่พูดถึงเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แม้ว่าไม่ใช่ข้อเรียกร้องใหม่เพราะมีคนพูดถึงมานานแล้ว แต่สังคมไทยไม่เคยเปิดรับฟังข้อเรียกร้องนี้ เมื่อเราและเพื่อนออกมาเรียกร้องประเด็นนี้ก็ถูกโจมตี และถูกล่าแม่มดทางออนไลน์ค่อนข้างหนัก มีการเอารูปเราไปโพสต์และแชร์ในโซเชียลมีเดียเยอะมาก ด่าเราเรื่องรูปร่างหน้าตา มีคนส่งรูปอวัยวะเพศชายมาให้ มีคนขู่ข่มขืน จับรูปเราไปคู่กับโจชัว หว่อง นักกิจกรรมฮ่องกง แล้วบอกว่าถ้าผสมพันธุ์กันคงมีลูกออกมาเป็นสัตว์ประหลาด"

 

"การคุกคามแบบนี้ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง ยอมรับว่ามันกระทบสภาพจิตใจและยากที่จะรับมือ เรารู้สึกไม่ปลอดภัย รู้สึกว่าถูกลดทอนศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ที่ตัวเองมี"

 

"เราพยายามให้เวลากับตัวเอง ทบทวนว่าสิ่งที่ทำจะมีคุณค่าอย่างไรบ้าง ทำไมเราจึงยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ทำอยู่ เป็นการทำให้ตัวเองกลับมามั่นใจ เพราะเวลาโดนล่าแม่มดหรือโดนคุกคาม เป้าหมายอย่างหนึ่งของเขาคือทำให้เราตั้งคำถามกับสิ่งที่เราเรียกร้องว่ามันคุ้มไหมที่จะแลกกับความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัยและชีวิต"

 

"เรายืนยันกับตัวเองว่า สิ่งที่เราทำมีคุณค่าและมีประโยชน์จริงๆ เวลาที่เราต่อสู้ ในแง่หนึ่งเรากำลังเรียกร้องเพื่อให้ตัวเองมีอนาคตที่ดีขึ้น เพื่อให้เราสามารถอยู่ในสังคมที่มีความมั่นคงมากขึ้น มีความปลอดภัย มีสวัสดิการ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เราย้ำเตือนตัวเองถึงคุณค่าในสิ่งที่ทำอยู่และอย่าให้ใครมาลดทอนคุณค่าที่เราเชื่อ"

 

"ปัจจุบันหลายคนอาจคุ้นภาพว่าเราเป็นผู้จัดชุมนุม แต่ในอีกบทบาทที่เราทำอยู่เบื้องหลังคือการเป็นวิทยากรเรื่องความปลอดภัยให้น้องๆ นักกิจกรรม เมื่อก่อนเราไม่ได้สนใจแนวคิดเรื่องความปลอดภัยและ well-being นัก แต่ปี 2558 เราถูกสลายการชุมนุมหน้าหอศิลป์กรุงเทพฯ จนร่างกายซีกซ้ายใช้การไม่ได้เหมือนเดิม มันชาตลอดเวลา โดยเฉพาะช่วงที่ใช้ร่างกายหนัก แขนขาซีกซ้ายจะไม่มีแรงไปเลย และการต้องเข้าเรือนทำให้เราป่วยเป็น PTSD (Post-traumatic stress disorder) จากการถูกกดดันหนักมาก ถูกบังคับให้คลานเข่า ถูกกลั่นแกล้ง หลังจากออกมา เมื่อเราเห็นว่าการเรียกร้องเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยเป็นงานเชิงความคิดที่ต้องใช้ระยะเวลา สิ่งสำคัญคือการรักษาความรู้สึกและความปลอดภัยของตัวเองและทีมงาน เราจึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น ยอมไปพบจิตแพทย์ ทานยาเพื่อรักษาอาการป่วย และพยายามแลกเปลี่ยนกับเพื่อนและทีมงานมากขึ้น"

 

"เราถูกดำเนินคดีจากการออกมาเคลื่อนไหวช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ทั้งหมดราว 20 คดี มีคดีมาตรา 116 อยู่ 4 คดี และจากการจัดชุมนุมภายในช่วงสองเดือนที่ผ่านมาทำให้เรามีคดีเพิ่มมา 9 คดี"

 

"มีคดีคนอยากเลือกตั้ง (RDN 50) ที่เราเป็นแกนนำและโดนฟ้อง 116 ซึ่งศาลตัดสินยกฟ้อง ระหว่างการต่อสู้คดีมีเอกสารทางรัฐหลุดมาเขียนว่าการดำเนินคดีกับแกนนำเพียงแค่ต้องการสร้างความยุ่งยากในชีวิตเพื่อให้ไม่มีเวลาไปทำกิจกรรม แต่ไม่ได้ต้องการให้ติดคุกจริงๆ เพราะการติดคุกจะทำให้ถูกโจมตีจากองค์กรระหว่างประเทศมากขึ้น ทำให้เห็นชัดเจนว่านี่คือการฟ้องกลั่นแกล้ง (SLAPP) ผู้ดำเนินคดีอาจเห็นอยู่แล้วว่าเราไม่ได้ทำผิด เป็นเสรีภาพพื้นฐานที่เราทำได้ แต่เขาแค่ต้องการฟ้องกลั่นแกล้งเพื่อปิดปากเรา คดีนี้สะท้อนให้เห็นว่านักปกป้องสิทธิฯ มักเจอการคุกคามในลักษณะนี้อยู่เรื่อยมา"

