10 ความเชื่อและความจริง... เหตุผลทำไมไม่ควรมีโทษประหารชีวิต?

เรื่อง: เนาวรัตน์ เสือสอาด

10 กรกฏาคม 2557

 

*ออกตัวไว้ก่อนเลย ผมไม่ได้เป็นพ่อพระ เคสนี้ถ้าหากผมเจอกับตัวผมก็ฉุน ผมก็อยากล้างแค้น ผมยังไม่สามารถตัดความโกรธได้บอกตรงๆ แต่คำถามที่วันนี้ผมอ่าน Status และข่าวการรณรงค์โทษประหารแล้วเกิดขึ้นอย่างแรกเลย "เห้ย ไอโทษประหารที่ใครๆเค้าอยากได้เนี่ย มันดีจริงๆใช่มั้ย ถ้าดีจริงทำไมเคยได้ยินว่าหลายๆ ประเทศพยายามเลิกใช้กัน" จึงเป็นที่มาของกระทู้นี้ครับ

 

วันนี้กระแสในอินเตอร์เน็ตมีหลายคนอยากให้เกิดโทษประหารจากการข่มขืน ก่อนอื่นคดีน้องแก้มเป็นคดีฆาตกรรมเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากนอกจากข่มขืนแล้วยังฆ่าด้วย ซึ่งโทษสูงสุดนั้นคือประหารชีวิต ผมขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของน้องเค้าด้วย เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ และไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นจากการโดยสารขนส่งมวลชนจริงๆ แต่โดยส่วนตัวแล้วไม่เห็นด้วยกับโทษประหารเพราะไม่คิดว่าจะช่วยป้องกันให้ไม่เกิดเหตุการณ์นี้ได้ นอกจากนี้ยังอาจจะทำให้เกิดผลเสียเสียอีก (แต่ไม่ค่อยเชื่อทฤษฎีที่ว่าหากเป็นโทษประหาร จะทำให้เหยื่อมีอัตราการรอดชีวิตน้อยลง คำตอบอยู่ใน Mythข้อ 2) วันนี้จึงได้รวบรวมบทความและงานวิจัยของต่างประเทศมาเล่าให้ฟัง

 

1. ความเชื่อ: คนบริสุทธิ์นั้นจะไม่โดนโทษประหารเด็ดขาด

 

ในขณะที่ความจริงแล้วระบบยุติธรรม ทั้งต่างประเทศและในไทยนั้น บางครั้งเราก็รู้ว่าทำผิด แต่หลักฐานอ่อน, จับแพะ ถูกจัดฉาก หรือถูกกระบวนการต่างๆ บิดเบือน

 

ในสหรัฐ ตั้งแต่ปี 1973 มี 138 คนถูกตัดสินโทษประหาร และภายหลังได้รับการตัดสินพ้นผิด ซึ่งมีนักโทษถูกประหารทั้งหมด 1,227 คน คิดเป็นเปอร์เซ็นต์การตัดสินผิดพลาดถึง 10%, Cameron Todd Willingham เป็นผู้ที่ถูกจดจำรายแรกอย่างเป็นทางการว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ถูกตัดสินโทษประหาร จากคดีทำให้เกิดไฟไหม้ เผาลูกๆของตน- คน ที่เป็นฝาแฝดอายุ 1 ขวบ และ อายุ 2 ขวบ ภายหลังการประหาร ได้รับการพิสูจน์ว่าเค้าไม่ได้ทำ แต่ก็ไม่สามารถคืนชีพให้กับนาย Cameron อีกแล้ว

 

ทำไมคนบริสุทธ์ถึงสารภาพความผิด ทั้งๆที่ไม่ได้ทำ ?

