สิทธิ เสียง
และการเคลื่อนไหวที่
เริ่มต้นจาก “เรา”

คุยกับ เฌอเอม มิสแกรนด์ขอนแก่น 2025 ในแคมเปญ Write for Rights เขียน เปลี่ยน โลก

สิทธิ เสียง และการเคลื่อนไหวที่เริ่มต้นจาก “เรา” คุยกับ เฌอเอม มิสแกรนด์ขอนแก่น 2025 ในแคมเปญ Write for Rights เขียน เปลี่ยน โลก

“บางครั้งเสียงที่ดังที่สุดในโลก อาจเป็นเสียงที่ไม่มีใครได้ยิน”

สิทธิในการมีชีวิตที่สงบ สิทธิในการได้ใช้เสียงของตัวเอง สิทธิในการตั้งคำถามว่าสิ่งที่เราถูกบอกให้เชื่อนั้น เป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การเชื่อจริงหรือไม่ ทุกอย่างล้วนเป็นสิทธิมนุษยชนที่ควรค่าแก่การปกป้อง และสำหรับ “เฌอเอม ชญาธนุส ศรทัตต์ มิสแกรนด์ขอนแก่น 2025” นี่ไม่ใช่แค่คำพูดสวยหรู แต่คือชีวิตที่เธอสัมผัสมาด้วยตัวเอง จึงทำให้เธอตกลงปลงใจเป็นส่วนหนึ่งในแคมเปญ “Write for Rights” หรือ “เขียน เปลี่ยน โลก” กับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เพราะเธอมองว่าสิทธิและเสรีภาพ ไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่มาจากเสียงของเราที่ส่งพลังผ่านตัวอักษร

“บางทีแฟนคลับของเราอาจจะชอบความบันเทิงมากกว่าเรื่องสิทธิ แต่พอเห็นว่ามีคนเข้ามาสนใจไปกับเราด้วย แม้จะเป็นเพียงจำนวนน้อยๆ มันก็อบอุ่นหัวใจมากๆ สำหรับเรา”

เฌอเอมรู้ดีว่าการพูดเรื่องสิทธิมนุษยชนอาจไม่ใช่สิ่งที่คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจมากเท่าความบันเทิง แต่เธอเลือกจะพูดมากกว่าเก็บเงียบไว้ เพราะเธอเชื่อว่าสังคมยังต้องการสิ่งนี้ และถ้าทุกคนมัวแต่กลัวว่าเรื่องสิทธิจะไม่เข้ากับตัวเองหรือเรียกยอดเอนเกจจะไม่เยอะ หากเป็นเช่นนั้นไม่ว่าจะสังคมไทยหรือประเทศไหนในโลกก็คงไม่มีการเคลื่อนไหวเพื่อมนุษยธรรมเกิดขึ้น และบางทีก็อาจเป็นเหมือนยาพิษที่ทำให้เรื่องของ “สิทธิมนุษยชน” ถูกกลบลบทิ้งไป สิ่งที่ทำได้สำหรับเฌอเอมคือการพูดเรื่องนี้โดยอาจเริ่มจากสิ่งที่ดูเหมือนไม่สำคัญที่สุดในชีวิต

เธอบอกว่า เราเติบโตมากับระบบที่บอกให้ “ทำสิ่งนี้แล้วจะดี เชื่อสิ่งนี้แล้วจะถูกต้อง” แต่บางทีสังคมหรือแวดล้อมที่เราอยู่ไม่เคยเปิดพื้นที่ให้เราถามกลับว่า “แล้วมันถูกต้องจริงไหม?” เฌอเอมยกตัวอย่างเรื่องใกล้ตัวของเธอและใครหลายคนขึ้นมา ตั้งแต่เรื่องเล็กอย่างการต้องยืนเข้าแถวเคารพธงชาติ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ระดับสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ หรือสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกของผู้ต้องขังทางการเมือง สำหรับเธอทุกอย่างล้วนเชื่อมโยงกัน และเกี่ยวข้องกับชีวิตของเราทุกคนมากกว่าที่คิด

“ทำไมเราต้องยืนเคารพธงชาติทุกเช้า?”
“ทำไมเราต้องทำตามระเบียบที่เราไม่ได้เข้าใจ?”
“ทำไมเราต้องอดทนกับสิ่งที่ไม่ยุติธรรมเพียงเพราะมันเป็นเรื่องปกติ?”

