ตอบยังไงให้มงลง! กับ 3 คำถามประเด็นสิทธิจากเวที Miss Universe 2018

17 ธันวาคม 2561

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

ภาพจาก Reuters

เวทีประกวดแห่งนี้มักมีคำถามที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคม การเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Movement) และสิทธิมนุษยชนให้เราติดตามกันทุกปี สำหรับปีนี้แอมเนสตี้ขอเลือก 3 คำถามจากรอบ 5 คนสุดท้ายที่มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นสิทธิมนุษยชน มาขยายความต่อจากคำตอบของเหล่านางงาม เผื่อว่าใครอยากหาข้อมูลไว้ลงประกวดปีหน้า!


Q : นักข่าวกว่าร้อยคนทั่วโลกถูกคุมขังในปีนี้ เนื่องจากเขียนวิจารณ์รัฐบาลของพวกเขา ทำไมคุณจึงคิดว่าเสรีภาพสื่อสำคัญ?

A: เสรีภาพในการแสดงออกถูกพูดถึงเมื่อเกือบ 70 ปีมาแล้ว โดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติมีมติรับรอง “ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน” (The Universal Declaration of Human Rights) เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2491 โดยมีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพของสื่อมวลชนไว้ในข้อที่ 19 ว่า

“ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความเห็นและการแสดงออก สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพในการที่จะถือเอาความเห็นโดยปราศจากการแทรกสอด และที่จะแสวงหา รับ และแจกจ่ายข่าวสาร และความคิดเห็นไม่ว่าโดยวิธีใดๆ และโดยไม่คำนึงถึงเขตแดน”

นักข่าวหรือสื่อมวลชนถือเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนคนหนึ่ง เพราะพวกเขาคือคนที่ลงมือทำเพื่อปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนโดยไม่ใช้ความเกลียดชัง การเลือกปฏิบัติ หรือความรุนแรง พวกเขาคือ “ผู้กล้า” ออกมาทำเพื่อส่วนรวม กล้าที่จะออกมายืนหยัดเพื่อสิทธิของเราทุกคน โดยเฉพาะการนำเสนอข่าวหรือตีแผ่ความไม่เป็นธรรมในสังคม ภายใต้หลักการที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกคือ “เสรีภาพในการแสดงออก”

ในวันที่พวกเขาถูกคุกคามจึงถึงเวลาแล้วที่พวกเราต้องแสดงพลังสนับสนุนการทำงานอันกล้าหาญของพวกเขา เพื่อให้พวกเขาทำงานได้อย่างปลอดภัยและเพื่อสังคมที่ดีขึ้น

แอมเนสตี้เชื่อมั่นว่า “การนำเสนอข่าวไม่ใช่อาชญากรรม” ดังนั้นเมื่อนักข่าวในประเทศต่างๆ ถูกจับกุม คุมขังหรือถูกตั้งข้อหาเพียงเพราะการทำหน้าที่ในการรายงานข่าวหรือข้อเท็จให้สังคมได้รับทราบ แอมเนสตี้จะเรียกร้องให้ยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมดและปล่อยตัวโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข

ทั้งนี้เพราะเสรีภาพของสื่อมวลชนถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ทุกประเทศต้องให้การเคารพและยอมรับตามที่กล่าวไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน


Q : การเคลื่อนไหวทางสังคม #MeToo กลายเป็นประแสไปทั่วโลก ในขณะเดียวกันหลายคนมองว่าโลกกำลัง Politically Correct มากเกินไป (การที่พยายามหลีกเลี่ยงการทำร้าย กีดกัน แบ่งแยก กลุ่มคนต่างๆ ในสังคม) คุณคิดว่าการเคลื่อนไหว #Metoo ไปไกลเกินไปหรือไม่?

A: การเคลื่อนไหวในนาม Me Too ถือกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว โดยนักเคลื่อนไหวชาวอเมริกัน ทาราน่า เบิร์ก ริเริ่มโครงการนี้ขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยคำว่า Me Too นั้นมาจากการที่เบิร์กฟังประสบการณ์เลวร้ายของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งแล้วพูดอะไรไม่ออก เธอได้แต่คิดในใจว่า ‘Me Too’ หรือ ‘ฉันก็เหมือนกัน’ เพราะเธอเองก็มีประสบการณ์เลวร้ายไม่ต่างกัน

ที่มาของกระแสการลุกขึ้นสู้ของผู้หญิงทั่วโลกโดยเฉพาะในอเมริกาและยุโรปนี้เริ่มจากข่าวฉาวคดีล่วงละเมิดทางเพศของโปรดิวเซอร์หนังอย่าง ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน (Harvey Weinstein) ต่อมาไม่ใช่แค่สตรีที่ออกมาสารภาพผ่านการพิมพ์คำว่า Me too หรือ #MeToo เท่านั้น แต่ยังมีตัวแทนกลุ่มชายรักชายที่ออกมาบอกว่าตนเคยประสบปัญหาดังกล่าวกับตัวเช่นเดียวกัน

