12 Years a Slave กับปัญหา White Fragility ผ่านมุมมองเชิงวิพากษ์

29 มิถุนายน 2563

Amnesty International Thailand

บทความโดย วิริทธิ์ชัย พนาอุดมสิน

ภาพ 12 Years a Slave

ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ภาพยนตร์ซึ่งแฝงประเด็น Social Justice ที่มีแนวโน้มจะชนะรางวัลออสการ์มากที่สุดก็คือภาพยนตร์ที่บอกเล่าเรื่องการเหยียดคนผิวสีที่เป็นปัญหาที่เห็นได้ชัดในสถานการณ์ปัจจุบัน ภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงเหล่านั้นได้แก่ Green Book, BlacKkKlansman, Hidden Figure, the Help, The Blind Side และ 12 Years a Slave โดยภาพยนตร์เหล่านี้ถ้าไม่ได้รับรางวัลสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมก็ต้องชนะสาขาเขียนบทหรือไม่ก็สาขาการแสดงไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แสดงให้เห็นว่าวงการหนังหันมาใส่ใจประเด็นเหล่านี้มากยิ่งขึ้น ถือเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีหลายคนลุกขึ้นมาเห็นแย้งความนิยมของหนัง Social Justice เหล่านี้ โดยพวกเขามองว่า หนังเหล่านี้ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อให้เราเห็นปัญหาการเหยียดสีผิวอย่างแท้จริง แต่สร้างขึ้นเพื่อให้คนดูผิวขาวรู้สึกดีกับตนเองว่าพวกเขาไม่ได้มีส่วนร่วมในปัญหาเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้น โดยย่อยให้การเหยียดกลายเป็นประเด็นของปัจเจกเท่านั้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดมากที่สุดดูได้จากหนังเรื่อง 12 Years a Slave ที่ชนะรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมปี 2014

 

12 Years a Slave สร้างจากหนังสือบันทึกความทรงจำของ Solomon Northup(รับบทโดย Chiwetel Ejiofor) นักไวโอลินชาวผิวสีที่เกิดเป็นอิสรชน แต่ถูกหลอกและลักพาตัวไปขายเป็นทาสเป็นระยะเวลา 12 ปี โดยหนังถ่ายทอดให้เห็นประสบการณ์อันยากลำบากของ Northup ที่ต้องใช้ชีวิตแบบทาสผ่านมือเจ้านายถึง 2 คน เจ้านายคนแรกคือ William Ford (รับบทโดย Benedict Cumberbatch) นายทาสผู้จิตใจเมตตากรุณา ส่วนคนที่สองคือ Edwin Epps (รับบทโดย Michael Fassbender) นายทาสที่โหดเหี้ยมอำมหิตผู้ชอบสั่งลงโทษทาสอย่างไร้เหตุผล ความยากเข็ญของ Northup จบลงเมื่อเขาได้รับอิสระอย่างถูกต้องในตอนจบผ่านการช่วยเหลือของ Bass (รับบทโดย Brad Pitt) ช่างไม้ที่ Northup พบในตอนจบหนังกำกับโดย Steve McQueen ผู้กำกับชาวผิวสี และอำนายการสร้างโดย Brad Pitt ตัวหนังประสบความสำเร็จด้านคำวิจารณ์อย่าล้นหลามและกวาดรางวัลไปหลายเวที เนื่องด้วยมีองค์ประกอบทางภาพยนตร์ที่สมบูรณ์แบบและฉายให้เห็นความโหดร้ายที่เกิดขึ้นกับคนผิวสีอย่างตรงไปตรงมา แต่ในขณะเดียวกัน ตัวหนังก็ถูกค่อนขอดว่าไม่ได้ต่างอะไรจากหนังสีผิวของฮอลลีวู๊ดเรื่องอื่น ๆ ที่สร้างขึ้นเพื่อให้คนขาวรู้สึกดีกับตัวเองโดยใส่บทคนขาวลงไปในฐานะ White Savior และย่อยประเด็น Racism ในกลายเป็นเรื่องของปัจเจก ไม่ได้ทำให้คนดูโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนขาวตระหนักถึงปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างแท้จริง ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร เพื่อที่จะเข้าใจประเด็นเหล่านี้มากยิ่งขึ้น ผู้เขียนขอยกงานเขียนของ Robin DiAngelo นักวิชาการด้านวาทกรรมชาวอเมริกันเรื่อง ‘White Fragility’ มาวิเคราะห์