 

บางครั้งคำสารภาพอาจจะมาจากการเทคนิคการสอบสวนที่ทรมานร่างกายหรือจิตใจ เพื่อที่จะปิดคดีเร็วๆ เพราะอยู่ในความสนใจของประชาชน

 

2. ความเชื่อ: โทษประหารนั้นไม่ได้ช่วยลดอาชญากรรม

 

มีการศึกษาเกี่ยวกับการลงโทษและเรทของคดีอาชญากรรม The deterrent effect of capital punishment, Dr. Jonathan Groner กล่าวถึงวิธีคิดของอาชญากรนั้นไม่ได้คิดถึงผลที่จะตามมาว่า ทำผิดแล้วจะโดนลงโทษอย่างไร การก่ออาชญากรรมส่วนใหญ่นั้น กระทำจากแรงบันดาลใจ ซึ่งสถานการณ์นั้นมีความตื่นเต้นหรือกังวลใจ คนที่กระทำอาชญากรรมนั้นจิตใจไม่ได้อยู่ในลักษณะปรกติที่จะมีตรรกะความคิดคิดถึงผลที่จะตามมา

 

Dr.Groner ยังกล่าวถึงอัตราการฆาตกรรมนั้นมีความเกี่ยวพันกับพื้นฐานทางด้านสังคมเศรษฐกิจและสาธารณสุขของประเทศ เช่นในประเทศสหรัฐ คดีฆาตกรรมนั้นมีจำนวนมากที่สุดในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ

 

ผลงานวิจัยของ Radelet และ Lacock (2008) นั้นแสดงให้เห็นถึงความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญทางอาชญากรรมเห็นพ้องต้องกันว่า โทษประหารนั้นไม่มีความสามารถในการลดอัตราการเกิดอาชญากรรมได้มากกว่าจำคุกระยะยาว

 

ผลการศึกษาของ Ernie Thomson (1997) ได้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่กลับกันกับที่หลายคนคาดหมาย การประหารทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของอัตราการฆ่าคน

 

Levitt, Steven D (2004) ค้นพบความสัมพันธ์เพียงเล็กน้อยของการลดลงของจำนวนอาชญากรรมในช่วง 1990s กับการประหารชีวิต แต่ปัจจัยหลักนั้นเป็น การเพิ่มขึ้นของจำนวนเรือนจำ จำนวนตำรวจ การลดลงของโคเคนและร่างกฎหมายการทำแท้ง

 

หากย้อนมองที่ประเทศไทย ทั้งๆที่มีโทษประหารชีวิตอยู่แล้ว สำหรับความผิดหลายๆอย่างเช่น เกี่ยวกับคดีความมั่นคงของชาติ เกี่ยวความผิดต่อชีวิต แต่ก็ยังเห็นข่าวการทำผิดอยู่เรื่อยๆ ประเทศไทยเป็น 1 ใน 58 ประเทศในโลกที่ยังใช้โทษประหารอยู่ ทั้งๆที่ทั่วโลกเกิดการรณรงค์ให้หยุดการใช้โทษประหารนี้ เนื่องจากข้อเสียนั้นมากกว่าข้อดี

 

ดังนั้นที่ผมกล่าวในข้างต้น คนที่จะทำความผิดนั้นไม่มานั่งคิดหรอกว่า ข่มขืนแล้วจะติดคุก หรือจะถูกประหาร สภาพจิตใจผู้กระทำความผิดนั้นไม่ได้อยู่ในสภาพที่จะคิดตรึกตรองอย่างถี่ถ้วนตั้งแต่ก่อนทำความผิดแล้ว

 

* [แก้ไข] ในหัวข้อโทษประหารนั้นมีประสิทธิภาพในการลดอัตราการก่ออาชญากรรมนั้นยังเป็นที่ถกเถียงในหมู่นักสังคมศึกษาอยู่ปัจจุบัน ยังต้องการการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคตอีก

 

3. ความเชื่อ: โทษประหารประหยัดเงินกว่า

 

ในรัฐแคลิฟอเนีย ต้นทุนระบบในการตัดสินโทษประหารนั้นมีมูลค่าสูงถึง 137 ล้านดอลล่าร์ เพราะต้องมีการไต่สวนหลายครั้ง ค่าใช้จ่ายด้านลูกขุน ด้านตำรวจ ส่วนในประเทศไทยผมไม่ทราบว่า หากมีการไต่สวนมากขึ้น (เพื่อให้แน่ใจว่าจะประหารไม่ผิดคนจริงๆ)นั้นจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเท่าไร และมากกว่าเลี้ยงนักโทษตลอดชีวิตแค่ไหน (หากใครมีข้อมูลกรุณาช่วยแชร์ด้วยครับ)

 

