ฮันนีมูนของฉันกลายเป็นฝันร้าย: โปรดช่วย “ฮาคีม” สามีของฉันด้วย

21 มกราคม 2561

เขียนโดยภรรยาของฮาคิม อัล อาไรบี

ภาพโดย Mark Avellino Photography

ในวันที่ 27 พฤศจิกายน ดิฉันพร้อมสามีซึ่งเป็นนักฟุตบอลอาชีพชาวบาห์เรน เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ เรารู้สึกมีความสุขมากที่จะได้ใช้ชีวิตฮันนีมูนด้วยกัน ในประเทศที่สวยงามอย่างประเทศไทย ไม่เพียงเป็นการฉลองฮันนีมูน หากยังเป็นครั้งแรกที่สามีของดิฉันได้เดินทางออกนอกออสเตรเลียในรอบห้าปี นับแต่เขาหลบหนีจากบาห์เรนมาเมื่อปี 2557 และต่อมาได้รับสถานะผู้ลี้ภัย

 

เราเลือกที่จะมาฮันนีมูนที่กรุงเทพฯ เพราะความสวยงามของบ้านเมือง และได้วางแผนเดินทางอย่างละเอียดด้วยกัน เราวางแผนเดินทางว่าจะนั่งเรือแบบเงียบๆ ไปยังตลาดน้ำที่มีชื่อเสียงมากสุดแห่งหนึ่ง เพื่อซื้อผลไม้เมืองร้อนและงานหัตถกรรมที่ทำในท้องถิ่น เรายังวางแผนไปเยี่ยมชมอแควเรียมที่สวยงามโดดเด่นของกรุงเทพฯ ซึ่งจากที่อ่านข้อมูลมา ถือเป็นประสบการณ์การสัมผัสกับมหาสมุทรที่หาได้ยาก และดิฉันยังมุ่งหวังจะได้ใช้เวลาอันมีค่า เคียงคู่กันบนหาดทรายที่สาดส่องด้วยแสงอาทิตย์ ทะเลสีมรกต ในวันที่เราจะไปเที่ยวหมู่เกาะพีพี เราเฝ้ารอที่จะได้เห็นวัดวาอารามที่มีชื่อเสียงระดับโลกด้วยตาของเราเอง

 

แต่แล้วเรากลับได้เห็นแต่กำแพงคุก สามีของดิฉันถูกควบคุมตัวที่สถานกักตัวทันทีที่เดินทางมาถึง ฮันนีมูนที่เราเฝ้ารอมาเป็นเวลานานเปลี่ยนเป็นฝันร้ายครั้งใหญ่สุดที่ไม่คาดคิดมาก่อน จนถึงทุกวันนี้ เรายังไม่ตื่นจากฝันร้ายที่เจ็บปวดอย่างเหลือเชื่อ แม้เวลาจะผ่านไปแล้วแปดสัปดาห์ ท่ามกลางความเศร้าสลดอกตรม

 

วันแรกของการฮันนีมูน และอีกสองสัปดาห์ต่อมาเป็นช่วงที่ดิฉันต้องอยู่ในห้องกักร่วมกับสามี ดิฉันตัดสินใจที่จะอยู่เคียงข้างกับเขาตั้งแต่เขาถูกกักตัว รัฐบาลบาห์เรนต้องการตัวเขา และได้ส่งคำขอส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนมาที่ทางการไทย โดยอ้างว่าเขามีความผิดตามข้อหาที่กุขึ้นมา ดิฉันรู้จักสามีของดิฉันดี เขาไม่เคยทำความผิดมาก่อน เขาถูกลงโทษเพียงเพราะประณามการปฏิบัติมิชอบที่เกิดขึ้นในบาห์เรน และดิฉันรู้สึกเสียใจอย่างมากต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้น หากเขาไม่ได้รับการปล่อยตัวเพื่อเดินทางกลับออสเตรเลีย ดิฉันนอนไม่หลับ หายใจไม่ออก ครุ่นคิดแต่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเขา

Screen Shot 2562-01-21 at 16.24.20.png 

แม้ทางรัฐบาลออสเตรเลียและกระทรวงการต่างประเทศจะใช้ความพยายามอย่างมาก แต่ทางการไทยได้สั่งให้ขยายระยะเวลากักตัวสามีของดิฉันออกไปอีก 60 วัน เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามขอของทางการบาห์เรนได้ โปรดเข้าใจด้วยว่าสามีของดิฉันเป็นเหยื่อการซ้อมทรมาน คงมีเพียงไม่กี่คนที่จะเข้าใจถึงความเจ็บปวดจากการกระทำเช่นนี้ ดิฉันจึงกังวลอย่างยิ่งหากเขาจะต้องประสบชะตากรรมเช่นนี้อีกครั้ง หลังถูกกักตัวกว่า 50 วัน ดิฉันรู้ว่าสภาวะอารมณ์ของเขาเลวร้ายลงทุกวัน ส่วนดิฉันก็รู้สึกทุกข์ระทมอย่างมากกับชะตากรรมของเขา

