เส้นแบ่งความเป็นส่วนตัว กับการใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหา COVID-19 อยู่ตรงไหน?

15 เมษายน 2563

Amnesty International

ผู้คนทั่วโลกกำลังประสบกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระดับโลกที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 เทคโนโลยีสามารถและควรที่จะมีบทบาทสำคัญในความพยายามช่วยเหลือชีวิตผู้คนในครั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นโดยการเผยแพร่ข้อมูลสาธารณสุขหรือโดยการขยายการเข้าถึงบริการสาธารณสุข อย่างไรก็ตาม เพื่อที่จะรับมือกับโรค รัฐบาลบางแห่งกำลังเร่งเพิ่มการใช้งานเทคโนโลยีสอดส่องข้อมูลเพื่อติดตามบุคคล ๆ หนึ่ง หรือแม้กระทั่งประชากรทั้งหมด

 

หากไม่ได้รับการตรวจสอบหรือถูกตั้งคำถาม มาตรการเหล่านี้อาจเปลี่ยนแปลงอนาคตระดับรากฐานของความเป็นส่วนตัวหรือสิทธิมนุษยชนก็เป็นได้

 

การสอดส่องข้อมูลเพื่อรับมือกับโควิด-19 ถูกกฎหมายไหม?

 

รัฐบาลมีหน้าที่รับประกันสิทธิต่อสุขภาพและสิทธิในการป้องกัน แก้ไข และควบคุมโรคระบาด โดยในการทำเช่นนี้ รัฐบาลอาจต้องจำกัดสิทธิมนุษยชนบางประการเพื่อตอบสนองต่อภาวะสาธารณสุขฉุกเฉินอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดี การขยายมาตรการการเฝ้าระวังจะขัดต่อกฎหมายเว้นแต่จะสามารถสอดคล้องกับเกณฑ์ที่เข้มงวดได้ รัฐบาลควรสามารถแสดงให้เห็นว่ามาตรการที่นำมาใช้ถูกต้องตามกฎหมาย มีความจำเป็น เท่าเทียม มีกรอบระยะเวลาชัดเจน และถูกนำมาใช้อย่างโปร่งใสและมีการดูแลเพียงพอ

ในทางปฏิบัติ นั่นหมายความว่ามาตรการเฝ้าระวังต้องล่วงล้ำน้อยที่สุดในการบรรลุผลที่ต้องการ การเฝ้าระวังจะต้องไม่ก่อผลร้ายมากกว่าผลดี

บทเรียนที่ได้รับจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า ภัยที่เกิดจากมาตรการการเฝ้าระวังที่กลายเป็นสิ่งติดตรึงถาวรมีจริง ภายหลังจากเหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน ปี 2001 (9/11) นั้น อุปกรณ์การสอดส่องข้อมูลของรัฐบาลได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเมื่ออำนาจและโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ถูกใช้งาน น้อยนักที่รัฐบาลจะมีแรงจูงใจทางการเมืองที่จะกลับมาใช้มาตรการแบบเดิม

 

การใช้ข้อมูลตำแหน่งที่ตั้งส่วนบุคคล

หลายประเทศใช้ข้อมูลโทรศัพท์เพื่อติดตามการเคลื่อนไหวของประชาชนเพื่อตอบสนองต่อการระบาดของ โควิด-19 โดยมีการรายงานว่าประเทศออสเตรีย เบลเยียม อิตาลี สหราชอาณาจักรและเยอรมนีกำลังรวบรวมข้อมูลตำแหน่งที่ตั้งนิรนามหรือข้อมูลตำแหน่งที่ตั้งระดับภาพรวมจากบริษัทโทรคมนาคม

