ประชาชนเบียร์: เพื่อรสชาติ ที่ไม่ใช่อาชญากรรม

4 เมษายน 2566

Amnesty International

แถลงการณ์

เดือนธันวาคมในปี 2565 ท่ามกลางอากาศที่ไม่ร้อนระอุเหมือนเช่นตอนนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ประชาไท และประชาชนเบียร์ สามกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมได้จัดงาน Taste of Rights เพื่อให้ผู้คนได้มาลิ้มรสชาติของสิทธิมนุษยชนไปด้วยกัน 

 

เราเชื่อว่ารสชาติไม่ได้บ่งบอกแค่คำว่า “อร่อย” หรือ “ไม่อร่อย” แต่ยังแฝงเรื่องราวที่ซ่อนไว้อยู่ในทุกๆ สัมผัส ในวิถีของวัฒนธรรมชาวปกาเกอะญอ พวกเขาจะร่วมกันหยอดข้าวแล้วกลั่นให้กลายเป็นเครื่องดื่มสำหรับการเฉลิมฉลองและพิธีกรรมต่าง ๆ 

 

ในลุ่มแม่น้ำโขง ชี มูล แป้งสาโทถูกนำมาหมักร่วมกับข้าวเหนียวซึ่งเป็นเสมือนหัวใจของอาหารของพี่น้อง กลั่นกลายมาเป็นเครื่อมดื่มที่บอกเล่าชีวิตของคนในลุ่มแม่น้ำ 

 

แต่ที่น่าเสียดาย คือประเทศไทยไม่มีที่ยืนให้กับ “สุรา” จากชุมชน 

 

เบนซ์-ธนากร ท้วมเสงี่ยม รับรู้ในข้อจำกัดนี้ และเขาลุกขึ้นยืนประท้วงเพื่อรสชาติที่หลากหลายของประชาชนชาวไทย เช่นเดียวกันกับปากท้องและวัฒนธรรมของพี่น้องที่กำลังหมักและต้มเครื่องดื่มอยู่ทั่วประเทศ 

 

“ไปเติมเบียร์มาครับ เบียร์หมด ขออภัยด้วยครับ” ธนากร กล่าวตอนที่เขาก้าวเข้าสู่เวทีเสวนา เขาคือหัวเรือใหญ่ของกลุ่มประชาชนจากภาคประชาสังคม “ประชาชนเบียร์” 

 

ประชาชนเบียร์ ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกราวปี 2562 โดยมีจุดมุ่งหมายคือการแก้กฎหมายเพื่อให้สุราชุมชนได้สานต่อเจตนารมณ์ของรสชาติและชีวิตของผู้คนในประเทศไทย ท่ามกลางข้อจำกัดของกฎหมาย 

 

พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 กำหนดให้ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ปริมาณการผลิตไม่ต่ำกว่า 100,000 ลิตรแต่ไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี ปริมาณเช่นนี้หมายถึงวงการเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ถูกผูกขาดไว้เพียงแค่ทุนเจ้าใหญ่ที่ทำได้ ถือเป็นการปิดประตูแห่งโอกาสสำหรับผู้ผลิตรายย่อยที่ไม่มีเงินทุนมากพอกับจำนวนเงินปริมาณมหาศาลเมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำของชาวไทย เป็นหนึ่งในเหตุผลให้บรีวเวอร์ (Brewer) ต้องส่งเบียร์ไปบรีว์ (Brew) ที่ประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเช่นประเทศเวียดนาม ที่กฎหมายเอื้อให้คนตัวเล็กสามารถผลิตเบียร์ได้ โดยมีหัวใจสำคัญคือ “ต้องเป็นผู้ผลิตอิสระ”

 

นั่นคือเหตุผลที่ลาเกอร์ไทย (เบียร์ชนิดหนึ่ง) อย่าง “ศิวิไลซ์” ที่คว้ารางวัลระดับโลกมาได้ กลายเป็นได้รับรางวัลในฐานะเบียร์ของเวียดนาม 

 

ข้อกฎหมายอีกข้อหนึ่งที่กลายเป็นอุปสรรคสำหรับบรีวเวอร์ชาวไทย คือ มาตรา 32 ในพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่กล่าวว่า ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้างสรรพคุณหรือชักจูงใจผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม

 

มาตรานี้ทำให้ประชาชนถูกดำเนินคดี ที่เพจประชาชนเบียร์เองได้ลุกขึ้นยืนตั้งคำถามต่อการดำเนินคดีผู้ผลิตรายย่อย 

 

สามเดือนต่อมา นับจากเวทีเสวนาในงาน “Taste of Rights” 

ธนากรถูกดำเนินคดี จากการโพสต์ถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 15 กรรม 15 โพสต์ ระวางโทษปรับ 50,000-500,000 บาท จำคุกไม่เกิน 1 ปี ไม่รวมค่าปรับระหว่างวันที่ไม่แก้ไขโพสต์อีกหลายหมื่นบาทต่อวัน

