'กล้าฟิตี้' (BRAVE) ศิลปะเพื่อการปกป้องสิทธิ

12 มิถุนายน 2560

เรื่อง: อรรถภูมิ อองกุลนะ
ตีพิมพ์ครั้งแรก: กรุงเทพธุรกิจ 30 พ.ศ. 2560

เมื่องานศิลปะกำลังสื่อสารเรื่องสิทธิมนุษยชน นี่ใช่ไหมคือจุดเริ่มต้น ของความ "กล้า"

 

งานกราฟฟิตี้ ซึ่งถูกตั้งโชว์อยู่ผด้านล่าง คือผลงานที่ศิลปินจงใจ "เล่น" กับผู้คนที่สัญจรไปมาละแวกหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

 

บางคนหยุดยืนดู มีไม่น้อยขอ ถ่ายรูป และว่ากันตามตรงก็อีกจำนวนมากนี่แหละ ที่แค่เพียงเดินผ่านโดยไม่ขอตั้งคำถามกับมัน

 

แต่หากใครได้หยุดดูอยู่บ้าง มันก็น่าสงสัยไม่ใช่หรือว่าภาพการ์ตูนคาแรกเตอร์แปลกๆ ที่ถูกพ่นบนกำแพงนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร และจุดประสงค์อันใดมันถูกนำมาวางไว้ตรงนี้

 

คำตอบมีอยู่ว่า นี่คือหนึ่งในผลงานศิลปะ ในแคมเปญ "กล้า" (BRAVE) แคมเปญระดับนานาชาติที่แสดงออกถึงการปกป้องนักสิทธิมนุษยชนในหลายประเทศที่กำลังถูกคุกคาม ใช้ความรุนแรง ในรายงานฉบับล่าสุดของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่ชื่อว่า "การคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน-พื้นที่ภาคประชาสังคมที่ถูกบีบให้เล็กลง" ระบุว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ละประเทศได้มีผู้คนออกมาปกป้องสิทธิของตัวเอง และคนรอบข้างมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการกระทำเช่นนั้นอีกด้านมันก็ทำให้พวกเขาตกเป็นเป้าโจมตี และคุกคามจากผู้เสียประโยชน์มากขึ้นเช่นกัน

 

รายงานฉบับเดียวกันนี้ ยังบอกว่า ขณะนี้มีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน อย่างน้อย 68 ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย ถูกจับกุมหรือถูก ควบคุมตัวโดยพลการเพียงเพราะทำงานตามหลักสันติวิธี เช่นเดียวกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมากกว่า 94 ประเทศถูกคุกคามและทำร้าย พวกเขาถูกกล่าวหาว่าเป็นอาชญากร เป็นบุคคลไม่พึงประสงค์ หรือแม้กระทั่งถูกกล่าวหาว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ

 

"ข้อมูลของ Front Line Defenders ระบุว่าในปี 2559 มีผู้ถูกสังหารถึง 281 คนจากการลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิมนุษยชน เพิ่มขึ้นจาก 156 คนในปี 2558 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จึงร่วมแสดงพลัง เราอยากเรียกร้องให้คนกล้าออกมาช่วยเหล่า นักปกป้องสิทธิมนุษยชน เพราะพวกเขาคือผู้กล้าที่จะปกป้อง และยืนหยัดเพื่อสิทธิของผู้อื่น เหล่าผู้กล้าเหล่านั้นกำลังต้องการผู้กล้าอย่างคุณเพื่อสนับสนุน กันและกันในการที่จะช่วยกันสร้างโลก ที่ดีขึ้นสำหรับเราทุกคน" ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวถึงที่มาของการร่วมทำแคมเปญ "กล้า" แล้วมันก็จริงอย่างที่ทุกคนแสดงความเห็นร่วมกันในวันเปิดตัว ด้วยเพราะนักปกป้องสิทธิมนุษยชนต้องไม่จำกัดที่คนมีชื่อเสียง เอ็นจีโอ หรือนักกิจกรรมเท่านั้น ด้วยคนกล้าที่จะออกมาปกป้องประโยชน์ส่วนร่วมนั้นล้วนเป็นใครก็ได้ ตั้งแต่ ทนายความ อาจารย์ คนใช้แรงงาน ชาวนา และชาวบ้านคนธรรมดาทั่วไป เช่นเดียวกับศิลปิน ที่สร้างผลงานออกมาสื่อสารให้กับผู้พบเห็น