แต่ถึงยังไง การที่เราจะตัดสินใครว่า ชีวิตคนคนนี้ไม่มีค่าเพียงพอสำหรับเงินภาษีของประชาชนหรอก หากมองแค่มิติตัวเงินเพียงอย่างเดียว ผมบอกได้เลยว่า มันไม่แน่หรอก นักโทษคนนี้อาจจะใช้ชีวิตต่อไป (โดยสมมติฐานว่า จำคุกตลอดชีวิต) อาจจะทำการผลิตสินค้าหรือบริการ ซึ่งก่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจได้ในอนาคตอีกไม่รู้ตั้งกี่สิบปีจากโครงการต่างสำหรับนักโทษ แต่หากประหารชีวิต ความสามารถในการทำเงินก็หมดไปอย่างสิ้นเชิง

 

4. ความเชื่อ: มีแต่ปีศาจ อมนุษย์เท่านั้นที่โดนประหาร

 

มีหลายเหตุการณ์ หลายคดีที่สะเทือนขวัญคนในสังคมจนกระทั่งเกิด Hate Speech ผลักผู้ต้องหาหรือผู้กระทำความผิดไปสู่ความไม่เป็นคน เพื่อง่ายต่อการเกลียดชัง ทำร้ายและแก้แค้น (ลดความรู้สึกผิดของตนเองในการทำผิดต่อคนนั้นๆทั้งทางกาย วาจา ใจ) อาชญากรหลายคนนั้นเกิดจากผลผลิตมาจากการถูกทำร้ายทางสังคม ครอบครัว หรือสิ่งแวดล้อม ก่อนหน้าที่จะเกิดการกระทำความผิด

 

นักวิจัย, Furman v. Georgia ชี้ถึงฆาตรกรส่วนใหญ่นั้นสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ ถ้าได้รับ"โอกาส"ในการพิสูจน์ตัวเอง ในปี 1972 มีนักโทษ 322 คนได้รับนิรโทษกรรมจากโทษประหาร 90% ของคนเหล่านั้นไม่เคยทำผิดกฎหมายอีกเลย ส่วน 70% ของ 10%ที่เหลือข้างต้นนั้น กฎหมายที่เค้าฝ่าฝืนนั้นเป็นจำพวก ไม่ได้ไปรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการย้ายที่อยู่ หรือการทำผิดกฎหมายที่ไม่ได้เกี่ยวกับความรุนแรง ระดับความความเชื่อมั่นจากครอบครัว เพื่อน และระดับการศึกษานั้นเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้อดีตนักโทษเหล่านั้น กลับตัวกลับใจได้

 

5. ความเชื่อ: การไต่สวนคดีที่มีโทษถึงประหารนั้นเป็นไปอย่างยุติธรรม

 

นักโทษประหารหลายคนทั่วโลกนั้นได้รับโทษประหารนั้น ก็เพราะการไต่สวนคดีไม่ได้เกิดขึ้นอย่างยุติธรรม

 

มาเลเซีย, Chan King Yu ผู้ได้รับการนิรโทษเคยได้รับโทษประหารโดยการแขวนคอ แต่จากการช่วยเหลือของ Reprieve องค์กรอิสระช่วยเหลือให้มีการไต่สวนอย่างยุติธรรม และเค้าสามารถพ้นผิดได้ หลังจากมีการพบว่า ตำรวจนั้นให้การเท็จในศาล

 

ลาว, อดีตนักโทษหญิงในเรือนจำ Phongthong, Samantha Orobator ซึ่งได้ตั้งครรภ์ 5 เดือน ขณะอยู่ในเรือนจำ จากคดีมีเฮโรอีนในครอบครอบ 690 กรัม ซึ่งได้รับการไต่ส่วนแบบรวดเร็ว และได้รับการตัดสินโทษประหาร ทั้งๆที่กฎหมายประเทศลาวนั้นยกเว้นโทษประหารสำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์ โดยไม่มีทนายเป็นของตัวเอง และได้เจอทนายจากที่ทางรัฐ(ลาว)จัดหาให้เพียงครั้งก่อนขึ้นศาล โดยมีเจ้าหน้าที่ของลาวอยู่ฟังการพูดคุยด้วย ทางทนายนั้นไม่มีการจัดหาพยาน พยายามสืบสวนเรื่องราว หรืออ้างอิงรายงานของผู้เชี่ยวชาญ ภายหลังหลังจากการดำเนินการของทางรัฐบาลอังกฤษอย่างรวดเร็วนั้นทำให้ Samantha สามารถบินกลับประเทศและให้กำเนิดลูกของเธอได้อย่างปลอดภัย และได้รับการไต่สวนอย่างเหมาะสม