 

“เราขับเคลื่อนเกี่ยวกับการกิน-ดื่ม ที่ดูเหมือนจะไม่ค่อยถูกพูดถึงในประเทศนี้อย่างปกติ ที่มองว่าการกินดื่มเป็นเรื่องเลวร้ายไปเสียหมด ซึ่งมันมีมุมดี ๆ อีกเยอะมาก แต่รัฐไม่เคยซัพพอร์ตคนตัวเล็ก ๆ” ธนากรกล่าว

 

“รัฐไทยไม่เคยซัพพอร์ตคนตัวเล็ก ๆ พวกเขาทำให้เรื่องเหล่านี้กลายเป็นเรื่องผิดปกติมาตลอด ด้วยการออกกฎหมายแบบผิดปกติ ทั้ง ๆ ที่สิ่งที่เราทำคือเรื่องปกติ นั่นคือการดื่มกินอาหาร

 

“มันปฏิเสธไม่ได้ว่าการดื่มมันอยู่ในหมวดหมู่ของอาหาร แค่มีการควบคุมหน่อยให้มันดู เป็นไม่สร้างปัญหาให้กับคนที่ดื่มไปแล้ว เกิดปัญหาเพิ่มก็มันจบแค่นั้นแล้ว แต่ว่าพอเรามาเห็นกฎหมายทีแก้แล้วเขียนว่าห้ามผลิต สุดท้ายมันคือการห้ามเพราะว่าไม่ให้คนตัวเล็ก ๆ เข้ามาอยู่ในตลาดเหล้าเบียร์ได้ มันดูย้อนแย้งกับความเป็นจริงมาก ๆ ที่มันควรจะเป็นไปในทางต่อไปในโลกอนาคต”   

 

ทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ปริมาณการผลิตไม่ต่ำกว่า 100,000 ลิตรแต่ไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี ถือเป็นเรื่องเกินเอื้อมของผู้ผลิตตัวเล็กที่อยากก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรม คูนด้วยข้อกฎหมายที่เป็นการบีบบังคับให้สังคมมองว่าเครื่องดื่มคือเรื่องเลวร้าย ด้วยโทษที่สูง 50,000 - 500,000 บาท 

 

“เราพยายามจะผลักดันให้เรื่องนี้เป็นปกติ ให้คนพูดถึงเรื่องการกินดื่มได้จนเป็นปกติ” ธนากรย้ำ 

 

“คนที่พูดถึงเรื่องเครื่องดื่มเหล่านี้ได้ กลับกลายเป็นคนตัวใหญ่ ๆ ที่สามารถมีเงินจ่ายค่าปรับได้ การแก้กฎหมายเรื่องการโฆษรา เป็นหนึ่งในสิ่งที่เราอยากจะแก้” 

 

เบนซ์สื่อสารการรับรู้เกี่ยวกับผลงานคราฟท์ของชาวไทย ที่ผ่านกระบวนการผสมผสานรสชาติที่เล่าตัวตนของผู้ผลิตตัวเล็ก ๆ และรสชาติของท้องถิ่นจากวัตถุดิบ ผ่านงานที่ได้พาพวกเขามาร่วมเล่ารสชาติให้กับประชาชน 

 

“เรื่องการผลิตก็เห็นอยู่ว่าถ้ามีเงินเยอะ ก็สามารถผลิตได้ ถ้ามีเงินน้อยก็ผลิตไม่ได้ ข้างหลังผมมีเครื่องดื่มเต็มเลย ผมอยากโชว์ให้เห็นว่าจริงๆ แล้วก็สามารถทำได้จริง ๆ ก็พร้อมจะซัพพอร์ตทุก ๆ คนที่อยู่ในขบวน เพราะว่าพยายามทำงานทุกอย่างที่พอจะทำไหว ทำงานทุกอย่างที่พอจะช่วยได้ก็ช่วยหมดครับ” 

 

ภายในงานไม่ได้มีเพียงธนากร แต่ยังมีตัวแทนจากสมัชชาคนจน กลุ่มสู้ต่อที่ดินของทวด และภาคีเซฟบางกลอย ที่ได้ร่วมต่อสู้เรื่องที่ดินทำกิน และความมั่นคงทางอาหารให้กับพี่น้อง ที่ต้องพบกับอุปสรรคคือข้อกฎหมาย เช่นกฎหมายอุทยาน 

 

แม้จะเป็นคนละพื้นที่ คนละรูปแบบของการต่อสู้ แต่พวกเขามีจุดร่วมเดียวกัน คือกฎหมายที่มาที่หลัง และการถูกละเมิดสิทธิ

 

“เรื่องของพวกผมไม่ต่างจากทั้งสองท่านเลย เพราะเรื่องการกินดื่มอยู่ในทุกตำบล ทุกหมู่บ้านอยู่แล้ว” เขากล่าว 

 