คำถามเหล่านี้ไม่ได้มีไว้เพื่อก่อกวนใจของใคร แต่สำหรับเฌอเอม มิสแกรนด์ขอนแก่น 2025 คำถามนี้มีไว้เพื่อทำความเข้าใจว่าเส้นแบ่งระหว่าง “กฎระเบียบ” กับ “การกดทับ” ว่าอยู่ตรงไหน เพราะเสียงที่เธอเจอในชีวิตจริงก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องพูดถึงในเรื่องสิทธิมนุษยชน อย่างเช่นเสียงจากลำโพงงานบวช เสียงจากกลุ่มคนที่สังสรรค์ยามค่ำคืน ซึ่งเป็นเสียงที่ดังจนกลบความสงบในชีวิตของเธอ แต่เมื่อเธอออกไปขอให้ลดเสียง สิ่งที่ได้รับกลับมาไม่ใช่ความเข้าใจ แต่เป็นการขู่ทำร้าย เป็นขวดแก้วที่แตกกระจายและคำถามว่า “มึงเป็นใคร?”

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงทำให้เธอเริ่มเข้าใจว่าการไม่มีสิทธิควบคุมแม้แต่เสียงที่ดังเข้ามาในบ้านของตัวเองก็เป็นการละเมิดสิทธิอย่างหนึ่ง เพราะคือการที่เราอาจกำลังสูญเสียพื้นที่ของตัวเองไปอย่างเงียบๆ จนเราไม่รู้ตัว หากไม่ออกมาพูดหรือตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ และนี่คือจุดที่เฌอเอมเริ่มตระหนักว่า “สิทธิของเรา ไม่ได้อยู่แค่กับตัวเรา แต่เราต้องช่วยรักษาสิทธิของคนอื่นด้วย”

จากเสียงท่อไอเสียถึงเสียงของประชาชน

ที่เกริ่นมาก่อนหน้านี้เพราะครั้งหนึ่ง เฌอเอมเคยเจอกับ “เสียง” ในแบบที่ไม่คาดฝัน สำหรับเธอพอใช้คำนี้อาจเริ่มจากสิ่งที่ดูเหมือนไม่มีอะไรถ้าเกี่ยวโยงกับเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่เมื่อเสียงปาร์ตี้ยามค่ำคืนที่ดังจนแทบไม่ได้หลับได้นอน เมื่อคนที่เจอเหตุการณ์อย่างเธอลองออกไปขอให้ลดเสียงลง คำตอบที่ได้คือขวดแก้วแตกกระจาย และปลายขวดที่หันมาทางเธอ พร้อมเสียงตะคอกดังลั่นในวันที่ความสงบถูกกลบด้วยเสียงใกล้ตัว

แม้เรื่องนี้จะผ่านไปนานแล้ว แต่ความกลัวของเฌอเอม มิสแกรนด์ 2025 ในวันนั้น ได้เกิดเป็นคำถามขึ้นมากับเธอในเรื่องสิทธิที่เป็นเรื่องพื้นฐานของชีวิต

“ทำไมเราไม่มีสิทธิในบ้านของตัวเอง?”
“ทำไมเสียงของเราถึงไม่มีใครได้ยิน?”
“ทำไมความเงียบสงบถึงไม่ใช่สิ่งที่เราสามารถเรียกร้องได้?”

จากจุดนั้นที่สงสัยทำให้เฌอเอมเริ่มศึกษาเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับมลภาวะทางเสียง จึงทำให้เธอเริ่มเข้าใจว่าสิ่งที่ประสบพบเจอกับคำว่า “เสียง” ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย แต่คือการละเมิดสิทธิของเธอในฐานะมนุษย์และในท้ายที่สุด เธอได้ตระหนักว่า สิทธิมนุษยชนไม่ใช่เรื่องไกลตัว มันอยู่ในทุกลมหายใจของเรา แม้กระทั่งการได้ยิน

Write for Rights เขียนเพื่อเปลี่ยนแปลง

“เรามองว่าการพูดหรือการเขียนมันเป็นรูปธรรม เพราะมันเป็นสิ่งที่ออกมาและจับต้องได้”

Write for Rights คือแคมเปญระดับโลกของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ที่ให้ผู้คนทั่วโลกส่งจดหมาย โปสการ์ด หรือข้อความ เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับผู้ถูกละเมิดสิทธิ ปีที่ผ่านมา เฌอเอม มิสแกรนด์ขอนแก่น 2025 ได้ร่วมแคมเปญนี้กับแอมเนสตี้ เธอเผยว่าการเขียนผ่านตัวอักษรหรือเซ็นต์ชื่อในแคมเปญนี้ อาจดูเหมือนแค่ “กระดาษหนึ่งแผ่น” แต่สำหรับเธอถ้ากระดาษนั้นมีเป็นพัน เป็นหมื่นแผ่น เป็นแสนแผ่น กระดาษที่บางคนมองว่าไร้ค่า ไม่มีประโยชน์ ก็อาจกลายเป็น “เสียง” ที่ดังเกินกว่าจะถูกละเลย