 

6. ความเชื่อ: โทษประหารนั้นมีเป็นโทษที่ผู้กระทำความผิดได้รับอย่างเท่าเทียมกัน ไม่สนใจฐานะ เชื้อชาติ หรือสถานภาพทางสังคม

 

ผู้ที่กระทำความผิดเดียวกันแต่ได้รับโทษต่างกันนั้นมีตัวอย่างให้เห็นในหลายประเทศ ทั้งคนละประเทศกันและในประเทศเดียวกัน การกระทำความผิดฆาตกรรมถือเป็นความผิดที่หลายคนมองว่า เป็นการกระทำที่แย่ที่สุด แต่ส่วนใหญ่นั้นไม่ได้รับโทษประหารเพราะสาเหตุเกิดจากความผิดปรกติทางจิตอย่างหนัก แต่บางครั้งโทษประหารนั้นถูกนำไปใช้กับผู้ที่ทำความผิดกฎหมายในลักษณะอื่น เช่น ขนยาเสพติด รักร่วมเพศ เป็นต้น

 

ความจนกับความรวยก็สามารถส่งผลให้โทษประหารนั้นปรับใช้ไม่เท่ากันได้ เนื่องจากคนจนมีความสามารถจำกัดในการเข้าถึงทนายที่มีประสิทธิภาพได้ คนพวกนี้ต้องเพิ่งทนายที่ทางศาลจัดให้ที่มีความกระตือรือร้นในการช่วยเหลือคนเหล่านี้ต่างจากทนายเอกชนอย่างเห็นได้ชัด โดยหากดูจากประเทศไทยจะเห็นได้ชัดถึงคดีต่างๆที่มีการกระทำผิดเหมือนกัน แต่หากสังเกตถึงฐานะของผู้ต้องหาแล้ว จะสังเกตได้ว่า คนรวยนั้นติดคุกน้อยกว่าคนจน (ไม่ได้กล่าวหาว่าศาลมีความลำเอียงนะครับ แต่มองว่าคนรวยมีความสามารถในการจ้างทนายที่เก่งๆจนสามารถทำให้ลดโทษได้)

 

7. ความเชื่อ: โทษประหารนั้นมีความเป็นมนุษยธรรม การประหารนั้นไม่มีความเจ็บปวด

 

ไม่มีวิธีประหารไหนที่เป็นที่ยอมรับ ไม่ว่าจะแขวนคอ ขว้างหิน ตัดหัว ยิงเป้า เก้าอี้ไฟฟ้า หรือฉีดยา ทุกวิธีล้วนเป็นวิธีที่ไร้มนุษยธรรม วิธีฉีดยาที่จะดูเหมือนสงบที่สุด นั้นหลายครั้งโดสของยาก็ไม่ได้ทำหน้าที่ของมันที่ควรจะเป็นการทรมานนักโทษที่หนักหน่วงก่อนเสียชีวิต (หากใครบอกว่าสมน้ำหน้า ก็อยากไปทำคนอื่นก่อนทำไม - ตกลงบทลงโทษทางกฎหมายนั้นมีไว้แก้แค้นหรือป้องกันการทำความผิดกันแน่ ?)

 

8. ความเชื่อ: การประหารช่วยบรรเทาทุกข์ของครอบครัวเหยื่อผู้เสียชีวิต

 

อาจจะไม่อาจพูดแทนทุกครอบครัวที่โดนทำร้าย แต่ค่อนข้างชัดเจนว่า ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ของครอบครัวเหยื่อดีขึ้นแต่อย่างใด ซ้ำร้ายโทษประหารทำให้เกิดเหยื่อและความรุนแรงมากขึ้น Sandra Miller แม่ของลูกชายที่ถูกฆาตกรรมนั้นให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์หลังการประหารฆาตรกรว่า “โทษประหารนั้นไม่ได้ช่วยให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวดีขึ้น ไม่มีสิ่งใดทำให้สถานการณ์นั้นดีขึ้น” ซึ่งขณะเดียวกัน Miller นั้นกลายเป็นคนติดแอลกอฮอล์ หัวใจล้มเหลวสองครั้ง และมีอาการซึมเศร้าอย่างหนักจนคิดจะฆ่าตัวตาย

