เธอตัดผมสั้น และครอบครัวก็ขังเธออยู่ในห้องเป็นการลงโทษอยู่หกเดือน นั่นคือฟางเส้นสุดท้าย ราฮาฟ โมฮัมเหม็ด หญิงวัย 18 ปี ชาวซาอุดีอาระเบีย จึงตัดสินใจวางแผนหนีจากครอบครัว ตอนนี้เธอได้รับอิสรภาพในการกำหนดชีวิตของเธอเองในฐานะผู้ลี้ภัยในประเทศแคนาดา
ชีวิตใหม่ของราฮาฟในประเทศแคนาดา
ราฮาฟเล่าว่าความพยายามทั้งหมดของเธอนั้นคุ้มค่ามาก เพราะตอนนี้เธอได้ใช้ชีวิตอย่างมีเสรีภาพตามที่ต้องการ เธอรู้สึกปลอดภัยมากในประเทศแคนาดาเพราะเป็นประเทศที่เคารพสิทธิมนุษยชน เธอให้คำมั่นสัญญาว่าจะทุ่มเทเวลาที่เหลือในการเรียกร้องสิทธิของผู้หญิงทั่วโลกเหมือนกับที่เธอได้รับที่ประเทศแคนาดา
เธอได้รับการช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาลและได้รับคำแนะนำให้เข้าใจถึงสิทธิในฐานะผู้ลี้ภัยของเธอ
และจากนี้ไป ชื่อของเธอคือ ราฮาฟ โมฮัมเหม็ด โดยไม่มีนามสกุลครอบครัวของเธอต่อท้าย (เดิมชื่อ ราฮาฟ โมฮัมเหม็ด อัล-คูนุน)
ราฮาฟ เกือบถูกส่งตัวกลับประเทศ ขณะเดินทางผ่านประเทศไทยเพื่อลี้ภัย
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมกราคม 2562 ราฮาฟหนีจากครอบครัวระหว่างการไปเที่ยวประเทศคูเวต เธอจัดการซื้อตั๋วเครื่องบินไปยังประเทศออสเตรเลียเพื่อขอสถานะผู้ลี้ภัยที่นั่น เธอลงเครื่องและเข้าพักโรงแรมที่สนามบินสุวรรณภูมิเพื่อรอเปลี่ยนเครื่อง ระหว่างนั้นมีเจ้าหน้าที่ไทยพยายามเข้าไปในห้องพักของเธอ เธอใช้ทวิตเตอร์สื่อสารกับโลกภายนอกให้ช่วยเหลือเธอเพราะเกรงว่าเจ้าหน้าที่จะส่งตัวเธอกลับประเทศซึ่งเธอเชื่อว่าจะต้องถูกครอบครัวทำร้ายเพราะเรื่องศาสนาอีก

สุดท้ายหน่วยงานผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ (UNHCR) เข้าให้ความช่วยเหลือเธอโดยพิจารณาให้สถานะผู้ลี้ภัยในประเทศแคนาดาตามคำยินยอมของเธอ เนื่องจากทำเรื่องได้เร็วกว่าประเทศออสเตรเลีย
“ฉันต้องการเป็นอิสระจากการกดขี่”
ราฮาฟ เกิดและอาศัยอยู่ในครอบครัวที่เคร่งครัดในวัฒนธรรมอิสลามของประเทศซาอุดีอาระเบีย ผู้หญิงต้องได้รับอนุญาตจากผู้ชายก่อนที่จะออกจากบ้านหรือไปทำงาน ผู้หญิงต้องแต่งงานตามความปรารถนาของครอบครัว และผู้หญิงอาจถูกลงโทษอย่างรุนแรงโดยผู้ชายในครอบครัวได้อย่างชอบธรรม
ตัวตนของเธอนั้นตรงกันข้ามกับความเชื่อทางศาสนาของครอบครัวโดยสิ้นเชิง เธอต้องการมีสิทธิเสรีภาพดังเช่นมนุษย์ทุกคน เธอต้องการได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมโดยไม่ต้องสนใจว่าเธอคือผู้หญิง
การเลิกนับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งมีโทษประหารชีวิตในประเทศซาอุดีอาระเบีย สร้างความไม่พอใจให้กับครอบครัวอย่างมาก ราฮาฟถูกบังคับให้สวมฮิญาบและละหมาดตามหลักศาสนาอิสลาม เธอขัดขืนจนถูกครอบครัวทุบตี
ราฮาฟวางแผนหนีจากครอบครัวไว้นานแล้ว เธอรอจนอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ เพราะเธอรู้ว่าเธอจะได้เป็นผู้บรรลุนิติภาวะในประเทศตะวันตก ต่างจากในประเทศซาอุดีอาระเบีย ผู้หญิงทุกคนไม่ว่าจะอายุเท่าใดก็ต้องได้รับอนุญาตจากสามี พ่อ หรือลูกชายก่อนเดินทางไปต่างประเทศ
“ดิฉันเชื่อว่ามีผู้หญิงอีกมากที่ต้องการหนีออกมา หวังว่าเรื่องราวของดิฉันจะเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเธอกล้าหาญและเป็นอิสระ”
ราฮาฟ กล่าวในการให้สัมภาษณ์แรกของราฮาฟในประเทศแคนาดา (มกราคม 2562)
แอมเนสตี้ ร่วมรณรงค์ให้ปล่อยตัว
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการไทยไม่ส่งตัวราฮาฟกลับประเทศซาอุดีอาระเบีย เพราะเธอระบุไว้จัดเจนว่าเธอจะถูกดำเนินคดีอาญาในประเทศซาอุดีอาระเบียเพราะเธอขัดขืนกฎหมายที่บังคับให้ผู้หญิงต้องอยู่ใต้การกำกับดูแลของผู้ชายในครอบครัว ดังนั้น การส่งตัวเธอกลับประเทศซาอุดีอาระเบียจะนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งขัดกับหลักการระหว่างประเทศว่าด้วยการไม่ผลักดันกลับผู้ลี้ภัย