ประเทศอื่นมีการใช้ข้อมูลโทรศัพท์เช่นกัน แต่ปราศจากการป้องกันด้วยวิธีการทำให้ข้อมูลเป็นนิรนาม (anonymization) หรือการทำให้เป็นข้อมูลรวม (aggregation) ตัวอย่างเช่น สื่อรายงานว่ารัฐบาลเอกวาดอร์อนุญาตให้มีการติดตามทาง GPS เพื่อบังคับให้เกิดความร่วมมือในการกักตัว นอกจากนี้ ความเคลื่อนไหวของผู้มีอำนาจชาวอิสราเอลที่อนุญาตให้ฝ่ายรักษาความปลอดภัยใช้ข้อมูลโทรศัพท์ของผู้ที่ติดเชื้อได้สร้างความกังวลต่อความเป็นส่วนตัวเช่นกัน เป็นที่ประจักษ์ว่าระบบดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้งานแล้ว โดยมีคนได้รับข้อความ SMS แจ้งเตือนการสัมผัสผู้ติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นได้แล้วทั้งหมด 400 คน

ในประเทศเกาหลีใต้ ผู้มีอำนาจได้ส่งข้อความเตือนเกี่ยวกับสุขภาพที่ประกอบไปด้วยข้อมูลส่วนตัวของผู้ติดเชื้อ รวมทั้งลิงค์ที่เปิดเผยข้อมูลการเคลื่อนไหวของผู้ติดเชื้อเหล่านั้น มาตรการนี้สร้างความวิตกกังวลอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นละเมิดการรักษาความลับของคนไข้และยังส่งเสริมให้การตีตราต่อผู้ติดเชื้อ จะเห็นได้ว่า มาตรการนี้ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขที่ว่าการเฝ้าระวังต้องไม่ขัดต่อกฎหมายและยังละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวอีกด้วย

มาตรการเหล่านี้ตั้งคำถามสำคัญเกี่ยวกับวิธีการรวบรวม ใช้งาน และเผยแพร่ข้อมูลส่วนตัวของทุกคน ทันทีที่มีการรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล ความอันตรายที่ข้อมูลจะถูกเผยแพร่และใช้งานเพื่อวัตถุประสงค์นอกเหนือจากการติดตามด้านสุขภาพก็สามารถเกิดได้จริง

 

ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Big Data

รัฐหลายรัฐกำลังพึ่งพาเทคโนโลยี AI และ Big Data เพื่อรับมือกับโควิด-19 โดยสื่อรายงานว่า ประเทศจีนกำลังผสมผสานการใช้เครื่องแสกนอุณหภูมิ ‘สมาร์ท’ และเทคโนโลยีจดจำใบหน้าในสถานที่สาธารณะเพื่อติดตามการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีอย่างอาลีบาบาก็ได้ริเริ่มฟีเจอร์ติดตามที่ใช้ข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคลและกำหนดสถานะสุขภาพด้วยโค้ดสีสำหรับคน โดยสีเขียวเท่ากับ ‘ปลอดภัย’ สีเหลืองหมายความว่าต้องกักตัว 7 วัน และสีแดงหมายความว่าต้องกักตัว 14 วัน ซึ่งระบบนี้ใช้กำหนดสิทธิการเข้าถึงสถานที่สาธารณะต่าง ๆ ของคน แต่ที่น่ากังวลคือ แอปพลิเคชันนี้แบ่งปันข้อมูลให้แก่ผู้มีอำนาจบังคับใช้กฎหมาย

ในประเทศโปแลนด์ รัฐบาลได้ผลิตแอปพลิเคชันที่มีวัตถุประสงค์ตรวจสอบความร่วมมือในการกักตัว มีรายงานว่า แอปพลิเคชันส่งการแจ้งเตือนให้อัปโหลดเซลฟี่ซึ่งยืนยันด้วยข้อมูลจดจำใบหน้าและข้อมูลตำแหน่งที่ตั้งเพื่อทำให้แน่ใจว่าบุคคลนั้นไม่ละเมิดคำสั่งการกักตัว นอกจากนี้ มีรายงานว่าในประเทศอื่น ๆ ก็มีการแอปพลิเคชันที่คล้ายกัน รวมถึงแอปพลิเคชันที่ในอินเดียที่ใช้เซลฟี่ระบุตำแหน่งอีกด้วย