 

ด้านครอบครัวของเหยื่อ – สังคมเชื่อว่าการประหารจะทำให้ความเจ็บปวดนั้นหายไป แต่ความเป็นจริงนั้นกลับกัน ความเจ็บปวดยังคงอยู่ กระบวนการตัดสินโทษประหารนั้นมีระยะเวลายาว บางครั้งใช้เวลาเกือบทศวรรษ ทำให้ความรู้สึกครอบครัวเหยื่อนั้นถูกดีเลย์การใกล้ชิดออกไปเรื่อยๆ ด้วยระยะเวลาที่นาน แต่หากเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตนั้น ซึ่งมีระยะการพิจารณาคดีที่เร็วกว่า เปิดโอกาสให้ครอบครัวของเหยื่อนั้นใกล้ชิดกันได้เร็วกว่า “เมื่อเกิดการประหารขึ้น ครอบครัวของเหยื่อยังรู้สึกว่างปล่าว ไม่พอใจ ไม่ได้รับการรักษาเหมือนเดิม และครอบครัวนี้จะกลายเป็นเหยื่ออีกที เหยื่อของระบบยุติธรรมที่ตนรู้สึกว่ายังตอบสนองความต้องการของครอบครัวเหยื่อไม่เพียงพอ ซึ่งส่งผลให้เกิดการลดระดับความมีมนุษยธรรมของครอบครัวเหยื่อในอนาคต” Marietta Jaegger Lane, หนึ่งในครอบครัวของเหยื่อและSenate Judiciary (แปลไม่ออก ไม่รู้ศัพท์กฎหมาย แหะแหะ) ในทางเลือกนั้นโครงการ “การช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวเหยื่อ” นั้นดูจะมีความสำคัญและเป็นการช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพ อีกอย่าง การให้ผู้กระทำความผิดนั้นมีส่วนในการรับผิดชอบเยียวยาครอบครัวของเหยื่อนั้น ดูจะเป็นแนวทางที่ดีกว่าการประหารที่เปรียบเสมือน “โยนฆาตกรนั้นไปไกลหูไกลตาชั้นซะ !! (โดยไม่ต้องเสียเวลาชดใช้หรือแสดงความรับผิดชอบใดๆ)”

 

ด้านครอบครัวของผู้ถูกประหาร – การประหารก็คือการฆาตกรรมเหมือนกัน แต่หากผู้กระทำการฆ่านั้นคือรัฐ ส่งผลกระทบต่อครอบครัวผู้ถูกประหารเช่นกัน, Robert Meeropol ลูกชายของนักโทษที่ถูกประหารในปี 1953 เมื่อครั้งนั้นเค้าอายุประมาณ 6 ขวบ กล่าวถึงว่า ไม่มีผู้ใดศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบจากโทษประหารต่อครอบครัวผู้ที่ถูกประหาร ที่แย่ไปกว่านั้น ไม่มีคนสนใจผลกระทบต่อเด็กว่า หากพ่อแม่ของเด็กถูกประหาร จิตใจของเด็กคนนั้นจะเป็นอย่างไร จะส่งผลอย่างไรต่ออนาคตเด็กคนนั้น ซึ่งอาจจะเป็นต้นทุนในอนาคตที่สังคมอาจจะต้องจ่าย

 

9. ความเชื่อ: โทษประหารนั้นได้รับการสนับสนุนจากศาสนา

 