“เหล้าต้มในหมู่บ้าน คือภูมิปัญญาของชาวบ้านตั้งแต่บรรพบุรุษ ผมพบว่ามันมีสูตรพิเศษของแต่ละพื้นที่เยอะมาก ๆ แต่เรากลับไม่สามารถจะเจอรสชาติเหล่านั้นได้ รสชาติเหล่านั้นถูกทำลายโดยกฎหมายที่มาที่หลังเหมือนกันเลยครับ 



“เขาอยู่มาก่อน กฎหมายก็มาครอบงำมันแล้วก็ทำลายสิ่งที่เขาเคยทำมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า สูตรดีๆที่เราเคยกินเหล้าดีๆที่เราเคยกินมันก็หายไป มันถูกผูกขาดโดยรสชาติไม่กี่รสชาติ ไม่กี่แบรนด์  มันเหมือนกับพยายามตีกรอบ ซึ่งเราสามารถทำได้มากกว่านั้น เราสามารถทำกินเองได้ เรามีสิทธิในการผลิตและจำหน่ายได้ตั้งานนแล้วก่อนจะมีรัฐไทย แต่รัฐไทยกลับทำเหมือนเราไม่ใช่มนุษยคนหนึ่ง” 

 

“กฎหมายออกมาแบบขัดธรรมชาติของเรา มันคือการทำลายภูมิปัญญาของเราที่เราทำมาตั้งแต่สมัยก่อน กฎหมายควรจะสร้างให้ทุกคนมีพื้นที่ของตัวเองในการผลิตเพื่อดื่มได้แล้ว และขยายให้มันโตขึ้น พวกเราสามารถดื่มเครื่องดื่มของพี่น้องชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองได้ทุกกลุ่มโดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีใครมาจับ ทุกคนควรมีสิทธิในการทำ 

 

“ผมพยายามทำให้ทุกคนได้รู้ว่า รสชาติไม่ได้มีเพียงแค่สองสามรส และพยายามขยายแนวร่วมให้คนรับรู้และตั้งคำถาม

 

“ผมพยายามพูดถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกอย่างที่อยู่ในประเทศไทยที่มันเคยเป็นสิทธิของคนธรรมดาเหมือนเรานี่แหละแต่วันนี้เราไม่มีสิทธิ เราพยายามดึงสิทธินั้นกลับมาอยู่ในหมู่บ้าน กลับมาอยู่ในชุมชน” 

 

ธนากรเชื่อว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยมีมูลค่าตลาดประมาสี่แสนล้าน แต่กลับอยู่ในมือของคนไม่กี่คน ซึ่งคือการทำร้ายประชาชนตัวเล็ก ๆ 

 

“นี่คือการทำร้ายคนไม่มีทางสู้ ทำให้คนที่ไม่มีเงินทำร้ายคนที่ไม่มีเพาเวอร์ในการเรียกร้องอะไรสักอย่าง การต่อสู้จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการลดทอนอำนาจของคนพวกนั้นได้ ผมพยายามทำให้เขามีอำนาจลดลงนะเราไม่สามารถทำร้ายเขาได้บอกเลยวันนี้ทำไม่ได้หรอกไม่รู้เมื่อไหร่จะทำด้วยไม่สามารถทำให้เขาหายจากประเทศนี้ไปได้แต่เราต้องพยายามทำให้อำนาจลดลง 

 

“ผมก็เชื่อว่าหนึ่งพวกเราจะสามารถมีพลังในการขับเคลื่อนได้ ผมเชื่อว่าถ้าเกิดเราทำให้รายเล็กสามารถเข้ามามีผลในตลาดเหล้าเบียร์ได้สักสิบเปอร์เซ็นต์ ตลาดมีประมาณสี่แสนล้านเราขอให้สิบเปอร์เซ็นต์ คือสี่หมื่นล้าน ที่สร้างรายได้ให้กับสี่หมื่นครอบครัว 

 

“ผมว่าเราสร้างมูฟเม้นในการขับเคลื่อนและการเมืองได้มากกว่านี้สามารถทำงานใหญ่มากกว่านี้ สามารถแอ็คชั่นภาครัฐได้ตรงประเด็นมากกว่านี้ก็สามารถมีการเคลื่อนไหวที่ ไม่ต้องอิงกับตัวเลขในบัญชีของตัวเอง เราสามารถมีการซัพพอร์ตจากคนตัวเล็ก ๆ นี่แหละ ที่จะช่วยกันขับเคลื่อนและอยากจะแก้ไขกฎหมายมันไม่แฟร์กับคนอื่นๆ อีกเยอะ” 

 

ติดตามเรื่องราวของการต่อสู้ คดีความ และรสชาติที่พวกเขาอยากให้คุณได้รู้จัก ที่

เพจประชาชนเบียร์

https://www.facebook.com/prachachonbeer/ 

 




ขอขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://urbancreature.co/beer-people/ 

https://www.longtunman.com/38064

https://thematter.co/social/beer-sivilai-interview/123512 

https://voicetv.co.th/read/peEFwcedV