“การที่เราลูบกระดาษที่เป็นลายมือของใครสักคน หรือบรรจงเขียนอะไรสักอย่างลงไป เหมือนเราส่งต่อส่วนหนึ่งของความรู้สึกและกำลังใจไปให้เขา” สำหรับเฌอเอมการเขียนลงบนกระดาษคือพลังของมนุษย์ที่เชื่อมโยงกันผ่านตัวอักษร เพราะเราต่างมีเรื่องที่อยากพูด และทุกคนสามารถเป็นเฌอเอมได้ เธอย้ำคำนี้ระหว่างพูดคุยกัน

คุณไม่จำเป็นต้องเป็นนักเขียนมืออาชีพ
คุณไม่จำเป็นต้องเป็นนักเคลื่อนไหวที่โดดเด่น
คุณแค่ต้องเป็น “คุณ” ที่กล้าพูดในวันที่ต้องพูด

เฌอเอมบอกว่า แคมเปญ “Write for Rights” หรือ “เขียน เปลี่ยน โลก” ประจำปี 2567 ของแอมเนสตี้ ประเทศไทย ไม่ได้ขอให้ทุกคนหรือใครออกไปเดินขบวนชุมนุมประท้วง ไม่ได้ขอให้ทุกคนสละเวลาทั้งวันเพื่อออกไปทำอะไรที่ต้องใช้เวลานานแสนนาน แต่แคมเปญนี้เพียงขอให้ทุกคนช่วยเขียนเพื่อเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างที่เกิดขึ้นในสังคมไทยและโลกใบนี้

“บางทีแค่กระดาษแผ่นเดียว อาจเป็นแผ่นสุดท้ายที่ทำให้ใครบางคนได้รับอิสรภาพในเรือนจำ และถ้าทุกคนอยากเขียนก็สามารถเริ่มได้เดี๋ยวนี้กับแคมเปญ Write for Rights 2024 กับแอมเนสตี้ ประเทศไทย”

ยิ่งทุกวันนี้หลายประเทศในโลกที่เสียงของบางคนดังกว่าอีกหลายล้านคน ขณะที่ในสังคมถ้าเกิดความเงียบอาจหมายถึงการยอมจำนน แต่สำหรับเฌอเอม มิสแกรนด์ขอนแก่น 2025 การเขียนยังเป็นอาวุธที่ทรงพลังที่สุด แม้ทุกวันนี้จะมีเทคโนโลยีหรือโซเชียลมีเดียเข้ามาในชีวิตประจำวันแทบจะ 24 ชั่วโมง

“การเขียนมันไม่ใช่เสียงที่แผดร้อง แต่เป็นเสียงที่ค่อยๆ ซึมลึก การเขียนมันไม่ใช่พายุที่โหมกระหน่ำ แต่เป็นสายน้ำที่กัดเซาะภูเขาหินจนกลายเป็นทางเดินของแม่น้ำได้ เราอย่าคิดว่าการเขียนเป็นแค่กระดาษหนึ่งแผ่น แต่การเขียนอาจเป็นกระดาษที่เปลี่ยนชีวิตใครบางคนได้” 

การเขียนคือการต่อต้านความเงียบ

“ถ้าสมมติว่าเราไม่มาพูดเรื่องนี้ ถ้าเรามัวแต่กลัวว่าเรื่องนี้จะไม่เข้ากับเรา หรือยอดเอนเกจมันจะไม่เยอะ มันก็จะไม่มีการเคลื่อนไหวเกิดขึ้น” สิ่งที่เฌอเอมทำอาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อยในสายตาคนอื่นกับการแค่พูด แค่ตั้งคำถาม แค่ลงชื่อสนับสนุน แค่เขียนโปสการ์ดส่งกำลังใจให้ผู้ต้องขังทางการเมือง แต่บางครั้ง “แค่” นั้น อาจเปลี่ยนชีวิตของใครบางคนได้

“โปสการ์ดหนึ่งใบอาจเป็นสิ่งเดียวที่นักโทษทางการเมืองในเรือนจำมีเป็นของตัวเอง เสียงที่ถูกส่งต่อ อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันเราต้องคิดด้วยว่าการใช้สิทธิของเรา กำลังละเมิดสิทธิของคนอื่นอยู่หรือเปล่าควบคู่ไปด้วย”

เราไม่ต้องเป็นใคร เราแค่ต้องเป็น “เรา”

เธอย้ำว่าทุกคนสามารถเป็นเฌอเอมได้ในแบบฉบับของตัวเอง เพราะการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิมนุษยชนไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องใหญ่ ไม่จำเป็นต้องเป็นแกนนำ ไม่จำเป็นต้องออกไปอยู่แนวหน้า ไม่จำเป็นต้องถูกบันทึกชื่อในหน้าประวัติศาสตร์ แต่เราสามารถเริ่มต้นจากเรื่องเล็กๆ รอบตัวในการกล้าที่จะปฏิเสธสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย กล้าที่จะตั้งคำถามในสิ่งที่เราถูกบังคับให้เชื่อ กล้าที่จะยืนหยัดเพื่อสิทธิของตัวเองและของคนอื่น