 

คำว่า ‘White Fragility’ ปรากฏครั้งแรกในหนังสือชื่อ ‘White Fragility: Why It’s So Hard for White People to Talk About Racism’ ของ Robin DiAngelo หมายถึง สภาวะที่คนขาวไม่สามารถก้าวออกจาก Comfort Zone เพื่อพูดคุยประเด็นการเหยียดสีผิวในฐานะปัญหาเชิงโครงสร้างได้ โดยพวกเขาจะรู้สึกโกรธ ไม่พอใจ และรู้สึกเหมือนถูกโจมตีเมื่อมีใครเปิดประเด็นพูดคุยเรื่อง Racism ดังนั้นคนขาวจึงถูกกล่อมเกลาให้อยู่ใน Comfort Zone ต่อไป[1] โดยประเด็น Racism ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างจะถูกย่อยให้เป็นปัญหาในระดับปัจเจกและถูกมองแบบแบ่งขั้วตรงข้ามชัดเจน[2] กล่าวคือ คนผิวขาวจะถูกแบ่งเป็นสองประเภท ได้แก่ 

 

ประเภทแรก คือ คนผิวขาวที่เป็น Racist สนับสนุนการเคลื่อนไหวของขวนการ Neo-Nazi และ Klux Klux Klan มีท่าทีเหยียดคนผิวสีอย่างชัดเจน 

ส่วนประเภทที่สอง คือ คนผิวขาวที่ไม่ได้เป็น Racist สนับสนุนความเท่าเทียมทางเชื้อชาติ และออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องความเป็นธรรมของคนผิวสีด้วย 

 

ดังนั้น การเหยียดผิวจึงวัดจากพฤติกรรมของคนเป็นหลักและถูกมองเป็นสีดำชัดเจน แต่ในความเป็นจริง การเหยียดสีผิวเป็นประเด็นที่สีเทาเอามาก ๆ ต่อให้คนขาวคนนั้นจะไม่ได้เป็น Racist และออกมาสนับสนุนการเคลื่อนไหวของคนผิวสี แต่พวกเขาก็ถูกจัดเป็นคนผิวขาวที่มีอภิสิทธิ์ทางเศรษฐกิจและสังคมเหนือคนผิวสีอยู่ดี โดยการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมได้เปิดโอกาสให้พวกเขาเหล่านั้นมารับบทเป็น White Savior หรือคนขาวผู้มีความเมตตากรุณาผู้ทำหน้าที่ปลดแอกคนผิวสีจากการกดขี่โดยที่ตัวคนขาวก็ยังถือครองอภิสิทธิ์เหล่านั้นต่อไป

 