 

"การถูกดำเนินคดีทำให้เราเสียเวลาทำมาหากิน ช่วงขึ้นโรงพักบ่อยๆ ทำให้เราติดขัดรายได้ที่เคยได้ประจำ เสียเงินไปกับการสู้คดีเยอะมาก นอกจากนั้นคือผลกระทบด้านจิตใจ เรารู้ว่าตัวเองไม่ได้ทำอะไรร้ายแรงถึงกับต้องโดนคดี 116 ที่มีโทษสูงสุด 7 ปี แต่เขาฟ้องเพื่อกลั่นแกล้ง ยิ่งทำให้เรารู้สึกไม่ปลอดภัยจากการคุกคามของเจ้าหน้าที่รัฐ และรู้สึกว่ากระบวนการยุติธรรมที่ควรคุ้มครองพลเมืองได้ กลับไม่ได้ปกป้องคุ้มครองเรา"

 

"แม้ว่าเราจะได้รับความช่วยเหลือเรื่องคดีจากศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน มีกองทุนจากประชาชนและอาจารย์ต่างๆ สนับสนุนเรื่องการประกันตัว แต่ผลกระทบด้านจิตใจเราพยายามให้เวลาฟื้นฟูตัวเองในการฟื้นฟู ช่วงไหนรู้สึกไม่ไหวก็อาจไปพักแล้วกลับมาสู้ต่อ"

 

"แม้ว่าสิ่งที่ทำอยู่ทำให้เราถูกดำเนินคดีและสร้างผลกระทบหลายด้าน แต่เราคิดว่าเราอยากอยู่ในสังคมที่ดีกว่านี้ เราอยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้ เราแค่อยากมีอนาคตที่ดีกว่านี้ นี่เป็นสิ่งผลักดันให้เราสู้ต่อ เราเกิดมาในเจเนอเรชันที่มองไม่เห็นอนาคตตัวเอง ไม่รู้ว่าอนาคตที่ดีกว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้าอยู่ภายใต้รัฐบาลที่เป็นเผด็จการ รัฐบาลที่ไม่เคารพเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย จึงเป็นแรงผลักดันให้เราต้องสู้ การที่เราป่วยหรือถูกดำเนินคดีมากขนาดนี้ ทั้งหมดนี้คือความอยุติธรรม คือความสิ้นหวังที่ไม่เห็นอนาคต ถ้าเราอยากได้อนาคตที่ดีกว่ามีแค่ทางเดียวคือต้องลุกขึ้นสู้ ไม่งั้นเราก็ไม่ได้สิ่งนั้นมา"

 

"เรามาไกลมากแล้ว หากมองจากจุดเริ่มต้นของเราที่ออกมาเคลื่อนไหวหลังรัฐประหาร 2557 ตอนนั้นเราเป็นนักศึกษากลุ่มเล็กๆ ขณะที่คนจำนวนมากยังสนับสนุนการรัฐประหาร ไม่เห็นว่าการรัฐประหารเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน พวกเราจัดการชุมนุมพร้อมกับความท้าทายที่คนยังมองว่าการชุมนุมเป็นเรื่องน่ากลัวหรือทำไมต้องปิดถนน สร้างผลกระทบให้สังคม รบกวนผู้อื่น คนเข้าร่วมก็น้อย แต่ปัจจุบันผ่านมาหกปี วันนี้เรามาไกลมาก เรามีการประท้วงที่มีคนเข้าร่วมเป็นหมื่นเป็นแสนคน มีความเข้าใจมากขึ้นต่อการปิดถนนแบบแฟลชม็อบและการเคลื่อนไหวแบบสันติวิธี"

 

"ที่สำคัญคือเมื่อก่อนไม่มีใครพูดเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ทั้งที่ทุกคนรู้ว่าการใช้มาตรา 112 การขึ้นศาลทหาร การไม่ให้สิทธิในการประกันตัวล้วนเป็นปัญหา แต่เราไม่กล้าพูดกัน วันนี้คนพูดเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในพื้นที่สาธารณะได้มากขึ้น ทั้งหมดที่เราทำมามันใช้เวลา การชนะแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือเป็นเรื่องยาก เวลากว่าหกปีจากที่เราออกมาเคลื่อนไหวแล้วมีคนต่อต้าน มาวันนี้มีคนสนับสนุนมาก เราขยับเพดานเรื่องเสรีภาพการชุมนุม การเคลื่อนไหวแบบสันติวิธี และทำให้ข้อเรียกร้องไปได้ไกลมากขึ้น เป็นสิ่งที่ทำให้คิดว่าเราชนะในขั้นต้นแล้ว"

 

"นี่เป็นยุคสมัยที่คนรุ่นใหม่หลายคนรู้สึกเหมือนกันว่าสิ้นหวังและมองไม่เห็นอนาคตของตัวเอง เพราะเราเติบโตมาในสังคมที่เราไม่มีสิทธิเลือกว่าเราต้องการอะไร เราไม่มีสิทธิฝันถึงอนาคตและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า วันนี้พวกเรากล้าฝันถึงบ้านเมืองที่ดีกว่านี้ ตอนนี้เราต้องการแค่การลงมือทำ และร่วมแรงร่วมใจฝันไปด้วยกันแล้วจะชนะแน่นอน"