 

วันสุดท้ายที่อยู่กับสามีของดิฉันคือวันที่ 11 ธันวาคม ก่อนที่เขาจะถูกส่งตัวไปเรือนจำแห่งใหม่ ซึ่งทางการไทยไม่อนุญาตให้ดิฉันอยู่ร่วมกับเขาได้อีก ดิฉันไปเยี่ยมเขาในวันที่ถูกส่งตัวไป และยังคงมีภาพประทับของเขาในใจ ขณะนั่งอยู่และสวมชุดของเรือนจำ ผมเผ้าหนวดเคราของเขาถูกโกนจนหมด เป็นภาพที่เสียดแทงความคิดและจิตใจของดิฉันอย่างมาก เขาเป็นชายหนุ่มผู้หล่อเหลา นักกีฬาผู้เก่งกาจ และบุคคลผู้กล้าหาญที่สุดที่ดิฉันได้รู้จัก ในฐานะที่กล้าออกมาพูดต่อต้านการกดขี่ประชาชนของตนเอง จึงเป็นเรื่องน่าอับอายสำหรับดิฉันในฐานะภรรยาที่ได้เห็นเขาในสภาพเช่นนี้ แค่คิดถึงเรื่องนี้ ดิฉันก็ไม่สามารถหยุดร้องไห้ได้เลย

 

ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย ดิฉันจำเป็นต้องเดินทางกลับนครเมลเบิร์น นั่นเป็นครั้งสุดท้ายที่ได้เห็นสามีของดิฉัน จากนั้นก็ไม่เคยได้มีโอกาสพูดหรือได้ยินเสียงของเขาอีก ที่ผ่านมาดิฉันเพียงแต่ได้รับข้อความจากคนที่ไปเยี่ยมเขาและเห็นใจเรา ข้อความจากนักข่าวซึ่งได้พบเขาระหว่างถูกคุมขัง ดิฉันขอขอบคุณทุกท่านเป็นอย่างมาก พวกเขาเล่าให้ฟังว่าฮาคีมคิดถึงดิฉันมากเพียงใด และกังวลทุกวันถึงความเป็นอยู่ของดิฉัน เพราะต้องอยู่คนเดียว ฮาคีมเป็นญาติเพียงคนเดียวที่ดิฉันมีอยู่ในออสเตรเลีย

 

ดิฉันรู้ว่าเรากำลังเผชิญหน้ากับอำนาจแบบไหน และโอกาสที่จะถูกส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน ชาวบาห์เรนจำนวนมากตระหนักถึงสิ่งนี้ดี แต่สิ่งเดียวที่ทำให้พวกเรา ดิฉันและสามีของดิฉันยังคงมีความหวังคือ แรงสนับสนุนมากมายจากนานาชาติในกรณีนี้ ดิฉันรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณตลอดกาลต่อสื่อมวลชน องค์กรสิทธิมนุษยชน สมาคมฟุตบอลต่าง ๆ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงซึ่งได้ออกมาให้ความเห็นต่อสาธารณะ เพื่อหวังช่วยเหลือสามีของดิฉัน มาริส เพย์น (รมต.ต่างประเทศออสเตรเลีย) ได้แสดงความเห็นเรียกร้องให้ปล่อยตัวสามีของดิฉัน ให้สนับสนุนฮาคีม และดิฉันยังได้รับความสนับสนุนอย่างเหลือเชื่อจากประชาชนทั่วไปในออสเตรเลีย ขอขอบคุณจากใจของดิฉัน  

 

ฮาคีมได้ทำเรื่องขอสัญชาติออสเตรเลียแล้ว แต่กระบวนการล่าช้า และสภาพร่างกายจิตใจของเขาแย่ลงทุกวัน ไม่ควรมีมนุษย์คนใดที่ต้องทนทุกข์ทรมานแบบนี้ ดิฉันหวังว่ารัฐบาลออสเตรเลียจะดำเนินการอย่างรวดเร็วและจริงจังกับรัฐบาลประเทศอื่น ๆ เพื่อช่วยให้สามีของดิฉันเดินทางกลับออสเตรเลียอย่างปลอดภัย

 

โปรดช่วยเหลือดิฉันและสามีของดิฉันด้วย

ลงชื่อรณรงค์