ตัวอย่างเห็นได้ชัดจากหนังที่เล่นประเด็น Racism หลายเรื่องมักจะเรื่องราวของคนผิวสีที่เป็นคนดีถูกกดขี่โดยคนขาวที่เป็นวายร้าย และได้รับความช่วยเหลือจากคนขาวที่เป็นคนดู ผู้สร้างและคนเขียนบทไม่อยากให้คนขาวรู้สึกกระอักกระอ่วนและรู้สึกแย่กับสถานะอภิสิทธิ์ชนของตนเอง จึงใส่ตัวละครคนขาวที่เป็นคนดีลงไปเพื่อยืนยันว่า พวกเขาหลุดพ้นจากบ่วงบาทการกดขี่และไม่ได้มีส่วนร่วมกับปัญหาการเหยียดสีผิวเชิงโครงสร้างที่เกิดขึ้นใน 12 Years a Slave แม้ตัวหนังจะทำได้ดีในการเคารพต้นฉบับหนังสือ แต่ตัวหนังก็ถูกวิจารณ์ว่าบิดเบือนจากหนังสือในประเด็นการต่อสู้ขัดขืนของผู้ถูกกดขี่[3] เพราะในเวอร์ชั่นหนังสือ Solomon Northup ผู้เคยเป็นเสรีชนมาก่อนมีความพยายามที่จะหลบหนีและต่อต้านนายทาสร่วมกับชาวทาสคนอื่น ๆ ด้วย แต่ในหนัง ตัว Northup แม้จะมีความพยายามในการขีดขืนและหลบหนีการกดขี่ แต่หนังก็ตัดส่วนที่เขาร่วมมือกับทาสคนอื่นเพื่อหลบหนีออกไป การดำเนินเรื่องส่วนใหญ่ในหนังจึงถ่ายทอด Northup ในฐานะทาสที่มีลักษณะ Passive อยู่นิ่งตลอดเวลา ไม่สามารถลุกขึ้นมาต่อสู้ได้ด้วยตนเอง ต้องรอความช่วยเหลือจากคนขาวผู้เป็น White Savior ในตอนจบ โดยคนที่ช่วย Solomon Northup ออกไปได้ก็คือ Bass ช่างไม้ผิวขาวผู้ยอมเสี่ยงหน้าที่การงานของตนเองเพื่อช่วย Northup ออกไป 

 

จริงอยู่ที่ตัวหนังสร้างจากหนังสือต้นฉบับซึ่งตัว Solomon Northup เองก็เคยเขียนสดุดี William Ford นายทาสผิวขาวผู้มีเมตตากรุณา และเผยให้เห็นว่า Bass ช่างไม้ผิวขาวเต็มใจที่จะช่วยเขาจากการกดขี่จริงๆ แต่หนังที่เล่นเรื่องประเด็นเรื่อง Racism สามารถไปได้ไกลมากกว่านั้น ผู้สร้างหนังต้องก้าวออกจาก Comfort Zone มากขึ้นและตระหนักว่าการสร้างหนังที่ทำให้คนผิวขาวรู้สึกกระอักกระอ่วนต่อสถานะอภิสิทธิ์ชนของตนเองไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด ตัวอย่างที่ดีก็คือหนังเรื่อง Get Out (2017)  เพราะการศึกษาการเมืองเชิงวิพากษ์มีจุดประสงค์เพื่อปลดแอกมนุษย์ออกจากความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (Structural Violence) โดยการเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มต้นจากการทำให้ผู้เรียนก้าวออกจาก Comfort Zone ด้วยการทำให้พวกเขารู้สึกอึดอัดและขยะแขยงต่อสถานะของตนเอง เป็นก้าวแรกของการสร้างจิตสำนึกเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภายหลัง 

 

การต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของคนผิวสีก็ไม่ต่างอะไรจากการวิพากษ์ระบบทุนนิยม เราไม่สามารถวิพากษ์ระบบทุนนิยมได้ด้วยการแบ่งแยกระหว่างนายทุนที่ดีกับนายทุนที่เลว การทำแบบนั้น คือ การหลีกหนีปัญหาหรือซ่อนปัญหาไว้ใต้พรม เราต้องปลดตนเองออกจากการมองโลกแบบ Binary ที่แบ่งขาวแบ่งดำชัดเจน และนี่ไม่ใช่การมองว่า คนผิวขาวและนายทุนทุกคนเลวเหมือนกันหมด แต่มันคือการมองผ่านกรอบชนชั้นว่าอะไร ปัจจัยใด หรือเครื่องมือไหนคือสิ่งที่ทำให้คนบางกลุ่มมีอำนาจเหนือคนกลุ่มอื่น และเราจะจัดการกับโครงสร้างเหล่านั้นอย่างไร



[1] Robin Diangelo, White Fragility: Why It’s So Hard for White People to Talk About Racism (New York: Beacon Press, 2018), 17-18.

[2] Ibid, 32.

[3] Carole Boyce Davies, “12 Years a Slave fails to represent black resistance to enslavement,” The Guardian, January 10, 2014, https://www.theguardian.com/world/2014/jan/10/12-years-a-slave-fails-to-show-resistence