เทคโนโลยีเอไอยังสามารถเพิ่มโอกาสในการเลือกปฏิบัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและอาจก่อความเสียเปรียบกลุ่มชุมชนที่อยู่ชายขอบอยู่แล้ว เทคโนโลยีมากมายที่ถูกใช้งานขณะนี้ใช้อัลกอริทึมไม่โปร่งใสด้วยข้อมูลที่มีอคติ โดยการใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการตัดสินใจจะยิ่งทำให้การเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มคนบางกลุ่มฝังรากลึกมากยิ่งขึ้น

รัฐบาลไม่ควรใช้เทคโนโลยีเฝ้าระวังที่รวบรวมข้อมูลนอกเหนือจากที่จำเป็นต่อการควบคุมโรคตามกฎหมาย นอกจากนั้น รัฐบาลยังต้องจัดการปัญหาเกี่ยวกับการปกป้องข้อมูลและปัญหาการเลือกปฏิบัติด้วย

 

บริษัทสอดส่องข้อมูลเอกชน

ในขณะที่การร่วมมือของรัฐบาลและเอกชนจะทำให้สามารถหาวิธีการใหม่ ๆ ที่จำเป็นต่อการรับมือกับวิกฤตการณ์สาธารณสุขครั้งนี้ รัฐบาลหลายแห่งกลับพึ่งพาบริษัทสอดส่องข้อมูลที่มีประวัติการละเมิดสิทธิที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

ตัวอย่างเช่น มีรายงานว่าผู้ให้บริการสอดส่องข้อมูลที่สร้างข้อถกเถียงอย่าง Clearview AI และ Palantir กำลังเจรจาต่อรองกับผู้มีอำนาจในประเทศสหรัฐอเมริกา และบริษัทสอดส่องข้อมูลสัญชาติอิสราเอลอย่างกลุ่ม NSO ที่มีประวัติการขายข้อมูลให้แก่รัฐบาลที่ใช้อำนาจในทางมิชอบกำลังขายเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูล big data ที่อ้างว่าจะติดตามการแพร่กระจายของโรคด้วยการทำแผนที่การเคลื่อนไหวของผู้คน

เช่นเดียวกับกลุ่ม NSO บริษัทสอดส่องข้อมูลหลายแห่งมีประวัติการดำเนินงานอยู่ในเงามืด อีกทั้งยังไม่มีความรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกด้วย

จำเป็นอย่างยิ่งที่บริษัทที่เกี่ยวข้องกับการรับมือเชื้อโควิด-19 จะสามารถบ่งชี้ ป้องกัน บรรเทา และพิจารณาความเสี่ยงใด ๆ เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่อาจเกิดขึ้นจากบริบทของการระบาดของโรคในส่วนของการดำเนินงาน ผลิตภัณฑ์ หรือการบริการของบริษัท โดยบริษัทจะต้องไม่ใช้วิกฤตการณ์โควิด-19 ในการหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบต่อสิทธิมนุษยชน

 

ภายหลังจากโรคระบาด 

ขณะที่พวกเราร่วมเผชิญหน้าวิกฤตการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนี้ เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมีมุมมองระยะยาวต่อมาตรการที่ใช้รับมือไวรัส มาตรการเหล่านี้อาจคงอยู่หลังวิกฤติได้ผ่านพ้นไปและกำหนดรูปแบบการสอดส่องข้อมูลในโลกหลังวิกฤติโควิด-19 ได้ ดังนั้น เป็นเรื่องสำคัญที่สิทธิมนุษยชนสำหรับทุกคนจะเป็นศูนย์กลางของวิสัยทัศน์นั้นในอนาคตต่อไป