 


ชุนหรัช สมิทธิอรรถกร กราฟฟิค ดีไซเนอร์ และธัชกร ศิรวัชรเดช ศิลปินกราฟฟิตี้จึงร่วมกันทำผลงานเพื่อสะท้อนมุมมองของความกล้าในรูปแบบของ ตัวเอง

 


"ทุกคนล้วนมีวิธีแสดงออก มีชั้นเชิงการสื่อสารของตัวเอง บางคนอาจต้องพูดด้วยน้ำเสียงที่ดัง เคร่งขรึม เพื่อบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่มันไม่ดีนะ ต้องเปลี่ยนแปลงให้เด็ดขาด เขาก็อาจจะใช้การพูดที่รุนแรงขึ้นมาหน่อย ส่วนเราก็จะมีวิธีพูดในแบบของเรา"

 


ชุนหรัช บอกว่า คาแรกเตอร์งานของพวกเขาแสดงออกถึงคนทำงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นนักดนตรี นักประพันธ์ ศิลปิน ที่อีกด้านหนึ่งก็เปรียบเสมือน "นักล่า" ซึ่งแต่ละคนก็ล้วนต้องการ ชื่อเสียง เงินทอง ความสำเร็จ และ การยอมรับในรูปแบบที่ต่างกัน ทว่า ความฝันที่แต่ละคนทำนั้น กลับถูกผู้มีอิทธิพลขโมยผลงาน หรืออาจจะนำไปด้วยวิธีอะไรบางอย่างซึ่งไม่ต่างกับการรุกรานสิทธิ ทั้งคนที่สร้างงานกลับยัง ลอกเลียนกันเอง เขาจึงตั้งคำถามผ่าน ผลงานในทำนองว่า เราได้มีส่วนกับ การขโมยความคิดและผลงานของใครหรือไม่

 

ส่วน ธัชกร เสริมว่า ศิลปินกราฟฟิตี้ต้องต่อสู้กับความกลัวเพื่อสร้างความกล้าให้กับตัวเองเช่นกัน เริ่มตั้งแต่การเลือกทำงานศิลปะข้างถนน ซึ่งต้องกลัวเจ้าของพื้นที่ไม่อนุญาต กลัวผู้สัญจรไม่เข้าใจ กลัวถูกมองว่าไม่ดี ต่างจากการสื่อสารประเภทอื่นที่มีกลุ่มคนสนใจเฉพาะทางและแน่นอนกว่า

 

"อยากให้สังคมช่วยกันกล้า กล้าที่จะบอก กล้าที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง เพราะทุกคนมีสิทธิที่จะพูด มีวิธีสื่อสารในแบบของตัวเองซึ่งไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร ขอให้ปลุกมันขึ้นมาเพื่อสร้างสังคมที่ดีกว่า" พวกเขาร่วมกันสรุปความคิด หลังจากผลิตผลงานนิยามความกล้า ของตัวเอง

 

สำหรับแคมเปญ "กล้า(BRAVE)" นี้ จะถูกนำมาใช้เรียกร้องให้มีการตระหนักถึงคุณค่าของการทำงาน ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ทั้งนี้เพื่อให้มีมาตรการปกป้อง และคุ้มครอง รวมทั้งให้มีการสนับสนุนให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนสามารถดำเนินงานของตนได้อย่างปลอดภัย และปราศจากการถูกคุกคามใดๆ นั่นเพราะนักสิทธิ-มนุษยชนคือผู้กล้า ที่ยืนหยัดเพื่อสิทธิส่วนรวม หากแต่ ในความเป็นจริงกลับยังถูกทำร้าย คุกคามด้วยวิธีการต่างๆ

 

" นักปกป้องสิทธิมนุษยชน-ต้องไม่จำกัดที่คน มีชื่อเสียง เอ็นจีโอ หรือนักกิจกรรมเท่านั้น"