“เรามองว่าการพูดหรือการเขียนมันเป็นรูปธรรม เพราะมันเป็นสิ่งที่ออกมาและจับต้องได้”

บางคนอาจมองว่า “จดหมาย” เป็นเพียงแค่กระดาษหนึ่งแผ่น แต่ถ้ากระดาษนั้นมีเป็นพัน เป็นหมื่นแผ่น มันจะกลายเป็นกำแพงของเสียงที่ไม่มีใครสามารถเมินเฉยได้ Write for Rights คือแคมเปญที่เชื่อมั่นในพลังของตัวอักษร เชื่อว่าการเขียนสามารถเปลี่ยนชีวิตของใครบางคนได้ เชื่อว่าจดหมายที่ส่งไปถึงผู้ต้องขัง สามารถเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่าพวกเขายังไม่ถูกลืม

ที่ผ่านมาเฌอเอมเคยเขียนจดหมายถึงผู้ต้องขังทางการเมือง และเธอรู้ว่าจดหมายไม่ใช่แค่กระดาษ แต่คือเศษเสี้ยวของความหวัง เพราะในโลกที่คนบางคนถูกกักขังอยู่ในสี่กำแพงแคบๆ แม้แต่สิ่งเล็กน้อยอย่างจดหมายแผ่นหนึ่งก็อาจเป็นสิ่งเดียวที่เป็นของของพวกเขา แอมเนสตี้ ประเทศไทย ชวนมาทำให้เสียงของเรามีค่า และเรามีสิทธิใช้ในชีวิตประจำวัน

“วันนี้คุณอาจไม่ได้ออกไปเดินขบวน
คุณอาจไม่ได้เขียนบทความยาวเหยียด
คุณอาจไม่ได้ลงไปช่วยเหลือใครโดยตรง
เราเสียเวลาแค่ไม่กี่นาทีในการเขียน
แต่มันอาจเปลี่ยนชีวิตคนคนหนึ่งได้”

มา “เขียน…เพื่อเปลี่ยนโลกไปด้วยกัน”

ทุกตัวอักษรที่เราเขียน ไม่ใช่แค่หมึกบนกระดาษ แต่คือเสียงของความหวัง กำลังใจ และการเรียกร้องความเป็นธรรมให้ผู้ที่ถูกลืม Write for Rights ไม่ใช่เพียงแคมเปญ แต่คือพลังของผู้คนที่เชื่อมั่นว่าสิทธิมนุษยชนต้องมีที่ยืนในทุกสังคม ไม่ว่าคุณจะเลือกส่งจดหมาย โปสการ์ด หรือข้อความใดๆ ขอเพียงคุณร่วมส่งเสียง โลกก็จะค่อยๆ เปลี่ยนไป เพราะบางครั้ง การเขียนเพียงไม่กี่คำ อาจเป็นแสงสว่างสุดท้ายที่ช่วยปลดปล่อยใครบางคนจากความอยุติธรรม มาร่วมกันเปลี่ยนแปลงเพราะพลังจากปลายปากกาของเรา สามารถสร้างแรงกระเพื่อมให้โลกได้จริงๆ 

ทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักเคลื่อนไหวหรือบุคคลสำคัญ ขอแค่เรามีความเชื่อมั่นว่าความยุติธรรมต้องมีที่ยืนในสังคม และไม่ละเลยเสียงของผู้ถูกกดขี่ สามารถรู้จักกับ4 เคสรณรงค์หลักของประเทศไทย และผู้ถูกละเมิดสิทธิคนอื่นๆ ในแคมเปญ Write for Rights พร้อมลงชื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้พวกเขา ยืนหยัดเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ที่ https://buff.ly/4b6hVOL

พลังจากปลายปากกา คนธรรมดาเปลี่ยนโลก 

#W4R24 | #W4RTH

และแน่นอนว่าพลังการเขียนของคนธรรมดาทุกคนสามารถสร้างเป็นความเปลี่ยนแปลงแปลงอันยิ่งใหญ่ และเป็นพลังที่มีความหมายมากพอที่จะทำให้ผู้คนที่ถูกละเมิดสิทธิได้รับความยุติธรรม ไม่ว่าคุณจะเป็นใครก็สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ Write for Rights เขียน เปลี่ยน โลก ได้

———

ลงชื่อและเขียนจดหมายเพื่อยืนหยัดเคียงข้างสิทธิมนุษยชนได้ที่ : https://bit.ly/3Zn4PqW

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแอมเนสตี้
บริจาคสนับสนุนแอมเนสตี้