ไม่ว่าจะศาสนาใด คริสต์ อิสลาม หรือพุทธ นั้นต่างมีบทบัญญัติถึงการให้อภัย และเมตตา, โป๊ป จอห์น ปอลที่ 2 ได้ประกาศการต่อต้านเกือบทุกกรณีของโทษประหาร (รวมถึงการทำแท้ง) ในปี 1995นิตยสาร Evangelium Vitae ในขณะที่พุทธศาสนานั้น ศีลข้อแรกก็ได้กล่าวถึง การห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิต และยกกรณีองคุลีมารมาเปรียบเปรยเพื่อให้เห็นได้ว่า คนเรานั้นกลับตัวกลับใจกันได้ (พระมหาศุภชัย ปิยธมฺมชโย (ติวาปี) 2545) ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับ พุทธจริยศาสตร์กับโทษประหารชีวิตพุทธจริยศาสตร์กับโทษประหารชีวิต ซึ่งได้สรุปถึงประเด็นการลงโทษด้วยการประหารชีวิตไว้ 2 ประเด็นคือ

 

1. ประเด็นทางกฎหมาย - สามารถทำได้แต่จะเห็นว่าหลายฝ่ายทั้งรัฐและเอกชนในหลายประเทศมีการเปลี่ยนแปลงการลงโทษให้ลดความรุนแรงลงจากการประหารชีวิตด้วยดาบ มาเป็นการใช้ไฟฟ้า และการฉีดยา

2. ประเด็นด้านจริยปรัชญา แนวคิดการลงโทษที่สอดคล้องกับพระพุทธศาสนาคือแนวคิดที่ไม่ใช่ความรุนแรงในการแก้ปัญหา จากการวิวัฒนาการของสังคมจากป่าเถื่อนมาเป็นสังคมที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนมากขึ้น หลักการทางพระพุทธศาสนานั้นเชื่อมั่นว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพในการพัฒนาตยเองให้ดีได้หากได้รับการศึกษาอบรมที่ถูกที่ควร และศาสนาพุทธนั้นเน้นการแก้ไขปัญหาด้วยความอ่อนโยนเช่นหลักเมตตา กรุณา การไม่จองเวร และกฎแห่งกรรม

 

ไม่ใช่ว่าหากเราเห็นคนละเมิดศีลข้อนั้น เราจะตอบโต้กลับด้วยการละเมิดศีลข้อนั้นด้วยหรือ ?

 

เป็นธรรมดาที่ครอบครัวเหยื่อจะต้องการการแก้แค้น แต่ประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นแล้วว่า การแก้แค้นไม่ได้ช่วยอะไรดีขึ้น

 

10. ความเชื่อ: โทษประหารไม่เกี่ยวกับการเมือง

 

โทษประหารเกี่ยวข้องกับการเมืองอยู่บ่อยๆ โดยนักการเมืองนั้นอาจจะใช้โทษประหารในการเรียกความสนใจให้กับตัวเองหรือเป็นโอกาสในการหาเสียง

 

ในประเทศจีน โทษประหารสามารถขับเคลื่อนจากแรงจูงใจอื่นได้อีก เช่น รายได้ ในปี 1996 มีคนกว่า 1000 คนในประเทศจีนนั้นถูกตัดสินประหารชีวิตภายใน 2 เดือน ซึ่งหลักจากการประหารนั้น อวัยวะถูกนำไปขายต่อและไม่ได้แจ้งให้กับครอบครัวผู้ถูกประหารทราบ เราจะรู้ได้อย่างไร ว่าตลาดมืดของการค้าอวัยวะมนุษย์ไม่ได้เป็นผู้สนับสนุนลับๆของกฎหมายข้อนี้ ?

 

ปล. บางคนอาจจะคิดว่าทำไมต้องหาข้อมูลต่างประเทศ มันไม่เข้ากับบริบทประเทศไทยหรอก ตอบง่ายๆ 1.) เพราะประเทศไทยไม่ได้ทำการศึกษาเรื่องนี้ หรืออาจจะทำการศึกษาไว้แล้วแต่ไม่ได้เผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับรู้เท่าไร 2.) เราไม่จำเป็นต้องลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง เสมอไป การเรียนรู้ว่าคนอื่นนั้นใช้ต้นทุน เวลา เงิน กำลังคน ฯลฯ น้อยกว่าเรียนรู้ด้วยตัวเอง แต่ข้อจำกัดคือ ต้องนำเอาสิ่งที่คิดว่าเข้ากันได้มาปรับใช้ให้เหมาะสม

 

 

แปลและเรียบเรียงโดย Falling Apple จาก pantip.com
เนื้อหาส่วนใหญ่แปลมาจาก http://www.reprieve.org.uk/