ในไอซ์แลนด์และสวีเดน มีการออกกฎหมายใหม่เพื่อนิยามว่า การข่มขืนครอบคลุมถึงการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้รับความยินยอม ในสหรัฐฯ ข้อกล่าวหาว่ามีการปฏิบัติมิชอบทางเพศ ส่งผลสั่นสะเทือนในแวดวงสถาบันชายเป็นใหญ่ในฮอลลีวูด ท้าทายทศวรรษแห่งการลอยนวลพ้นผิด นอกจากนั้น มีรายงานว่า 1 ใน 10 ของเด็กผู้หญิงทั่วโลกถูกทำร้ายทางเพศก่อนอายุ 20 ปี ในขณะที่มีเพียงหนึ่งในสามของประเทศในประชาคมยุโรปที่มีกฎหมายรับรองว่า การมีเพศสัมพันธ์โดยปราศจากความยินยอมถือเป็นการข่มขืน จากการสัมภาษณ์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้หญิงในพื้นที่ที่มีการสู้รบทั้งในอิรัก ไนจีเรีย ซูดานใต้ และเมียนมา ต่างบรรยายถึงความทารุณโหดร้ายจากความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นกับตน โดยมักเป็นการลงมือของเจ้าหน้าที่กองทัพของประเทศตนเอง

ส่วนข้อถกเถียงที่ว่า #MeToo นั้นไปไกลเกินไปหรือไม่ มาจากกระแสและคำวิพากษ์วิจารณ์จากมุมมองที่ต่างกัน โดยบางคนมองว่า #MeToo อาจนำไปสู่การจำกัดเสรีภาพทางเพศ หรือบางคนมองว่าการเปิดช่องให้ “ส่งเสียง” ในเบื้องแรกไม่ได้มาพร้อมกับกลไกการตรวจสอบที่รัดกุม จึงทำให้ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหามักถูกลงทัณฑ์ทางสังคมอย่างรวดเร็ว หรือบางคนมองว่า แฮชแท็กนี้ทำให้สังคมเหนื่อยหน่ายและเกรี้ยวโกรธ มากกว่าจะเกิดความเห็นอกเห็นใจกัน



Q : หลายประเทศมีประสบการณ์เรื่องผู้อพยพ คุณคิดว่าประเทศต่างๆ ควรจำกัดจำนวนของผู้ลี้ภัยที่จะอพยพข้ามประเทศมาหรือไม่?

A: แน่นอนว่าการแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยที่ยั่งยืนคือ การยุติสงครามและความขัดแย้งที่รุนแรงต่างๆ หากแต่การแก้ปัญหาดังกล่าวต้องอาศัยเวลาที่ยาวนานมาก ในแต่ละวัน มีคนต้องลี้ภัยจำนวนกว่า 34,000 คน และในระหว่างการลี้ภัย ผู้คนเหล่านี้ต้องเผชิญกับความเสี่ยงมากมาย อันได้แก่ การเดินทางลี้ภัยที่อันตรายต่อชีวิต เพราะหนทางการลี้ภัยของแต่ละคนนั้นมีหลากหลาย บ้างต้องเดินเท้าเป็นเวลาหลายวันเพื่อข้ามเขตแดนไปยังประเทศอื่น บ้างต้องหนีออกจากประเทศด้วยการลงเรือร่วมกับผู้คนอื่นๆ เป็นจำนวนมาก ทั้งการถูกแสวงหาประโยชน์ เนื่องจากมีผู้ลี้ภัยจำนวนไม่น้อยที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์หรือการค้ายาเสพติด ด้วยความที่พวกเขาหวาดกลัวจากการประหัตประหารในประเทศของตนเองจึงยินยอมที่จะเดินทางไปกับกลุ่มคนลักลอบเข้าเมือง รวมถึงการถูกคุกคามทางเพศด้วยเช่นกัน

ตามหลักสิทธิมนุษยชน และหลักกฎหมายระหว่างประเทศ มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะลี้ภัยไปยังประเทศอื่น เพื่อให้รอดพ้นจากการประหัตประหารที่เกิดขึ้นในประเทศที่ตนเป็นพลเมืองอยู่ ตามอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพของผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติปี 2494 และพิธีสารเลือกรับว่าด้วยสถานภาพของผู้ลี้ภัย (Optional Protocol Relating to the Status of Refugee) ปี พ.ศ. 2510 ได้ระบุสิทธิของผู้ลี้ภัยหลายประการ ซึ่งรัฐผู้เป็นภาคีในอนุสัญญาและพิธีสารดังกล่าวจะต้องปฏิบัติตามให้ผู้ลี้ภัยเข้าถึงสิทธิเหล่านั้น หากประเทศที่ให้การพักพิงลี้ภัยมีกฎหมายภายในเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยเป็นการเฉพาะ ผู้ลี้ภัยต้องได้รับสิทธิและหน้าที่ได้กำหนดไว้ตามกฎหมายภายในที่เกี่ยวข้องนั้นๆ หากประเทศที่ให้การพักพิงไม่มีกฎหมายภายในกำหนดไว้ ประเทศนั้นๆ ต้องปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยตามหลักมนุษยธรรม